วันเสาร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

สนามของสื่อมวลชนกับกติกาสาธารณะ


เมื่อกลางเดือนมีนาคม 2556  ประเด็นที่เป็นที่ติดตามและถกเถียงกันอย่างร้อนแรงที่สุดของสาธารณะเห็นจะไม่พ้นกรณีการระงับการออกอากาศรายการตอบโจทย์ประเทศไทย ตอน สถาบันพระมหาษัตริย์ภายในรัฐธรรมนูญ (ตอนที่ 5) ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส กระแสวิพากษ์วิจารณ์บทบาทของสื่อสาธารณะยิ่งเข้มข้นมากขึ้นเมื่อทางสถานีโทรทัศน์ตัดสินใจออกอากาศรายการตอนที่ 5 นี้ด้วยเหตุผลว่าต้องการเปิด “พื้นที่กลาง” สำหรับความคิดเห็นของทุกฝ่าย กรณีดังกล่าวแสดงถึงการต่อสู้แข่งขันในพื้นที่สาธารณะของกลุ่มความคิดที่แตกต่างในสังคมและสะท้อนถึงความไม่ลงรอยทางความคิดในเรื่องของความเป็นสาธารณะในสังคมไทย

เมื่อสื่อสาธารณะต้องเผชิญกับเสียงเรียกร้องของประชาชนที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว  คำถามที่ว่าความเป็นอิสระของสื่อมวลชนจะยังคงมีอยู่หรือไม่ หรือหากมี สื่อมวลชนจะรักษาความเป็นอิสระ ไม่ว่าจะเป็นอิสระจากแรงกดดันภายนอก (ปัจจัยทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม) และอิสระจากข้อจำกัดในตัวสื่อเอง (ค่านิยม ทัศนคติของนักข่าว การแข่งขันทางด้านข้อมูลข่าวสารและเวลา การเข้าถึงข้อมูล ฯลฯ) ไว้ได้อย่างไร ประเด็นเหล่านี้ท้าทายทั้งนักวิชาชีพและนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนให้ขบคิด

บทความนี้พยายามหาคำตอบและอธิบายสิ่งท้าทายเหล่านี้ โดยใช้กรอบแนวคิดทางสังคมศาสตร์คือ แนวคิดทฤษฎีสนาม (Field Theory) และแนวคิดพื้นที่สาธารณะ (Public Sphere) ประกอบกันเพื่ออธิบายถึงธรรมชาติและกลไกของความสัมพันธ์ทางสังคมในพื้นที่สาธารณะ และข้อเสนอแนวคิดใหม่ในการมองพื้นที่สื่อในฐานะสนามทางสังคมและสื่อมวลชนในฐานะตัวแสดงหนึ่งในสนาม

สื่อมวลชนในมุมมองทฤษฎีสนาม

ว่ากันว่าวิชาชีพสื่อสารมวลชนเป็นหนึ่งในหลาย ๆ องค์ประกอบที่สำคัญและโดดเด่นของสังคมประชาธิปไตย  บทบาทของสื่อมวลชนในด้านความเป็นวัตถุวิสัยที่เป็นอิสระจากกรอบหรือการครอบงำยังเป็นเรื่องที่ไม่อาจพิสูจน์ได้ชัดเจน เนื่องจากบทบาทของการเป็นสื่อกลางถ่ายทอดข้อมูลข่าวสารนั้นผ่านทางบุคคลและองค์กร และยิ่งหากวิเคราะห์ในมุมมองแบบโครงสร้างนิยม (Structuralism) ด้วยแล้ว งานศึกษาถึงความเป็นอิสระของสื่อมวลชนส่วนใหญ่ชี้ว่าแทบจะเป็นเรื่องที่เป็นอุดมคติ

อย่างไรก็ตาม ในวงวิชาการด้านนิเทศศาสตร์และวารสารศาสตร์ ได้เริ่มนำเอาแนวการวิเคราะห์ทางสังคมศาสตร์สายวิพากษ์มาใช้ หนึ่งในนั้นคือทฤษฎีสนามของปิแอร์ บูร์ดิเยอ (Pierre Bourdieu) นักสังคมศาสตร์ในกลุ่มทฤษฎีแนววิพากษ์ของฝรั่งเศสที่ได้แสดงทัศนะต่อวิชาชีพสื่อสารมวลชนไว้อย่างน่าสนใจ เขาเสนอให้นักวิชาชีพวิเคราะห์ตัวเองด้วยการอาศัยการมีส่วนร่วมและมุมมองของหลายฝ่าย เพื่อให้เกิดความก้าวหน้าในความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอุปสรรคต่าง ๆ ที่สื่อมวลชนและนักข่าวต้องเผชิญ อีกทั้งยังช่วยให้นักข่าวเองสามารถต้นทานต่อกลไกบางอย่างที่คอยกำหนดการทำงานทางวิชาชีพของตนด้วย พันธกิจนี้แม้แต่บูร์ดิเยอเองก็ยอมรับว่าเป็นเรื่องยากมาก เนื่องจากอุปสรรคเหล่านี้เป็นตัวกำหนดโครงสร้างของวิชาชีพสื่อเองในความหมายของการผลิตซ้ำโครงสร้างอำนาจเดิม และคอยยับยั้งการเปลี่ยนแปลง (Bourdieu, 1996)

ในมุมมองโครงสร้างนิยมเชิงประกอบสร้าง (Structuralism Constructivist) บูร์ดิเยอเสนอแนวคิดการวิเคราะห์และวิพากษ์โครงสร้างสังคมที่ถูกจัดระเบียบไว้อย่างแข็งตัวและมีอำนาจเป็นแนวการศึกษาเชิงสังคมวิทยาที่พยายามเปิดเผยหน้ากากของผู้กำหนดทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็นที่คอยชี้นำการรับรู้ ความคิดและการกระทำของคนในสังคม[1]  แต่อย่างไรก็ตาม เขาก็ไม่เห็นด้วยเช่นกัน หากจะมองปัจเจกบุคคลเป็นเพียงหุ่นเชิดหรือเสียงสะท้อนที่ไม่มีน้ำหนักในโครงสร้างทางสังคมที่ดูเหมือนเป็นกลาง เพราะปัจจเจกบุคคลยังคงมีลักษณะที่เป็นอิสระ (autonomous) ที่จะผลักดันหรือต่อต้านเพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมที่มีอยู่เดิม ตามความคิดของบูร์ดิเยอ  “เรามีทางเลือกใหม่เสมอ และเราจำเป็นต้องต่อสู้กับสิ่งที่เป็นกรอบโลกทัศน์เดิมของเรา” (Watine, 1999)

บูร์ดิเยอไม่ได้ปฏิเสธการศึกษาแบบวัตถุวิสัยและภววิสัย[2] แต่มองว่าทั้งสองแนวนี้ต้องไปด้วยกันเพื่อช่วยทำให้เรามองเห็นสังคมหลากหลายแง่มุม กล่าวคือ หากมองในแบบโครงสร้างนิยม (Structuralism) บูร์ดิเยอหมายถึงโครงสร้างที่เป็นอิสระจากจิตสำนึกและเจตจำนงของตัวแสดง (agent) ในสังคมที่สามารถสั่งการ ห้ามการกระทำหรือสะท้อนความเป็นตัวแทนของโครงสร้างนั้น ส่วนมุมมองแบบประกอบสร้างนิยม (Constructivism) เป็นการมองที่ความหลากหลายทางสังคมทั้งการรับรู้ ความคิดและการกระทำของปัจเจกบุคคลที่ก่อให้เกิด “ฮาบิทุส” (Habitus) [3] ของตัวแสดงทางสังคม และเป็นตัวกำหนดโครงสร้างทางสังคมที่เรียกว่า “สนาม” (Field) หรือลำดับชั้นทางสังคม (Social classes) อีกทีหนึ่ง

ทั้งปัจเจกบุคคลและกลุ่มบุคคลจึงไม่ใช่ทั้งผู้เล่นเกมในสนามและผู้ควบคุมโครงสร้าง แต่เป็นวัตถุที่ถูกวางโดยโครงสร้างและเป็นผู้กำหนดโครงสร้างไปพร้อม ๆ กัน ตัวแสดงในสนามจะสร้างความเป็นจริงอย่างต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ดังนั้น มุมมองโครงสร้างนิยมแบบประกอบสร้างนี้ ไม่ได้มุ่งให้ความสำคัญต่อสภาวะที่เป็นอยู่หรือกำลังทำบางอย่างสิ่งบางอย่าง แต่สนใจความคิดเรื่องความเป็นจริงที่ถูกประกอบสร้าง หรือกำลังอยู่ในกระบวนการสร้างเพื่อรื้อถอน หรือกระบวนสร้างความจริงใหม่ในแบบอื่น (Watine, 1999)

ในวิชาชีพสื่อสารมวลชนก็เช่นเดียวกัน เราควรทำความเข้าใจกลไกการผลิตอุดมการณ์ทางวิชาชีพ ภาพสะท้อนความเป็นสื่อมวลชนในอุดมคติและมายาคติของตัววิชาชีพเอง ผลงานวิพากษ์สังคมของบูร์ดิเยอช่วยเป็นแนวทางให้นักวิชาการด้านสังคมศาสตร์และสื่อสารมวลชนได้ตั้งคำถามถึงบทบาทของสื่อมวลชนในฐานะตัวแสดงหนึ่งที่ดูเหมือนจะมีอิสระน้อยมากในสนามทางสังคมที่อ่อนแอ เนื่องจาก สื่อมวลชนมีขอบเขตการแสดงออกในสนามที่จำกัด (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากข้อมูลข่าวสารนั้นเป็นประเด็นที่อ่อนไหวหรือปมความขัดแย้ง) นักข่าวต้องเผชิญกับเกมและภาวะกดดันอยู่ตลอดเวลา ทั้งแรงกดดันทางเศรษฐกิจ การเมืองและวัฒนธรรม แต่อย่างไรก็ตามสื่อมวลชนเองก็ยังมีบทบาทในการรื้อถอนโครงสร้างอำนาจเดิมได้ด้วยเช่นกัน

แนวคิดเกี่ยวกับสนามของสื่อมวลชนที่มีการศึกษากันโดยส่วนใหญ่ มุ่งให้ความสนใจไปที่โครงสร้างลำดับชั้นของนักข่าว เช่น ภูมิหลังทางการศึกษา ฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม ค่านิยม ทัศนคติและประสบการณ์ของนักข่าวเกี่ยวกับการทำงานด้านสื่อสารมวลชน รวมทั้งการวิเคราะห์โครงสร้างการบริหารขององค์กรสื่อสารมวลชน เป็นต้น แต่ทว่าการมองลักษณะนี้ยังไม่อาจอธิบายสาเหตุที่แท้จริงของการแปรรูปของสนามสื่อสารมวลชนในสถานการณ์เฉพาะ เพราะไม่ได้พิจารณาถึงข้อจำกัดทางวิชาชีพ การนิยามความหมายใหม่ในนามของ“ความเป็นมืออาชีพ” หรือการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ที่ว่าด้วยเรื่อง “ข้อมูลข่าวสารในสังคมสมัยใหม่” ตรงกันข้าม มุมมองแบบดั้งเดิมในเรื่องการแบ่งลำดับชั้นของนักข่าวกลับก่อให้เกิดความขัดแย้งไม่ลงรอยระหว่างความเป็นปัจเจกกับโครงสร้างที่นำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า การแปรสภาพของสนามของสื่อมวลชนนั้นไม่เป็นอิสระจากเจตจำนงและทัศนคติของตัวนักข่าวเอง

เมื่อสนามกลายเป็นเกมของอำนาจ

ตามแนวคิดของบูร์ดิเยอ “สนาม” เป็นพื้นที่ทางสังคมที่ได้ถูกวางโครงสร้างไว้แล้ว เป็นสนามของการแสดงพลัง (Forces) ที่มีทั้งผู้ครอบงำและผู้ถูกครอบงำ ทั้งสองฝ่ายต่างมีความสัมพันธ์ต่อกันที่ชัดเจน แน่นอนและไม่เท่าเทียมกัน สนามจึงเป็นพื้นที่ของการต่อสู้ของตัวแสดงต่างๆ เพื่อเปลี่ยนแปลงหรือเพื่อพิทักษ์รักษาอำนาจของตน ภายในสนามตัวแสดงแต่ละตัวจะมาเข้าร่วมแข่งขันกับอำนาจอื่นและคอยกำหนดนิยาม ตำแหน่งแหล่งที่ และสถานภาพของตัวแสดงในสนาม รวมทั้งกลยุทธในการแข่งขันต่าง ๆ ด้วย

สนามในความหมายนี้เป็นระบบของตำแหน่งแหล่งที่ทางสังคมที่คอยกำหนดความหมายของสรรพสิ่ง ฝ่ายที่ครอบงำจะมีแนวโน้มที่จะปกป้องพื้นที่ของตัวเอง ในขณะที่ฝ่ายผู้ถูกครอบงำก็มีแนวโน้มที่จะต่อต้านโดยการสร้างความหลากหลายทางความคิดมากกว่า นี่เป็นกฎกติกาของสนามที่ฝ่ายที่เคยครอบครองพื้นที่จะต่อต้าน กีดกันกลุ่มความสัมพันธ์ใหม่ คนมาใหม่ หรือคนที่มาทีหลังที่มีทุนทางสังคมไม่มากนัก คนที่อยู่ก่อนจะมีกลยุทธ์ในการพิทักษ์รักษาสิ่งเดิมไว้เพื่อเป้าหมายของการสะสมทุนทางสังคมให้มากขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะเดียวกัน คนที่มาใหม่ก็จะมีกลยุทธ์ในการตัดกำลังการสะสมทุนของคนที่อยู่ก่อน “ทุกสนามจึงเป็นเวทีของความตึงเครียด” ระหว่างคนที่สามารถครอบครองทุนทางเศรษฐกิจและทุนทางวัฒนธรรม กับคนใหม่ที่อยากระดมทุนที่ตัวเองไม่เคยมีเหล่านั้น ดังนั้น การต่อสู้ในสนามทางสังคมนี้จึงอยู่ในตรรกะของการพยายามปกป้องและการผูกขาดต้นทุนของตัวเองไว้ (Bourdieu, 2005)

การปกป้องการเปลี่ยนแปลงผ่านการเลือกสรรที่ฮาบิทุสปฏิบัติการอยู่ มันจะคอยจัดการข้อมูลข่าวสารใหม่ ๆ ด้วยการละทิ้งข้อมูลชุดอื่น ๆ ที่ท้าทายหรือตั้งคำถามตัวมัน ผ่านวิธีการลดคุณค่า ลดการแสดงตัวของข้อมูลข่าวสารเหล่านั้น ในส่วนของสื่อมวลชน บูร์ดิเยอมองว่า นักข่าวมีแนวโน้มที่จะเป็นตัวแสดงที่มีข้อจำกัด (constraint agents) มากกว่าเป็นตัวแสดงที่เป็นอิสระ (autonomous actors) เกมของสื่อจึงเป็นตรรกะเฉพาะที่เราไม่สามารถเข้าใจการกระทำของตัวแสดงหรือนักข่าวได้โดยครบถ้วนสมบูรณ์ หากเราไม่อ้างอิงไปถึงสิ่งที่ตัวแสดงต่าง ๆ หรือนักข่าวกระทำในสนามของสื่อในฐานะที่เป็นทั้งนักข่าวฝ่ายครอบงำและฝ่ายที่ถูกครอบงำ

ในขณะที่คนมาใหม่พยายามที่จะกระโดดข้ามแนวรั้วเพื่อเข้าถึงสนาม แต่ในที่สุดแล้ว การต่อสู้ของคนทั้งสองกลุ่มหรือหลายกลุ่มในสนามก็จะต้องแสวงหาทางออก แสวงหาจุดสมดุลร่วมกันเพื่อไม่ให้สนามนั้นล่มสลายไป ทั้งสองฝ่ายจึงต้องเข้าร่วมเล่นในกติกาเดียวกันและแบ่งปันกันในระดับที่เหมาะสมเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้ตัวเองได้อยู่ในสนามเดียวกัน กล่าวอีกแง่หนึ่งก็คือ ทุก ๆ ตัวแสดงทางสังคมที่เกี่ยวข้องหรือเข้ามาเล่นเกมในสนามนี้จะยอมตกลงกันอย่างไม่เปิดเผยที่จะยอมรับข้อจำกัดบางอย่างเพื่อที่ตนจะได้ไม่ต้องถูกขับออกจากสนาม บูร์ดิเยอพยายามสนับสนุนความคิดที่ว่า คนที่เข้าร่วมสนามการแข่งขันนี้ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายครอบงำหรือฝ่ายถูกครอบงำก็ตาม ต่างก็แสดงบทบาทโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจในการ “ผลิตซ้ำ” กติกาของสนามนั้น และในที่สุดก็จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และสามารถทำลายการจัดลำดับชั้นระหว่างตัวแสดงเหล่านั้น ในขณะที่เกมและสนามก็ยังคงไม่ถูกทำลายโดยตัวมันเอง (Benson, 1999)

