วันพฤหัสบดีที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2557

ฝันถึงการเมืองแบบปรึกษาหารือ

ช่วงเวลานี้มีหลายคนพยายามเสนอทางออกของปัญหาการเมือง การลดดีกรีความร้อนแรงของสถานการณ์ความขัดแย้ง หลายฝ่ายพยายามเสนอการใช้วิธีการเจรจา พูดคุย การเปิดพื้นที่สาธารณะ พื้นที่ร่วมให้หลายภาคส่วนหันแสดงออกทางความคิดเห็นที่หลากหลายเพื่อหวังว่าจะหาจุดร่วมกันได้บ้างเพื่อเดินต่อไปอย่างสร้างสรรค์ เป็นธรรม ไม่สูญเสียเลือดเนื้อ

สำหรับผู้ที่ยังคงรักษาสติของตัวเองอยู่ได้ ไม่ถูกชักพาด้วยอารมณ์ไปในทางฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากจนเกินไปเสียก่อน ก็น่าจะลองมาหาที่ยืนของตัวเองเพื่อร่วมกันหาทางออก โดยเริ่มจากการสร้างพื้นที่ร่วมของความเห็นที่แตกต่างและพื้นที่ของการ "รับฟังกัน" ตามแนวคิดประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือดังนี้ ...

แนวคิดประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ (Deliberative Democracy) ที่เสนอโดย Jürgen Habermas นักปรัชญาและนักสังคมวิทยาชาวเยอรมัน มีฐานคิดมาจากตัวแบบประชาธิปไตย 3 ตัวแบบที่สำคัญคือ ตัวแบบเสรีนิยม, ตัวแบบสาธารณรัฐ, และตัวแบบการปรึกษาหารือ

การเมืองแบบปรึกษาหารือ (Deliberative Politics) เป็นไปได้ก็ต่อเมื่อมีการตระหนักถึงความหลากหลายของรูปแบบ (forms) ของการสื่อสารที่ทำให้เกิด"การรับฟังกัน" การเมืองแบบนี้ เน้นถึงเงื่อนไขหรือสภาวะต่าง ๆ ของการสื่อสารที่เชื่อมโยงแนวคิดแบบ Habermasienne

กระบวนการพูดคุยปรึกษาหารือที่ดูเหมือนเป็นเรื่องอุดมคติในทางการเมือง ก็คือ การถักทอสายสัมพันธ์ภายใน ระหว่าง 3 องค์ประกอบหลักคือ
- การเจรจาต่อรอง
- การอภิปรายถกเถียงบนฐานของอัตลักษณ์ร่วมทางสังคม
- การอภิปรายถกเถียงบนฐานของความเป็นธรรม
ซึ่งทั้งสามส่วนนี้ ฮาร์เบอร์มาสเชื่อว่า ผลลัพธ์น่าจะนำไปสู่ความเป็นเหตุเป็นผล

แต่เขาก็รู้ว่า ไม่ใช่ทุกคนที่สามารถเข้าร่วมกับทุก ๆ องค์ประกอบของการพูดคุยปรึกษาหารือนี้ได้โดยตรงในทางประชาธิปไตย ดังนั้น นี่จึงเป็นเหตุผลที่ว่า ทฤษฏี Deliberative Democracy ให้ความสำคัญต่อการยอมรับคู่สนทนาและฟังกันและกันผ่านรูปแบบเชิงสถาบันของการปรึกษาหารือ 2 รูปแบบคือ (1) ระบบรัฐสภาและ (2) เครือข่ายการสื่อสารในพื้นที่สาธารณะ ทั้งสองรูปแบบเป็นพื้นที่สาธารณะที่เป็นมณฑลที่ก่อให้เกิดการใช้เหตุผลไม่มากก็น้อย และเป็นพื้นที่ที่ทำให้เกิดการสร้างเจตจำนงร่วมที่มีเหตุมีผลในนามของสังคมส่วนรวม

ประการสุดท้าย ฮาร์เบอร์มาสย้ำว่า "การรู้ว่าอะไรเป็นสิ่งดี เป็นเรื่องของคุณลักษณะเฉพาะของปัจเจกบุคคล แต่ตรงกันข้าม การรู้ว่าอะไรเป็นธรรมนั้นจำเป็นที่เราจะต้องมีความสัมพันธ์กับคนอื่น จริยธรรมของการปรึกษาหารือก็คือจริยธรรมของการรู้ว่าจะกำหนดหน้าที่ของตัวเองแต่ละคนอย่างไร ไม่ใช่การกำหนดวิธีการใช้ชีวิตที่ดีของตนแต่เพียงอย่างเดียว"



อ้างอิง

Jürgen Habermas. 1987. Théorie de l'agir communicationnel. Tome 2. Pour une critique de la raison fonctionnaliste. Paris: Fayard.