วันพฤหัสบดีที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2556

พลังของสื่อใหม่กับการสร้างเครือข่ายสังคมประชาธิปไตย


1 มีนาคม 2555

การสื่อสารกับการสร้างเครือข่ายสังคม 

      สื่อสังคมออนไลน์เป็นรูปแบบการสื่อสารที่รวมเอาคุณสมบัติของการสื่อสาร ปฏิสัมพันธ์ทางสังคม การสร้างเนื้อหาเชิงสร้างสรรค์ และเทคโนโลยีเข้าไว้ด้วยกัน สื่อสังคมออนไลน์มีหลายแหล่งและหลากหลายผู้สร้างช่องทางการสื่อสาร เช่น บล็อก, ไมโครบล็อก, เครือข่ายสังคม (Facebook, LinkedIn, MySpace, MyHeritage), ประเภทมัลติมีเดีย (Flickr, Zooomr,YouTube, Dailymotion, Vimeo, imeem) สื่อสังคมได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการสื่อสารของผู้คนอย่างมาก

      พลังของสื่อใหม่และเครือข่ายสังคมในปัจจุบันก่อให้เกิดการเปลี่ยนรูปของพื้นที่สาธารณะและพลังทางการเมืองรูปแบบใหม่ ทำให้ความเป็นส่วนตัวและความเป็นสาธารณะมีความคลุมเครือและซับซ้อนมากขึ้น การแพร่กระจายของข้อมูลข่าวสารอย่างรวดเร็วและกว้างไกล ทำให้ความคิดเห็นสาธารณะและพลังทางการเมืองมีรูปแบบที่หลากหลาย เป็นพลวัตและขยับเคลื่อนจนบางครั้งเราแทบตามไม่ทัน

      ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นชัดถึงพลังของเครือข่ายสังคมที่ก่อให้เกิดพื้นที่สาธารณะแบบใหม่และการเปลี่ยนแปลงคือ การปฏิวัติประชาธิปไตยในหลายประเทศในตะวันออกกลางและอาฟริกาเหนือ (Arab spring) เช่น ตูนิเซีย อียิปต์ ซีเรียและลิเบีย พลังทางการเมืองที่ต่อต้านผู้นำประเทศที่ครองอำนาจมายาวนาน พัฒนาขึ้นจากการเกิดพื้นที่สาธารณะสมัยใหม่ เช่นสื่อสังคมออนไลน์ การเชื่อมต่อกันด้วยระบบการสื่อสารข้อความ ภาพและเสียงผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ ในขณะเดียวกัน พื้นที่สาธารณะแบบเดิม เช่น ร้านกาแฟ การรวมกลุ่มกิจกรรมทางสังคม ก็ยังคงแสดงบทบาทสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกัน ในแง่ที่ว่า พื้นที่สาธารณะแบบเดิมได้เปิดกว้างและมีความเป็นเสรีมากขึ้น

      นิตยสาร The economist ฉบับวันที่ 17-30 ธันวาคม 2554 ได้ลงบทความ 2 เรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับพลังทางการเมืองและการปฏิวัติในโลกอาหรับ บทความแรกเรื่อง A Riche history : The café at the heart of revolutionary Cairo (ประวัติศาสตร์ Riche ร้านกาแฟใจกลางการปฏิวัติไคโร) ได้นำเสนอเรื่องราวของร้านกาแฟเก่าแก่แห่งหนึ่งในใจกลางกรุงไคโร ใกล้จัตุรัส Tahrir ที่ชื่อ Café Riche ร้านแห่งนี้เป็นศูนย์กลางของการพบปะแลกเปลี่ยนข่าวสารและชุมนุมทางการเมืองของผู้คนมากว่าหนึ่งศตวรรษ ร้านกาแฟคือสถานที่สำหรับผู้เฝ้ามองชีวิตสาธารณะของชาวอียิปต์และยังเป็นประจักษ์พยานของการต่อสู้ของประชาชนในแต่ละช่วงเวลาอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นช่วงของขบวนการต่อต้านอาณานิคมและเรียกร้องเอกราชในต้นศตวรรษที่ 20 การเคลื่อนไหวของกลุ่มแนวคิดมาร์กซิสในช่วงทศวรรษที่ 50-70  จนกระทั่งถึงการเคลื่อนไหวโค่นล้มประธานาธิบดีมูบารักในปี 2011 ที่ผ่านมา  นอกจากประเด็นทางการเมือง ร้านกาแฟ Riche ยังเป็นสถานที่รวมตัวของศิลปิน นักคิดนักเขียนและผู้ชื่นชอบศิลปะและวรรณกรรม ผลงานเขียนของนักเขียนที่มีชื่อเสียงหลายชิ้นเกิดขึ้นที่นี่ เช่น Taha Hussein นักเขียนที่มีชื่อเสียงของวงการวรรณกรรมอาหรับ ได้เริ่มต้นวารสาร Al-Katib Al-Misri ที่ร้านแห่งนี้       

      อย่างไรก็ตาม ในบทความนี้ก็เล่าถึงการเปลี่ยนแปลงและการปรับตัวของพื้นที่สาธารณะแห่งนี้ตามแรงกดดันทางการเมือง โดยเฉพาะในยุคของการควบคุมโดยรัฐบาล Anwar Sadat ระหว่างปี 1970 ร้านกาแฟ Riche จำเป็นต้องลดบทบาททางการเมืองลงเพื่อความอยู่รอด และต้องปิดกิจการลงจากปัญหาภัยธรรมชาติและเศรษฐกิจตกต่ำ จนกระทั่งเมื่อการปฏิวัติอาหรับรอบใหม่เกิดขึ้นในเดือนมกราคม 2011 ร้านกาแฟแห่งนี้ได้กลับมาแสดงบทบาทโดดเด่นอีกครั้งในฐานะพื้นที่สาธารณะที่อยู่ใจกลางของการชุมนุมทางการเมืองและการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมประท้วงกับเจ้าหน้าที่รัฐ ณ จัตุรัส Tahrir  และเมื่อการปฏิวัติสิ้นสุดลง สถานที่แห่งนี้ก็จะยังคงเป็นเวทีทางการเมืองให้ประชาชนได้โต้เถียงกันในประเด็นปัญหา ทิศทาง และอนาคตทางการเมืองที่ยังไม่มั่นคงของอียิปต์ต่อไป 

      อีกพื้นที่หนึ่งที่มีบทบาทไม่น้อยคือสื่อสังคมออนไลน์ เป็นพื้นที่สาธารณะที่รองรับการเติบโตของคนรุ่นใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีและคนหนุ่มสาวที่ตื่นตัวทางการเมือง ในบล็อกต่าง ๆ มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร บทความ งานเขียนทางวิชาการและวรรณกรรมที่กระตุ้นให้คนรุ่นใหม่คิดและมีแรงบันดาลใจในการสร้างสังคมใหม่ที่พวกตนต้องการ สังคมที่โปร่งใส เปิดกว้าง เป็นธรรม และเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีโอกาสเลือกวิถีชีวิตของตนเอง มีการส่งผ่านข้อมูลข่าวสาร ความคิดเห็นและอารมณ์ทางการเมืองผ่านสื่อสังคมเช่น Facebook, Tweeter และหลายครั้งที่นำไปสู่การระดมมวลชนให้ออกมาแสดงพลังทางการเมืองและข้อเรียกร้องในที่สาธารณะ บทความที่สองยังคงสืบเนื่องจากการปฏิวัติอาหรับที่ชื่อ How Luther went viral : Five centuries before Facebook and the Arab spring, social media helped bring about the Reformation[1] (วิธีการแพร่กระจายสารของ Luther  : ห้าศตวรรษก่อนเฟสบุ๊คและการปฏิวัติอาหรับ สื่อสังคมที่นำไปสู่การปฏิรูป) โดยชี้ให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงทางสังคมไม่ได้เกิดจากตัวสื่อโดยตัวมันเอง แต่เกิดจากการที่สื่อนั้นสามารถสร้าง “เครือข่ายทางสังคม” (social network) ที่กว้างขวางและรวดเร็วต่างหาก การเปลี่ยนแปลงสังคมที่มีแรงสนับสนุนจากเครือข่ายสังคมนั้นไม่ใช่สิ่งใหม่อย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่มันเคยเกิดขึ้นเมื่อเกือบ 500 ปีล่วงมาแล้วในเยอรมนี เมื่อมาร์ติน ลูเธอร์ (Martin Luther) และพันธมิตรของเขาใช้สื่อ เช่น แผ่นพับ บทร้องและภาพแกะสลักไม้ ในการเผยแพร่ข้อความวิจารณ์พฤติกรรมของบาทหลวง Johann Tatzel และการแสวงผลประโยชน์ของศาสนจักรตามโครงการจัดสร้างวิหารเซนต์ปีเตอร์ในกรุงโรม

         การปฏิรูปคริสตศาสนาที่เป็นที่มาของการแยกตัวออกเป็นนิกายโปเตสแตนท์ เริ่มต้นขึ้นเมื่อมาร์ติน ลูเธอร์ นำเสนอข้อเขียนของเขาที่ชื่อว่า “95 Theses on the Power and Efficacy of Indulgences” (95 บทวิเคราะห์เกี่ยวกับอำนาจและประสิทธิภาพของการไถ่บาป) เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ค.ศ. 1517 กลไกสำคัญของการเคลื่อนไหวต่อต้านนี้ไม่ใช่อยู่ที่ตัวสื่อสิ่งพิมพ์โดยตัวของมันเอง แต่เป็นระบบของการสื่อสารที่ขยายออกไปและก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในเครือข่ายทางสังคม ที่เราเรียกว่า “social media” ในปัจจุบัน


มาร์ติน ลูเธอร์ เผยแพร่คำประกาศ “95 Theses” หน้าประตูที่ Wittenburg 
(ที่มา : http://writing-journey.com/internet-writing/toward-reformation-bridging-the-great-divide-between-print-and-internet-writing)