กติกาสาธารณะกับความเป็นอิสระของสื่อมวลชน

หากจะกล่าวว่าสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสเป็นสนามทางสังคมก็ไม่ผิดนัก ในฐานะที่เป็นสื่อสาธารณะที่พยายามหลุดพ้นจากการครอบงำทั้งจากอำนาจทุนและอำนาจการเมือง (นิธิตา สิริพงศ์ทักษิณและนฤมล ทับจุมพล, 2554) ในขณะเดียวกัน ด้วยเอกสิทธิ์ทางการบริหารด้วยพ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 ที่พยายามปกป้องพื้นที่สาธารณะนี้ให้เป็นอิสระจากอำนาจของกลุ่มทุนและอำนาจของฝ่ายการเมือง ก็ยิ่งผลักดันให้ไทยพีบีเอสต้องอิงอยู่กับทุนทางสังคม (Social Capital)[4] เป็นหลักนั่นก็คือ “ความน่าเชื่อถือในสายตาของสาธารณะ”

หากมองในด้านบวก ทุนทางสังคมนี้มิใช่เป็นผลจากการได้รับเอกสิทธิ์ทางการบริหารดังที่กล่าวไว้เพียงอย่างเดียว แต่ที่ผ่านมาไทยพีบีเอสก็ได้พยายามสะสมทุนทางสังคมในรูปแบบอื่นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการยึดมั่นหลักการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ตอบสนองความต้องการและอัตลักษณ์ของคนในสังคมที่หลากหลาย โดยเฉพาะกลุ่มที่เคยถูกละเลย (กลุ่มชายขอบ) ในพื้นที่สื่อก่อนหน้านี้ การพยายามสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดเนื้อหารายการผ่านสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการ หรือกิจกรรมทางสังคมและการสร้างเครือข่ายภาคพลเมืองหลายกลุ่มในระดับชุมชน เป็นต้น  แต่กระนั้นก็ยังมีข้อสังเกตจากนักวิชาการและสาธารณะอยู่ว่าบทบาทของสื่อสาธารณะนี้ยังอิงกับบางกลุ่มที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้เกิดสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็น สสส. องค์กรพัฒนาเอกชนบางกลุ่ม นักวิชาการบางส่วนอันเป็นโครงสร้างอำนาจภายในสถานีเอง (นิธิตา สิริพงศ์ทักษิณและนฤมล ทับจุมพล, 2554) สนามของไทยพีบีเอสนี้จึงกลายเป็นสนามที่มีตัวแสดงมากมายเข้ามามีบทบาทด้วยกติกาชุดหนึ่งที่ว่าด้วยเรื่องของ “ความเป็นอิสระ มีมาตรฐานทางวิชาชีพ โปร่งใส และเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ”

กรณีที่มีการนำเสนอประเด็นอ่อนไหวในรายการตอบโจทย์ประเทศไทยและตามมาด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ทั้งแรงต่อต้านและสนับสนุนของผู้ชม  หากวิเคราะห์ในมุมมองทฤษฎีสนาม การแข่งขันเป็นเรื่องธรรมดาในสนามสื่อสาธารณะ แต่เกมการแข่งขันนี้จะเกิดปัญหาทันที หากผู้เล่นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือผู้ชมข้างสนามเกิดความรู้สึกว่ากติกาในสนามนี้เริ่มไม่เป็นธรรมหรือมีการครอบงำของผู้เล่นบางตัวมากเกินไป

จากการสังเกตคำให้สัมภาษณ์ของผู้ชม นักวิชาการ นักข่าวและผู้บริหารของไทยพีบีเอส (ในฐานะตัวแสดงหลักในสนามของไทยพีบีเอส) ในสื่อมวลชนตลอดช่วงหนึ่งสัปดาห์หลังการระงับรายการพบว่า ความคิดเห็นเหล่านั้นสะท้อนการให้นิยามของกติกาของพื้นที่สาธารณะที่แตกต่างกันไปเช่น “ความเป็นมืออาชีพ” “ความเป็นอิสระ” “พื้นที่กลาง” และ “ความรับผิดชอบต่อสังคม” ดังปรากฏในคำแถลงของทีมงานรายการตอบโจทย์ฯ ในเว็บเพจของรายการเรื่องการยุติการทำรายการ เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2556 ได้ให้เหตุผลว่า “เนื่องจากไม่สามารถตอบโจทย์ได้อีกต่อไปว่าจะยังรักษาความเชื่อมั่นในเสรีภาพของสื่อสารมวลชนซึ่งได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญไว้ได้อย่างไร” และย้ำถึงจุดยืนว่า “เรายินดีเลือกที่จะสละรายการ เพื่อรักษาหลักการ” หลักการในที่นี้ก็คือ การรักษาความเชื่อมั่นในเสรีภาพของสื่อสารมวลชน และแสดงบทบาทในฐานะ “ผู้จุดไฟท่ามกลางความมืดหวาดขาดกลัว”

ในด้านผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส นายสมชัย สุวรรณบรรณ ได้อธิบายเหตุผลที่แต่เดิมอนุญาตให้นำเสนอประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์ว่า เพื่อเปิด “พื้นที่กลาง” สำหรับทุกความเห็นที่แตกต่างในสังคม แต่มีการชี้แจงเหตุผลการระงับการออกอากาศรายการในภายหลังว่า “เพื่อทบทวนให้เกิดความรอบด้าน และพิจารณาความเหมาะสม รวมทั้งผลกระทบที่เกิดขึ้น” (สำนักข่าวอิศรา, 16 มี.ค. 2556)

ในขณะเดียวกัน นักวิชาการและบุคลากรในไทยพีบีเอสต่างก็ออกมาแสดงความคิดเห็นทั้งสนับสนุนและคัดค้านการตัดสินใจของฝ่ายบริหารสถานีโทรทัศน์ฯ ในสื่อสังคมออนไลน์และสื่อมวลชน ในทัศนะของฝ่ายที่สนับสนุน มีการกล่าวถึงหลักการเรื่อง “เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น” ในขณะที่ฝ่ายคัดค้านมองว่า สื่อมวลชนต้องมี “ความรับผิดชอบต่อสังคม” การนำเสนอรายการที่มีเนื้อหาเสี่ยงต่อการเกิดความขัดแย้งรุนแรงในสังคม ผู้จัดรายการควรมี “ความเป็นมืออาชีพ” และควรคำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมาด้วย  (แนวหน้า, 17 มี.ค. 2556)

การให้นิยามและคุณค่าของสื่อสาธารณะที่แตกต่างกันเหล่านี้ตั้งอยู่บนฐานของกรอบความคิดความเชื่อและการปฏิบัติที่เป็นฮาบิทุสของตัวแสดงในสนามสื่อมวลชน (ทั้งผู้ผลิตรายการ ผู้บริหาร บรรณาธิการ บุคลากรในองค์กร และผู้ชม) และดูเหมือนว่าต่างฝ่ายต่างก็ช่วงชิงอำนาจในการอธิบายบทบาทของสื่อสาธารณะที่ควรจะเป็น กล่าวอีกแง่หนึ่งคือ การให้เห็นผลดังกล่าวสะท้อนถึงความพยายามยืนยันและผลิตซ้ำโครงสร้างอำนาจเดิมที่กรอบความคิดและฮาบิทุสของตัวแสดงต่าง ๆ ผูกพันอยู่นั่นเอง  

แต่ไม่ว่าการต่อสู้แข่งขันจะร้อนแรงเพียงใดก็ตาม สนามของสื่อสาธารณะนี้จะยังคงอยู่ ตราบใดที่ตัวแสดงในสนาม  (ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่อยู่คนหรือฝ่ายที่มาใหม่ ฝ่ายที่ครอบงำหรือถูกครอบงำ) ยังคงรักษากติกาของเกมในสนามนี้

เพื่อทำความเข้าใจกติกาสาธารณะนี้ เราอาจต้องกลับไปทบทวนความเป็นสาธารณะในสังคมไทย ที่ผ่านมา เราพบปัญหามากมายตั้งแต่ปัญหาเล็ก ๆ เช่น ปัญหาการรุกล้ำพื้นที่สาธารณะของปัจเจกบุคคลหรือกลุ่ม การโหมโฆษณาด้วยสารพัดสื่อที่ถาโถมใส่เราจนแทบจะไม่มีทางเลือก ไปจนถึงปัญหาใหญ่ ๆ เช่น การจัดสรรคลื่นความถี่และการกำกับดูแลกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม ปัญหาปิดกั้นกีดกันการแสดงออกทางความคิดเห็น รวมไปถึงการหมิ่นประมาทหรือการประณามผู้อื่นในที่สาธารณะเป็นต้น

ปัญหาเหล่านี้สะท้อนโลกทัศน์เกี่ยวกับความเป็นสาธารณะแบบไทยไทยภายใต้กรอบการอ้างสิทธิและความชอบธรรมที่คลุมเครือและแตกต่างกันของคนในสังคม บ่อยครั้งที่เราพบว่าพื้นที่สาธารณะกลายเป็นพื้นที่ของการใช้ประโยชน์สำหรับคนที่สามารถเข้าถึงได้ และทุกคนที่เข้าถึงพื้นที่ได้ต่างก็อ้างสิทธิในการใช้พื้นที่นั้นโดยอาจไม่สนใจว่าประโยชน์ที่ตนได้รับจากการใช้พื้นที่นั้นจะกระจายไปถึงคนอื่นด้วยหรือไม่ หรือบางครั้งเราอาจละเลยความจริงที่ว่า ยังมีผู้คนอีกมากในสังคมที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงพื้นที่สาธารณะนั้น นั่นจึงเกิดผลกระทบที่ตามมาก็คือ ปัญหาความเป็นธรรมในการใช้พื้นที่สาธารณะ
  
พื้นที่สาธารณะในอุดมคติที่ทุกคนต่างกล่าวอ้างกันนั้นคือพื้นที่ที่ใช้และให้ประโยชน์สำหรับทุกคนในสังคม[5]  แต่ดูเหมือนคนในสังคมจะหลงลืมไปว่า คำว่า “สำหรับทุกคน” นั้นก็คือทุกคนต้องมีอิสระในการเข้าถึงและใช้พื้นที่นี้ได้อย่างเท่าเทียม (Habermas, 1991) ที่สำคัญอย่างยิ่งคือ ทุกคนในฐานะสมาชิกของสังคมต้องช่วยกันรักษากติกาความเท่าเทียมในการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะนั้นด้วย เพราะนั่นหมายถึง การมีหลักประกันว่า อย่างน้อยก็ยังมีพื้นที่ที่เปิดกว้างสำหรับเราในฐานะปัจเจกบุคคล

แต่หากทุกคนต่างมุ่งแสวงประโยชน์หรือพยายามครอบครองหรือผูกขาดพื้นที่สาธารณะไว้กับตัวเองหรือกลุ่มของตน ในที่สุดความชอบธรรมของพื้นที่นี้ก็จะเริ่มหมดลงไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งแม้แต่ตัวเองหรือกลุ่มของตนก็ไม่อาจใช้ประโยชน์จากพื้นที่สาธารณะนั้นได้อีกต่อไป และอาจกล่าวได้ว่าเป็น “โศกนาฏกรรมของพื้นที่สาธารณะ”

ลองพิจารณากรณีการล่มสลายของทรัพยากรธรรมชาติในปัจจุบันที่เกิดจากการใช้ประโยชน์โดยไม่มีขีดจำกัด และบ่อยครั้งที่พบว่า สาเหตุของการล่มสลายนั้นเกิดจากการผูกขาดหรือการให้สัมปทานกับกลุ่มคนบางกลุ่มในการเข้าถึงและได้ประโยชน์จากทรัพยากรนั้น เมื่อทุกคนที่เข้าถึงแหล่งทรัพยากรธรรมชาตินั้นต่างก็อ้างสิทธิในการใช้ประโยชน์และกอบโกยทรัพยากรเพราะถือว่าเป็นทรัพย์สินสาธารณะ เมื่อทรัพยากรนั้นหมดไป ผู้ที่ได้รับผลกระทบอันเลวร้ายนั้นก็คือทุกคน

สภาพปัญหาเช่นนี้อาจเกิดขึ้นกับสื่อสาธารณะได้เช่นกัน หากมองว่า “ความน่าเชื่อถือ” เปรียบเสมือนทรัพย์สินของสื่อสาธารณะในสังคมประชาธิปไตย เมื่อใดที่มีการผูกขาดหรือกีดกันการใช้พื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นหรือนำเสนอข้อมูลข่าวสารโดยคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง นั่นก็หมายความว่าพวกเขาได้ใช้ทรัพย์สินความน่าเชื่อถือนั้นจนร่อยหรอและอาจหมดไปในที่สุด และเมื่อถึงเวลานั้น ความน่าเชื่อถือของพื้นที่สาธารณะก็จะไม่มีแม้แต่ในกลุ่มคนที่ผูกขาดข้อมูลข่าวสารด้วยกันเอง (มุมมองนี้อาจใช้ในการวิเคราะห์สภาพการณ์ของสื่อหนังสือพิมพ์ไทยได้ด้วยเช่นกัน)
 
ดังนั้น ไม่ว่าตัวแสดงในสนามทางสังคมจะเป็นฝ่ายที่มีทุนมากกว่าหรือน้อยกว่าก็ตาม ไม่ว่าในสนามนั้นจำต้องตกอยู่ในเกมการแย่งชิงพื้นที่ในสนามหรือเกมของอำนาจหรือไม่ สิ่งที่เหมือนกันในทัศนะทฤษฎีสนามทางสังคมและพื้นที่สาธารณะก็คือ การเคารพในกติกาของสนาม เคารพในกติกาของสาธารณะที่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นธรรม (Fairness) นั่นเอง

เช่นเดียวกันกับกรณีสื่อสาธารณะหรือพื้นที่ทางสังคมอื่น ๆ ในสังคมไทย การเปิดพื้นที่ให้ตัวแสดงจากทุกฝ่าย ทุกประเด็นและทุกความคิดเห็นที่แตกต่างสามารถเข้าถึงและใช้พื้นที่สื่ออย่างเป็นธรรม ไม่มีการผูกขาดฝ่ายไหนหรือความเห็นใดได้ครอบครองพื้นที่หรือสนามนั่นก็คือการรักษากติกาของสาธารณะ เพราะเราคงไม่อยากเห็นโศกนาฏกรรมของพื้นที่สาธารณะเกิดขึ้น


รายการอ้างอิง

Bourdieu, Pierre. “The Political Field, the Social Science Field, and the Journalistic Field.” In Bourdieu and the Journalistic Field, edited by Rodney Benson and Erik Neveu. Cambridge: Polity Press, 2005.
Bourdieu, Pierre. Distinction: A Social Critique of the Judgment of Taste. Haward University Press, 1984.
Benson, Rodney. Field Theory in Comparative Context: A New Paradigm for Media Studies.” In Theory and Society, Vol. 28, No. 3. (June, 1999), pp. 463-498.
Chauviré, Christine et Fontaine Olivier. Le vocabulaire de Bourdieu. Paris : Ellipses, 2003.
Habermas, Jürgen. The Structural Transformation of the Public Sphere : An Inquiry into a Category of Bourgeois Society. MA: MIT Press, 1991.
Watine, Thierry. “Bourdieu et les medias : des lois du champ et de l’habitus comme présomptions du conservatisme des journalistes”. In Les Cahiers du Journalisme, n°6, Octobre 1999, p. 126-151.
นิธิตา สิริพงศ์ทักษิณและนฤมล ทับจุมพล. “การเมืองในนโยบายสื่อสาธารณะขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย”, วารสารสงขลานครินทร์ ฉบับสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, ปีที่ 17, ฉบับที่ 5, ก.ย.-ต.ค. 2554, หน้า 59-81.
ปิแยร์ บูร์ดิเยอ. เศรษฐกิจของทรัพย์สินเชิงสัญลักษณ์. ชนิดา เสงี่ยมไพศาลสุข, แปล. กรุงเทพฯ : โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2550.




