วันพฤหัสบดีที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2559

สถานภาพการสื่อสารภายใต้บริบทการการพูดคุยสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้




รายงานการสำรวจสถานภาพการสื่อสาร

ภายใต้บริบทการการพูดคุยสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 

กุสุมา กูใหญ่ 

การสำรวจครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้  ศูนย์ศึกษาและพัฒนาการสื่อสารสันติภาพ คณะวิทยาการสื่อสารและศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในโครงการ “การศึกษาสภาพทางสังคมและสถานการณ์ยาเสพติด ภายใต้บริบทการการพูดคุยสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้” โดยการสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.)

การสำรวจมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการเปิดรับข่าวสารและช่องทางการสื่อสารของประชาชนผ่านสื่อมวลชน สื่อชุมชนและสื่อสังคม ความคิดเห็นต่อข้อมูลข่าวสารและบทบาทของสื่อในการหนุนเสริมการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งความเชื่อมั่นต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพ ทั้งนี้ ได้ดำเนินการในช่วงเดือนธันวาคม 2558 – เดือนมกราคม 2559 โดยการสุ่มตัวอย่างประชากรจำนวน 1,205 ตัวอย่าง ที่อาศัยอยู่ใน 200 ชุมชน กระจายในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา

ผู้ตอบแบบสอบถามประกอบด้วยเพศชาย จำนวน 622 คน (ร้อยละ 51.6) และเพศหญิงจำนวน 583 คน (ร้อยละ 48.4) มีอายุเฉลี่ย 38.06 ปี โดยส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามร้อยละ 82 และศาสนาพุทธร้อยละ 18 ส่วนใหญ่สำเร็จการศึกษาสูงสุดภาคสามัญ ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ร้อยละ 30.4 รองลงมาคือระดับประถมศึกษา ร้อยละ 21.9   ส่วนระดับการศึกษาสูงสุดภาคศาสนาอิสลาม ส่วนใหญ่จบการศึกษาระดับกลาง (มูตาวัตซิส) ร้อยละ 23.7 รองลงมาคือระดับชั้นตาดีกา ร้อยละ 22.6 และส่วนใหญ่มีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่า 10,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 56.4

แนวคิดในการศึกษา

การสำรวจครั้งนี้ ได้ใช้แนวคิดด้านการสื่อสารสันติภาพ (Peace Communication) และความรู้เท่าทันสื่อและข่าวสาร (Media and Information Literacy) เป็นกรอบในการศึกษาซึ่งเป็นการศึกษาภูมิทัศน์ด้านการสื่อสารในพื้นที่ความขัดแย้งบทบาทของการสื่อและข่าวสารในกระบวนการสร้างสันติภาพ และการตระหนักรู้ต่อข่าวสารของประชาชน กรอบแนวคิดดังกล่าวมีการศึกษาในหลายประเทศ เช่น ติมอร์-เลสเต ในปี 2554  อัฟกานิสถาน ในปี 2553  ทั้งนี้ คณะผู้วิจัยมีสมมติฐานว่าโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชนจะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเจรจาพูดคุยสันติภาพและการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดทิศทางและเป้าหมายของการบรรลุข้อตกลงร่วมกันทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างสันติวิธี ในขณะเดียวกัน การศึกษาจะทำให้ผู้มีบทบาทสำคัญในกระบวนการพูดคุยสันติภาพได้รับทราบถึงข้อกังวล ความต้องการและข้อเสนอแนะของประชาชนและนำมาใช้ในการกำหนดประเด็นการสร้างสันติภาพต่อไป


ภูมิทัศน์การสื่อสารในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ : ปัจจุบันของสื่อและอนาคตของสันติภาพ