      ลักษณะพิเศษของสื่อรณรงค์ของลูเธอร์ก็คือ การใช้ถ้อยคำสั้น ๆ ในภาษาท้องถิ่น (ภาษาเยอรมัน) ที่เข้าถึงชาวบ้านอย่างแพร่หลายแทนการสื่อสารด้วยภาษาลาตินที่เป็นภาษาของผู้มีการศึกษาเท่านั้น  การใช้ภาพลายเส้นประกอบการพิมพ์ การใช้ภาษาที่กระชับ เข้าใจง่าย ทำให้เกิดการนำข้อความรณรงค์ไปทำเป็นเนื้อเพลงร้องของบทเพลงพื้นบ้านตามทำนองที่ชาวบ้านคุ้นเคย เพื่อให้ข้อความรณรงค์ติดหูและเข้าถึงผู้คนมากขึ้น รวมทั้งการคัดลอกข้อความรณรงค์ งานเขียนของลูเธอร์และแนวร่วม โดยการสนับสนุนจากกลุ่มเพื่อนสนิทและพันธมิตรของเขา การคัดลอกกันอย่างเสรี (แบบตามกำลังศรัทธาหรือแบบร่วมด้วยช่วยกัน) และการบอกต่อปากต่อปากของผู้สนับสนุนแนวทางของลูเธอร์ ทำให้ความคิดได้แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วในเยอรมันและยุโรป  แผ่นพับที่เขียนในภาษาเยอรมันชิ้นแรกที่ชื่อ « Sermon on Indulgences and Grace » ถูกตีพิมพ์ซ้ำถึง 14 ครั้งในปี 1518 เพียงปีเดียว และเพิ่มจำนวนสำเนาขึ้นเป็นอย่างน้อย 1,000 ฉบับในแต่ละครั้งของการพิมพ์ ระหว่างปี 1520 – 1526 มีการตีพิมพ์แผ่นพับในเยอรมันมากถึง 6,000 ฉบับ ซึ่งในจำนวนนั้น มีเพียง 1,700 ฉบับเท่านั้นที่เป็นฉบับที่ลูเธอร์ผลิตเอง  และในช่วงทศวรรษแรกของการปฏิรูป มีการพิมพ์เผยแพร่กว่า 6-7 ล้านฉบับและมากกว่าฉบับที่ลูเธอร์ผลิตถึงหนึ่งในสี่  การแพร่กระจายของสื่อสิ่งพิมพ์ในยุคนี้ นักวิชาการด้านการสื่อสารเปรียบว่าเหมือนกับที่ในปัจจุบันที่เรามีการกด “แบ่งปัน” หรือ “share” ข่าวสารเพื่อส่งต่อ หรือกด “ชอบ” หรือ “like” เมื่อต้องการแสดงออกว่าสนับสนุนความคิดนั้นใน Facebook หรือการ “tweet” ข้อความต่อกันไปใน Twitter

      เหล่านักวิชาการได้ถกเถียงกันถึงความสำคัญของสื่อสิ่งพิมพ์ การสื่อสารปากต่อปาก และรูปภาพในขบวนการสนับสนุนการปฏิรูปคริสตศาสนาของประชาชน บางคนกล่าวว่านับเป็นชัยชนะของสื่อสิ่งพิมพ์ นักประวัติศาสตร์หลายคนให้ความสนใจกับบทบาทของสื่อในฐานะที่เป็นวิธีการส่งสัญญาณข้อเรียกร้องทางสังคมและการสร้างแนวร่วมของความเห็นสาธารณะในการปฏิรูป

      แต่ไม่ใช่เพียงแค่การสื่อสารผ่านถ้อยคำผ่านเครือข่ายสังคมของการปฏิรูปคริสตศาสนาเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการเผยแพร่สารผ่านดนตรีและภาพด้วย ผู้เขียนบทความเปรียบว่า เป็นรูปแบบของการรณรงค์รูปแบบทั้งภาพและเสียงดังที่ปัจจุบันนี้เราคุ้นเคยกับการสื่อสารที่เรียกว่า Multimedia campaign การรณรงค์ผ่านบทเพลงและการตีพิมพ์เผยแพร่เนื้อร้องเป็นรูปแบบของสื่อใหม่ที่เข้าถึงผู้รับสารได้ง่ายและสามารถส่งต่อได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ภาพแกะสลักจากไม้ก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของสื่อที่รวมคุณลักษณะของภาพกราฟฟิกกับข้อความเข้าไว้ด้วยกัน เป็นสื่อที่ทำให้ผู้คนสามารถรับสารได้ด้วยตา ดังที่ลูเธอร์ได้กล่าวไว้ว่า “หากไม่มีภาพ เราก็ไม่สามารถคิดหรือเข้าใจอะไรได้เลย”


« The Origin of the Monks » แสดงความหมายเสียดสีที่มาของนักบวชที่น่ารังเกียจ
โดย Lucas Cranach เพื่อนของลูเธอร์


      บริบทของสื่อที่ลูเธอร์ใช้ มีความคล้ายคลึงกับระบบการสื่อสารในยุคปัจจุบัน เช่น blogs การเกิดเครือข่ายสังคม และการถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์ สำหรับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในโลกอาหรับ  ระบอบอำนาจนิยมถูกทำลายโดยประชาชนที่ไม่เห็นด้วย  โดยมีเครือข่ายสังคม (ทั้งออนไลน์และแบบดั้งเดิม) หนุนเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วม กระแสความไม่พอใจผู้นำถูกแบ่งปันและขยายวงออกไปอย่างต่อเนื่องในเครือข่ายสังคม ที่เรียกว่า “กลไกของการส่งสัญญาณร่วมในทางการเมือง” (collective signalling mechanism) ก่อให้เกิดแรงผลักดันไปสู่ปฏิกิริยาทางการเมืองในรูปแบบอื่นต่อไป สิ่งที่เกิดขึ้นเหมือนๆกันในการปฏิรูปทางการเมืองระหว่างตัวอย่างของลูเธอร์กับการปฏิวัติในโลกอาหรับก็คือ การก่อตัวของเครือข่ายสังคมจากการสื่อสาร หรือเครือข่ายของสาธารณะ (networked public) ยิ่งในสังคมสมัยใหม่ที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมากขึ้น สังคมก็มีแนวโน้มที่จะเชื่อมถึงกันได้มากขึ้นและรวดเร็วขึ้นด้วย    

      เราอาจกล่าวได้ว่า เครือข่ายสังคมไม่ว่าจะในอดีตหรือปัจจุบัน มีจุดร่วมเดียวกันคือ การมีแพร่กระจายข่าวสาร การแบ่งปันข้อมูล การอภิปรายถกเถียง สร้างแรงบันดาลใจ และการเกิดความรู้สึกร่วม อันเป็นพลังในการขับเคลื่อน เปลี่ยนแปลงสังคมต่อไป ประวัติศาสตร์ของการขับเคลื่อนทางการเมืองและการเปลี่ยนแปลงสังคมผ่านการสื่อสารบอกให้เรารู้ว่า ระบบเครือข่ายสังคมในปัจจุบันไม่ใช่เพียงเชื่อมเราเข้าไว้ด้วยกันเท่านั้น แต่เชื่อมโยงเรากับอดีตไว้ด้วยกันด้วย


[1] สามารถอ่านบทความนี้ได้ที่ http://kaplak.net/2011/12/25/social-media-in-the-16th-century-economist/

วันอาทิตย์ที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2556

Gov. 2.0/ E-democracy : สังคมประชาธิปไตยในยุคไซเบอร์


30 กรกฎาคม 2554

E-government, Open Government, Open Data, E-democracy, Gov. 2.0 ช่วงนี้มีคำศัพท์ใหม่ ๆ ผุดขึ้นมามากมายราวกับดอกเห็ด ในหลายประเทศ มีการเตรียมการ ถกเถียง วิพากษ์วิจารณ์ถึงหลักคิดและความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติที่จะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารทางราชการและนโยบายสาธารณะมากขึ้น นอกจากเพื่อให้รัฐบาลทันและพร้อมต่อโลกเทคโนโลยีสมัยใหม่ (ยิ่งกว่า) และกระแสความต้องการมีส่วนร่วมของประชาชนที่มากขึ้นแล้ว ปรากฏการณ์ "แฉ" ระดับโลกผ่าน Wikileaks หรือ Hackers ต่าง ๆ ยิ่งเป็นตัวกระตุ้นให้รัฐบาลของหลายประเทศต้องปรับตัว

หลักคิดของ E-democracy ก็คือ สังคมประชาธิปไตยที่มีความโปร่งใสโดยใช้เทคโนโลยีเป็นตัวช่วย (หากให้ความสำคัญไปที่ตัวเทคโนโลยี บางคนอาจใช้คำว่า Gov.2.0) ความโปร่งใสในการบริหารงานของรัฐบาล เสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนและการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของสาธารณะในการตัดสินใจเชิงนโยบาย ในประเด็นสำคัญ ๆ ที่รัฐบาลไม่ใช่เพียงผู้มีอำนาจในคิด ตัดสินใจเพียงฝ่ายเดียว  

อีกสองคำที่เป็นส่วนขยายของ E-democracy ซึ่งสะท้อนแนวคิดและความเป็นไปได้ที่จะไปให้ถึงเป้าหมายปลายทางของแนวคิดนั้น ๆ ก็คือ "Open Government" กับ "Open Data" ความแตกต่างของสองคำนี้อยู่ตรงที่ว่าจะมองจากฝ่ายไหน หากเป็น e-democracy จากมุมของรัฐบาล คือการเปิดเผยข้อมูลบางส่วน (เท่าที่จำเป็น) ให้ประชาชนเข้าถึงทางเว็บไซต์ของหน่วยงานราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง (= Open Gov.) แต่หากเป็นในมุมของประชาชนแล้ว นั่นคือการเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลที่เป็นเรื่องของสาธารณะในระบบอินเทอร์เน็ตได้ง่ายและสะดวกขึ้น (= Open Data) ความแตกต่างจึงน่าจะอยู่ที่ระดับชั้นข้อมูลที่สามารถเข้าถึง แหล่งและวิธีการเผยแพร่ข้อมูล อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องระดับของการเข้าถึงที่เหมาะสม ยังคงเป็นเรื่องถกเถียงในแต่ละประเทศ แม้แต่ในสหรัฐอเมริกาที่ขณะนี้จะมีเว็บไซต์ในชื่อ www.data.gov หรือในอังกฤษที่ชื่อ www.data.gov.uk ก็ตาม 

ข้อมูลจากการศึกษาระดับของการเปิดเผยและการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารราชการในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกปี 2511 (OCDE) แสดงให้เห็นว่า ใช่ว่า e-democracy จะสามารถทำได้เฉพาะแต่ในประเทศที่เรียกว่ามีประชาธิปไตยเข้มแข็ง ประเทศประชาธิปไตยใหม่อย่างรัสเซีย เอสทัวเนีย หรือเม็กซิโก ระดับของการเปิดข้อมูลข่าวสารราชการก็โดดเด่นแซงหน้าหลายประเทศ แม้แต่อเมริกา อังกฤษและฝรั่งเศส (จากการจัดอันดับขององค์กรอิสระเพื่อการวิจัยการบริหารราชการและนโยบายสาธารณะของฝรั่งเศส La Fondation pour la Recherche sur les Administrations et les Politiques Publiques) 