[1] บูร์ดิเยอใช้คำว่า « doxa » ซึ่งหมายถึงความคิดร่วมของสังคมที่ทำให้เรารับรู้ความเป็นจริงทางสังคมในแบบใดแบบหนึ่ง (Chauviré et Fontaine, 2003)

[2] การมองแบบวัตถุวิสัย (objectiviste approche)ในที่นี้คือการพิจารณาไปที่โครงสร้างทางเศรษฐกิจ โครงสร้างการตลาด โครงสร้างการเมืองที่มีผลต่อการกระทำของคน (ตัวแสดง) ในสังคม ส่วนการมองแบบภววิสัย (subjectivist approach) คือการตั้งคำถามถึงความเป็นอิสระ (autonomy) และความรับผิดชอบ (responsibility) ของผู้กระทำ

[3] คำนี้หมายถึงรูปแบบของโครงสร้างที่ถูกกำหนดและเป็นตัวกำหนดสังคมในเวลาเดียวกัน  ฮาบิทุส (หรือที่ชนิดา เสงี่ยมไพศาลสุขใช้คำว่า นิจภาพ) เป็นผลิตผลของกระบวนการหล่อหลอมทางสังคมตั้งแต่ช่วงแรก ๆ ของชีวิต ด้วยการปลูกฝังเรื่องต่าง ๆ เช่น เงื่อนไขทางสังคม กฎระเบียบ ความเชื่อ ค่านิยม ความรู้ ความคิด ความเชื่อ ฯลฯ ให้ซึมซับไปในร่างกายและจิตใจของบุคคล โครงสร้างดังกล่าวจะคอยกำหนดขอบเขตของการกระทำและสร้างชุดการรับรู้และประเมินคุณค่าที่สอดคล้องกับโครงสร้างนั้น แล้วแสดงออกในรูปของการปฏิบัติในชีวิตประจำวันที่สม่ำเสมอ (การผลิตซ้ำ - reproduction) (ชนิดา เสงี่ยมไพศาลสุข,  2550 :74  85-95)  ฮาบิทุสจึงเป็นเหมือนเครื่องจักรชนิดหนึ่งที่ผลิตซ้ำเงื่อนไขทางสังคมด้วยวิธีการที่มองไม่เห็น แนบเนียนและดูเป็นกลางมากที่สุด เป็นวิธีการที่เราไม่อาจรู้เงื่อนไขของการผลิตเหล่านั้นได้อย่างง่ายๆ และเป็นระบบ เช่น กลไกสถาบันครอบครัว, โรงเรียน, สื่อมวลชนและสถาบันทางสังคมอื่น ๆ โครงสร้างฮาบิทุสนี้มีแนวโน้มที่จะให้ประโยชน์หรือเอื้อต่อการรักษาเกมกติกาในสนามมากกว่าจะเปลี่ยนแปลงเกม มีแนวโน้มที่จะยืนยันโครงสร้างเดิมและปกป้องตัวมันเอง

[4] ในทฤษฎีสนามได้วิเคราะห์โครงสร้างทางสังคมที่ตั้งอยู่บนฐานของทุน ในหลายลักษณะได้แก่  ทุนทางเศรษฐกิจ (Economic Capital) ที่ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดของมาร์กซ์ (การครอบครองปัจจัยการผลิต ทรัพย์สิน), ทุนทางวัฒนธรรม (Cultural Capital) (ภูมิปัญญาความรู้ รสนิยม), ทุนทางสังคม (Social Capital) ที่เป็นระบบความสัมพันธ์ของคนในสังคม (การยอมรับนับถือ ความน่าเชื่อถือ อำนาจ บารมี) และทุนเชิงสัญลักษณ์ (Symbolic Capital) ที่เป็นความสัมพันธ์ของพลังที่ผูกโยงกับความหมาย (ระบบคุณค่า ระบบจิตสำนึก) บูร์ดิเยอชี้ว่า ในโครงสร้างทางสังคมนั้น ทุนทางวัฒนธรรมกระจายตัวในแต่ละชนชั้นทางสังคมอย่างไม่เท่ากัน ชนชั้นที่ครอบครองทุนทางเศรษฐกิจมากกว่ามักมีโอกาสที่จะสะสมทุนทางวัฒนธรรม ทุนทางสังคมได้มากกว่า (Chauviré et Fontaine, 2003)

[5] Jürgen Habermas ได้อธิบายถึงที่มาของคำว่าพื้นที่สาธารณะโดยอ้างอิงถึงแนวคิดพื้นที่ของเมือง (Polis) ในยุคกรีกโบราณ พื้นที่ของเมืองคือพื้นที่ร่วม (Common Space) สำหรับพลเมืองที่มีเสรีทุกคน เป็นพื้นที่ที่แยกออกจากมณฑลส่วนตัวของปัจเจก (Oïkosในความหมายกรีก พื้นที่สาธารณะคือโลกของเสรีภาพและเป็นนิรันดร์ (Habermas, 1991)

วันอาทิตย์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

แนวคิดพื้นที่สาธารณะ


พื้นที่สาธารณะ (public space) เป็นพื้นที่ในโลกทางสังคมซึ่งปัจเจกบุคคลมาพบปะพูดคุยและอภิปรายกันอย่างเสรีในประเด็นปัญหาทางสังคม การเมืองและเศรษฐกิจ ประเด็นจากการอภิปรายโต้เถียงปัญหา ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ จะถูกตีแผ่แลกเปลี่ยนกันในพื้นที่สาธารณะ ก่อให้เกิดการรับรู้ร่วมกันและนำไปสู่การตัดสินใจเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมและกิจกรรมทางการเมืองของสาธารณชนในอันดับต่อไป พื้นที่สาธารณะจึงเป็นอาณาบริเวณที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสาร การสร้างความรู้สึกเป็นส่วนรวม (sense of public) และผลประโยชน์ของส่วนรวม พื้นที่สาธารณะเป็นได้ทั้งรูปธรรมและนามธรรม กล่าวคือ รูปธรรมของพื้นที่สาธารณะคือพื้นที่ทางกายภาพที่กำหนดขอบเขตไว้แน่นอน  เช่น ร้านกาแฟ ลานประชาชน จัตุรัสกลางเมือง สวนสาธารณะ โรงละคร พิพิธภัณฑ์ เป็นต้น  ส่วนพื้นที่นามธรรม เช่น สื่อมวลชน สื่อสังคมออนไลน์ กลุ่มทางสังคม หรือพื้นที่ทางวัฒนธรรม เป็นต้น

พื้นที่สาธารณะ คำนี้ปรากฏเป็นครั้งแรกในผลงานของอิมมานุเอล คานท์ (Immanuel Kant, 1724-1804) นักปรัชญาสมัยใหม่ชาวเยอรมัน และถูกนำมาศึกษากันอย่างกว้างขวางในทางสังคมศาสตร์เมื่อเจอร์เกน ฮาเบอร์มาส (Jürgen Habermas) นักวิชาการชาวเยอรมันได้เสนอผลงานชื่อ “การแปลงรูปเชิงโครงสร้างของพื้นที่สาธารณะ” (The Structural Transformation of the Public Sphere : an Inquiry into a Category of Bourgeois Society) ในปี ค.ศ. 1962 สำหรับฮาเบอร์มาสนั้น นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1960 เขาเป็นสมาชิกของสำนักแฟรงเฟิร์ตที่สนใจการวิพากษ์วิจารณ์ระบบและโครงสร้างทางสังคม นักวิชาการในกลุ่มนี้สร้างผลงานไว้มากมายในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเฉพาะทฤษฎีแนววิพากษ์ (Critical Theory) แนวคิดในสำนักนี้เห็นว่า ทัศนะพื้นฐานในเรื่องของความมีเหตุมีผล (rationality) ของมนุษยชาติที่พัฒนามาจากความป่าเถื่อนไร้เหตุผลเป็นทัศนะที่ผิดพลาด เพราะความขัดแย้งสับสนของสังคม สงคราม การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ หรือเหตุการณ์ความรุนแรงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 นั้น มนุษยชาติยังไม่ได้เดินไปถึงความมีเหตุมีผลสักเท่าไร โดยเฉพาะระบบทุนนิยมด้วยแล้ว ยิ่งเป็นระบบที่ไร้เหตุผลมากที่สุด แต่ฮาเบอร์มาสกลับมีเห็นว่า การที่ระบบทุนนิยมเป็นระบบที่ไร้เหตุผลนั้นก็เนื่องจากเส้นทางการพัฒนาความมีเหตุมีผลของมนุษยชาตินั้นยังเดินทางไม่ถึงจุดหมายปลายทาง มนุษยชาติจึงจำเป็นต้องก้าวเดินต่อไปด้วยความมีเหตุมีผล และแนวคิดเรื่อง “พื้นที่สาธารณะ” ก็เป็นข้อเสนอรูปธรรมอย่างหนึ่งที่มนุษยชาติจะสามารถดำเนินภารกิจเรื่องความมีเหตุมีผลให้ลุล่วงไปได้ (กาญจนา แก้วเทพ, 2543 : 166, วิภา อุตมฉันท์, 2544 : 158)

ฮาเบอร์มาสได้อธิบายถึงกระบวนการเกิดสำนึกสาธารณะ (สำนึกส่วนรวม) ว่า มาจากการที่ปัจเจกบุคคลใช้ความรู้และแสดงออกทางความคิดอย่างมีเหตุผล อย่างเปิดเผยในที่สาธารณะ ส่งผลให้สาธารณชน (public) เริ่มสามารถเข้าถึงและยึดครองมณฑลสาธารณะที่เคยถูกควบคุมโดยรัฐได้ และต่อมาพื้นที่ดังกล่าวก็ได้แปรเปลี่ยนเป็นพื้นที่ของการถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์การเมือง รวมทั้งการวิพากษ์วิจารณ์ตัวอำนาจรัฐด้วย พื้นที่สาธารณะจึงกลายเป็นอำนาจใหม่ที่ท้าทายอำนาจเดิมของสังคมศักดินาในยุโรป
การแปลงรูปของพื้นที่สาธารณะที่อดีตเคยผูกขาดอยู่แต่เฉพาะคนบางกลุ่มมาสู่มวลชนโดยทั่วไปเกิดขึ้นได้อย่างไร ปรากฏการณ์ดังกล่าวฮาเบอร์มาสได้ศึกษาหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของยุโรปตะวันตกนับตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมาโดยพบว่า ยุโรปในช่วงเวลานั้นเป็นสังคมที่มีแต่สถาบันกษัตริย์และสถาบันศาสนาเท่านั้นที่มีอภิสิทธิ์ในการเข้าถึงและครอบครองพื้นที่ทางการเมือง ชนชั้นกษัตริย์ ขุนนางชั้นสูงและพระเท่านั้นที่มีอำนาจในการตัดสินใจกิจการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสาธารณะ (คนหมู่มาก) เช่น การออกกฎหมาย การถืออำนาจครอบครองที่ดิน การผูกขาดความรู้และอำนาจ การผูกขาดการโฆษณาเผยแพร่ความรู้แก่สาธารณะ เป็นต้น การปรากฏตัวเพื่อให้เป็นที่รู้จักในสังคมไม่ใช่เรื่องที่ใครก็สามารถกระทำได้ แต่บุคคลนั้นจะต้องมีสถานภาพทางสังคมเพียงพอในฐานะที่เป็น “บุคคลสาธารณะ” (1)  และเพื่อที่จะรักษาอภิสิทธิ์ในพื้นที่สาธารณะทางการเมืองของตน รัฐยังกำหนดอำนาจที่จะใช้ความรุนแรงปราบปรามคนกลุ่มอื่นที่รุกล้ำเข้ามาในพื้นที่สาธารณะดังกล่าวได้ด้วย

ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ราวปลายคริสตศตวรรษที่ 17 ถึงต้นคริสตศตวรรษที่ 18 ก็ได้เกิดการขยายตัวทางการค้าทางทะเล การตื่นตัวทางศิลปะวิทยาการต่าง ๆ ก่อให้เกิดกลุ่มพ่อค้า นักคิด ปัญญาชนมากมาย เศรษฐกิจและความรู้ไม่ได้ถูกผูกขาดไว้ที่ชนชั้นสูงหรือพระบาทหลวงอีกต่อไป แต่เกิดเป็นชนชั้นใหม่ในสังคมที่อยู่กึ่งกลางระหว่างชนชั้นศักดินากับสามัญชนชั้นล่างที่เรียกว่า ชนชั้นกลาง (กระฏุมพีหรือ bourgeois-บูร์ชัว) ประกอบกับยุคสมัยดังกล่าวเป็นช่วงของการพัฒนาความเป็นเมืองหรือมหานคร (urbanisation) ทั้งในอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน ฮอลแลนด์ ฯลฯ เริ่มปรากฏพื้นที่สาธารณะใหม่ของคนกลุ่มใหม่ที่มาพบปะสังสรรค์ เสวนากันตามร้านกาแฟ โรงเหล้า ห้องโถงหรือห้องรับแขกของเหล่าชนชั้นกลางอันเป็นพื้นที่ที่ปลอดจากอำนาจราชสำนักและศาสนา กิจกรรมที่กลุ่มบุคคลดังกล่าวกระทำคือ การนัดพบปะกันอย่างสม่ำเสมอเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารด้านการค้า ความรู้และประสบการณ์ใหม่จากการเดินทางไปยังดินแดนไกลโพ้น  ข้อเขียนหรือบทความทางปรัชญา วิทยาศาสตร์สมัยใหม่ วรรณกรรมแพร่กระจายอย่างรวดเร็วด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์ที่พัฒนาขึ้น มีการพูดคุยถกเถียงกันอย่างมีอิสระ เสรีและมีเหตุผลในเรื่องต่าง ๆ เช่น กฎหมาย การเมืองการปกครอง ปรัชญา การวิพากษ์วิจารณ์ถกเถียงกันนี้ดำเนินไปบนหลักของความเสมอภาคเท่าเทียมกัน โดยมีบทบาทของสื่อสิ่งพิมพ์เป็นองค์ประกอบสำคัญ (ฮาเบอร์มาสใช้คำว่า “publicity” – ในความหมายกว้างที่หมายถึงการแพร่กระจายข้อมูลข่าวสารและประเด็นการถกเถียงผ่านสื่อกลาง)  กล่าวคือ เรื่องที่พูดคุยกันจะเป็นประเด็นของผลประโยชน์ร่วมกันที่สมาชิกแต่ละคนได้รับข่าวสารมาจากสื่อสิ่งพิมพ์ หนังสือพิมพ์ ใบประกาศ ฯลฯ ฮาเบอร์มาสชี้ให้เห็นว่านี่คือจุดเริ่มต้นที่อาณาเขตหรือพื้นที่ส่วนตัว (private sphere - ภายในครอบครัวหรือกลุ่มเฉพาะ) ได้เคลื่อนออกมาสู่มณฑลสาธารณะ และบางเรื่องก็ได้หลอมรวมเป็นสิ่งเดียวกันโดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวกับชีวิตการเมือง นอกจากนี้ ความสามารถในการอ่านออกเขียนได้ของประชาชนที่ขยายวงกว้างมากขึ้นนำไปสู่หลักของการคัดเลือก (principle of selection) ไม่ว่าจะเป็นการเลือกข่าวสาร ความรู้ วิทยาการ การคัดสรรผู้มีความรู้ ผู้มีอำนาจ และนำไปสู่การจัดโครงสร้างใหม่ทางสังคมแบบใหม่และการครอบครองทรัพย์สินของคนกลุ่มใหม่ในยุคสมัยนั้น



ร้านกาแฟในคริสศตวรรษที่ 18
(ที่มา  http://www.ariane-genealogie.net/france1/cafe_au_18eme.htm)





บรรยากาศห้องรับแขกของชนชั้นกลางในคริสตศตวรรษที่ 18 
(ที่มา : http://www.voyagesphotosmanu.com/litterature_francaise_18eme_siecle.html)


อาจกล่าวได้ว่าพื้นที่สาธารณะดังกล่าวได้ทำหน้าที่เป็นพื้นที่ต่อสู้ทางการเมืองของชนชั้นกลางด้วย เพราะนอกจากการพูดคุยดังกล่าวจะเป็นช่องทางให้สมาชิกในสังคมได้เข้ามามีส่วนร่วมในชีวิตสาธารณะแล้ว ยังสามารถตรวจสอบรัฐบาลที่กำลังปกครองอยู่ในขณะนั้นได้ด้วย หลังจากนั้นผลที่เกิดขึ้นก็คือ กลุ่มพื้นที่สาธารณะนั้นก็จะนำเอาข้อสรุปหรือข้อเสนอไปต่อรองกับชนชั้นกษัตริย์หรือขุนนาง พื้นที่สาธารณะจึงเท่ากับเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้ชนชั้นกลางได้แสดงตัวในฐานะ “พลเมือง” และได้รวมตัวกันเพื่อเป็นช่องทางเข้าไปร่วมกับชีวิตสาธารณะของสังคม แต่นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 พื้นที่สาธารณะในฐานะที่เป็นพื้นที่ของ “เหตุผล” ตามความหมายของฮาเบอร์มาสกลับเริ่มถดถอยลดบทบาทลง การเผยแพร่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ได้แปรเปลี่ยนไปสู่สนองตอบผลประโยชน์ทางการค้ามากกว่าทางการเมือง ทำให้ข้อมูลข่าวสารแปรรูปจากความรู้   ข่าวสารไปสู่การโฆษณาสินค้า   การโฆษณาชวนเชื่อและการบิดเบือน ฮาเบอร์มาสชี้ให้เห็นว่าพื้นที่สาธารณะของชนชั้นกลางได้กลายเป็นพื้นที่ทางสังคมที่มีลักษณะเฉพาะอันเกิดจากการเติบโตของระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมในยุโรปตะวันตก และเช่นเดียวกัน เขาได้แสดงให้เราเข้าใจถึงความขัดแย้งกันระหว่างอุดมคติของความเท่าเทียมกันบนฐานของแนวคิดเสรีนิยมกับความไม่เท่าเทียมกันทางสังคมที่ถูกกำหนดโดยกลไกหรือความสัมพัน์ของการค้าการตลาด  (Dahlgren, 1994)