การศึกษาครั้งนี้ มุ่งทำความเข้าใจถึงสภาพการณ์ในปัจจุบันของการเปิดรับข่าวสารผ่านสื่อต่าง ๆ ทั้งสื่อมวลชน สื่อชุมชน สื่อบุคคลและสื่อใหม่ โดยกลุ่มตัวอย่างให้คะแนนความบ่อยในการติดตามข่าวสารผ่านสื่อตั้งแต่ 0 ถึง 5 คะแนน โดยผลการสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างเปิดรับข่าวสารจากสื่อโทรทัศน์มากเป็นอันดับหนึ่ง (ค่าเฉลี่ย 3.97) รองลงมาคือ ข่าวสารจากคนสนิท เพื่อนบ้านหรือคนในชุมชน (ค่าเฉลี่ย 3.03) และข่าวสารจากวิทยุ (ค่าเฉลี่ย 2.99) แนวโน้มที่น่าสนใจก็คือ การเปิดรับข่าวสารจากสื่อทางโทรศัพท์เคลื่อนที่เช่นไลน์ และสื่ออินเทอร์เน็ต เป็นช่องทางที่กลุ่มตัวอย่างใช้รับข่าวสารมากเป็นอันดับสี่ (ค่าเฉลี่ย2.97) และห้าตามลำดับ (ค่าเฉลี่ย 2.82) ทั้งนี้ การเปิดรับข่าวสารผ่านสื่อดังกล่าวเป็นแบบแผนเดียวกันกับช่องทางการเปิดรับข่าวสารในประเด็นเกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้

นอกจากนี้ แหล่งข่าวสารที่กลุ่มตัวอย่างเชื่อถือ 5 อันดับแรก ได้แก่ สื่อโทรทัศน์ สื่อวิทยุ ข่าวสารจากมัสยิด ข่าวสารจากคนสนิทหรือคนในชุมชน และข่าวสารจากอินเทอร์เน็ต ตามลำดับ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ประชาชนเปิดรับข่าวสารจากสื่อที่หลากหลายทั้งสื่อมวลชน สื่อบุคคลและสื่อใหม่ และมีแนวโน้มว่าสื่ออินเทอร์เน็ตและสื่อสังคมเช่นไลน์เริ่มมีบทบาทสำคัญในพื้นที่การสื่อสารนี้

สำหรับประเด็นข่าวสารเกี่ยวกับปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่สนใจติดตามมากที่สุด 3 อันดับแรกนั้นได้แก่ เหตุการณ์รุนแรงรายวัน สถานการณ์ปัญหาการแพร่ระบาดยาเสพติด และแนวทางการแก้ไขปัญหาของรัฐ ส่วนปัญหาด้านเศรษฐกิจ การประกอบอาชีพและด้านการศึกษา เป็นประเด็นที่ประชาชนสนใจในระดับรองลงมา ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงการตระหนักถึงปัญหาที่ประชาชนในพื้นที่กำลังเผชิญอยู่ทั้งประเด็นความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินและประเด็นสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ล้วนเป็นปัจจัยบั่นทอนสันติสุขในพื้นที่และเป็นประเด็นที่สื่อควรให้ความสำคัญ

โอกาสในการเพิ่มศักยภาพสื่อทวิภาษา

สำหรับประเด็นด้านภาษาที่ใช้ในการรับข่าวสารและความต้องการใช้ภาษานั้น ผลการสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ใช้ภาษาไทยและต้องการใช้ภาษาไทยในการรับข่าวสารจากสื่อโทรทัศน์ (ร้อยละ 87.2 ของกลุ่มตัวอย่าง) วิทยุ (ร้อยละ 79.9) และหนังสือพิมพ์ (ร้อยละ 89.1) แต่ทั้งนี้ ในฐานะที่ประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่ใช้ภาษามลายูเป็นภาษาหลักในการสื่อสารในครอบครัว การสำรวจพบว่า จำนวนกลุ่มตัวอย่างที่ต้องการใช้ภาษามลายูในการรับข่าวสารก็มีสัดส่วนที่ไม่น้อย คิดเป็นร้อยละ 18.8 สำหรับสื่อวิทยุ และร้อยละ 12.2 สำหรับสื่อโทรทัศน์ ส่วนความต้องการใช้ภาษามลายูในการรับข่าวสารจากหนังสือพิมพ์นั้นมีเพียงร้อยละ 8.6 เนื่องจากข้อจำกัดด้านภาษาเขียนในภาษามลายูถิ่น