การสำรวจครั้งนี้ ใช้เกณฑ์การประเมิน ได้แก่ 
-       เอกสารที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณ
-       รายงานประจำปีของกระทรวงต่างๆ รวมถึงบัญชีรายจ่าย
-       รายงานการควบคุมระบบบัญชี
-       รายงานเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะทั้งหมด
-       สัญญาการค้าบางอย่างที่สามารเปิดเผยได้
-       บัญชีข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐรวมทั้งเงินเดือน ค่าจ้าง
-       รายละเอียดเกี่ยวกับระบบการบันทึกข้อมูล เนื้อหาและการใช้ระบบ
-       ข้อมูลเกี่ยวกับระบบภายในหน่วยงาน คู่มือ ระเบียบ ข้อบังคับ กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ของราชการ
-       รายละเอียดเกี่ยวกับโครงสร้างการบริหารงานและการปฏิบัติงานของหน่วยงานของรัฐ
-       รายงานประจำปีเกี่ยวกับกฎหมายเรื่องเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร
-       ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการที่เกี่ยวกับเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร 

หากพิจารณาเนื้อหาประเด็นการวัดเหล่านี้ ก็ไม่ได้หมายความว่า รัฐบาลจะต้องเปิดเผยทั้งหมดจึงถือเป็นสิ่งดี เพียงแต่แต่ละสังคมจะต้องหาจุดที่เหมาะสมว่าอะไรคือสิ่งที่ประชาชนควรรู้และจำเป็นต้องรู้ คนที่จะตอบคำถามนี้ไม่ใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ต้องเห็นพ้องกันทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายประชาชน 

ส่วนประเทศไทย ไม่พบการจัดอันดับในรายงานนี้ แต่พบว่ามีประเทศในแถบเอเชียที่ถูกจัดอันดับอยู่ใน 31 อันดับ คือ ประเทศเกาหลีใต้ อันดับ 5 และญี่ปุ่น อันดับ 19 (สันนิษฐานว่าถ้าไม่ตกสำรวจก็อาจจะไม่สามารถจัดอันดับได้กระมัง)

อ้างอิงจาก

หลายเรื่อง หลายประเด็นทางนโยบาย หลายมูลเหตุของปัญหา หลายข้อฉงนสนเท่ห์ของสาธารณะ เรากลับไม่ได้รับคำตอบหรือไม่รู้ว่าจะไปหาคำตอบได้จากที่ไหน แม้ว่าขณะนี้ เราจะมี พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ หรือมีเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ (สขร.) ก็ตาม (http://www.oic.go.th) แต่ก็ยังประสบปัญหาเรื่องการได้รับความร่วมมือหรืออำนวยความสะดวก ระเบียบขั้นตอน และข้อมูลจำกัด (ที่มีไม่ต้องการ แต่ที่ต้องการกลับไม่มี)  

เราทำได้แต่เพียงรอฟังว่าสื่อมวลชนจะรายงานว่าอย่างไร ซึ่งก็ไม่พ้นคำพูดจากผู้บริหารประเทศ นักการเมือง ข้าราชการ ที่บางครั้งดูเหมือนแก้ตัวหรือซื้อเวลา หรือไม่ก็ต้องรอฟังการ "แฉ" กันในสภา ซึ่งหลายคนยังตั้งข้อสงสัยว่าจะเชื่อใคร เชื่อได้หรือไม่ การไปถึงขั้น Open data ออกจะยากสักหน่อย

ผู้กุมข้อมูลหรือความลับ คือผู้มีอำนาจ คำกล่าวนี้เป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไป แต่หากเรายังคงอยู่ในสังคมแห่งความลับ อำพราง คลุมเครือ มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเหมือนให้อำนาจกับคนหรือกลุ่มที่กุมความลับหรือฉวยโอกาสจากความคลุมเครือมากเท่านั้น

สังเกตว่าข่าวสารการเมืองไทยช่วงนี้ เราจะมีเรื่องสงสัยใคร่รู้หลายเรื่องอยู่เหมือนกัน

วันศุกร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2556

กระบวนการสร้างอัตลักษณ์ : มุมมองจิตวิเคราะห์และสังคมศาสตร์

17 กุมภาพันธ์ 2556


“การมองเห็นและยอมรับคนอื่น นำไปสู่การสร้างอัตลักษณ์ของตัวเอง” - Hegel


ประเด็นเรื่องอัตลักษณ์ถือเป็นแกนกลางหนึ่งของการศึกษาสังคมพหุวัฒนธรรม เนื่องจากวัฒนธรรมคือวิถีชีวิต คือระบบความสัมพันธ์ วัฒนธรรมจึงเป็น “รูปธรรม”ของอัตลักษณ์หรือตัวตนของสังคมนั้น ๆ ด้วย หากแนวคิดเรื่องสังคมแบบพหุคือการยอมรับความแตกต่างหลากหลายของผู้คนในสังคม นั่นก็หมายความถึงการยอมรับในอัตลักษณ์ของปัจเจก ของชุมชนหรือของสังคมนั้น ๆ เช่นกัน อัตลักษณ์มีความหมายหลากหลายมิติ ในที่นี้จะนำเสนอนิยามและมุมมองโดยสังเขปของนักวิชาการบางท่านเกี่ยวกับอัตลักษณ์และความสัมพันธ์ระหว่างอัตลักษณ์กับสังคมและการสื่อสาร   

อัตลักษณ์ (Identity) เป็นคุณสมบัติเฉพาะของบุคคลหรือวัตถุที่ทำให้คนนั้นหรือสิ่งนั้นโดดเด่นหรือแตกต่างจากสิ่งอื่น (Collins Dictionary, 1996) สำหรับอัตลักษณ์ของบุคคล คำนี้อาจหมายรวมถึงมิติ“ภายใน”ของความเป็นตัวเราทั้งในด้านอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด และแนวคิดเกี่ยวกับตัวเองหรือการรู้จักตัวเอง (Self-concept) รวมทั้ง สำนึกถึง“ความเป็นปัจเจก” ที่บุคคลเชื่อมต่อและสัมพันธ์กับสังคม อัตลักษณ์จึงเป็นสิ่งที่ทำให้รู้ว่า “เราคือใคร” และ “เราจะดำเนินความสัมพันธ์กับคนอื่น ตลอดจนโลกภายนอกที่แวดล้อมตัวเราอย่างไร”

ในขณะที่อัตลักษณ์เป็นมุมมองที่เรามีต่อตัวเอง อัตลักษณ์ก็เป็นตัวกำหนดมุมมองและคุณค่าที่มีต่อสิ่งอื่นหรือคนอื่นไปด้วยพร้อม ๆ กัน เพราะโดยส่วนใหญ่แล้ว คนเราจะสร้างอัตลักษณ์ของตัวเองขึ้นมาจากโลกทัศน์เรื่อง “ความแตกต่าง” โดยการจำแนกแยกแยะ การเปรียบเทียบ และการประเมินค่า ดังนั้น อัตลักษณ์จึงเป็นตัวกำหนดว่า “ใครคือพวกเรา ใครเหมือนเรา และใคร/อะไรที่แตกต่างจากเรา” จนสุดท้ายก็จะนำไปสู่การมองว่า “ใครไม่เหมือนเรา ใครคือพวกเขา ใครคือคนอื่น” 

สิ่งเหล่านี้เป็นประสบการณ์เกี่ยวกับตัวเองและนำไปสู่การมีประสบการณ์เกี่ยวกับคนอื่นที่มีหลากหลายรูปแบบและไม่มีเนื้อหาเดียว แบบเดียวตายตัว ยิ่งในสังคมแบบประชาธิปไตยที่ยอมรับคุณค่าของความเป็นมนุษย์และเคารพในศักดิ์ศรีความเท่าเทียมกันของมนุษย์ด้วยแล้ว อัตลักษณ์แบบสังคมประชาธิปไตยย่อมมีความซับซ้อนและหลายแง่มุม เราจึงไม่สามารถกำหนด คาดการณ์หรือควบคุมอัตลักษณ์ของผู้คนในสังคมประชาธิปไตยเป็นแบบเดียว ตายตัว และเหมือนกันหมดได้

กระบวนการสร้างอัตลักษณ์ : เราเป็น “ตัวเรา” ได้อย่างไร ?

มนุษย์รู้จักตัวเองได้เพราะมนุษย์มี “ภาษา” ภาษาเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างตัวตนและวัฒนธรรมของมนุษย์ เรารับรู้สรรพสิ่งในโลกทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรมได้ก็เพราะภาษา เราให้ชื่อแก่มัน เช่น ต้นไม้ ทุ่งหญ้า นก ดิน ฟ้า พ่อ-แม่ สวย อัปลักษณ์ ดี-เลว เป็นต้น แม้แต่มนุษย์ก็ต้องมีชื่อเพื่อให้คนอื่นเรียก ชื่อเป็นวัฒนธรรมที่เรากำหนดขึ้นเพื่อให้รู้ว่า “มีเรา” พร้อม ๆ กับ “มีคนอื่น” ชื่อทำให้เรารู้ว่าเราแตกต่างจากคนอื่นตั้งแต่ในระดับครอบครัว ชุมชนและสังคม ชื่อทำให้เราตระหนักถึงตัวตนที่เฉพาะตัว (“ฉันไม่เหมือนและไม่ใช่คนอื่น”) นั่นคือการสร้างอัตลักษณ์ของบุคคล

นอกจากชื่อแล้ว เรายังมี “นามสกุล” เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าเราสืบทอดเชื้อสายจากใคร เป็นคนในครอบครัวนี้ (ไม่ใช่ครอบครัวอื่น) วงศ์ตระกูลที่มีนามสกุลเป็นเครื่องบ่งชี้สมาชิกเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างอัตลักษณ์ของกลุ่ม 

ในแต่ละวัฒนธรรมก็กำหนดรูปแบบการบ่งชี้สมาชิกในวงศ์ตระกูลแตกต่างกันไป เช่น ในยุโรป ธรรมเนียมการใช้ชื่อสกุลเริ่มปรากฏตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ 10 พร้อม ๆ กับการเกิดโรงเรียนอันเป็นการจัดระบบการศึกษาแบบใหม่ในยุคนั้น เมื่อมีเด็กนักเรียนจำนวนมากและมีชื่อซ้ำกัน จึงจำเป็นต้องมีตัวบ่งชี้เด็กนักเรียนแต่ละคน จึงเกิดธรรมเนียมการใช้ชื่อบิดาหรือชื่อหมู่บ้าน หรือสถานที่สำคัญในชุมชนเป็นชื่อสกุลนับแต่นั้นมา และมีอิทธิพลต่อธรรมเนียมการตั้งชื่อของไทยเมื่อไม่ถึงร้อยปีมานี้เอง สังคมไทยในอดีต เครื่องหมายรู้อัตลักษณ์บุคคลมักจะนิยมใช้ชื่อมารดาเป็นตัวบ่งชี้ หรือในวัฒนธรรมการตั้งชื่อของชาวอาหรับและมลายู ธรรมเนียมการตั้งนามสกุลก็จะใช้ชื่อของบิดา ปู่ หรือทวดเป็นคำเรียกหมายเพื่อบ่งชี้ว่าบุคคลนั้นเป็นลูกใคร อยู่ในตระกูลใด เป็นต้น