ประเด็นถกเถียงถึงความเป็นอุดมคติของพื้นที่สาธารณะ


การศึกษาเรื่องพื้นที่สาธารณะยังคงมีข้อถกเถียงเชิงวิพากษ์ในหลายประเด็นจนทุกวันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นที่เกี่ยวกับการแสดงบทบาทเชิงสัญลักษณ์และความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างคนกลุ่มต่าง ๆ ที่แสดงตัวในพื้นที่สาธารณะ บ้างก็วิจารณ์งานของฮาเบอร์มาสว่า เขาได้ทำให้พื้นที่สาธารณะของชนชั้นกลางในช่วงต้นกลายเป็นอุดมคติ โดยการนำเสนอพื้นที่ดังกล่าวในฐานะที่เป็นรูปแบบหนึ่งของการสนทนาและถกเถียงกันอย่างมีเหตุผล ซึ่งในความเป็นจริงอาจมีกลุ่มคนบางกลุ่มได้ถูกกีดกัดหรือเบียดขับออกไปจากพื้นที่นี้แล้ว และด้วยเหตุนี้การมีส่วนร่วมในพื้นที่ดังกล่าวจึงถูกจำกัด การเมืองไม่ว่าจะยุคสมัยใดย่อมหนีไม่พ้นเรื่องของผลประโยชน์และอำนาจ หรือแม้แต่การสนทนาและการถกเถียง เราจึงยังคงเห็นภาพของพื้นที่สาธารณะของชนชั้นกลางที่ถูกยึดครองหรือครอบงำโดยคนผิวขาว คนส่วนใหญ่ ผู้ชาย ชนชั้นนำ หรือนายทุน ในขณะที่พื้นที่สาธารณะของชนชั้นล่าง ชนชั้นแรงงาน แม่บ้าน หรือชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ แทบจะไม่ปรากฏให้เห็นในงานของเขา บ้างก็วิจารณ์ว่าการวิเคราะห์ของฮาเบอร์มาสยังมีความคลุมเครือเพราะยังขาดการนำเสนอประเด็นปัญหาอื่น ๆ ที่สำคัญและดูเหมือนจะเป็นการขยายภาพเกินจริง กล่าวคือ ด้านหนึ่งวาทกรรมของชนชั้นกลางไม่เคยแสดงออกถึงระดับของการใช้เหตุผลอย่างที่ฮาเบอร์มาสกล่าวถึง ส่วนอีกด้านหนึ่งในขณะที่ระบบทุนนิยมกำลังก้าวเดินไปข้างหน้าสถานการณ์ดังกล่าวกลับไม่ได้ถูกขัดขวางอย่างที่ฮาเบอร์มาสชี้ การเกิดพื้นที่สาธารณะจึงเป็นปัญหาเรื่องของการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์มากกว่า (Dahlgren, 1994) ส่วนฮาเบอร์มาสก็ยอมรับว่า เขาได้นำเสนอภาพที่ไม่เป็นจริงได้ทั้งหมดเกี่ยวกับองค์ประกอบที่เป็นอิสระและมีเสรีภาพของพื้นที่สาธารณะของชนชั้นกลาง และควรที่จะทำให้มันชัดเจนขึ้นด้วยว่า เขากำลังสถาปนาแบบฉบับที่เป็นเพียงอุดมคติอันหนึ่ง (Habermas, 1993 :III)
แม้ว่ายังมีข้อถกเถียงและวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับพื้นที่สาธารณะ แต่งานของฮาเบอร์มาสก็ถือว่าเป็นการจุดประเด็นให้เกิดการขบคิดและศึกษาถึงกระบวนการเกิดและปรับเปลี่ยนพื้นที่ดังกล่าวในแต่ละยุคสมัย ตราบใดที่เรายังคงยึดถือคุณค่าของสังคมประชาธิปไตยแบบเสรี

การเกิดความเห็นสาธารณะ (public opinion) (2) 


แนวคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะของฮาเบอร์มาสดังที่ได้กล่าวมาสะท้อนให้เห็นถึงความสนใจของเขาในเรื่องของการสื่อสารที่เรียกว่า ความมีเหตุมีผลเชิงการสื่อสาร (communicative rationality) ที่จะทำให้ความเป็นตัวตน (selfhood) ทั้งระดับปัจเจกและระดับสังคมเกิดขึ้นได้ เพราะคนที่จะต้องการเสรีภาพนั้น ต้องเป็นคนที่มีความตระหนักในตัวตนของตัวเองเสียก่อน อีกประการหนึ่ง หากมีการสื่อสารกันระหว่างคนในชุมชนจะทำให้แต่ละฝ่ายสามารถเข้าถึงความเป็นอัตวิสัยซึ่งกันและกัน (intersubjectivity) เข้าใจกันและกัน และสามารถเห็นพ้องต้องกัน (consensus) ได้ในท้ายที่สุด นั่นหมายความว่า การสื่อสารเป็นเงื่อนไขสำคัญสำหรับการปลดปล่อยสังคมให้มีเสรีภาพ (กาญจนา แก้วเทพ, 2543 : 157-179) และจะสามารถทำให้เกิดบรรทัดฐานที่จะวิจารณ์ความบิดเบือนต่าง  ๆ ได้

เมื่อพิจารณาตัวแบบระบบการสื่อสารทางการเมือง องค์ประกอบสำคัญในระบบก็คือ ความเห็นสาธารณะ (public opinion)  เนื่องจากเป็นภาพรวมของค่านิยมและความเชื่อมั่นร่วมกันของประชาชนต่อระบบการเมือง ทำให้รัฐบาลสามารถรับรู้เจตจำนงของประชาชน และเข้าใจข้อเรียกร้องและความต้องการของประชาชน แล้วนำไปกำหนดนโยบายและดำเนินการให้สอดคล้องกับเจตจำนงและความต้องการของประชาชนนั้น ในขณะเดียวกัน ความเห็นสาธารณะยังเป็นเครื่องมือในการควบคุม ต่อรอง กดดัน หรือตรวจสอบรัฐบาลของประชาชนได้ด้วย ความเห็นสาธารณะจึงเป็นกระบวนการย้อนกลับสารเพื่อปรับสมดุลในระบบการสื่อสารและระบบการเมืองและเป็นส่วนหนึ่งของระบบการตัดสินใจนโยบาย แต่ทั้งนี้ เรามักจะสับสนบ่อย ๆ ถึงความหมายของความเห็นสาธารณะกับเสียงส่วนใหญ่ (majority) เช่นเดียวกับที่เรามักจะสับสนระหว่างคำว่า “สาธารณะ” กับ “ฝูงชน” โดยลืมไปว่าความเห็นสาธารณะนั้นดำเนินไปด้วยพลังทางการเมืองและพลังของความคิดเห็นที่มักจะเป็นข้อถกเถียง ลื่นไหล และประกอบด้วยความแตกต่างหลากหลาย เช่น การเคลื่อนไหวของกลุ่มแนวอนุรักษ์นิยมกับกลุ่มปฏิรูปที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เฉพาะความเห็นใดความเห็นหนึ่ง ของกลุ่มใดกลุ่มเหนึ่งเพียงกลุ่มเดียว แต่เป็นพลังทางความคิดที่ขับเคลื่อนในช่วงเวลาหนึ่งและจะมีส่วนในการกำหนดการตัดสินใจทางการเมืองของผู้มีอำนาจหรือของประชาชนได้ ความเห็นสาธารณะจึงมีความซับซ้อนมากกว่าจะถูกมองเพียงความเห็นของคนส่วนใหญ่แล้วละเลยความเห็นของเสียงส่วนน้อย เนื่องจากเป็นเรื่องยากที่เราจะสามารถกำหนดขอบเขตตายตัวระหว่างความเป็นปัจเจก (ส่วนตัว) กับจุดร่วม (สาธารณะ) ของความคิดเห็นหรือการใคร่ครวญตัดสิน (judgment) ดังนั้นบ่อยครั้งที่เราจึงมักเห็นคนที่มีความเห็นคล้อยตามความเห็นของคนส่วนใหญ่ หรือพบการกล่าวอ้างคิดเห็นของตน (ส่วนตัว) ว่าเป็นความเห็นหรือมติของสาธารณะ  

ความเห็นสาธารณะเกิดขึ้นมาพร้อม ๆ กับการก่อตัวของพื้นที่สาธารณะ ในงานของฮาเบอร์มาส เขาได้วิเคราะห์การเกิดความเห็นสาธารณะในพื้นที่สาธารณะของชนชั้นกลางโดยอ้างว่า พื้นที่สาธารณะทำให้เรา (1) เข้าถึงความเป็นสากล  ก่อให้เกิด (2) การถกเถียงอย่างมีเหตุมีผล และ (3) ลดความเหลื่อมล้ำ แต่อย่างไรก็ตาม จากการวิพากษ์วิจารณ์ถึงอุดมคติของพื้นที่สาธารณะของนักวิชาการต่าง ๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ฮาเบอร์มาสก็เหมือนจะเชื่อว่า ลักษณะทั้งสามดังกล่าวไม่มีอยู่จริงอีกต่อไปแม้แต่ในประเทศประชาธิปไตยเสรีตะวันตก เพราะปัจจุบัน ความคิดเห็นสาธารณะกำลังถูกครอบงำด้วยชนชั้นนำอย่างเข้มข้น  (Habermas, 1993 :XIX-XX) ข้อถกเถียงเกี่ยวกับความเห็นสาธารณะและพื้นที่สาธารณะเห็นได้จากข้อเสนอของปิแอร์ บูร์ดิเยอ (Pierre Bourdieu) นักสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศสที่ชี้ว่า ตัวความคิดเห็นของสาธารณะนั้นเป็นสิ่งที่ถูกสร้างเสมือน “งานฝีมือที่บริสุทธิ์และไม่ซับซ้อน” โดยทำหน้าที่อำพรางความเห็นที่เป็นผลผลิตของระบบพลังอำนาจและความตึงเครียด และการนำเสนอความเห็นในเชิงปริมาณด้วยสัดส่วนร้อยละ ก็ดูเหมือนจะเป็นวิธีการที่เหมาะสมและแนบเนียนที่สุดในการสะท้อนความคิดเห็นเหล่านั้น นอกจากนี้ บูร์ดิเยอ ยังได้เพิ่มเติมอีกว่า ผลกระทบเบื้องต้นของการสำรวจความคิดเห็นก็คือการสถาปนาความคิด (idea) ที่มีอยู่แล้วให้เป็นความเห็นสาธารณะที่เป็นเอกฉันท์ ดังนั้น มันได้สร้างความชอบธรรมให้กับการเมืองและตอกย้ำถึงความสัมพันธ์ของพลังอำนาจทางการเมืองที่มีอยู่ในสังคม (Bourdieu, 1972)

สื่อมวลชนกับการสร้างพื้นที่สาธารณะในสังคมประชาธิปไตย


สื่อมวลชนโดยเฉพาะหนังสือพิมพ์มีอิทธิพลและมีบทบาทอย่างมากในพื้นที่สาธารณะด้วยความสามารถในการกระจายข้อมูลข่าวสารและความคิดเห็นออกไปในวงกว้างผ่านเทคโนโลยีที่นับวันจะยิ่งทวีความก้าวหน้า รวดเร็วและซับซ้อนมากขึ้น  Bernard Miège (1996, 1997) ได้วิเคราะห์บทบาทของการสื่อสารในการสร้างพื้นที่สาธารณะตลอดช่วงระยะเวลานับตั้งแต่การเกิดขึ้นของแนวคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะในยุโรปโดยแบ่งออกเป็น 4 ช่วงเวลาของการสื่อสารที่ทำให้พื้นที่สาธารณะขยายและแตกตัวออกไปอย่างกว้างขวาง ได้แก่ 1) การเกิดหนังสือพิมพ์การเมืองหรือหนังสือพิมพ์ความคิดเห็นในช่วงกลางศตวรรษที่ 18 2) การเกิดหนังสือพิมพ์ธุรกิจนับตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 19 3) การเกิดสื่อวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 20 และ 4) การเกิดการโฆษณาประชาสัมพันธ์ โดยเฉพาะการรณรงค์ทางการเมืองตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 1970 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม จากการพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสารในปัจจุบัน เราอาจมองช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่ 5 ของการสื่อสารได้ เมื่อธรรมชาติของหนังสือพิมพ์เปลี่ยนแปลงไป สื่อประเภทนี้ก็หมดบทบาทลง เมื่อสื่อสมัยใหม่ เช่น คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตได้ถือกำเนิดขึ้นมานับตั้งแต่ทศวรรษที่ 80 เป็นต้นมา  จวบจนถึงยุคของสื่อสังคมออนไลน์ จึงมีคำถามว่า สื่อใหม่เหล่านี้จะมีบทบาทในการสร้างพื้นที่สาธารณะอย่างไร มีนักวิชาการบางท่าน เช่น Scannell & Cardiff (1989) ให้ความสนใจที่จะศึกษาบทบาทของสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่มีต่อการสร้างพื้นที่สาธารณะแบบใหม่ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับสื่อประเภทคอมพิวเตอร์ที่มีธรรมชาติที่เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับการโต้เถียงอภิปราย แม้ว่าจะเป็นการสื่อสารผ่านตัวสื่อกลาง (mediated communication) มิใช่การสื่อสารแบบเผชิญหน้า (face-to-face communication) 


การพิมพ์ในช่วงปลายคริสตศวรรษที่ 18
(ที่มา : http://bibliophilie.blogspot.com/2007_06_01_archive.html)


ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่สาธารณะกับการสร้างสังคมประชาธิปไตยยุคใหม่นั้น สังคมประชาธิปไตยต้องการพลเมืองที่มีความรอบรู้ สามารถตัดสินปัญหาทางการเมืองด้วยตัวเอง แต่ในสังคมขนาดใหญ่และมีความสลับซับซ้อนเช่นทุกวันนี้ การที่พลเมืองทุกคนจะมีส่วนร่วมและตัดสินใจในกิจการทุกเรื่องด้วยตัวเองเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ กระบวนการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนจึงจำเป็นต้องกระทำผ่านตัวแทนหรือ “ผู้แทน” ที่พลเมืองเลือกขึ้นมาให้ทำหน้าที่ทางการเมืองแทนพวกเขา จึงกล่าวได้ว่า การเลือกผู้แทนแบบประชาธิปไตยในยุคใหม่ เป็นวิธีการที่ทำให้การมีส่วนร่วมทางการเมืองของพลเมืองอ่อนแอลง ดังนั้น เพื่อให้ระบอบตัวแทนดังกล่าวก่อผลเสียต่อกระบวนการประชาธิปไตยน้อยที่สุด สื่อมวลชนจึงมีหน้าที่ต้องเปิดพื้นที่สาธารณะ ใช้พื้นที่สาธารณะเป็นช่องทางให้พลเมืองได้รับข้อมูลความรู้เกี่ยวกับเหตุการณ์ความเป็นไปทางการเมืองทุกอย่างเป็นอย่างดี จากนั้นพลเมืองจึงจะสามารถนำข้อมูลเหล่านั้นไปอภิปรายโต้แย้ง ชั่งน้ำหนัก ตัดสินใจ และลงมือกระทำการทางการเมืองต่อไปตามวิจารณญาณที่เห็นเหมาะสม (วิภา อุตมฉันท์,2544 : 159 -160)

แม้ว่าสื่อมวลชนไม่ใช่เครื่องมืออย่างเดียวของพื้นที่สาธารณะ แต่ก็เป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุดในสังคมปัจจุบัน เพราะสื่อเป็นตัวกลางที่จะกระตุ้นให้สาธารณชนเข้าร่วมกระบวนการทางการเมือง นอกจากนี้ สื่อที่เปิดพื้นที่กว้างขวางให้กับสาธารณะ ยังเป็นปัจจัยชี้ขาดความมั่นคงยั่งยืนของประชาธิปไตยที่สื่อสร้างให้กับสังคมด้วย ตรงกันข้าม ถ้าขาดแคลนพื้นที่สาธารณะหรือสื่อทำหน้าที่ย่อหย่อนไร้ประสิทธิภาพ ประชาชนก็จะเกิดความไร้เดียงสาหรือเย็นชาทางการเมือง (Depoliticized) รู้สึกเหมือนถูกโดดเดี่ยวขาดพลัง ต่างคนต่างหาทางออกเฉพาะหน้าให้กับตัวเอง เมื่อนั้นก็จะเปิดทางให้มีผู้อุปโลกน์ตัวเองขึ้นมาเป็นผู้นำมวลชนและแย่งยึดอำนาจการตัดสินใจของสังคมไป ดังที่ฮาเบอร์มาสและแมคเชสนีย์ได้ยืนยันว่า พื้นที่สาธารณะจะค้ำจุนประชาธิปไตยให้เจริญเติบโตได้ สื่อต้องสามารถแสดงทัศนะทางการเมืองออกมาได้โดยไม่มีข้อจำกัด รัฐมีหน้าที่ต้องทุ่มเททรัพยากรทุกอย่างเท่าที่จำเป็นให้กับสื่อที่ทำงานให้กับพื้นที่สาธารณะ เพื่อถ่วงดุลไม่ให้เศรษฐกิจและการเมืองที่ทรงอิทธิพล เข้ายึดพื้นที่ของสื่อที่เป็นตัวแทนของประชานฝ่ายที่เสียเปรียบและด้อยอำนาจในสังคม (วิภา อุตมฉันท์, 2544 : 164)

อิทธิพลของสื่อใหม่กับการสร้างพลังประชาธิปไตย 

(โปรดดูในบทความเรื่อง "พลังของสื่อใหม่กับการสร้างเครือข่ายสังคมประชาธิปไตย" 10/4/56)