ทัศนคติต่อข่าวสารและบทบาทของสื่อมวลชนและสื่อท้องถิ่นในการหนุนเสริมสันติภาพ 

ในประเด็นทัศนคติต่อข่าวสารในสื่อมวลชน และบทบาทของสื่อมวลชนและสื่อท้องถิ่นในการหนุนเสริมสันติภาพนั้น คณะผู้วิจัยได้ออกแบบคำถามวัดระดับความคิดเห็นโดยใช้กรอบแนวคิดการสื่อสารสันติภาพและการรู้เท่าทันสื่อในประเด็นต่อไปนี้คือ ประโยชน์ของข้อมูลข่าวสาร ความถูกต้อง เที่ยงตรงและความหลากหลายของข่าวสาร คุณค่าของข่าวสารที่หนุนเสริมสันติภาพ ความสมดุล ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด และการให้ความเป็นธรรมในการนำเสนอข่าวสาร เสรีภาพของสื่อและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ความเข้าใจบริบทความขัดแย้งของสื่อมวลชน การตรวจสอบความถูกต้องของข่าวสารและข่าวลือโดยผู้รับสาร รวมทั้งความรู้สึกปลอดภัยในการสื่อสารกับบุคคลอื่น เป็นต้น ซึ่งผลการสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างมีทัศนคติต่อข่าวสารในสื่อมวลชนในภาพรวม (ค่าเฉลี่ย 2.99 จากคะแนนเต็ม 5) ทัศนคติต่อบทบาทของสื่อมวลชนในการรายงานข่าวสถานการณ์ภาคใต้ (ค่าเฉลี่ย 3.27) และทัศนคติต่อบทบาทของสื่อท้องถิ่นและสื่อชุมชนในระดับปานกลาง (ค่าเฉลี่ย 3.11)

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาอันดับคะแนนความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างที่มีต่อข่าวสารในสื่อมวลชนในประเด็นต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาข้างต้น 5 อันดับแรก พบว่า กลุ่มตัวอย่างเห็นว่าข่าวสารในสื่อมวลชนทุกวันนี้มีเนื้อหาหลากหลายมากขึ้น (ค่าเฉลี่ย 3.41) รองลงมาคือเห็นว่าสื่อมวลชนยังคงมุ่งเน้นนำเสนอข่าวสารรัฐบาล (ค่าเฉลี่ย 3.29) สื่อมวลชนทำให้ประชาชนได้รับข่าวสารที่เที่ยงตรงและเป็นประโยชน์ (ค่าเฉลี่ย 3.25)   และสื่อมวลชนนำเสนอข่าวสารที่เน้นความเห็นมากกว่าข้อเท็จจริง (ค่าเฉลี่ย 3.24)

ในส่วนของบทบาทของสื่อมวลชนในการรายงานข่าวสถานการณ์ภาคใต้ ประเด็นที่กลุ่มตัวอย่างเห็นด้วยมาก 5 อันดับแรกก็คือ สื่อมวลชนควรตรวจสอบข้อเท็จจริง และแก้ไขข้อผิดพลาดของข้อมูลเมื่อทราบโดยทันที (ค่าเฉลี่ย 3.72) ควรนำเสนอข่าวสารเกี่ยวกับปัญหาสังคมอื่น ๆ เช่น ปัญหายาเสพติด (ค่าเฉลี่ย 3.70) ควรคอยติดตามสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่และรายงานโดยเร็ว (ค่าเฉลี่ย 3.61) ควรเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่หลากหลายและยอมรับความเห็นต่าง (ค่าเฉลี่ย 3.52) และควรนำเสนอรายละเอียดข้อมูลการพูดคุยสันติภาพ/สันติสุขระหว่างรัฐบาลและฝ่ายผู้เห็นต่าง (ค่าเฉลี่ย 3.40)

สำหรับบทบาทของสื่อท้องถิ่นและสื่อชุมชนนั้น กลุ่มตัวอย่างเห็นว่า สื่อภาคประชาชน เช่น วิทยุชุมชน เว็บไซต์ท้องถิ่น ควรมีบทบาทคอยเฝ้าระวังความปลอดภัยในประชาชนในพื้นที่ (ค่าเฉลี่ย 3.39) ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างยังรู้สึกไม่ปลอดภัยเมื่อต้องพูดคุยเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบกับคนอื่น (ค่าเฉลี่ย 3.35) นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างมีความเห็นว่า วิทยุชุมชนเป็นสื่อที่ทำให้ได้รับความรู้ด้านศาสนามากขึ้น (ค่าเฉลี่ย 3.32) ทำให้คนในชุมชนมีความรู้สึกใกล้ชิดกันมากขึ้น (ค่าเฉลี่ย 3.30) และข้อมูลข่าวสารจากวิทยุชุมชนนั้นเป็นประโยชน์ต่อการประกอบอาชีพและการใช้ชีวิตประจำวัน (ค่าเฉลี่ย 3.27) เป็นที่น่าสังเกตว่า ค่าเฉลี่ยความคิดเห็นต่อบทบาทของวิทยุชุมชนนั้นอยู่ในเกณฑ์ปานกลางซึ่งสาเหตุอาจมาจากการที่สถานีวิทยุชุมชนในพื้นที่ยังไม่สามารถดำเนินการออกอากาศได้เหมือนในอดีต