ในทางจิตวิเคราะห์ การสร้างอัตลักษณ์บุคคลนั้นเกิดขึ้นนับตั้งแต่วินาทีที่มนุษย์เริ่มหายใจได้ด้วยตนเองเพราะนั่นหมายถึงทารกคนนั้นเป็นอิสระจากมารดาแล้ว อย่างน้อยที่สุดก็คืออิสระจากการใช้ลมหายใจร่วมกับมารดามาตลอด 9 เดือน ต่อมาในวัยเด็ก เรารับรู้โลกด้วยวิธีคิดแบบเทียบเคียง กล่าวคือ การรับรู้หรือสัมผัสสรรพสิ่งรอบตัวแล้วเรียนรู้ว่า สิ่งนั้นสิ่งนี้ “คือ......” เช่น ผู้หญิงคนนี้คือแม่ของฉัน นมคืออาหาร สัตว์สี่ขาหางยาวขนปุยคือเพื่อนของฉัน แต่เมื่อเราเริ่มโตขึ้น เราเรียนรู้ภาษาและระบบสัญลักษณ์อื่น ๆ มากขึ้น เรารับรู้โลกผ่านการมองเชิงเปรียบเทียบและให้คุณค่า เราเริ่มคิดว่า สิ่งนั้นสิ่งนี้ “เหมือน.....” เช่น ขนมนี้รสชาติอร่อยเหมือนกับขนมอีกอันหนึ่งที่ฉันเคยกิน แม่ของฉันไม่เหมือนแม่ของคนอื่น เป็นต้น การเปรียบเทียบความเหมือนและความต่างเริ่มซับซ้อนและเป็นสัญลักษณ์มากขึ้นเมื่อเราเข้าสู่สังคมที่ใหญ่ขึ้นและความสัมพันธ์ทางสังคมมีความซับซ้อนมากขึ้น

ที่กล่าวมาข้างต้น เป็นแนวคิดของนักจิตวิทยาและจิตวิเคราะห์ที่ชื่อ Jacques Lacan ลาก็องได้เสนอแบบจำลองการสร้างอัตลักษณ์ที่เรียกว่า The Mirror Stage (การสร้างอัตลักษณ์จากการมองตนเองในกระจก)  กล่าวคือ ในวัยทารก เรายังไม่รู้จักว่าตัวเองคือใคร เรายังไม่สามารถแยกตัวเองออกจากแม่ได้ เรายังรู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของแม่ แต่เมื่อเติบโตขึ้นถึงวัยเรียนรู้ เมื่อเราเห็นตัวเองในกระจกเงา เราเริ่มเรียนรู้ความเหมือนความต่างและตระหนักแล้วว่าเด็กในกระจก “นั่นไง!! นั่นคือตัวฉันเอง” และเมื่อเราเห็นแม่ในกระจก เราก็ได้เรียนรู้อีกครั้งว่านี่คือ “ผู้หญิงที่เขาเคยเห็นและคุ้นเคย” ซึ่งแตกต่างจากคนที่เขาเพิ่งรู้จักใหม่ซึ่งก็คือ “ตัวของเขาเอง” 

ดังนั้น ในกระบวนการนี้ เรารู้จักตัวเองจากการมองว่าคนอื่นนั้นแตกต่างจากเรา เราเริ่มหลุดพ้นออกจากการเป็นหนึ่งเดียวกับแม่ของเราอีกครั้ง ณ จุดนี้ ตัวตนของเราค่อย ๆ เริ่มก่อตัวขึ้น อัตลักษณ์ของเราเริ่มชัดเจนขึ้น เราได้ตระหนักถึงตัวตนของเราใน 2 ลักษณะคือ ตัวตนภายใน (ฉัน) และตัวตนในกระจก (ภาพตัวแทนของฉัน) เราเริ่มตระหนักถึงระยะห่างระหว่างตัวเราทั้งสองแบบนี้ และในที่สุด เราก็หลุดออกจากตัวตนภายในที่แต่เดิมเราเคยคิดว่ามันมีเพียงหนึ่งเดียว 


The Mirror Stage (Jacques Lacan)




กลไกอุดมการณ์กับการสร้างอัตลักษณ์ 

นอกจากการเรียนรู้โลกภายนอกด้วยการเห็นความเหมือนและความต่างอันนำไปสู่กระบวนการสร้างอัตลักษณ์ของปัจเจกบุคคลแล้ว อุดมการณ์ก็เป็นกลไกหนึ่งที่ประดิษฐ์สร้างอัตลักษณ์ทางสังคมให้กับบุคคลด้วย “อุดมการณ์” (Ideology) 

ตามแนวคิดของคาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) และฟรีดิช เองเกลส์ (Friedrich Engels) นักปรัชญาเยอรมัน ในหนังสือ The German Ideology (อุดมการณ์เยอรมัน) ระหว่างปี 1845-1846 เสนอว่า อุดมการณ์เกิดจากการแลกเปลี่ยนทางสังคมอันมีลักษณะหลากหลาย ซึ่งสอดคล้องกับรูปแบบหลักของการเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตในยุคนั้น ๆ เช่น จากสังคมระบบชนเผ่า มาสู่ชุมชน ระบบฟิวดัล มาจนถึงระบบทุนนิยมในปัจจุบัน มีรูปแบบการแลกเปลี่ยนทางสังคมที่แตกต่างกัน และทำให้รูปแบบกรรมสิทธิ์แตกต่างกันไปด้วย อุดมการณ์เข้ามาทำหน้าที่ให้ความชอบธรรมแก่การปกครองของชนชั้นปกครองของแต่ละยุคเพื่อให้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์และอำนาจ 


มาร์กซ์และเองเกลส์ชี้ว่า ภายใต้ระบบฟิวดัล เราได้ยินคำอย่างเช่น “เกียรติ” และ “ความจงรักภักดี” อยู่บ่อย ๆ แต่เมื่อถึงยุคทุนนิยม คำเช่น “เสรีภาพ” และ “ความเสมอภาค” ก็เข้ามาแทนที่อย่างรวดเร็วเพื่อทำให้ผลประโยชน์ของกลุ่มคนที่มีอำนาจกลายเป็นค่านิยมร่วมของทุกกลุ่มในสังคม ชนชั้นปกครองจำเป็นต้องอธิบายโลกทัศน์ของตนในฐานะที่เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และทำให้คนอื่นเชื่อว่าอุดมการณ์เหล่านี้เป็นทางเลือกสำคัญประการเดียวที่มีอยู่และเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผลและถูกต้อง (แคทเธอลีน เบลซีย์, อภิญญา เฟื่องฟูสกุล-แปล, 2549 : 46-48)

จากแนวคิดดังกล่าว หลุยส์ อัลตูแซร์ (Louis Althusser) ศาสตราจารย์ทางปรัชญาและนักสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศสได้ขยายความโดยสนใจไปที่ “กลไกอุดมการณ์” อัลตูแซร์อธิบายว่า “อุดมการณ์คือระบบของภาพตัวแทนที่ทำหน้าที่กำหนดความสัมพันธ์ที่แท้จริงของเรากับของคนอื่นๆในสังคม ด้วยการประดิษฐ์สร้างความสัมพันธ์เชิงจินตนาการระหว่างผู้คนด้วยกันเองและระหว่างผู้คนกับสังคม ดังนั้น อุดมการณ์จึงเป็นการรับรู้ที่บิดเบือนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ที่แท้จริงทางสังคม” สำหรับอัลตูแซร์แล้ว เขามองว่าปรากฏการณ์ทางสังคมทั้งมวลนั้นถูกควบคุมโดยอุดมการณ์ผ่านกลไกการกดทับหรือควบคุม (the repressive state apparatus) เช่น ตำรวจ และกลไกเชิงอุดมการณ์ (the ideological state apparatus) เช่น สื่อสารมวลชน (Jørgensen and Philips, 2002 :15)

กลไกเชิงอุดมการณ์นี้อัลตูแซร์ยังอธิบายอีกว่า เมื่อเราเข้าสู่ระบบความสัมพันธ์ในโครงสร้างทางสังคม  เราจะถูก “เรียกร้อง” (appellation) ให้เป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ (ที่เรียกว่าอัตตบุคคล-subject) ตามโครงสร้างนั้นผ่านภาษา เช่น การบอกว่าเราเป็นคนไทย/คนจีน เป็นนายู/ซีแย เป็นเสื้อเหลือง-เสื้อแดง-สลิ่ม ฯลฯ หน้าที่ของอุดมการณ์ในระดับบุคคลคือการเรียกหรือติดฉลากให้บุคคล “กลายเป็น” เช่นนั้นเช่นนี้ โดยขึ้นต่อสถาบันทางสังคมที่อยู่เหนือเราขึ้นไป (ในที่นี้หมายถึงสถาบันทางสังคมที่กำหนดแบบแผนความคิดของเราหรือที่ครอบงำเราอยู่) เช่น สถาบันการศึกษา สถาบันวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถาบันชาติ สถาบันสื่อมวลชน วงการวรรณกรรม วงการศิลปะ ฯลฯ 

ในสังคมจะมีการผลิตและผลิตซ้ำความหมายบางอย่างที่โน้มน้าวเราให้คิดว่าเราควรจะสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมที่เป็นจริงรอบตัวเราอย่างไร และเมื่อเราถูกเรียกหรือติดฉลากให้เป็นเช่นนั้นแล้ว เราก็จะต้องคิดและแสดงบทบาทให้สอดคล้องกับฉลากนั้น ตัวอย่างเช่น คำกล่าวที่ว่า “งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข” เป็นความหมายที่แฝงไว้ด้วยอุดมการณ์แบบทุนนิยม ทุกคนมีหน้าที่ต้องทำงาน และผลงานที่ดีนำมาซึ่งทรัพย์สินเงินทอง เงินทองก็นำมาซึ่งความสุข

อีกตัวอย่างหนึ่งคือข้อมูลข่าวสารสาธารณะเกี่ยวกับสุขภาพในยุคสมัยใหม่ที่เรียกร้องให้ผู้รับสารเป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบต่อตัวเอง ดูแลสุขภาพตัวเองด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การดูแลความสะอาด การไม่ดื่มสุราหรือสูบบุหรี่ การคุมกำเนิด รวมไปถึงค่านิยมการบริโภคอาหารสุขภาพ การฟิตซ้อมร่างกายให้แข็งแรงและมีรูปร่างดี เป็นต้น ข่าวสารสุขภาพเหล่านี้สะท้อนถึงอุดมการณ์ในการควบคุมพฤติกรรมการบริโภคของปัจเจกบุคคล ทำให้ปัจเจกบุคคลต้องแสดงความรับผิดชอบส่วนตัวในการรักษาสุขภาพแทนที่จะมองว่าเป็นความรับผิดชอบร่วมของสังคมในการแก้ปัญหา  ตัวอย่างเช่น การมองว่าปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนหรือปัญหาอาชญากรรมมีสาเหตุมาจากการดื่มสุราของปัจเจกบุคคลมากกว่าจะมองว่าเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างหรือปัญหาทางเศรษฐกิจสังคม 