เชิงอรรถ

(1)  คำว่า บุคคลสาธารณะ ในที่นี้มีความหมายแตกต่างจากความหมายที่ใช้กันในปัจจุบัน กล่าวคือ ในช่วงคริสศตวรรษที่ 16-17 ชนชั้นสูงหรือชนชั้นปกครองเท่านั้นจึงจะสามารถอ้างความชอบธรรมในการครอบครองความเป็นสาธารณะ เช่น ที่ดิน ทรัพย์สิน ไพร่พล ความรู้ อำนาจทางการเมืองการบริหาร อำนาจทางการทหาร เป็นต้น หากบุคคลใดสามารถแสดงสัญลักษณ์ที่บ่งชี้ถึงความเป็นชนชั้นปกครองได้ บุคคลนั้นก็จะสามารถเข้าถึงพื้นที่สาธารณะและมีความเป็นบุคคลสาธารณะได้ (Habermas, 1993 :42-53) ตัวอย่างเช่น ในราชสำนักฝรั่งเศสสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 พระราชวังแวร์ซายส์ถือเป็นพื้นที่สาธารณะของชนชั้นสูงในสมัยนั้น การพูดคุยประเด็นทางการเมือง การแลกเปลี่ยนความรู้วิทยาการ รวมทั้งข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ จำกัดอยู่ในอาณาเขตราชสำนัก ในงานเลี้ยงสังสรรค์หรืองานชุมนุมในพระราชวังหรือปราสาทของชนชั้นสูงเท่านั้น การจะได้มีโอกาสเข้าร่วมงานเลี้ยงหรือพบปะกับชนชั้นสูงนั้นจำเป็นที่บุคคลจะต้องแสดงคุณสมบัติที่สอดคล้องกับความเป็นสาธารณะเสียก่อน เช่น การแต่งกาย กิริยามารยาทสังคม การใช้ภาษา ชาติตระกูล ทรัพย์สิน หรือภูมิความรู้ ราชสำนักจึงเป็นศูนย์กลางอำนาจทางการเมือง การทหารและความรู้ศิลปะวิทยาการที่กระจุกอยู่แต่เฉพาะบุคคลชั้นสูงหรือผู้มีความรู้ ในขณะที่เมื่อเกิดชนชั้นกลางในช่วงคริสศตวรรษที่ 17-18 พื้นที่สาธารณะได้เคลื่อนออกจากเขตพระราชวังมาสู่ภายนอกเช่น บ้านของขุนนางและชนชั้นกลางในเมือง ร้านกาแฟ สโมสร ที่ทำการสมาคม ซึ่งเปิดกว้างให้คนธรรมดาสามัญสามารถเข้าร่วมได้มากขึ้น ความหมายของบุคคลสาธารณะจึงเปลี่ยนแปลงไปด้วยโดยเคลื่อนจากชนชั้นสูงในราชสำนักมาสู่ชนชั้นกลางที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจ และพื้นที่ที่เคลื่อนจากความเป็นส่วนตัว (ในครอบครัว, วงศาคณาญาติ, ชุมชน) มาสู่ความเป็นสาธารณะ (สังคมภายนอก)    

(2)   ความเห็นสาธารณะ เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นในช่วงคริสศตวรรษที่ 18 คำนี้ปรากฏเป็นครั้งแรกในภาษาฝรั่งเศส l’opinion publique ในปี 1588 ในงานของ Montaigne แนวคิดนี้เกิดจากกระบวนการพัฒนาพลังทางการเมืองและสังคม ประกอบกับการเติบโตของเมืองในแถบยุโรปตะวันตก นักคิด นักปรัชญา นักวิชาการรัฐศาสตร์หลายคนในหลายยุคสมัยได้พัฒนาแนวคิดนี้อันเป็นฐานสำคัญหนึ่งของการพัฒนาการเมืองแบบประชาธิปไตย เช่น Adam Smith, Jeremy Bentham, Jürgen Habermas, Herbert Blumer 

เอกสารอ้างอิง

- กาญจนา แก้วเทพ, กิตติ กันภัย และปาริชาต สถาปิตานนท์ สโรบล. 2543. มองสื่อใหม่ มองสังคมใหม่. กรุงเทพฯ : เอดิสัน เพรส โพรดักส์.
- กาญจนา แก้วเทพ. 2545. สื่อสารมวลชน ทฤษฎีและแนวทางการศึกษา. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ศาลาแดง.
- วิภา อุตมฉันท์. 2544. ปฏิรูปสื่อเพื่อสังคม หลักคิดและบทเรียนจากนานาประเทศ. กรุงเทพฯ : คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
- Bourdieu, Pierre. 1972. « L’opinion publique n’existe pas », Les Temps modernes, 29 (318), janv. 73 : 1292-1309. (http://homme-moderne.org/societe/socio/bourdieu/questions/opinionpub.html).
- Dahlgren, Peter. 1994. L’espace public et les médias. Une nouvelle ère ?. Hermès 13-14.
- Dahlgren, Peter and Relieu, Marc. 2000. « L’espace public et l’internet. Structure, espace et communication. », in Réseaux, vol. 18 no.100, pp. 157-186. (http://www.persee.fr/web/revues/home/prescript/article/reso_0751-7971_2000_num_18_100_2217)
- Habermas, Jürgen. 1993. L’espace public : Archéologie de la publicité comme dimension constitutive de la société bourgeoise. [The Structural Transformation of the Public Sphere.] Paris : Payot.
- Kellner, Douglas. Habermas, the Public Sphere, and Democracy: a Critical Intervention. (http://www.gseis.ucla.edu/faculty/kellner/)
- Miège, Bernard. 1996 (t.1), 1997 (t.2). La société conquise par la communication, tomes 1 et 2. Grenoble : Presses universitaires de Grenoble.


วันพฤหัสบดีที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2556

พลังของสื่อใหม่กับการสร้างเครือข่ายสังคมประชาธิปไตย


1 มีนาคม 2555

การสื่อสารกับการสร้างเครือข่ายสังคม 

      สื่อสังคมออนไลน์เป็นรูปแบบการสื่อสารที่รวมเอาคุณสมบัติของการสื่อสาร ปฏิสัมพันธ์ทางสังคม การสร้างเนื้อหาเชิงสร้างสรรค์ และเทคโนโลยีเข้าไว้ด้วยกัน สื่อสังคมออนไลน์มีหลายแหล่งและหลากหลายผู้สร้างช่องทางการสื่อสาร เช่น บล็อก, ไมโครบล็อก, เครือข่ายสังคม (Facebook, LinkedIn, MySpace, MyHeritage), ประเภทมัลติมีเดีย (Flickr, Zooomr,YouTube, Dailymotion, Vimeo, imeem) สื่อสังคมได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการสื่อสารของผู้คนอย่างมาก

      พลังของสื่อใหม่และเครือข่ายสังคมในปัจจุบันก่อให้เกิดการเปลี่ยนรูปของพื้นที่สาธารณะและพลังทางการเมืองรูปแบบใหม่ ทำให้ความเป็นส่วนตัวและความเป็นสาธารณะมีความคลุมเครือและซับซ้อนมากขึ้น การแพร่กระจายของข้อมูลข่าวสารอย่างรวดเร็วและกว้างไกล ทำให้ความคิดเห็นสาธารณะและพลังทางการเมืองมีรูปแบบที่หลากหลาย เป็นพลวัตและขยับเคลื่อนจนบางครั้งเราแทบตามไม่ทัน

      ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นชัดถึงพลังของเครือข่ายสังคมที่ก่อให้เกิดพื้นที่สาธารณะแบบใหม่และการเปลี่ยนแปลงคือ การปฏิวัติประชาธิปไตยในหลายประเทศในตะวันออกกลางและอาฟริกาเหนือ (Arab spring) เช่น ตูนิเซีย อียิปต์ ซีเรียและลิเบีย พลังทางการเมืองที่ต่อต้านผู้นำประเทศที่ครองอำนาจมายาวนาน พัฒนาขึ้นจากการเกิดพื้นที่สาธารณะสมัยใหม่ เช่นสื่อสังคมออนไลน์ การเชื่อมต่อกันด้วยระบบการสื่อสารข้อความ ภาพและเสียงผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ ในขณะเดียวกัน พื้นที่สาธารณะแบบเดิม เช่น ร้านกาแฟ การรวมกลุ่มกิจกรรมทางสังคม ก็ยังคงแสดงบทบาทสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกัน ในแง่ที่ว่า พื้นที่สาธารณะแบบเดิมได้เปิดกว้างและมีความเป็นเสรีมากขึ้น

      นิตยสาร The economist ฉบับวันที่ 17-30 ธันวาคม 2554 ได้ลงบทความ 2 เรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับพลังทางการเมืองและการปฏิวัติในโลกอาหรับ บทความแรกเรื่อง A Riche history : The café at the heart of revolutionary Cairo (ประวัติศาสตร์ Riche ร้านกาแฟใจกลางการปฏิวัติไคโร) ได้นำเสนอเรื่องราวของร้านกาแฟเก่าแก่แห่งหนึ่งในใจกลางกรุงไคโร ใกล้จัตุรัส Tahrir ที่ชื่อ Café Riche ร้านแห่งนี้เป็นศูนย์กลางของการพบปะแลกเปลี่ยนข่าวสารและชุมนุมทางการเมืองของผู้คนมากว่าหนึ่งศตวรรษ ร้านกาแฟคือสถานที่สำหรับผู้เฝ้ามองชีวิตสาธารณะของชาวอียิปต์และยังเป็นประจักษ์พยานของการต่อสู้ของประชาชนในแต่ละช่วงเวลาอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นช่วงของขบวนการต่อต้านอาณานิคมและเรียกร้องเอกราชในต้นศตวรรษที่ 20 การเคลื่อนไหวของกลุ่มแนวคิดมาร์กซิสในช่วงทศวรรษที่ 50-70  จนกระทั่งถึงการเคลื่อนไหวโค่นล้มประธานาธิบดีมูบารักในปี 2011 ที่ผ่านมา  นอกจากประเด็นทางการเมือง ร้านกาแฟ Riche ยังเป็นสถานที่รวมตัวของศิลปิน นักคิดนักเขียนและผู้ชื่นชอบศิลปะและวรรณกรรม ผลงานเขียนของนักเขียนที่มีชื่อเสียงหลายชิ้นเกิดขึ้นที่นี่ เช่น Taha Hussein นักเขียนที่มีชื่อเสียงของวงการวรรณกรรมอาหรับ ได้เริ่มต้นวารสาร Al-Katib Al-Misri ที่ร้านแห่งนี้       

      อย่างไรก็ตาม ในบทความนี้ก็เล่าถึงการเปลี่ยนแปลงและการปรับตัวของพื้นที่สาธารณะแห่งนี้ตามแรงกดดันทางการเมือง โดยเฉพาะในยุคของการควบคุมโดยรัฐบาล Anwar Sadat ระหว่างปี 1970 ร้านกาแฟ Riche จำเป็นต้องลดบทบาททางการเมืองลงเพื่อความอยู่รอด และต้องปิดกิจการลงจากปัญหาภัยธรรมชาติและเศรษฐกิจตกต่ำ จนกระทั่งเมื่อการปฏิวัติอาหรับรอบใหม่เกิดขึ้นในเดือนมกราคม 2011 ร้านกาแฟแห่งนี้ได้กลับมาแสดงบทบาทโดดเด่นอีกครั้งในฐานะพื้นที่สาธารณะที่อยู่ใจกลางของการชุมนุมทางการเมืองและการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมประท้วงกับเจ้าหน้าที่รัฐ ณ จัตุรัส Tahrir  และเมื่อการปฏิวัติสิ้นสุดลง สถานที่แห่งนี้ก็จะยังคงเป็นเวทีทางการเมืองให้ประชาชนได้โต้เถียงกันในประเด็นปัญหา ทิศทาง และอนาคตทางการเมืองที่ยังไม่มั่นคงของอียิปต์ต่อไป 

      อีกพื้นที่หนึ่งที่มีบทบาทไม่น้อยคือสื่อสังคมออนไลน์ เป็นพื้นที่สาธารณะที่รองรับการเติบโตของคนรุ่นใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีและคนหนุ่มสาวที่ตื่นตัวทางการเมือง ในบล็อกต่าง ๆ มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร บทความ งานเขียนทางวิชาการและวรรณกรรมที่กระตุ้นให้คนรุ่นใหม่คิดและมีแรงบันดาลใจในการสร้างสังคมใหม่ที่พวกตนต้องการ สังคมที่โปร่งใส เปิดกว้าง เป็นธรรม และเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีโอกาสเลือกวิถีชีวิตของตนเอง มีการส่งผ่านข้อมูลข่าวสาร ความคิดเห็นและอารมณ์ทางการเมืองผ่านสื่อสังคมเช่น Facebook, Tweeter และหลายครั้งที่นำไปสู่การระดมมวลชนให้ออกมาแสดงพลังทางการเมืองและข้อเรียกร้องในที่สาธารณะ บทความที่สองยังคงสืบเนื่องจากการปฏิวัติอาหรับที่ชื่อ How Luther went viral : Five centuries before Facebook and the Arab spring, social media helped bring about the Reformation[1] (วิธีการแพร่กระจายสารของ Luther  : ห้าศตวรรษก่อนเฟสบุ๊คและการปฏิวัติอาหรับ สื่อสังคมที่นำไปสู่การปฏิรูป) โดยชี้ให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงทางสังคมไม่ได้เกิดจากตัวสื่อโดยตัวมันเอง แต่เกิดจากการที่สื่อนั้นสามารถสร้าง “เครือข่ายทางสังคม” (social network) ที่กว้างขวางและรวดเร็วต่างหาก การเปลี่ยนแปลงสังคมที่มีแรงสนับสนุนจากเครือข่ายสังคมนั้นไม่ใช่สิ่งใหม่อย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่มันเคยเกิดขึ้นเมื่อเกือบ 500 ปีล่วงมาแล้วในเยอรมนี เมื่อมาร์ติน ลูเธอร์ (Martin Luther) และพันธมิตรของเขาใช้สื่อ เช่น แผ่นพับ บทร้องและภาพแกะสลักไม้ ในการเผยแพร่ข้อความวิจารณ์พฤติกรรมของบาทหลวง Johann Tatzel และการแสวงผลประโยชน์ของศาสนจักรตามโครงการจัดสร้างวิหารเซนต์ปีเตอร์ในกรุงโรม

         การปฏิรูปคริสตศาสนาที่เป็นที่มาของการแยกตัวออกเป็นนิกายโปเตสแตนท์ เริ่มต้นขึ้นเมื่อมาร์ติน ลูเธอร์ นำเสนอข้อเขียนของเขาที่ชื่อว่า “95 Theses on the Power and Efficacy of Indulgences” (95 บทวิเคราะห์เกี่ยวกับอำนาจและประสิทธิภาพของการไถ่บาป) เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ค.ศ. 1517 กลไกสำคัญของการเคลื่อนไหวต่อต้านนี้ไม่ใช่อยู่ที่ตัวสื่อสิ่งพิมพ์โดยตัวของมันเอง แต่เป็นระบบของการสื่อสารที่ขยายออกไปและก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในเครือข่ายทางสังคม ที่เราเรียกว่า “social media” ในปัจจุบัน


มาร์ติน ลูเธอร์ เผยแพร่คำประกาศ “95 Theses” หน้าประตูที่ Wittenburg 
(ที่มา : http://writing-journey.com/internet-writing/toward-reformation-bridging-the-great-divide-between-print-and-internet-writing)

      ลักษณะพิเศษของสื่อรณรงค์ของลูเธอร์ก็คือ การใช้ถ้อยคำสั้น ๆ ในภาษาท้องถิ่น (ภาษาเยอรมัน) ที่เข้าถึงชาวบ้านอย่างแพร่หลายแทนการสื่อสารด้วยภาษาลาตินที่เป็นภาษาของผู้มีการศึกษาเท่านั้น  การใช้ภาพลายเส้นประกอบการพิมพ์ การใช้ภาษาที่กระชับ เข้าใจง่าย ทำให้เกิดการนำข้อความรณรงค์ไปทำเป็นเนื้อเพลงร้องของบทเพลงพื้นบ้านตามทำนองที่ชาวบ้านคุ้นเคย เพื่อให้ข้อความรณรงค์ติดหูและเข้าถึงผู้คนมากขึ้น รวมทั้งการคัดลอกข้อความรณรงค์ งานเขียนของลูเธอร์และแนวร่วม โดยการสนับสนุนจากกลุ่มเพื่อนสนิทและพันธมิตรของเขา การคัดลอกกันอย่างเสรี (แบบตามกำลังศรัทธาหรือแบบร่วมด้วยช่วยกัน) และการบอกต่อปากต่อปากของผู้สนับสนุนแนวทางของลูเธอร์ ทำให้ความคิดได้แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วในเยอรมันและยุโรป  แผ่นพับที่เขียนในภาษาเยอรมันชิ้นแรกที่ชื่อ « Sermon on Indulgences and Grace » ถูกตีพิมพ์ซ้ำถึง 14 ครั้งในปี 1518 เพียงปีเดียว และเพิ่มจำนวนสำเนาขึ้นเป็นอย่างน้อย 1,000 ฉบับในแต่ละครั้งของการพิมพ์ ระหว่างปี 1520 – 1526 มีการตีพิมพ์แผ่นพับในเยอรมันมากถึง 6,000 ฉบับ ซึ่งในจำนวนนั้น มีเพียง 1,700 ฉบับเท่านั้นที่เป็นฉบับที่ลูเธอร์ผลิตเอง  และในช่วงทศวรรษแรกของการปฏิรูป มีการพิมพ์เผยแพร่กว่า 6-7 ล้านฉบับและมากกว่าฉบับที่ลูเธอร์ผลิตถึงหนึ่งในสี่  การแพร่กระจายของสื่อสิ่งพิมพ์ในยุคนี้ นักวิชาการด้านการสื่อสารเปรียบว่าเหมือนกับที่ในปัจจุบันที่เรามีการกด “แบ่งปัน” หรือ “share” ข่าวสารเพื่อส่งต่อ หรือกด “ชอบ” หรือ “like” เมื่อต้องการแสดงออกว่าสนับสนุนความคิดนั้นใน Facebook หรือการ “tweet” ข้อความต่อกันไปใน Twitter

      เหล่านักวิชาการได้ถกเถียงกันถึงความสำคัญของสื่อสิ่งพิมพ์ การสื่อสารปากต่อปาก และรูปภาพในขบวนการสนับสนุนการปฏิรูปคริสตศาสนาของประชาชน บางคนกล่าวว่านับเป็นชัยชนะของสื่อสิ่งพิมพ์ นักประวัติศาสตร์หลายคนให้ความสนใจกับบทบาทของสื่อในฐานะที่เป็นวิธีการส่งสัญญาณข้อเรียกร้องทางสังคมและการสร้างแนวร่วมของความเห็นสาธารณะในการปฏิรูป