ในด้านทักษะการรับข้อมูลข่าวสาร กลุ่มตัวอย่างระบุว่าเขามักจะตรวจสอบความถูกต้องของข่าวสารเหตุการณ์ความไม่สงบจากผู้นำชุมชน เช่น โต๊ะอิหม่ามหรือกำนัน ผู้ใหญ่บ้านเสมอ (ค่าเฉลี่ย 3.17) และพึงพอใจที่ได้รับข่าวสารจากสื่อหรือสำนักข่าวออนไลน์ในพื้นที่มากกว่าข่าวสารจากสำนักข่าวส่วนกลาง (ค่าเฉลี่ย 3.14) อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างยังเห็นว่าสื่อท้องถิ่นบางส่วนยังนำเสนอข่าวสารของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง (ค่าเฉลี่ย 3.12) และข่าวสารที่มาจากคนรู้จักมักจะเป็นเรื่องจริง (ค่าเฉลี่ย 3.12) จากข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนมีความคิดเห็นในเชิงวิพากษ์ต่อสื่อท้องถิ่นทั้งประเด็นความสมดุลของข่าวสารและยังให้ความสำคัญกับการสื่อสารผ่านบุคคล

ความเชื่อมั่นต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพ/สันติสุข

ผลการสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างให้คะแนนความสำเร็จในการจัดการปัญหาความไม่สงบฯ ตั้งแต่ปี 2547 – ปัจจุบัน คิดเป็นค่าเฉลี่ย 5.32 จากคะแนนเต็ม 10 ซึ่งถือว่าผ่านกึ่งหนึ่งเพียงเล็กน้อย โดยมีกลุ่มตัวอย่างที่ให้คะแนนผ่าน จำนวนร้อยละ 76 ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างให้คะแนนความพึงพอใจต่อนโยบายและการทำงานของรัฐบาลปัจจุบัน คิดเป็นค่าเฉลี่ย 5.58 โดยมีกลุ่มตัวอย่างจำนวนร้อยละ 80.8 ที่ให้คะแนนเกินครึ่ง

การสำรวจยังพบข้อมูลที่น่าสนใจว่า ความเชื่อมั่นต่อความสำเร็จในกระบวนการพูดคุยสันติภาพ/สันติสุขระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มบุคคลที่มีความเห็นและอุดมการณ์แตกต่างจากรัฐนั้น กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 78.2 ให้คะแนนผ่านเกณฑ์ โดยมีค่าเฉลี่ยคะแนน 5.39 ในขณะที่คะแนนความเชื่อมั่นต่อความต่อเนื่องของกระบวนการพูดคุยสันติภาพ/สันติสุขนั้น กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 78.6 ให้คะแนนความเชื่อมั่นผ่านเกณฑ์โดยมีค่าเฉลี่ยคะแนน 5.51

การรู้เท่าทันสื่อและข่าวสารเป็นปัจจัยสำคัญต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการพูดคุยสันติภาพ/สันติสุข