เมื่อเราวิเคราะห์เนื้อหาและวิธีการนำเสนอสารในโฆษณารณรงค์การไม่ดื่มสุราหลายครั้งในสื่อมวลชน เราก็มักพบว่ามีการแสดงภาพตัวแทนของกลุ่มผู้ใช้แรงงานยากจนหรือกลุ่มวัยรุ่นเกเรที่ดื่มสุราจนเมามายจนเป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุหรือก่ออาชญากรรมและรวมไปถึงความรุนแรงในครอบครัว ปัญหาอุบัติเหตุหรืออาชญากรรมถูกทำให้มองว่าเป็นปัญหาที่เกิดจากพฤติกรรมของปัจเจกบุคคลและเป็นปัญหาของคนบางกลุ่ม บางชนชั้น โดยที่อาจทำให้สาธารณชนละเลยที่จะมองถึงปัญหาที่กว้างและซับซ้อนกว่านั้น เช่น ปัญหาความยากจน ปัญหาการด้อยโอกาสในสังคม ปัญหาความเหลื่อมล้ำ หรือปัญหาความเครียดในการใช้ชีวิตที่ต้องดิ้นรน เป็นต้น

ดังนั้น อุดมการณ์ในความหมายของอัลตูแซร์ คือ ภาพตัวแทนของความสัมพันธ์ในเชิงจินตภาพของบุคคลที่มีต่อสิ่งต่าง ๆ จินตนาการทำให้เราเชื่อว่ามัน “จริง” (real) ทำให้เราเชื่อว่า “มันต้องเป็นเช่นนั้นอยู่แล้ว มันเป็นสัจธรรม มันเป็นธรรมชาติ มันเป็นสากล” (ทั้ง ๆ ที่มันเป็นสิ่งที่สังคมประดิษฐ์สร้างขึ้นมา) 

อย่างไรก็ตาม การทำงานของกระบวนการเรียกร้อง (appellation) ของอัลตูแซร์ ไม่ได้อยู่ในระดับผิวเผิน แต่ถูกปลูกฝังอยู่ในระดับจิตใต้สำนึก (subconscious) และจิตไร้สำนึก (unconscious) เลยทีเดียว เช่น การปลูกฝังอุดมการณ์ชาตินิยม การปลูกฟังวัฒนธรรมแบบอำนาจนิยม หรือการปลูกฝังความกลัวบางอย่าง เช่น กลัวคอมมิวนิสต์ กลัวเสียเอกราช เป็นต้น 


เนื่องจากจิตไร้สำนึกเป็นระบบสัญญะที่ไม่ได้เกิดจากการสร้างสรรค์ที่เป็นอิสระของปัจเจกบุคคลแต่มีลักษณะร่วมกันทางสังคม จิตไร้สำนึกถูกนำมาใช้ในการศึกษาวัฒนธรรมเชิงจิตวิเคราะห์ เช่น การพูดพลั้งปาก การตีความความฝัน ช่วยให้เราเข้าใจความหมาย ความรู้สึกนึกคิดของบุคคลหรือแม้แต่สังคมที่ฝังอยู่เบื้องลึก ช่วยให้เราเข้าใจถึงอุดมการณ์ที่คอยกำกับความคิด การกระทำและการแสดงออกของอัตลักษณ์ของเรา  

คำถามที่ท้าทายให้เราได้คิดคือ หากพิจารณาแนวคิดของอัลตูแซร์ สถาบันสื่อมวลชนมีอิทธิพลอย่างไรในการสร้างอัตลักษณ์ของเราและสังคมของเรา? สื่อมวลชนเรียกร้องให้ผู้คนสร้างอัตลักษณ์ของกลุ่มขึ้นมาได้อย่างไร? ในทางกลับกัน บุคคลได้ใช้สื่อมวลชนสร้างอัตลักษณ์ของตนเองขึ้นมาอย่างไร? สื่อเลือกนำเสนออัตลักษณ์หรือภาพตัวแทนของแต่ละกลุ่มคนในสังคมอย่างไร?

แนวคิดของอัลตูแซร์ถูกนำมาใช้ในการศึกษาบทบาทของสื่อมวลชนในกระบวนการสร้างความเป็นตัวตนหรืออัตลักษณ์ของบุคคล เพราะในขณะที่เราบริโภคสารจากสื่อมวลชน เรากำลังมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวเรากับเนื้อหา (อุดมการณ์) ในสื่อ และมีปฏิสัมพันธ์ภายในตัวเราด้วย เช่นกรณีเกิดคำถามในใจเมื่อรับสารจากสื่อมวลชนว่า ถ้าเป็นเรา เราจะทำอย่างไร กระบวนการนี้เป็นการสร้างอัตลักษณ์หรือตอกย้ำอัตลักษณ์เดิมของเรานั่นเอง

อัตลักษณ์ : การแสดงออกอำนาจเชิงสัญลักษณ์

ในขณะที่มาร์กซ์และอัลตูแซร์มุ่งเน้นวิพากษ์โครงสร้างทางสังคม ปิแยร์ บูร์ดิเยอ (Pierre Bourdieu) กลับมองว่าการพยายามอธิบายสังคมโดยมุ่งหาแต่โครงสร้างสากล ลดทอนการกระทำให้เป็นเพียงผลของตัวแบบทางทฤษฎี และมองว่าผู้กระทำในสังคมเป็นเพียงหุ่นเชิดที่มีโครงสร้างเป็นเชือกชักนั้นไม่สามารถอธิบายเหตุผลอันแท้จริงของการกระทำทางสังคมรวมทั้งอัตลักษณ์ด้วยได้ แต่ยังมีวิธีการอธิบายในแบบอื่นที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกันนั่นก็คือ “ระบบความสัมพันธ์และอำนาจเชิงสัญลักษณ์ที่มีส่วนในการกำหนดการกระทำหรือปรากฏการณ์ทางสังคม” 

บูร์ดิเยอได้เสนอแนวคิดเรื่องโครงสร้างในแบบที่ต่างออกไป ตรงที่ “โครงสร้างนั้นเป็นทั้งผู้กำหนดและผู้ถูกกำหนด” กล่าวคือ ในสังคมมีโครงสร้างที่กำหนดความรู้สึกนึกคิดและการกระทำของปัจเจกบุคคล (habitus หรือที่ชนิดา เสงี่ยมไพศาลสุขใช้คำว่า “นิจภาพ”) ซึ่งเป็นผลิตผลของกระบวนการหล่อหลอมทางสังคมตั้งแต่ช่วงแรก ๆ ของชีวิต ด้วยการปลูกฝังเรื่องต่าง ๆ เช่น เงื่อนไขทางสังคม กฎระเบียบ ความเชื่อ ค่านิยม ความรู้ ความคิด ความเชื่อ ฯลฯ ให้ซึมซับไปในร่างกายและจิตใจของบุคคล โครงสร้างดังกล่าวกำหนดขอบเขตของการกระทำและสร้างชุดการรับรู้และประเมินคุณค่าที่สอดคล้องกับโครงสร้างนั้น แล้วแสดงออกในรูปของการปฏิบัติในชีวิตประจำวันที่สม่ำเสมอ (ที่เรียกว่าการผลิตซ้ำ - reproduction) โครงสร้างจึงถูกประกอบสร้าง (constructed) ด้วยการปฏิบัติต่าง ๆ ที่ถูกกำหนดมาก่อนด้วยนิจภาพ (habitus) และถูกกำหนดด้วยโครงสร้างที่อยู่ภายนอกอีกทีหนึ่ง (ชนิดา เสงี่ยมไพศาลสุข, 2550 :74, 85-95) 

“โครงสร้างที่เป็นทั้งผู้กำหนดและผู้ถูกกำหนด” นี้เป็นที่มาของการครอบครอง “ทุน” (capital) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ทุนทางสัญลักษณ์” และแน่นอนว่าผู้ที่ครอบครองทุนทางสัญลักษณ์ก็ย่อมเป็นผู้ที่มี “อำนาจเชิงสัญลักษณ์” (symbolic power)[1] ด้วย

แนวคิดเรื่องอำนาจเชิงสัญลักษณ์ของบูร์ดิเยอนำมาใช้อธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกบุคคลและและความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันทางสังคม ความสัมพันธ์นี้มีส่วนในการกำหนดอัตลักษณ์ของบุคคลและสังคมในมิติที่แตกต่างออกไป 

ดังที่กล่าวมาข้างต้นว่า บูร์ดิเยอสนใจศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจเชิงสัญลักษณ์กับการผลิตทางวัฒนธรรม รวมทั้งการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจของผู้กระทำ (agent) ในสนามทางสังคม (Field) ในแง่นี้ เขาได้ศึกษาถึงพฤติกรรมการบริโภคในสังคมยุคปัจจุบันที่ผูกโยงกับโครงสร้างทางสังคมและวัฒนธรรม (Bourdieu, 1984) กล่าวคือ เรากิน เราเที่ยว เราสนุกในแบบที่สังคมกำหนดไว้แล้ว โครงสร้างทางสังคมอันได้แก่โครงสร้างทางเศรษฐกิจ (ฐานะร่ำรวย-ยากจน) และโครงสร้างทางสังคม (สถานภาพทางสังคม เช่น เป็นชนชั้นสูง แพทย์ นักธุรกิจ นักวิชาการ วิศวกร กรรมกร เกษตรกร ฯลฯ) ได้กำหนดวิถีการบริโภคให้กับเรา และนั่นนำไปสู่การกำหนดรูปแบบการใช้ชีวิต ตัวตน และอัตลักษณ์ของบุคคลที่แตกต่างกันออกไปตามโครงสร้างนั้น 


กล่าวอีกแง่หนึ่ง หากเราต้องการให้คนอื่นมองเห็นว่าเราเป็นคนในชนชั้นไหน ฐานะเป็นอย่างไร อยู่ในโครงสร้างส่วนไหนของสังคม เราก็ต้องพยายามแสดงออกให้คนอื่นเห็นด้วยสัญลักษณ์ที่เป็นตัวแทนของชนชั้นนั้น ๆ เช่น การใช้สินค้าแบรนด์เนม การใช้อุปกรณ์การสื่อสารรุ่นใหม่ล่าสุด การอ่านหนังสือแฟชั่นหรือหนังสือวิชาการ การฟังเพลงคลาสสิคหรือเพลงลูกทุ่ง ฯลฯ การแสดงออกของบุคคลจึงถูกประกอบสร้างตามฐานะทางสังคม ชนชั้น ต้นทุนทางวัฒนธรรมหรือต้นทุนทางสัญลักษณ์ที่คนคนนั้นครอบครองอยู่