      แต่ไม่ใช่เพียงแค่การสื่อสารผ่านถ้อยคำผ่านเครือข่ายสังคมของการปฏิรูปคริสตศาสนาเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการเผยแพร่สารผ่านดนตรีและภาพด้วย ผู้เขียนบทความเปรียบว่า เป็นรูปแบบของการรณรงค์รูปแบบทั้งภาพและเสียงดังที่ปัจจุบันนี้เราคุ้นเคยกับการสื่อสารที่เรียกว่า Multimedia campaign การรณรงค์ผ่านบทเพลงและการตีพิมพ์เผยแพร่เนื้อร้องเป็นรูปแบบของสื่อใหม่ที่เข้าถึงผู้รับสารได้ง่ายและสามารถส่งต่อได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ภาพแกะสลักจากไม้ก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของสื่อที่รวมคุณลักษณะของภาพกราฟฟิกกับข้อความเข้าไว้ด้วยกัน เป็นสื่อที่ทำให้ผู้คนสามารถรับสารได้ด้วยตา ดังที่ลูเธอร์ได้กล่าวไว้ว่า “หากไม่มีภาพ เราก็ไม่สามารถคิดหรือเข้าใจอะไรได้เลย”


« The Origin of the Monks » แสดงความหมายเสียดสีที่มาของนักบวชที่น่ารังเกียจ
โดย Lucas Cranach เพื่อนของลูเธอร์


      บริบทของสื่อที่ลูเธอร์ใช้ มีความคล้ายคลึงกับระบบการสื่อสารในยุคปัจจุบัน เช่น blogs การเกิดเครือข่ายสังคม และการถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์ สำหรับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในโลกอาหรับ  ระบอบอำนาจนิยมถูกทำลายโดยประชาชนที่ไม่เห็นด้วย  โดยมีเครือข่ายสังคม (ทั้งออนไลน์และแบบดั้งเดิม) หนุนเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วม กระแสความไม่พอใจผู้นำถูกแบ่งปันและขยายวงออกไปอย่างต่อเนื่องในเครือข่ายสังคม ที่เรียกว่า “กลไกของการส่งสัญญาณร่วมในทางการเมือง” (collective signalling mechanism) ก่อให้เกิดแรงผลักดันไปสู่ปฏิกิริยาทางการเมืองในรูปแบบอื่นต่อไป สิ่งที่เกิดขึ้นเหมือนๆกันในการปฏิรูปทางการเมืองระหว่างตัวอย่างของลูเธอร์กับการปฏิวัติในโลกอาหรับก็คือ การก่อตัวของเครือข่ายสังคมจากการสื่อสาร หรือเครือข่ายของสาธารณะ (networked public) ยิ่งในสังคมสมัยใหม่ที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมากขึ้น สังคมก็มีแนวโน้มที่จะเชื่อมถึงกันได้มากขึ้นและรวดเร็วขึ้นด้วย    

      เราอาจกล่าวได้ว่า เครือข่ายสังคมไม่ว่าจะในอดีตหรือปัจจุบัน มีจุดร่วมเดียวกันคือ การมีแพร่กระจายข่าวสาร การแบ่งปันข้อมูล การอภิปรายถกเถียง สร้างแรงบันดาลใจ และการเกิดความรู้สึกร่วม อันเป็นพลังในการขับเคลื่อน เปลี่ยนแปลงสังคมต่อไป ประวัติศาสตร์ของการขับเคลื่อนทางการเมืองและการเปลี่ยนแปลงสังคมผ่านการสื่อสารบอกให้เรารู้ว่า ระบบเครือข่ายสังคมในปัจจุบันไม่ใช่เพียงเชื่อมเราเข้าไว้ด้วยกันเท่านั้น แต่เชื่อมโยงเรากับอดีตไว้ด้วยกันด้วย


[1] สามารถอ่านบทความนี้ได้ที่ http://kaplak.net/2011/12/25/social-media-in-the-16th-century-economist/

วันอาทิตย์ที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2556

Gov. 2.0/ E-democracy : สังคมประชาธิปไตยในยุคไซเบอร์


30 กรกฎาคม 2554

E-government, Open Government, Open Data, E-democracy, Gov. 2.0 ช่วงนี้มีคำศัพท์ใหม่ ๆ ผุดขึ้นมามากมายราวกับดอกเห็ด ในหลายประเทศ มีการเตรียมการ ถกเถียง วิพากษ์วิจารณ์ถึงหลักคิดและความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติที่จะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารทางราชการและนโยบายสาธารณะมากขึ้น นอกจากเพื่อให้รัฐบาลทันและพร้อมต่อโลกเทคโนโลยีสมัยใหม่ (ยิ่งกว่า) และกระแสความต้องการมีส่วนร่วมของประชาชนที่มากขึ้นแล้ว ปรากฏการณ์ "แฉ" ระดับโลกผ่าน Wikileaks หรือ Hackers ต่าง ๆ ยิ่งเป็นตัวกระตุ้นให้รัฐบาลของหลายประเทศต้องปรับตัว

หลักคิดของ E-democracy ก็คือ สังคมประชาธิปไตยที่มีความโปร่งใสโดยใช้เทคโนโลยีเป็นตัวช่วย (หากให้ความสำคัญไปที่ตัวเทคโนโลยี บางคนอาจใช้คำว่า Gov.2.0) ความโปร่งใสในการบริหารงานของรัฐบาล เสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนและการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของสาธารณะในการตัดสินใจเชิงนโยบาย ในประเด็นสำคัญ ๆ ที่รัฐบาลไม่ใช่เพียงผู้มีอำนาจในคิด ตัดสินใจเพียงฝ่ายเดียว  

อีกสองคำที่เป็นส่วนขยายของ E-democracy ซึ่งสะท้อนแนวคิดและความเป็นไปได้ที่จะไปให้ถึงเป้าหมายปลายทางของแนวคิดนั้น ๆ ก็คือ "Open Government" กับ "Open Data" ความแตกต่างของสองคำนี้อยู่ตรงที่ว่าจะมองจากฝ่ายไหน หากเป็น e-democracy จากมุมของรัฐบาล คือการเปิดเผยข้อมูลบางส่วน (เท่าที่จำเป็น) ให้ประชาชนเข้าถึงทางเว็บไซต์ของหน่วยงานราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง (= Open Gov.) แต่หากเป็นในมุมของประชาชนแล้ว นั่นคือการเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลที่เป็นเรื่องของสาธารณะในระบบอินเทอร์เน็ตได้ง่ายและสะดวกขึ้น (= Open Data) ความแตกต่างจึงน่าจะอยู่ที่ระดับชั้นข้อมูลที่สามารถเข้าถึง แหล่งและวิธีการเผยแพร่ข้อมูล อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องระดับของการเข้าถึงที่เหมาะสม ยังคงเป็นเรื่องถกเถียงในแต่ละประเทศ แม้แต่ในสหรัฐอเมริกาที่ขณะนี้จะมีเว็บไซต์ในชื่อ www.data.gov หรือในอังกฤษที่ชื่อ www.data.gov.uk ก็ตาม 

ข้อมูลจากการศึกษาระดับของการเปิดเผยและการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารราชการในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกปี 2511 (OCDE) แสดงให้เห็นว่า ใช่ว่า e-democracy จะสามารถทำได้เฉพาะแต่ในประเทศที่เรียกว่ามีประชาธิปไตยเข้มแข็ง ประเทศประชาธิปไตยใหม่อย่างรัสเซีย เอสทัวเนีย หรือเม็กซิโก ระดับของการเปิดข้อมูลข่าวสารราชการก็โดดเด่นแซงหน้าหลายประเทศ แม้แต่อเมริกา อังกฤษและฝรั่งเศส (จากการจัดอันดับขององค์กรอิสระเพื่อการวิจัยการบริหารราชการและนโยบายสาธารณะของฝรั่งเศส La Fondation pour la Recherche sur les Administrations et les Politiques Publiques) 

การสำรวจครั้งนี้ ใช้เกณฑ์การประเมิน ได้แก่ 
-       เอกสารที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณ
-       รายงานประจำปีของกระทรวงต่างๆ รวมถึงบัญชีรายจ่าย
-       รายงานการควบคุมระบบบัญชี
-       รายงานเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะทั้งหมด
-       สัญญาการค้าบางอย่างที่สามารเปิดเผยได้
-       บัญชีข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐรวมทั้งเงินเดือน ค่าจ้าง
-       รายละเอียดเกี่ยวกับระบบการบันทึกข้อมูล เนื้อหาและการใช้ระบบ
-       ข้อมูลเกี่ยวกับระบบภายในหน่วยงาน คู่มือ ระเบียบ ข้อบังคับ กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ของราชการ
-       รายละเอียดเกี่ยวกับโครงสร้างการบริหารงานและการปฏิบัติงานของหน่วยงานของรัฐ
-       รายงานประจำปีเกี่ยวกับกฎหมายเรื่องเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร
-       ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการที่เกี่ยวกับเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร 

หากพิจารณาเนื้อหาประเด็นการวัดเหล่านี้ ก็ไม่ได้หมายความว่า รัฐบาลจะต้องเปิดเผยทั้งหมดจึงถือเป็นสิ่งดี เพียงแต่แต่ละสังคมจะต้องหาจุดที่เหมาะสมว่าอะไรคือสิ่งที่ประชาชนควรรู้และจำเป็นต้องรู้ คนที่จะตอบคำถามนี้ไม่ใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ต้องเห็นพ้องกันทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายประชาชน 

ส่วนประเทศไทย ไม่พบการจัดอันดับในรายงานนี้ แต่พบว่ามีประเทศในแถบเอเชียที่ถูกจัดอันดับอยู่ใน 31 อันดับ คือ ประเทศเกาหลีใต้ อันดับ 5 และญี่ปุ่น อันดับ 19 (สันนิษฐานว่าถ้าไม่ตกสำรวจก็อาจจะไม่สามารถจัดอันดับได้กระมัง)

อ้างอิงจาก

หลายเรื่อง หลายประเด็นทางนโยบาย หลายมูลเหตุของปัญหา หลายข้อฉงนสนเท่ห์ของสาธารณะ เรากลับไม่ได้รับคำตอบหรือไม่รู้ว่าจะไปหาคำตอบได้จากที่ไหน แม้ว่าขณะนี้ เราจะมี พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ หรือมีเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ (สขร.) ก็ตาม (http://www.oic.go.th) แต่ก็ยังประสบปัญหาเรื่องการได้รับความร่วมมือหรืออำนวยความสะดวก ระเบียบขั้นตอน และข้อมูลจำกัด (ที่มีไม่ต้องการ แต่ที่ต้องการกลับไม่มี)  

เราทำได้แต่เพียงรอฟังว่าสื่อมวลชนจะรายงานว่าอย่างไร ซึ่งก็ไม่พ้นคำพูดจากผู้บริหารประเทศ นักการเมือง ข้าราชการ ที่บางครั้งดูเหมือนแก้ตัวหรือซื้อเวลา หรือไม่ก็ต้องรอฟังการ "แฉ" กันในสภา ซึ่งหลายคนยังตั้งข้อสงสัยว่าจะเชื่อใคร เชื่อได้หรือไม่ การไปถึงขั้น Open data ออกจะยากสักหน่อย

ผู้กุมข้อมูลหรือความลับ คือผู้มีอำนาจ คำกล่าวนี้เป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไป แต่หากเรายังคงอยู่ในสังคมแห่งความลับ อำพราง คลุมเครือ มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเหมือนให้อำนาจกับคนหรือกลุ่มที่กุมความลับหรือฉวยโอกาสจากความคลุมเครือมากเท่านั้น

สังเกตว่าข่าวสารการเมืองไทยช่วงนี้ เราจะมีเรื่องสงสัยใคร่รู้หลายเรื่องอยู่เหมือนกัน

วันศุกร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2556

กระบวนการสร้างอัตลักษณ์ : มุมมองจิตวิเคราะห์และสังคมศาสตร์

17 กุมภาพันธ์ 2556


“การมองเห็นและยอมรับคนอื่น นำไปสู่การสร้างอัตลักษณ์ของตัวเอง” - Hegel


ประเด็นเรื่องอัตลักษณ์ถือเป็นแกนกลางหนึ่งของการศึกษาสังคมพหุวัฒนธรรม เนื่องจากวัฒนธรรมคือวิถีชีวิต คือระบบความสัมพันธ์ วัฒนธรรมจึงเป็น “รูปธรรม”ของอัตลักษณ์หรือตัวตนของสังคมนั้น ๆ ด้วย หากแนวคิดเรื่องสังคมแบบพหุคือการยอมรับความแตกต่างหลากหลายของผู้คนในสังคม นั่นก็หมายความถึงการยอมรับในอัตลักษณ์ของปัจเจก ของชุมชนหรือของสังคมนั้น ๆ เช่นกัน อัตลักษณ์มีความหมายหลากหลายมิติ ในที่นี้จะนำเสนอนิยามและมุมมองโดยสังเขปของนักวิชาการบางท่านเกี่ยวกับอัตลักษณ์และความสัมพันธ์ระหว่างอัตลักษณ์กับสังคมและการสื่อสาร   

อัตลักษณ์ (Identity) เป็นคุณสมบัติเฉพาะของบุคคลหรือวัตถุที่ทำให้คนนั้นหรือสิ่งนั้นโดดเด่นหรือแตกต่างจากสิ่งอื่น (Collins Dictionary, 1996) สำหรับอัตลักษณ์ของบุคคล คำนี้อาจหมายรวมถึงมิติ“ภายใน”ของความเป็นตัวเราทั้งในด้านอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด และแนวคิดเกี่ยวกับตัวเองหรือการรู้จักตัวเอง (Self-concept) รวมทั้ง สำนึกถึง“ความเป็นปัจเจก” ที่บุคคลเชื่อมต่อและสัมพันธ์กับสังคม อัตลักษณ์จึงเป็นสิ่งที่ทำให้รู้ว่า “เราคือใคร” และ “เราจะดำเนินความสัมพันธ์กับคนอื่น ตลอดจนโลกภายนอกที่แวดล้อมตัวเราอย่างไร”

ในขณะที่อัตลักษณ์เป็นมุมมองที่เรามีต่อตัวเอง อัตลักษณ์ก็เป็นตัวกำหนดมุมมองและคุณค่าที่มีต่อสิ่งอื่นหรือคนอื่นไปด้วยพร้อม ๆ กัน เพราะโดยส่วนใหญ่แล้ว คนเราจะสร้างอัตลักษณ์ของตัวเองขึ้นมาจากโลกทัศน์เรื่อง “ความแตกต่าง” โดยการจำแนกแยกแยะ การเปรียบเทียบ และการประเมินค่า ดังนั้น อัตลักษณ์จึงเป็นตัวกำหนดว่า “ใครคือพวกเรา ใครเหมือนเรา และใคร/อะไรที่แตกต่างจากเรา” จนสุดท้ายก็จะนำไปสู่การมองว่า “ใครไม่เหมือนเรา ใครคือพวกเขา ใครคือคนอื่น” 

สิ่งเหล่านี้เป็นประสบการณ์เกี่ยวกับตัวเองและนำไปสู่การมีประสบการณ์เกี่ยวกับคนอื่นที่มีหลากหลายรูปแบบและไม่มีเนื้อหาเดียว แบบเดียวตายตัว ยิ่งในสังคมแบบประชาธิปไตยที่ยอมรับคุณค่าของความเป็นมนุษย์และเคารพในศักดิ์ศรีความเท่าเทียมกันของมนุษย์ด้วยแล้ว อัตลักษณ์แบบสังคมประชาธิปไตยย่อมมีความซับซ้อนและหลายแง่มุม เราจึงไม่สามารถกำหนด คาดการณ์หรือควบคุมอัตลักษณ์ของผู้คนในสังคมประชาธิปไตยเป็นแบบเดียว ตายตัว และเหมือนกันหมดได้

กระบวนการสร้างอัตลักษณ์ : เราเป็น “ตัวเรา” ได้อย่างไร ?