จากข้อสมมติฐานที่ว่า ยิ่งประชาชนเปิดรับข่าวสารมากย่อมทำให้ประชาชนได้รับข้อมูลข้อเท็จจริงที่หลากหลายมากขึ้น และย่อมเป็นโอกาสที่ประชาชนจะใช้พื้นที่การสื่อสารในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์ข้อมูลข่าวสารที่ได้รับมากขึ้นด้วย ปัจจัยทั้งสองประการนี้จะส่งผลให้เกิดการใช้เหตุใช้ผลในการพิจารณา ตัดสินและกำหนดท่าทีในการสนับสนุนกระบวนการสร้างสันติภาพในที่สุด การศึกษาครั้งนี้จึงได้ทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างระดับความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับบทบาทของสื่อมวลชนและสื่อท้องถิ่นกับระดับคะแนนความเชื่อมั่นต่อการดำเนินการและความต่อเนื่องของกระบวนการพูดคุยสันติภาพ/สันติสุข โดยผลการทดสอบนั้นยืนยันข้อสมมติฐานดังกล่าวอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ กล่าวคือ กลุ่มตัวอย่างที่มีระดับการคิดวิพากษ์บทบาทสื่อมวลชนและสื่อท้องถิ่นมาก จะให้คะแนนความเชื่อมั่นต่อความสำเร็จในกระบวนการพูดคุยสันติภาพ/สันติสุขมาก ในขณะที่กลุ่มที่มีระดับการคิดวิพากษ์บทบาทของสื่อน้อย ก็จะรู้สึกเชื่อมั่นน้อยเช่นเดียวกัน แบบแผนความสัมพันธ์ดังกล่าว เป็นไปในลักษณะเดียวกันกับระดับความพึงพอใจต่อนโยบายและการดำเนินงานของรัฐบาลปัจจุบัน  ความเชื่อมั่นว่ากระบวนการพูดคุยฯจะก่อให้เกิดสันติภาพได้จริงและต่อเนื่อง รวมทั้งความเชื่อมั่นต่อการดำเนินงานของฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายกลุ่มบุคคลที่มีอุดมการณ์แตกต่างจากรัฐ และฝ่ายผู้อำนวยความสะดวก (มาเลเซีย) อาจกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ยิ่งประชาชนสามารถใช้เหตุใช้ผลในการรับรู้ข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์ภาคใต้มากเท่าไร ก็ยิ่งส่งผลให้ความเชื่อมั่นต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพ/สันติสุขมีสูงขึ้นเท่านั้น ดังนั้น สื่อมวลชนและผู้ปฏิบัติงานด้านการสื่อสารในพื้นที่ รวมทั้งรัฐบาล จึงควรให้ความสำคัญต่อคุณภาพของข่าวสารและเปิดพื้นที่การสื่อสารให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น

ข้อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาของประชาชนกับการกำหนดวาระข่าวสารเพื่อสร้างสันติภาพ

ในบรรยากาศของการพูดคุยสันติภาพ/สันติสุขที่กำลังดำเนินอยู่ขณะนี้ เสียงของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยกำหนดทิศทางการพูดคุยและการแสวงหาเป้าหมายร่วมที่พอจะเป็นไปได้ระหว่างคู่เจรจา ผลการสำรวจพบว่า ประเด็นที่ประชาชนเห็นว่าควรดำเนินการหรือมีมาตรการโดยเร่งด่วน 5 อันดับแรกได้แก่ การหลีกเลี่ยงการก่อเหตุความรุนแรงหรือปฏิบัติการที่กระทบต่อผู้บริสุทธิ์ (ค่าเฉลี่ย 4.36 จากคะแนนเต็ม 5) การแก้ไขปัญหายาเสพติด (ค่าเฉลี่ย 4.36) การสร้างเขตพื้นที่ปลอดภัยในชุมชนนำร่อง (ค่าเฉลี่ย 4.11) การปรับปรุงการบังคับใช้กฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและการเยียวยาให้มีความเป็นธรรมและเสมอภาคเท่าเทียม (ค่าเฉลี่ย 3.92) การตั้งกลไกซึ่งประกอบด้วยบุคคลจากหลายฝ่ายในการตรวจสอบข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ความรุนแรงที่สังคมมีความเคลือบแคลงสงสัย (ค่าเฉลี่ย 3.87) และการมีหลักประกันว่ากระบวนการพูดคุยสันติภาพ/สันติสุขจะเป็นวาระแห่งชาติที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง (ค่าเฉลี่ย 3.74)
 
จากข้อเสนอดังกล่าว เมื่อพิจารณาถึงความต้องการข่าวสารของประชาชนที่ได้นำเสนอไปแล้วก่อนหน้านี้ ได้แก่ ความต้องการรับรู้ข่าวสารเกี่ยวกับเหตุการณ์รุนแรงรายวัน การแก้ไขปัญหาสังคมเช่นยาเสพติด แนวทางการแก้ไขปัญหาของรัฐ และข่าวสารเกี่ยวกับการพูดคุยสันติภาพ/สันติสุขนั้น เราจะเห็นได้ว่าความต้องการข่าวสารและข้อเสนอของประชาชนในการสร้างสันติภาพในพื้นที่นี้มีความสอดคล้องกันอย่างชัดเจน ทั้งในเรื่องของการสร้างหลักประกันความปลอดภัยให้แก่ประชาชน การพัฒนาสภาพชีวิตและความเป็นอยู่ กระบวนการยุติธรรม และการมีกลไกตรวจสอบความจริง ดังนั้น วาระข่าวสารที่สื่อมวลชนและสื่อในพื้นที่พึงพิจารณานำเสนอจึงควรเป็นข้อมูล ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับประเด็นเหล่านี้เพื่อเปิดพื้นที่ของการถกเถียง การสร้างความชัดเจนของปมเงื่อนไขความขัดแย้ง และการแสวงหาแนวทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมร่วมกัน
 