จากแนวคิดของบูร์ดิเยอ เขาได้จำแนกบุคคลตามการแสดงออก ไม่ว่าจะเป็นรสนิยมการบริโภค การแสดงออกในชีวิตประจำวัน ความคิด ค่านิยม ที่เรียกว่า “Habitus” หรือนิจภาพซึ่ง จำแนกคนตามต้นทุนหลัก 2 ประเภทคือ ทุนทางเศรษฐกิจ และทุนทางวัฒนธรรม กล่าวคือ คนเราย่อมมีทั้งทุนทางเศรษฐกิจ ได้แก่ ฐานะทางเศรษฐกิจ ความร่ำรวย-ยากจน และทุนทางวัฒนธรรม ได้แก่ ภูมิปัญญาความรู้ บารมี ความน่าเชื่อถือ รสนิยมทางศิลปะ (ชั้นสูง-ชั้นล่าง) มากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป บูร์ดิเยอวิเคราะห์ว่า ในโครงสร้างทางสังคมนั้น ต้นทุนทางวัฒนธรรมกระจายตัวออกไปสู่ชนชั้นต่างๆอย่างไม่เท่ากัน ชนชั้นที่มีต้นทุนทางเศรษฐกิจเหนือกว่าก็มีโอกาสที่จะสะสมทุนทางวัฒนธรรมได้มากกว่า เช่น คนรวยมีโอกาสได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัย มีการศึกษาสูงมากกว่าคนยากจน (อาจเพราะมีเงินเรียนกวดวิชาหรือไม่ต้องแบ่งเวลาไปทำงานเลี้ยงปากท้อง) คนรวยสามารถเข้าถึงวัฒนธรรมชั้นสูงหรือวิจิตรบรรจงได้ง่ายกว่า ในสังคมสมัยใหม่เราจะเห็นสภาพการต่อสู้ระหว่างคนที่ครอบครองทุนทั้งสองประเภทนี้อยู่ตลอดเวลา การต่อสู้ระหว่างชนชั้นล่างกับชนชั้นสูงมีทั้งในรูปของการต่อสู้ด้านเศรษฐกิจและการต่อสู้ด้านวัฒนธรรม

หากเราวิเคราะห์การแสดงบทบาทของบุคคลในชีวิตประจำวันหรือการวิเคราะห์สารในสื่อมวลชน เราก็จะพบว่ามีการต่อสู้เชิงอัตลักษณ์ของปัจเจกบุคคลและกลุ่มคนตลอดเวลา ตัวอย่างเช่น การปรากฏตัวของกลุ่มเพศที่สามในสื่อมวลชนที่มากขึ้นกว่าแต่ก่อน ทั้งในละคร ภาพยนตร์ รายการเกมโชว์หรือโฆษณา แสดงให้เห็นถึงพยายามแสดงออกถึงอัตลักษณ์ของเพศที่สามในพื้นที่สาธารณะ เป็นการปรากฏตัวในฐานะที่เป็นสมาชิกของสังคมและมีบทบาทสำคัญ

แต่บางครั้งเราก็พบว่าอัตลักษณ์ของบุคคลก็สามารถปรับเปลี่ยนได้ ทั้งนี้เนื่องจากวิถีการบริโภคของบุคคลที่อิงอยู่กับทุนทางวัฒนธรรมและทุนทางเศรษฐกิจมีการปรับตัว ตัวอย่างเช่น กรณีค่ายเพลงไทยสากลหลายค่ายหันมาทำเพลงลูกทุ่งหมอลำกันมากขึ้น แต่ปรับโฉมให้ทันสมัยเป็นสากล ก็เป็นการเคลื่อนจากทุนทางวัฒนธรรมหนึ่งไปหาทุนทางเศรษฐกิจมากขึ้นเนื่องจากผู้ผลิตเล็งเห็นแล้วว่าตลาดของคนฟังเพลงลูกทุ่งนั้นใหญ่กว่า และในที่สุดแนวเพลงลูกทุ่งหมอลำที่ดูทันสมัยก็จะกลายเป็นทุนทางวัฒนธรรมอีกแบบหนึ่งที่ประสานกันได้กับทุนทางเศรษฐกิจ และอาจทำให้หลาย ๆ คนไม่ตะขิดตะขวงใจหากจะหาเพลงลูกทุ่งหมอลำแนวสากลมาฟัง ดังนั้น รสนิยมและอัตลักษณ์จึงเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดโดยโครงสร้างและเป็นผู้กำหนดโครงสร้างได้เช่นกัน

บทส่งท้าย

แนวคิดของนักปรัชญา นักจิตวิเคราะห์และนักสังคมศาสตร์ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น สามารถนำมาใช้เป็นแนวทางเพื่อทำความเข้าใจถึงสาเหตุของความแตกต่างหลากหลายของอัตลักษณ์ ช่วยทำให้เราเห็นถึงความซับซ้อนของอัตลักษณ์ของบุคคลและอัตลักษณ์ของกลุ่มที่เชื่อมโยงกับสังคมและวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อสังคมมีลักษณะเป็นพหุวัฒนธรรมด้วยแล้ว ยิ่งทำให้เห็นได้ว่าอัตลักษณ์นั้นมีลักษณะที่พลวัตและปรับตัวตลอดเวลาตามสภาพแวดล้อมและเงื่อนไขทางสังคม คนคนหนึ่งอาจแสดงออกอัตลักษณ์ของตนแบบหนึ่งเฉพาะในสถานการณ์หนึ่ง แต่เมื่อเปลี่ยนที่ เปลี่ยนเวลาและเปลี่ยนคู่สื่อสารก็อาจแสดงออกอัตลักษณ์อีกแบบหนึ่งได้ ดังนั้น“อัตลักษณ์จึงไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นลอยๆ และไม่มีแบบฉบับตายตัว”   

คำถามที่ตามมาคือ หากอัตลักษณ์ของบุคคลหรือกลุ่มมีลักษณะเป็นพลวัต แล้วอะไรคือปัจจัยที่ทำให้เกิดพลวัตนั้น ? คำตอบนั้นมีหลากหลายไม่ว่าจะเป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและระหว่างกลุ่ม โครงสร้างทางชนชั้นทางสังคมและอุดมการณ์  แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นย่อมต้องอาศัย“การสื่อสาร”ผ่านภาษา ระบบสัญลักษณ์ ช่องทางการสื่อสารเป็นตัวขับเคลื่อน เพื่อจัดรูปแบบความสัมพันธ์ทางสังคมให้เป็นไปตามโครงสร้างเหล่านั้น

อัตลักษณ์ในพื้นที่การสื่อสารและพื้นที่สาธารณะนั้นมีความซับซ้อนเนื่องจากมันเกี่ยวโยงกับความสัมพันธ์ระหว่างตัวเอง (subject) กับ “คนอื่น” และความผูกพันต่อตัวเองกับโครงสร้างเชิงสถาบันที่ทำให้ปัจเจกบุคคลเข้ามาเชื่อมต่อและผูกพัน(engagement)กับสังคม ตัวอย่างเช่นความรู้สึกถึงความเป็นพลเมือง เป็นต้น ความสัมพันธ์ดังกล่าวจึงจำเป็นต้องอาศัยการสื่อสารในฐานะที่เป็น “กระจกสะท้อนทางสังคม” (social mirror) (Lamizet, 2002: 43-46) 

 กล่าวโดยสรุปก็คือ อัตลักษณ์เป็นการแสดงออกถึงความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกกับสังคม เป็นเสมือนกระจกที่สะท้อนซึ่งกันและกันระหว่างความเป็นการเมืองกับความเป็นจริงที่ปัจเจกสรุปได้จากการผูกพันตัวเองกับสังคม นี่คือเหตุผลที่อธิบายว่าทำไมอัตลักษณ์ของปัจเจกบุคคลจึงมีทั้ง “มิติอัตลักษณ์เดี่ยว”และ “มิติอัตลักษณ์ร่วม”ที่เกี่ยวพัน เชื่อมโยงและปะทะกันในสังคมตลอดเวลา ยิ่งสังคมที่มีความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมด้วยแล้ว ระดับของการปะทะสังสันท์ระหว่างอัตลักษณ์ทั้งสองมิตินี้จะยิ่งเข้มข้นขึ้น หรือบ่อยครั้งก็อาจนำไปสู่ความอ่อนไหวของความขัดแย้ง

เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งเชิงอัตลักษณ์ทั้งในลักษณะความขัดแย้งภายในตัวของปัจเจกบุคคลเองและความขัดแย้งระหว่างบุคคลที่มีอัตลักษณ์แตกต่างกัน จำเป็นอย่างยิ่งที่สังคมแบบพหุวัฒนธรรมนั้นจะต้องมีพื้นที่ร่วม (collective space) ที่ยอมรับในความแตกต่างของอัตลักษณ์ของบุคคลในสังคม และต้องเป็นพื้นที่กลางที่เปิดโอกาสให้อัตลักษณ์ที่แตกต่างนั้นสามารถแลกเปลี่ยนแบ่งปันซึ่งกันและกันได้อย่างเท่าเทียม ซึ่งก็หมายถึงพื้นที่ของการสื่อสารนั่นเอง.


รายการอ้างอิง 
-  แคทเธอลีน เบลซีย์. 2549. หลังโครงสร้างนิยม ฉบับย่อ. อภิญญา เฟื่องฟูสกุล, แปล. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์กรมหาชน).
-  ปิแยร์ บูร์ดิเยอ. 2550. เศรษฐกิจของทรัพย์สินเชิงสัญลักษณ์. ชนิดา เสงี่ยมไพศาลสุข, แปล. กรุงเทพฯ : โครงการจัดพิมพ์คบไฟ.
-  Bourdieu, Pierre. 1984. Distinction: A Social Critique of the Judgment of Taste. Haward University Press.
-  Chauviré, Christine et Fontaine Olivier. 2003. Le vocabulaire de Bourdieu. Paris : Ellipses.
-  Jørgensen, Marianne and Philips, Louise. 2002. Discourse Analysis as Theory and Method. London: SAGE Publications.
-  Lamizet, Bernad. 2002. Politique et identité. Lyon : Presses Universitaires de Lyon.