มนุษย์รู้จักตัวเองได้เพราะมนุษย์มี “ภาษา” ภาษาเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างตัวตนและวัฒนธรรมของมนุษย์ เรารับรู้สรรพสิ่งในโลกทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรมได้ก็เพราะภาษา เราให้ชื่อแก่มัน เช่น ต้นไม้ ทุ่งหญ้า นก ดิน ฟ้า พ่อ-แม่ สวย อัปลักษณ์ ดี-เลว เป็นต้น แม้แต่มนุษย์ก็ต้องมีชื่อเพื่อให้คนอื่นเรียก ชื่อเป็นวัฒนธรรมที่เรากำหนดขึ้นเพื่อให้รู้ว่า “มีเรา” พร้อม ๆ กับ “มีคนอื่น” ชื่อทำให้เรารู้ว่าเราแตกต่างจากคนอื่นตั้งแต่ในระดับครอบครัว ชุมชนและสังคม ชื่อทำให้เราตระหนักถึงตัวตนที่เฉพาะตัว (“ฉันไม่เหมือนและไม่ใช่คนอื่น”) นั่นคือการสร้างอัตลักษณ์ของบุคคล

นอกจากชื่อแล้ว เรายังมี “นามสกุล” เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าเราสืบทอดเชื้อสายจากใคร เป็นคนในครอบครัวนี้ (ไม่ใช่ครอบครัวอื่น) วงศ์ตระกูลที่มีนามสกุลเป็นเครื่องบ่งชี้สมาชิกเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างอัตลักษณ์ของกลุ่ม 

ในแต่ละวัฒนธรรมก็กำหนดรูปแบบการบ่งชี้สมาชิกในวงศ์ตระกูลแตกต่างกันไป เช่น ในยุโรป ธรรมเนียมการใช้ชื่อสกุลเริ่มปรากฏตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ 10 พร้อม ๆ กับการเกิดโรงเรียนอันเป็นการจัดระบบการศึกษาแบบใหม่ในยุคนั้น เมื่อมีเด็กนักเรียนจำนวนมากและมีชื่อซ้ำกัน จึงจำเป็นต้องมีตัวบ่งชี้เด็กนักเรียนแต่ละคน จึงเกิดธรรมเนียมการใช้ชื่อบิดาหรือชื่อหมู่บ้าน หรือสถานที่สำคัญในชุมชนเป็นชื่อสกุลนับแต่นั้นมา และมีอิทธิพลต่อธรรมเนียมการตั้งชื่อของไทยเมื่อไม่ถึงร้อยปีมานี้เอง สังคมไทยในอดีต เครื่องหมายรู้อัตลักษณ์บุคคลมักจะนิยมใช้ชื่อมารดาเป็นตัวบ่งชี้ หรือในวัฒนธรรมการตั้งชื่อของชาวอาหรับและมลายู ธรรมเนียมการตั้งนามสกุลก็จะใช้ชื่อของบิดา ปู่ หรือทวดเป็นคำเรียกหมายเพื่อบ่งชี้ว่าบุคคลนั้นเป็นลูกใคร อยู่ในตระกูลใด เป็นต้น


ในทางจิตวิเคราะห์ การสร้างอัตลักษณ์บุคคลนั้นเกิดขึ้นนับตั้งแต่วินาทีที่มนุษย์เริ่มหายใจได้ด้วยตนเองเพราะนั่นหมายถึงทารกคนนั้นเป็นอิสระจากมารดาแล้ว อย่างน้อยที่สุดก็คืออิสระจากการใช้ลมหายใจร่วมกับมารดามาตลอด 9 เดือน ต่อมาในวัยเด็ก เรารับรู้โลกด้วยวิธีคิดแบบเทียบเคียง กล่าวคือ การรับรู้หรือสัมผัสสรรพสิ่งรอบตัวแล้วเรียนรู้ว่า สิ่งนั้นสิ่งนี้ “คือ......” เช่น ผู้หญิงคนนี้คือแม่ของฉัน นมคืออาหาร สัตว์สี่ขาหางยาวขนปุยคือเพื่อนของฉัน แต่เมื่อเราเริ่มโตขึ้น เราเรียนรู้ภาษาและระบบสัญลักษณ์อื่น ๆ มากขึ้น เรารับรู้โลกผ่านการมองเชิงเปรียบเทียบและให้คุณค่า เราเริ่มคิดว่า สิ่งนั้นสิ่งนี้ “เหมือน.....” เช่น ขนมนี้รสชาติอร่อยเหมือนกับขนมอีกอันหนึ่งที่ฉันเคยกิน แม่ของฉันไม่เหมือนแม่ของคนอื่น เป็นต้น การเปรียบเทียบความเหมือนและความต่างเริ่มซับซ้อนและเป็นสัญลักษณ์มากขึ้นเมื่อเราเข้าสู่สังคมที่ใหญ่ขึ้นและความสัมพันธ์ทางสังคมมีความซับซ้อนมากขึ้น

ที่กล่าวมาข้างต้น เป็นแนวคิดของนักจิตวิทยาและจิตวิเคราะห์ที่ชื่อ Jacques Lacan ลาก็องได้เสนอแบบจำลองการสร้างอัตลักษณ์ที่เรียกว่า The Mirror Stage (การสร้างอัตลักษณ์จากการมองตนเองในกระจก)  กล่าวคือ ในวัยทารก เรายังไม่รู้จักว่าตัวเองคือใคร เรายังไม่สามารถแยกตัวเองออกจากแม่ได้ เรายังรู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของแม่ แต่เมื่อเติบโตขึ้นถึงวัยเรียนรู้ เมื่อเราเห็นตัวเองในกระจกเงา เราเริ่มเรียนรู้ความเหมือนความต่างและตระหนักแล้วว่าเด็กในกระจก “นั่นไง!! นั่นคือตัวฉันเอง” และเมื่อเราเห็นแม่ในกระจก เราก็ได้เรียนรู้อีกครั้งว่านี่คือ “ผู้หญิงที่เขาเคยเห็นและคุ้นเคย” ซึ่งแตกต่างจากคนที่เขาเพิ่งรู้จักใหม่ซึ่งก็คือ “ตัวของเขาเอง” 

ดังนั้น ในกระบวนการนี้ เรารู้จักตัวเองจากการมองว่าคนอื่นนั้นแตกต่างจากเรา เราเริ่มหลุดพ้นออกจากการเป็นหนึ่งเดียวกับแม่ของเราอีกครั้ง ณ จุดนี้ ตัวตนของเราค่อย ๆ เริ่มก่อตัวขึ้น อัตลักษณ์ของเราเริ่มชัดเจนขึ้น เราได้ตระหนักถึงตัวตนของเราใน 2 ลักษณะคือ ตัวตนภายใน (ฉัน) และตัวตนในกระจก (ภาพตัวแทนของฉัน) เราเริ่มตระหนักถึงระยะห่างระหว่างตัวเราทั้งสองแบบนี้ และในที่สุด เราก็หลุดออกจากตัวตนภายในที่แต่เดิมเราเคยคิดว่ามันมีเพียงหนึ่งเดียว 


The Mirror Stage (Jacques Lacan)




กลไกอุดมการณ์กับการสร้างอัตลักษณ์ 

นอกจากการเรียนรู้โลกภายนอกด้วยการเห็นความเหมือนและความต่างอันนำไปสู่กระบวนการสร้างอัตลักษณ์ของปัจเจกบุคคลแล้ว อุดมการณ์ก็เป็นกลไกหนึ่งที่ประดิษฐ์สร้างอัตลักษณ์ทางสังคมให้กับบุคคลด้วย “อุดมการณ์” (Ideology) 

ตามแนวคิดของคาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) และฟรีดิช เองเกลส์ (Friedrich Engels) นักปรัชญาเยอรมัน ในหนังสือ The German Ideology (อุดมการณ์เยอรมัน) ระหว่างปี 1845-1846 เสนอว่า อุดมการณ์เกิดจากการแลกเปลี่ยนทางสังคมอันมีลักษณะหลากหลาย ซึ่งสอดคล้องกับรูปแบบหลักของการเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตในยุคนั้น ๆ เช่น จากสังคมระบบชนเผ่า มาสู่ชุมชน ระบบฟิวดัล มาจนถึงระบบทุนนิยมในปัจจุบัน มีรูปแบบการแลกเปลี่ยนทางสังคมที่แตกต่างกัน และทำให้รูปแบบกรรมสิทธิ์แตกต่างกันไปด้วย อุดมการณ์เข้ามาทำหน้าที่ให้ความชอบธรรมแก่การปกครองของชนชั้นปกครองของแต่ละยุคเพื่อให้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์และอำนาจ 


มาร์กซ์และเองเกลส์ชี้ว่า ภายใต้ระบบฟิวดัล เราได้ยินคำอย่างเช่น “เกียรติ” และ “ความจงรักภักดี” อยู่บ่อย ๆ แต่เมื่อถึงยุคทุนนิยม คำเช่น “เสรีภาพ” และ “ความเสมอภาค” ก็เข้ามาแทนที่อย่างรวดเร็วเพื่อทำให้ผลประโยชน์ของกลุ่มคนที่มีอำนาจกลายเป็นค่านิยมร่วมของทุกกลุ่มในสังคม ชนชั้นปกครองจำเป็นต้องอธิบายโลกทัศน์ของตนในฐานะที่เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และทำให้คนอื่นเชื่อว่าอุดมการณ์เหล่านี้เป็นทางเลือกสำคัญประการเดียวที่มีอยู่และเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผลและถูกต้อง (แคทเธอลีน เบลซีย์, อภิญญา เฟื่องฟูสกุล-แปล, 2549 : 46-48)

จากแนวคิดดังกล่าว หลุยส์ อัลตูแซร์ (Louis Althusser) ศาสตราจารย์ทางปรัชญาและนักสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศสได้ขยายความโดยสนใจไปที่ “กลไกอุดมการณ์” อัลตูแซร์อธิบายว่า “อุดมการณ์คือระบบของภาพตัวแทนที่ทำหน้าที่กำหนดความสัมพันธ์ที่แท้จริงของเรากับของคนอื่นๆในสังคม ด้วยการประดิษฐ์สร้างความสัมพันธ์เชิงจินตนาการระหว่างผู้คนด้วยกันเองและระหว่างผู้คนกับสังคม ดังนั้น อุดมการณ์จึงเป็นการรับรู้ที่บิดเบือนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ที่แท้จริงทางสังคม” สำหรับอัลตูแซร์แล้ว เขามองว่าปรากฏการณ์ทางสังคมทั้งมวลนั้นถูกควบคุมโดยอุดมการณ์ผ่านกลไกการกดทับหรือควบคุม (the repressive state apparatus) เช่น ตำรวจ และกลไกเชิงอุดมการณ์ (the ideological state apparatus) เช่น สื่อสารมวลชน (Jørgensen and Philips, 2002 :15)

กลไกเชิงอุดมการณ์นี้อัลตูแซร์ยังอธิบายอีกว่า เมื่อเราเข้าสู่ระบบความสัมพันธ์ในโครงสร้างทางสังคม  เราจะถูก “เรียกร้อง” (appellation) ให้เป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ (ที่เรียกว่าอัตตบุคคล-subject) ตามโครงสร้างนั้นผ่านภาษา เช่น การบอกว่าเราเป็นคนไทย/คนจีน เป็นนายู/ซีแย เป็นเสื้อเหลือง-เสื้อแดง-สลิ่ม ฯลฯ หน้าที่ของอุดมการณ์ในระดับบุคคลคือการเรียกหรือติดฉลากให้บุคคล “กลายเป็น” เช่นนั้นเช่นนี้ โดยขึ้นต่อสถาบันทางสังคมที่อยู่เหนือเราขึ้นไป (ในที่นี้หมายถึงสถาบันทางสังคมที่กำหนดแบบแผนความคิดของเราหรือที่ครอบงำเราอยู่) เช่น สถาบันการศึกษา สถาบันวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถาบันชาติ สถาบันสื่อมวลชน วงการวรรณกรรม วงการศิลปะ ฯลฯ 

ในสังคมจะมีการผลิตและผลิตซ้ำความหมายบางอย่างที่โน้มน้าวเราให้คิดว่าเราควรจะสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมที่เป็นจริงรอบตัวเราอย่างไร และเมื่อเราถูกเรียกหรือติดฉลากให้เป็นเช่นนั้นแล้ว เราก็จะต้องคิดและแสดงบทบาทให้สอดคล้องกับฉลากนั้น ตัวอย่างเช่น คำกล่าวที่ว่า “งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข” เป็นความหมายที่แฝงไว้ด้วยอุดมการณ์แบบทุนนิยม ทุกคนมีหน้าที่ต้องทำงาน และผลงานที่ดีนำมาซึ่งทรัพย์สินเงินทอง เงินทองก็นำมาซึ่งความสุข

อีกตัวอย่างหนึ่งคือข้อมูลข่าวสารสาธารณะเกี่ยวกับสุขภาพในยุคสมัยใหม่ที่เรียกร้องให้ผู้รับสารเป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบต่อตัวเอง ดูแลสุขภาพตัวเองด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การดูแลความสะอาด การไม่ดื่มสุราหรือสูบบุหรี่ การคุมกำเนิด รวมไปถึงค่านิยมการบริโภคอาหารสุขภาพ การฟิตซ้อมร่างกายให้แข็งแรงและมีรูปร่างดี เป็นต้น ข่าวสารสุขภาพเหล่านี้สะท้อนถึงอุดมการณ์ในการควบคุมพฤติกรรมการบริโภคของปัจเจกบุคคล ทำให้ปัจเจกบุคคลต้องแสดงความรับผิดชอบส่วนตัวในการรักษาสุขภาพแทนที่จะมองว่าเป็นความรับผิดชอบร่วมของสังคมในการแก้ปัญหา  ตัวอย่างเช่น การมองว่าปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนหรือปัญหาอาชญากรรมมีสาเหตุมาจากการดื่มสุราของปัจเจกบุคคลมากกว่าจะมองว่าเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างหรือปัญหาทางเศรษฐกิจสังคม 

เมื่อเราวิเคราะห์เนื้อหาและวิธีการนำเสนอสารในโฆษณารณรงค์การไม่ดื่มสุราหลายครั้งในสื่อมวลชน เราก็มักพบว่ามีการแสดงภาพตัวแทนของกลุ่มผู้ใช้แรงงานยากจนหรือกลุ่มวัยรุ่นเกเรที่ดื่มสุราจนเมามายจนเป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุหรือก่ออาชญากรรมและรวมไปถึงความรุนแรงในครอบครัว ปัญหาอุบัติเหตุหรืออาชญากรรมถูกทำให้มองว่าเป็นปัญหาที่เกิดจากพฤติกรรมของปัจเจกบุคคลและเป็นปัญหาของคนบางกลุ่ม บางชนชั้น โดยที่อาจทำให้สาธารณชนละเลยที่จะมองถึงปัญหาที่กว้างและซับซ้อนกว่านั้น เช่น ปัญหาความยากจน ปัญหาการด้อยโอกาสในสังคม ปัญหาความเหลื่อมล้ำ หรือปัญหาความเครียดในการใช้ชีวิตที่ต้องดิ้นรน เป็นต้น

ดังนั้น อุดมการณ์ในความหมายของอัลตูแซร์ คือ ภาพตัวแทนของความสัมพันธ์ในเชิงจินตภาพของบุคคลที่มีต่อสิ่งต่าง ๆ จินตนาการทำให้เราเชื่อว่ามัน “จริง” (real) ทำให้เราเชื่อว่า “มันต้องเป็นเช่นนั้นอยู่แล้ว มันเป็นสัจธรรม มันเป็นธรรมชาติ มันเป็นสากล” (ทั้ง ๆ ที่มันเป็นสิ่งที่สังคมประดิษฐ์สร้างขึ้นมา) 

อย่างไรก็ตาม การทำงานของกระบวนการเรียกร้อง (appellation) ของอัลตูแซร์ ไม่ได้อยู่ในระดับผิวเผิน แต่ถูกปลูกฝังอยู่ในระดับจิตใต้สำนึก (subconscious) และจิตไร้สำนึก (unconscious) เลยทีเดียว เช่น การปลูกฝังอุดมการณ์ชาตินิยม การปลูกฟังวัฒนธรรมแบบอำนาจนิยม หรือการปลูกฝังความกลัวบางอย่าง เช่น กลัวคอมมิวนิสต์ กลัวเสียเอกราช เป็นต้น 


เนื่องจากจิตไร้สำนึกเป็นระบบสัญญะที่ไม่ได้เกิดจากการสร้างสรรค์ที่เป็นอิสระของปัจเจกบุคคลแต่มีลักษณะร่วมกันทางสังคม จิตไร้สำนึกถูกนำมาใช้ในการศึกษาวัฒนธรรมเชิงจิตวิเคราะห์ เช่น การพูดพลั้งปาก การตีความความฝัน ช่วยให้เราเข้าใจความหมาย ความรู้สึกนึกคิดของบุคคลหรือแม้แต่สังคมที่ฝังอยู่เบื้องลึก ช่วยให้เราเข้าใจถึงอุดมการณ์ที่คอยกำกับความคิด การกระทำและการแสดงออกของอัตลักษณ์ของเรา  

คำถามที่ท้าทายให้เราได้คิดคือ หากพิจารณาแนวคิดของอัลตูแซร์ สถาบันสื่อมวลชนมีอิทธิพลอย่างไรในการสร้างอัตลักษณ์ของเราและสังคมของเรา? สื่อมวลชนเรียกร้องให้ผู้คนสร้างอัตลักษณ์ของกลุ่มขึ้นมาได้อย่างไร? ในทางกลับกัน บุคคลได้ใช้สื่อมวลชนสร้างอัตลักษณ์ของตนเองขึ้นมาอย่างไร? สื่อเลือกนำเสนออัตลักษณ์หรือภาพตัวแทนของแต่ละกลุ่มคนในสังคมอย่างไร?