การสื่อสารคือกลไกสำคัญในการสร้างสันติภาพ

ผลการสำรวจครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า ช่องทางการสื่อสารในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นมีความหลากหลาย สื่อท้องถิ่น สื่อบุคคลและสื่อใหม่เป็นสื่อที่ประชาชนให้ความสำคัญนอกเหนือจากสื่อมวลชน  เหตุการณ์ความไม่สงบ ปัญหาสังคมและแนวทางการแก้ไขปัญหาเป็นประเด็นข่าวสารที่ประชาชนสนใจติดตาม นอกจากนี้ ประชาชนมีความคาดหวังต่อบทบาทของสื่อมวลชนและสื่อท้องถิ่นในการรายงานสถานการณ์ปัญหาภาคใต้ด้วยข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง หลากหลาย และเป็นธรรม ทั้งนี้ การขยายตัวของการรับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับปัญหาความไม่สงบผ่านสื่อสังคม เช่น เฟสบุ๊คและไลน์ เป็นประเด็นที่น่าจับตามอง เนื่องจากด้วยธรรมชาติของสื่อดังกล่าวเปิดโอกาสให้มีการกระจายข้อมูลข่าวสารทั้งในลักษณะวงกว้างและเป็นกลุ่มเฉพาะ การตรวจสอบข่าวสารและข่าวลือที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งและไม่เป็นผลดีต่อกระบวนการสร้างสันติภาพในสื่อสังคมจึงต้องอาศัยข้อมูลข่าวสารที่หลากหลายและแหล่งข่าวสารที่เชื่อถือได้อื่น ๆ ประกอบ


นอกจากนี้ ผลการศึกษาที่พบเป็นการยืนยันแนวคิดที่ว่า การพูดคุยสันติภาพ (Peace Talk) ไม่ควรจำกัดแค่เพียงระหว่างผู้มีอำนาจที่เป็นคู่ขัดแย้ง แต่ประชาชนจำเป็นต้องมีส่วนร่วมในกระบวนการนี้โดยผ่านช่องทางการสื่อสารรูปแบบต่าง ๆ ดังนั้น การเปิดพื้นที่การสื่อสารจะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อความเชื่อมั่นของประชาชนในการแก้ไขปัญหาด้วยวิถีทางการเมืองและสันติวิธี กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ การสื่อสารที่เป็นธรรมและสมดุลจะช่วยเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้ประชาชนทุกกลุ่ม ทุกฝ่ายสามารถแสดงความคิดเห็น ตัดสินใจและแสดงเจตจำนงทางการเมืองของตนบนพื้นฐานของข้อมูล ข้อเท็จจริง ความรู้และการใช้เหตุผลอันเป็นสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อกระบวนการสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และนั่นจึงเป็นการยืนยันอีกด้วยว่า การพูดคุยเจรจาเพื่อสันติภาพ/สันติสุขนั้นเป็นวิธีการที่มีเหตุมีผลมากกว่าการใช้ความรุนแรงหรือการโฆษณาชวนเชื่อ และส่งผลให้การสร้างสันติภาพในพื้นที่นี้เป็นจริงและยั่งยืน.

หมายเหตุ
1. รายงานฉบับนี้ นำเสนอใน "วันสื่อสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี ครั้งที่ 3 และสมัชชาสันติภาพ 2559" ภายใต้ชื่อ "สันติภาพเดินหน้า : เวทีรายงานสถานการณ์สันติภาพในพื้นที่สาธารณะ" วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2559 ณ ห้องประชุมใหญ่ คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี 
2. รายงานฉบับนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยเรื่อง "การศึกษาสภาพทางสังคมและสถานการณ์ยาเสพติด ภายใต้บริบทการพูดคุยสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้" คณะผู้วิจัยประกอบด้วย ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี, กุสุมา กูใหญ่, สุวรา แก้วนุ้ย, สุธิรัช ชูชื่น, พันธุ์พิพิธ พิพิธพันธุ์ (2559)