[1] อำนาจเชิงสัญลักษณ์ เป็นระบบความสัมพันธ์ของคนในสังคมที่แสดงออกมาในเชิงสัญลักษณ์เช่น สถานภาพ ถ้อยคำภาษา อากัปกิริยาท่าทาง การกระทำ การรับรู้กันในใจ ที่สืบเนื่องมาจากทุนทางสัญลักษณ์ (symbolic capital) เช่น ชื่อเสียงเกียรติยศ ยศฐาบรรดาศักดิ์ พละกำลัง บุญบารมี วีรกรรม ฯลฯ เราจะรับรู้ถึงทุนทางสัญลักษณ์ได้นั้น ต้องอาศัยการตีความในหมู่สมาชิกของสังคมที่มีระบบคุณค่าหรือวัฒนธรรมเดียวกัน ต้องอาศัยการยินยอมพร้อมใจและให้ความชอบธรรม (legitimacy) แก่สิ่งนั้น ชนิดา เสงี่ยมไพศาลสุข (2550 : 82-83) อธิบายว่า ในแนวคิดของบูร์ดิเยอ สิ่งที่ทำให้กลุ่มคนบางกลุ่มมี “บารมี” ได้เป็นผลจากการมีทุนทางสัญลักษณ์ ซึ่งมิได้เกิดขึ้นเอง แต่ต้องอาศัยการแฝงฝังระบบโน้มเอียงต่าง ๆ ที่สอดคล้องลงไปในตัวผู้กระทำ (บุคคล) โดยผ่านกระบวนการขัดเกลาทางสังคมตั้งแต่วัยเยาว์ (...) ทุนทางสัญลักษณ์เป็นที่มาของการครอบงำเช่นเดียวกับทุนทางเศรษฐกิจ เป็นการเอารัดเอาเปรียบแบบที่ฝ่ายที่อยู่ภายใต้การครอบงำไม่ได้ตระหนักว่าถูกครอบงำ 

ก้าวพ้นมุมมองแบบดราม่าในสถานการณ์ความขัดแย้ง

1 เมษายน 2556

          ชีวิตจริงของเรามักดำเนินไปตามกรอบการรับรู้ข้อมูลข่าวสารแบบเรื่องเล่าแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะผ่านการพบปะสนทนากับผู้คน กิจกรรมทางสังคมและการบริโภคข่าวสารจากสื่อมวลชน ธรรมชาติของเรื่องเล่าจะมีโครงสร้างการดำเนินเรื่องแบบละคร (the dramatic construction) ด้วยการเกริ่นนำเรื่อง การเกิดปมความขัดแย้งในเรื่อง จุดพลิกผันเหตุการณ์ที่เร้าอารมณ์ และความต่อเนื่องของเหตุการณ์ย่อย ๆ ที่นำพาไปสู่การคลี่คลายปมอันเป็นจุดจบของเรื่อง เรื่องเล่าจะดำเนินไปไม่ได้เลยหากขาดปมความขัดแย้งที่ชักนำไปสู่การกระทำของตัวละคร เห็นได้จากในขนบการเล่าเรื่องที่มักมีปมความขัดแย้งพื้นฐานของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นความรัก ความชัง ความอิจฉาริษยา ความโลภ โกรธ หลง หรือโชคชะตา ปมความขัดแย้งเหล่านี้จะคลี่คลายไม่ได้หากขาดตัวละครในเรื่องที่ต้องสวมบทบาทในฐานะเป็นผู้กระทำ ผู้ถูกกระทำและผู้ต่อต้านการกระทำตามแต่ปมของเรื่องเล่าจะผูกไว้เช่นไร

          การดำเนินเรื่องแบบละครหรือดราม่าถูกนำมาใช้ในการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของบุคคลในสถานการณ์ความขัดแย้ง บทความหนึ่งที่น่าสนใจชื่อว่า Conflict Drama : Victim, Villain or Hero ? ของ Gary Harper (2003) ได้วิเคราะห์สถานการณ์ที่บุคคลมักตกอยู่ในกับดักของความเป็นละคร ซึ่งประกอบด้วยมุมมอง 3 ส่วนหลักคือ มุมมองในฐานะเหยื่อ, ผู้ร้าย และวีรบุรุษ ที่เรียกว่า สามเหลี่ยมดราม่า (The Drama Triangle)  เราสามารถเห็นองค์ประกอบเหล่านี้ได้อย่างชัดเจนในเทพนิยายที่มักมีตัวละครหลักสวมบทบาทเป็นตัวแทนของความดีงาม ความชั่วร้าย และผู้ได้รับผลกระทบ ในเรื่องเล่ามักมีการใช้เทคนิคการวางตัวละครตามมุมมองทั้งสามนี้เพื่อดึงดูดความสนใจและสร้างอารมณ์ร่วมแก่ผู้รับสาร และบ่อยครั้งที่พบว่าเรื่องราวที่แสดงอารมณ์มักถูกขยายความรู้สึกร่วมจนเกินไปจากความเป็นจริง



          ในวัฒนธรรมการละครอันสืบเนื่องมาจากยุกกรีกโบราณ โรงละครเป็นพื้นที่สาธารณะที่ผู้คนมาพบปะกันและขณะที่ผู้ชมรับรู้เรื่องราวผ่านคำพูดและการกระทำของตัวละคร ก็ให้เกิดปฏิสัมพันธ์อันซับซ้อนระหว่างผู้ชมกับผู้เล่าเรื่อง ผู้ชมกับตัวละคร ผู้ชมกับผู้ชมด้วยกัน รวมทั้งแม้แต่ผู้ชมกับตัวเอง ในมุมมองการสื่อสาร เรื่องเล่าจึงเป็นพื้นที่การสื่อสารอันหลากหลายทั้งในมิติของเวลาและสถานที่ และในมิติของความเป็นตัวตน (subjectivity) 

          การวิเคราะห์เรื่องเล่าจะช่วยทำให้เราเข้าใจมุมมองของผู้เล่าเรื่องที่หลากหลายในฐานะผู้มอง ผู้เฝ้าดู ผู้กระทำหรือผู้ตัดสินจากเรื่องราวที่เล่า ในทางกลับกัน เมื่อพิจารณาในมุมของผู้รับสาร ในขณะที่ฟังเรื่องเล่านั้น ผู้รับสารก็มักจะวางตัวเองอยู่ในบทบาทใดบทบาทหนึ่งในเรื่องซึ่งจะส่งผลให้ผู้รับสารมีกรอบการมองเหตุการณ์และมีอารมณ์ร่วมแตกต่างกันไป ตัวอย่างเช่น เมื่อบุคคลตกอยู่ในสถานการณ์ความขัดแย้ง (ไม่ว่าจะในตัวบทเรื่องเล่าหรือในชีวิตจริงก็ตาม) บุคคลนั้นก็มักวางตัวเองในกรอบการมองปัญหาแบบใดแบบหนึ่งตามลักษณะตัวละครทั้งสามในเรื่องเล่า 


เหยื่อผู้อาภัพและบริสุทธิ์ ตัวอิจฉาที่ชั่วร้าย และวีรบุรุษผู้กล้าและเสียสละ ทั้ง 3 ตัวละครนี้เราพบเห็นอยู่ทุกวันไม่ว่าจะเป็นข่าวในหนังสือพิมพ์หรือละครโทรทัศน์ ความเป็นดราม่าอยู่รายรอบตัวเราจนดูเหมือนเราจะคุ้นชินกับมัน บ่อยครั้งที่เราเห็นตัวเองอยู่ในบทบาทของเหยื่อที่ไร้อำนาจและบริสุทธิ์ในขณะที่เราอ่านข่าวอาชญากรรมหรือข่าวเหตุการณ์รุนแรง แต่บางครั้งเราอาจสวมบทบาทเป็นวีรบุรุษและยอมรับที่จะใช้ชีวิตอยู่ในความขัดแย้งเพื่อเอาชนะด้วยความเชื่อมั่นในความดีงามและความยุติธรรม หรือบางครั้งเราก็อาจสวมบทบาทเป็นตัวอิจฉาเพื่อแสดงความโกรธและฉุนเฉียวคนอื่น แต่ละบทบาทเหล่านี้ Harper วิเคราะห์ว่า “มันทำให้เกิดมุมมองที่จำกัดเกี่ยวกับความขัดแย้ง ในสถานการณ์ความขัดแย้ง ผู้คนมักพูดว่าพวกเขา “ติดกับ” ถูกผลักให้จนมุม อันที่จริงแล้วพวกเขาไม่ได้ติดกับดักของความขัดแย้ง แต่พวกเขาติดกับดับของสามองค์ประกอบของความเป็นดราม่ามากกว่า”




    


        

The Drama Triangle (Harper, 2003)     

          ในสถานการณ์ความขัดแย้ง เมื่อเราเห็นตัวเองเป็นเหยื่อหรือวีรบุรุษ เราก็จะสร้างศัตรูที่เป็นผู้ร้ายโดยอัตโนมัติ แต่เมื่อเราสร้างบทบาทผู้ร้ายให้แก่ใคร ในทางกลับกัน เขาก็จะรู้สึกว่าตัวเขาตกเป็นเหยื่อของเราและเห็นเราเป็นศัตรูด้วยเช่นกัน ดังนั้น จะเกิดปฏิกิริยาต่อต้านเพื่อปกป้องตัวเองของอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งดูเหมือนว่าเป็นการตอบโต้โจมตีเรา หรือแสดงให้เห็นว่าเราไม่สามารถทำให้เขาไว้ใจได้อีกต่อไป ในที่สุดสามเหลี่ยมดราม่าและบทบาทที่เชื่อมต่อกันนี้จะทำให้เราเกิดทัศนคติอย่างหนึ่งโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้ กล่าวคือต้องมี “ผู้ชนะ” และ “ผู้แพ้” ในความขัดแย้ง และในเมื่อไม่มีใครอยากแพ้ก็จะมีการตอบโต้เอาคืนอย่างไม่รู้จบ กลายเป็นวงจรของการแก้แค้นในที่สุด

ความเป็นดราม่าในสื่อมวลชน

เรื่องเล่าในมุมมองแบบดราม่านี้ถูกนำมาใช้ในการวิเคราะห์การนำเสนอข่าวสารในสื่อมวลชนและวิพากษ์วิจารณ์ถึงบทบาทของสื่อมวลชนกันอย่างกว้างขวาง  สื่อมวลชนถูกเรียกร้องให้หลีกเลี่ยงการนำเสนอข่าวสารที่มีความเป็นดราม่า และยิ่งต้องตระหนักอย่างจริงจังเมื่อต้องนำเสนอข่าวสารในสถานการณ์ความขัดแย้ง คำถามก็คืออะไรคือความเป็นดราม่าในสื่อ ? และสื่อมวลชนควรแสดงบทบาทอย่างไร ?