แนวคิดของอัลตูแซร์ถูกนำมาใช้ในการศึกษาบทบาทของสื่อมวลชนในกระบวนการสร้างความเป็นตัวตนหรืออัตลักษณ์ของบุคคล เพราะในขณะที่เราบริโภคสารจากสื่อมวลชน เรากำลังมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวเรากับเนื้อหา (อุดมการณ์) ในสื่อ และมีปฏิสัมพันธ์ภายในตัวเราด้วย เช่นกรณีเกิดคำถามในใจเมื่อรับสารจากสื่อมวลชนว่า ถ้าเป็นเรา เราจะทำอย่างไร กระบวนการนี้เป็นการสร้างอัตลักษณ์หรือตอกย้ำอัตลักษณ์เดิมของเรานั่นเอง

อัตลักษณ์ : การแสดงออกอำนาจเชิงสัญลักษณ์

ในขณะที่มาร์กซ์และอัลตูแซร์มุ่งเน้นวิพากษ์โครงสร้างทางสังคม ปิแยร์ บูร์ดิเยอ (Pierre Bourdieu) กลับมองว่าการพยายามอธิบายสังคมโดยมุ่งหาแต่โครงสร้างสากล ลดทอนการกระทำให้เป็นเพียงผลของตัวแบบทางทฤษฎี และมองว่าผู้กระทำในสังคมเป็นเพียงหุ่นเชิดที่มีโครงสร้างเป็นเชือกชักนั้นไม่สามารถอธิบายเหตุผลอันแท้จริงของการกระทำทางสังคมรวมทั้งอัตลักษณ์ด้วยได้ แต่ยังมีวิธีการอธิบายในแบบอื่นที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกันนั่นก็คือ “ระบบความสัมพันธ์และอำนาจเชิงสัญลักษณ์ที่มีส่วนในการกำหนดการกระทำหรือปรากฏการณ์ทางสังคม” 

บูร์ดิเยอได้เสนอแนวคิดเรื่องโครงสร้างในแบบที่ต่างออกไป ตรงที่ “โครงสร้างนั้นเป็นทั้งผู้กำหนดและผู้ถูกกำหนด” กล่าวคือ ในสังคมมีโครงสร้างที่กำหนดความรู้สึกนึกคิดและการกระทำของปัจเจกบุคคล (habitus หรือที่ชนิดา เสงี่ยมไพศาลสุขใช้คำว่า “นิจภาพ”) ซึ่งเป็นผลิตผลของกระบวนการหล่อหลอมทางสังคมตั้งแต่ช่วงแรก ๆ ของชีวิต ด้วยการปลูกฝังเรื่องต่าง ๆ เช่น เงื่อนไขทางสังคม กฎระเบียบ ความเชื่อ ค่านิยม ความรู้ ความคิด ความเชื่อ ฯลฯ ให้ซึมซับไปในร่างกายและจิตใจของบุคคล โครงสร้างดังกล่าวกำหนดขอบเขตของการกระทำและสร้างชุดการรับรู้และประเมินคุณค่าที่สอดคล้องกับโครงสร้างนั้น แล้วแสดงออกในรูปของการปฏิบัติในชีวิตประจำวันที่สม่ำเสมอ (ที่เรียกว่าการผลิตซ้ำ - reproduction) โครงสร้างจึงถูกประกอบสร้าง (constructed) ด้วยการปฏิบัติต่าง ๆ ที่ถูกกำหนดมาก่อนด้วยนิจภาพ (habitus) และถูกกำหนดด้วยโครงสร้างที่อยู่ภายนอกอีกทีหนึ่ง (ชนิดา เสงี่ยมไพศาลสุข, 2550 :74, 85-95) 

“โครงสร้างที่เป็นทั้งผู้กำหนดและผู้ถูกกำหนด” นี้เป็นที่มาของการครอบครอง “ทุน” (capital) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ทุนทางสัญลักษณ์” และแน่นอนว่าผู้ที่ครอบครองทุนทางสัญลักษณ์ก็ย่อมเป็นผู้ที่มี “อำนาจเชิงสัญลักษณ์” (symbolic power)[1] ด้วย

แนวคิดเรื่องอำนาจเชิงสัญลักษณ์ของบูร์ดิเยอนำมาใช้อธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกบุคคลและและความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันทางสังคม ความสัมพันธ์นี้มีส่วนในการกำหนดอัตลักษณ์ของบุคคลและสังคมในมิติที่แตกต่างออกไป 

ดังที่กล่าวมาข้างต้นว่า บูร์ดิเยอสนใจศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจเชิงสัญลักษณ์กับการผลิตทางวัฒนธรรม รวมทั้งการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจของผู้กระทำ (agent) ในสนามทางสังคม (Field) ในแง่นี้ เขาได้ศึกษาถึงพฤติกรรมการบริโภคในสังคมยุคปัจจุบันที่ผูกโยงกับโครงสร้างทางสังคมและวัฒนธรรม (Bourdieu, 1984) กล่าวคือ เรากิน เราเที่ยว เราสนุกในแบบที่สังคมกำหนดไว้แล้ว โครงสร้างทางสังคมอันได้แก่โครงสร้างทางเศรษฐกิจ (ฐานะร่ำรวย-ยากจน) และโครงสร้างทางสังคม (สถานภาพทางสังคม เช่น เป็นชนชั้นสูง แพทย์ นักธุรกิจ นักวิชาการ วิศวกร กรรมกร เกษตรกร ฯลฯ) ได้กำหนดวิถีการบริโภคให้กับเรา และนั่นนำไปสู่การกำหนดรูปแบบการใช้ชีวิต ตัวตน และอัตลักษณ์ของบุคคลที่แตกต่างกันออกไปตามโครงสร้างนั้น 


กล่าวอีกแง่หนึ่ง หากเราต้องการให้คนอื่นมองเห็นว่าเราเป็นคนในชนชั้นไหน ฐานะเป็นอย่างไร อยู่ในโครงสร้างส่วนไหนของสังคม เราก็ต้องพยายามแสดงออกให้คนอื่นเห็นด้วยสัญลักษณ์ที่เป็นตัวแทนของชนชั้นนั้น ๆ เช่น การใช้สินค้าแบรนด์เนม การใช้อุปกรณ์การสื่อสารรุ่นใหม่ล่าสุด การอ่านหนังสือแฟชั่นหรือหนังสือวิชาการ การฟังเพลงคลาสสิคหรือเพลงลูกทุ่ง ฯลฯ การแสดงออกของบุคคลจึงถูกประกอบสร้างตามฐานะทางสังคม ชนชั้น ต้นทุนทางวัฒนธรรมหรือต้นทุนทางสัญลักษณ์ที่คนคนนั้นครอบครองอยู่

จากแนวคิดของบูร์ดิเยอ เขาได้จำแนกบุคคลตามการแสดงออก ไม่ว่าจะเป็นรสนิยมการบริโภค การแสดงออกในชีวิตประจำวัน ความคิด ค่านิยม ที่เรียกว่า “Habitus” หรือนิจภาพซึ่ง จำแนกคนตามต้นทุนหลัก 2 ประเภทคือ ทุนทางเศรษฐกิจ และทุนทางวัฒนธรรม กล่าวคือ คนเราย่อมมีทั้งทุนทางเศรษฐกิจ ได้แก่ ฐานะทางเศรษฐกิจ ความร่ำรวย-ยากจน และทุนทางวัฒนธรรม ได้แก่ ภูมิปัญญาความรู้ บารมี ความน่าเชื่อถือ รสนิยมทางศิลปะ (ชั้นสูง-ชั้นล่าง) มากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป บูร์ดิเยอวิเคราะห์ว่า ในโครงสร้างทางสังคมนั้น ต้นทุนทางวัฒนธรรมกระจายตัวออกไปสู่ชนชั้นต่างๆอย่างไม่เท่ากัน ชนชั้นที่มีต้นทุนทางเศรษฐกิจเหนือกว่าก็มีโอกาสที่จะสะสมทุนทางวัฒนธรรมได้มากกว่า เช่น คนรวยมีโอกาสได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัย มีการศึกษาสูงมากกว่าคนยากจน (อาจเพราะมีเงินเรียนกวดวิชาหรือไม่ต้องแบ่งเวลาไปทำงานเลี้ยงปากท้อง) คนรวยสามารถเข้าถึงวัฒนธรรมชั้นสูงหรือวิจิตรบรรจงได้ง่ายกว่า ในสังคมสมัยใหม่เราจะเห็นสภาพการต่อสู้ระหว่างคนที่ครอบครองทุนทั้งสองประเภทนี้อยู่ตลอดเวลา การต่อสู้ระหว่างชนชั้นล่างกับชนชั้นสูงมีทั้งในรูปของการต่อสู้ด้านเศรษฐกิจและการต่อสู้ด้านวัฒนธรรม

หากเราวิเคราะห์การแสดงบทบาทของบุคคลในชีวิตประจำวันหรือการวิเคราะห์สารในสื่อมวลชน เราก็จะพบว่ามีการต่อสู้เชิงอัตลักษณ์ของปัจเจกบุคคลและกลุ่มคนตลอดเวลา ตัวอย่างเช่น การปรากฏตัวของกลุ่มเพศที่สามในสื่อมวลชนที่มากขึ้นกว่าแต่ก่อน ทั้งในละคร ภาพยนตร์ รายการเกมโชว์หรือโฆษณา แสดงให้เห็นถึงพยายามแสดงออกถึงอัตลักษณ์ของเพศที่สามในพื้นที่สาธารณะ เป็นการปรากฏตัวในฐานะที่เป็นสมาชิกของสังคมและมีบทบาทสำคัญ

แต่บางครั้งเราก็พบว่าอัตลักษณ์ของบุคคลก็สามารถปรับเปลี่ยนได้ ทั้งนี้เนื่องจากวิถีการบริโภคของบุคคลที่อิงอยู่กับทุนทางวัฒนธรรมและทุนทางเศรษฐกิจมีการปรับตัว ตัวอย่างเช่น กรณีค่ายเพลงไทยสากลหลายค่ายหันมาทำเพลงลูกทุ่งหมอลำกันมากขึ้น แต่ปรับโฉมให้ทันสมัยเป็นสากล ก็เป็นการเคลื่อนจากทุนทางวัฒนธรรมหนึ่งไปหาทุนทางเศรษฐกิจมากขึ้นเนื่องจากผู้ผลิตเล็งเห็นแล้วว่าตลาดของคนฟังเพลงลูกทุ่งนั้นใหญ่กว่า และในที่สุดแนวเพลงลูกทุ่งหมอลำที่ดูทันสมัยก็จะกลายเป็นทุนทางวัฒนธรรมอีกแบบหนึ่งที่ประสานกันได้กับทุนทางเศรษฐกิจ และอาจทำให้หลาย ๆ คนไม่ตะขิดตะขวงใจหากจะหาเพลงลูกทุ่งหมอลำแนวสากลมาฟัง ดังนั้น รสนิยมและอัตลักษณ์จึงเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดโดยโครงสร้างและเป็นผู้กำหนดโครงสร้างได้เช่นกัน

บทส่งท้าย

แนวคิดของนักปรัชญา นักจิตวิเคราะห์และนักสังคมศาสตร์ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น สามารถนำมาใช้เป็นแนวทางเพื่อทำความเข้าใจถึงสาเหตุของความแตกต่างหลากหลายของอัตลักษณ์ ช่วยทำให้เราเห็นถึงความซับซ้อนของอัตลักษณ์ของบุคคลและอัตลักษณ์ของกลุ่มที่เชื่อมโยงกับสังคมและวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อสังคมมีลักษณะเป็นพหุวัฒนธรรมด้วยแล้ว ยิ่งทำให้เห็นได้ว่าอัตลักษณ์นั้นมีลักษณะที่พลวัตและปรับตัวตลอดเวลาตามสภาพแวดล้อมและเงื่อนไขทางสังคม คนคนหนึ่งอาจแสดงออกอัตลักษณ์ของตนแบบหนึ่งเฉพาะในสถานการณ์หนึ่ง แต่เมื่อเปลี่ยนที่ เปลี่ยนเวลาและเปลี่ยนคู่สื่อสารก็อาจแสดงออกอัตลักษณ์อีกแบบหนึ่งได้ ดังนั้น“อัตลักษณ์จึงไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นลอยๆ และไม่มีแบบฉบับตายตัว”   

คำถามที่ตามมาคือ หากอัตลักษณ์ของบุคคลหรือกลุ่มมีลักษณะเป็นพลวัต แล้วอะไรคือปัจจัยที่ทำให้เกิดพลวัตนั้น ? คำตอบนั้นมีหลากหลายไม่ว่าจะเป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและระหว่างกลุ่ม โครงสร้างทางชนชั้นทางสังคมและอุดมการณ์  แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นย่อมต้องอาศัย“การสื่อสาร”ผ่านภาษา ระบบสัญลักษณ์ ช่องทางการสื่อสารเป็นตัวขับเคลื่อน เพื่อจัดรูปแบบความสัมพันธ์ทางสังคมให้เป็นไปตามโครงสร้างเหล่านั้น

อัตลักษณ์ในพื้นที่การสื่อสารและพื้นที่สาธารณะนั้นมีความซับซ้อนเนื่องจากมันเกี่ยวโยงกับความสัมพันธ์ระหว่างตัวเอง (subject) กับ “คนอื่น” และความผูกพันต่อตัวเองกับโครงสร้างเชิงสถาบันที่ทำให้ปัจเจกบุคคลเข้ามาเชื่อมต่อและผูกพัน(engagement)กับสังคม ตัวอย่างเช่นความรู้สึกถึงความเป็นพลเมือง เป็นต้น ความสัมพันธ์ดังกล่าวจึงจำเป็นต้องอาศัยการสื่อสารในฐานะที่เป็น “กระจกสะท้อนทางสังคม” (social mirror) (Lamizet, 2002: 43-46) 

 กล่าวโดยสรุปก็คือ อัตลักษณ์เป็นการแสดงออกถึงความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกกับสังคม เป็นเสมือนกระจกที่สะท้อนซึ่งกันและกันระหว่างความเป็นการเมืองกับความเป็นจริงที่ปัจเจกสรุปได้จากการผูกพันตัวเองกับสังคม นี่คือเหตุผลที่อธิบายว่าทำไมอัตลักษณ์ของปัจเจกบุคคลจึงมีทั้ง “มิติอัตลักษณ์เดี่ยว”และ “มิติอัตลักษณ์ร่วม”ที่เกี่ยวพัน เชื่อมโยงและปะทะกันในสังคมตลอดเวลา ยิ่งสังคมที่มีความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมด้วยแล้ว ระดับของการปะทะสังสันท์ระหว่างอัตลักษณ์ทั้งสองมิตินี้จะยิ่งเข้มข้นขึ้น หรือบ่อยครั้งก็อาจนำไปสู่ความอ่อนไหวของความขัดแย้ง

เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งเชิงอัตลักษณ์ทั้งในลักษณะความขัดแย้งภายในตัวของปัจเจกบุคคลเองและความขัดแย้งระหว่างบุคคลที่มีอัตลักษณ์แตกต่างกัน จำเป็นอย่างยิ่งที่สังคมแบบพหุวัฒนธรรมนั้นจะต้องมีพื้นที่ร่วม (collective space) ที่ยอมรับในความแตกต่างของอัตลักษณ์ของบุคคลในสังคม และต้องเป็นพื้นที่กลางที่เปิดโอกาสให้อัตลักษณ์ที่แตกต่างนั้นสามารถแลกเปลี่ยนแบ่งปันซึ่งกันและกันได้อย่างเท่าเทียม ซึ่งก็หมายถึงพื้นที่ของการสื่อสารนั่นเอง.


รายการอ้างอิง 
-  แคทเธอลีน เบลซีย์. 2549. หลังโครงสร้างนิยม ฉบับย่อ. อภิญญา เฟื่องฟูสกุล, แปล. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์กรมหาชน).
-  ปิแยร์ บูร์ดิเยอ. 2550. เศรษฐกิจของทรัพย์สินเชิงสัญลักษณ์. ชนิดา เสงี่ยมไพศาลสุข, แปล. กรุงเทพฯ : โครงการจัดพิมพ์คบไฟ.
-  Bourdieu, Pierre. 1984. Distinction: A Social Critique of the Judgment of Taste. Haward University Press.
-  Chauviré, Christine et Fontaine Olivier. 2003. Le vocabulaire de Bourdieu. Paris : Ellipses.
-  Jørgensen, Marianne and Philips, Louise. 2002. Discourse Analysis as Theory and Method. London: SAGE Publications.
-  Lamizet, Bernad. 2002. Politique et identité. Lyon : Presses Universitaires de Lyon.



[1] อำนาจเชิงสัญลักษณ์ เป็นระบบความสัมพันธ์ของคนในสังคมที่แสดงออกมาในเชิงสัญลักษณ์เช่น สถานภาพ ถ้อยคำภาษา อากัปกิริยาท่าทาง การกระทำ การรับรู้กันในใจ ที่สืบเนื่องมาจากทุนทางสัญลักษณ์ (symbolic capital) เช่น ชื่อเสียงเกียรติยศ ยศฐาบรรดาศักดิ์ พละกำลัง บุญบารมี วีรกรรม ฯลฯ เราจะรับรู้ถึงทุนทางสัญลักษณ์ได้นั้น ต้องอาศัยการตีความในหมู่สมาชิกของสังคมที่มีระบบคุณค่าหรือวัฒนธรรมเดียวกัน ต้องอาศัยการยินยอมพร้อมใจและให้ความชอบธรรม (legitimacy) แก่สิ่งนั้น ชนิดา เสงี่ยมไพศาลสุข (2550 : 82-83) อธิบายว่า ในแนวคิดของบูร์ดิเยอ สิ่งที่ทำให้กลุ่มคนบางกลุ่มมี “บารมี” ได้เป็นผลจากการมีทุนทางสัญลักษณ์ ซึ่งมิได้เกิดขึ้นเอง แต่ต้องอาศัยการแฝงฝังระบบโน้มเอียงต่าง ๆ ที่สอดคล้องลงไปในตัวผู้กระทำ (บุคคล) โดยผ่านกระบวนการขัดเกลาทางสังคมตั้งแต่วัยเยาว์ (...) ทุนทางสัญลักษณ์เป็นที่มาของการครอบงำเช่นเดียวกับทุนทางเศรษฐกิจ เป็นการเอารัดเอาเปรียบแบบที่ฝ่ายที่อยู่ภายใต้การครอบงำไม่ได้ตระหนักว่าถูกครอบงำ