ความเข้าใจโดยทั่วไป ความเป็นดราม่าคือรูปแบบการนำเสนอเรื่องราวหรือสารที่เน้นสร้างความสนใจและเร้าอารมณ์ของผู้รับสาร หากเป็นสถานการณ์การสื่อสารโดยทั่วไป เป็นธรรมดาที่ผู้ส่งสารย่อมมีเจตนาที่จะดึงความสนใจและสร้างการยอมรับของผู้รับสาร แต่การนำเสนอแบบดราม่าไม่ควรนำมาใช้กับการนำเสนอข่าวสารในสื่อมวลชน เนื่องจากการรายงานข่าวอยู่ภายใต้กรอบพันธะสัญญาระหว่างผู้ส่งสารและผู้รับสารในเรื่องของ “ข้อเท็จจริง” (fact) และ “ความเป็นจริง” (reality)[1] ดังนั้น การทำให้ข้อมูลข่าวสารมี ความเป็นดราม่าจึงถือเป็นการบิดเบือน (manipulation) ข้อมูลข่าวสารแบบหนึ่ง (Charaudeau, 2011 : 219)  

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองแบบวาทกรรมวิเคราะห์กลับเห็นว่า เหตุการณ์ที่เราคิดว่า“จริง”ตามที่ปรากฏในสื่อมวลชนนั้น มันเป็นเพียงเหตุการณ์ของสื่อมวลชน (media event) ที่ไม่อาจเป็นแทนที่เหตุการณ์จริงได้ทั้งหมด เหตุการณ์ของสื่อมวลชนอาจใกล้เคียงหรือห่างไกลความเป็นจริงที่เกิดขึ้นภายนอกพื้นที่สื่อก็ได้ เนื่องจากมันเป็นผลรวมของข้อมูลข่าวสารที่ถูกประกอบสร้างขึ้น ผ่านหลักการเลือกสรร การจัดลำดับความสำคัญ การจัดระบบตามกลไกลการทำงานของโต๊ะข่าวและตามกรอบทัศนะของนักข่าว บรรณาธิการ และฝ่ายต่างๆในองค์กรสื่อ เหตุการณ์ของสื่อมวลชนสะท้อนถึงการตัดสินใจของสื่อว่าข้อมูลข่าวสารอะไรควรนำเสนอและนำเสนออย่างไร (หรือกล่าวอีกแง่หนึ่งคือ เรื่องราวอะไรที่สาธารณะควรรู้และไม่ควรรู้)  ในที่สุด ข้อมูลข่าวสารที่ถูกจัดการแล้วจะเปลี่ยนสถานะกลายเป็นเหตุการณ์ก็ต่อเมื่อมันถูกรับรู้และถูกตีความโดยสาธารณะ[2]

เหตุการณ์ของสื่อมวลชนสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทก็คือ ประเภทแรกคือ เหตุการณ์ที่ถูกรายงานโดยสื่อ (Reported event) เป็นการประกอบสร้างพื้นที่ให้กับประเด็นข่าว ได้แก่ การกระทำและคำพูดที่ถูกรายงานโดยผู้สื่อข่าว ทั้งสองส่วนนี้จะถูกนำเสนอผ่านเทคนิคการเล่าเรื่อง การบรรยาย และการอธิบาย รวมทั้งปฏิกิริยาตอบสนองจากสาธารณะต่อข่าวสารนั้น การเลือกประเด็นข่าวและแหล่งข่าว การเลือกใช้ภาษาที่เร้าอารมณ์ การจัดวางลำดับของเหตุและผล รวมทั้งการเลือกวิธีการนำเสนอด้วยเทคนิคของภาพและเสียงต่าง ๆ มุมมองแบบดราม่าอาจเข้ามามีอิทธิพลในกระบวนการเหล่านี้  

ประเภทที่สอง เหตุการณ์ที่ถูกให้ความเห็น (Commented Event) คือการสร้างพื้นที่ข่าวสารเกี่ยวกับประเด็นปัญหาที่สืบเนื่องจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ประเด็นปัญหาที่สื่อมวลชนชูขึ้นมานี้จะมาในรูปแบบของการวิเคราะห์วิจารณ์บนฐานของข้อมูลเชิงประจักษ์ ข้อมูลมีความหลากหลายและเปิดกว้างให้มีการตรวจสอบได้  แต่ความเป็นดราม่าจะเกิดขึ้นหากข้อมูลข่าวสารแฝงด้วยอคติ อารมณ์ความรู้สึกส่วนตัวของผู้สื่อข่าวหรือแหล่งข่าว

และประเภทสุดท้ายคือ เหตุการณ์ที่ถูกทำให้เป็นวาระ (Provoked Event) เป็นการสร้างพื้นที่ของการถกเถียงในสื่อมวลชน เช่น การแสดงความคิดเห็นในเวทีอภิปราย การสัมภาษณ์ในรายการสนทนา การโต้เถียงวิพากษ์วิจารณ์ในคอลัมน์หนังสือพิมพ์ พื้นที่ของความคิดเห็นและถกเถียงนี้ได้กระตุ้นให้เกิดความสนใจของสาธารณะ เกิดเป็นกระแสหรือวาระทางสังคม และได้กลายเป็นเหตุการณ์ในตัวมันเอง เช่น การพูดคุยถึงแนวทางการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยกระบวนการพูดคุยสันติภาพ สื่อมวลชนมีบทบาทสำคัญในการจัดวาระข่าวสารในเรื่องนี้ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาด้านการเมืองการปกครอง การอำนวยความยุติธรรม และการยอมรับในอัตลักษณ์ของชาวมลายูมุสลิม เหตุการณ์ประเภทหลังนี้เปิดโอกาสให้มีความเป็นดราม่าน้อยกว่าเหตุการณ์สองประเภทข้างต้น เนื่องจากเป็นเวทีของการวิพากษ์วิจารณ์และการตรวจสอบ ส่วนจะเข้มข้นมากน้อยแค่ไหนนั้นขึ้นอยู่กับข้อมูล ความคิดเห็นที่หลากหลายในสื่อ

ทั้งสามประเภทเหตุการณ์ของสื่อมวลชนนี้มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงและสนับสนุนซึ่งกันและกันจนกลายเป็นปฏิบัติการทางวาทกรรมของสื่อมวลชน ไม่ว่าจะเป็นการรายงานข่าวในสื่อโทรทัศน์หรือหน้าหนังสือพิมพ์ล้วนแล้วแต่ประกอบไปด้วยข่าว บทความ คอลัมน์ รายการพิเศษ ฯลฯ ที่มีประเด็นข่าวและความหมายของเหตุการณ์ในข่าวที่สอดประสานกัน [3] การทำให้ข่าวสารกลายเป็นดราม่า (a dramatizing scenario) จึงอาจเกิดขึ้นได้ในเหตุการณ์ของสื่อมวลชนทั้งสามประเภทนี้ โดยเฉพาะในสถานการณ์ความขัดแย้งหลายกรณี มีการศึกษาพบว่าการรายงานข่าวสารในสื่อมวลชนมักประกอบด้วยโครงเรื่องหลักคือ (1) การแสดงให้เห็นถึงความสับสนวุ่นวายในสังคมผ่านการกระทำของตัวแสดงคือ ผู้ร้าย เหยื่อและวีรบุรุษ (2) การเรียกร้องให้เกิดการแก้ปัญหา กำจัดสิ่งเลวร้ายหรือหาตัวผู้รับผิดชอบ และ (3) แสดงถึงการเข้ามาแก้ไขปัญหาของผู้ช่วยเหลือหรือวีรบุรุษ (Charaudeau, 2011 ; Gerbner, 1989)

สื่อมวลชนจะหลุดพ้นจากกับดักดราม่าได้อย่างไร ?

เมื่อกลับมาพิจารณาการนำเสนอข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ในสื่อมวลชนไทย โดยเฉพาะกรณีการแถลงข่าวการทำข้อตกลงทั่วไประหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับกลุ่มก่อความไม่สงบ (BRN) เพื่อเดินหน้ากระบวนการพูดคุยสันติภาพ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ณ ประเทศมาเลเซีย เหตุการณ์นี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของบริบทการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดระยะเวลาหนึ่งจนกระทั่งมีการพูดคุยสันติภาพอย่างเป็นทางการรอบแรกเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา สื่อมวลชนต่างรายงานเหตุการณ์รวมทั้งนำเสนอความคิดเห็นและการวิเคราะห์จากทุกฝ่ายอย่างต่อเนื่อง เนื้อหาข่าวสารที่ปรากฏในสื่อมวลชนส่วนใหญ่มีแนวโน้มสนับสนุนแนวทางการพูดคุยสันติภาพ  แต่ก็ยังมีการตั้งข้อสังเกต วิเคราะห์สถานการณ์ และตั้งคำถามหลายประเด็นทั้งจากนักข่าวเองหรือจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น การพูดคุยจะนำไปสู่การแก้ปัญหาได้หรือไม่ กลุ่มขบวนการที่มาพูดคุยเป็นตัวจริงหรือไม่ ในฝ่ายรัฐและฝ่ายขบวนการมีแนวคิดและการทำงานที่เป็นเอกภาพหรือไม่ การดำเนินการของรัฐบาลมีเจตนาเพื่อผลประโยชน์ของนักการเมืองบางคนหรือไม่ ชาวมุสลิมในพื้นที่มีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพมากน้อยแค่ไหน เป็นต้น

หากพิจารณาถึงธรรมชาติของเหตุการณ์ของสื่อมวลชน เราจะพบว่าคำถามเหล่านี้ยังไม่หลุดพ้นจากกับดักของสามเหลี่ยมดราม่า กล่าวคือ สื่อมวลชนยังมุ่งความสนใจไปที่ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสามตัวละครหลักของมุมมองแบบดราม่าคือ ความคลางแคลงใจในตัวผู้ร้าย (กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ) ความไม่เชื่อมั่นในฝีมือของผู้แก้ปัญหา (รัฐบาล) และการมองเห็นเหยื่อเป็นฝ่ายที่อ่อนแอ (ประชาชนในพื้นที่)  เรื่องราวในสื่อมวลชนเกี่ยวกับปัญหาภาคใต้ที่ยังคงติดอยู่ในกรอบการมองเช่นนี้จึงเป็นสิ่งที่พึงตระหนักและระมัดระวัง เนื่องจากเราอาจตกอยู่ในวังวนของสามเหลี่ยมดราม่าและมองไม่เห็นทางออกของความขัดแย้งทั้ง ๆ ที่บริบทของสถานการณ์ในภาคใต้ขยับเปลี่ยนไปตลอดเวลา

ข้อสนอของ Harper นั้นน่าสนใจ เขามองว่าเราควรสร้างบทบาทใหม่ในเรื่องเล่าเกี่ยวกับสถานการณ์ความขัดแย้ง โดย (1) เปลี่ยนบทบาทจากการเป็นเหยื่อ (Victimisation) ที่ถูกกระทำไปสู่บทบาทของคนที่สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยตัวเอง (2) เปลี่ยนบทบาทจากวีรบุรุษ (Hero) ไปสู่บทบาทของผู้เป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาและทำงานร่วมกับทุกฝ่าย และ (3) เปลี่ยนจากการมองศัตรูเป็นตัวอุปสรรค (Villain)  ที่คอยควบคุมหรือคิดร้ายมาเป็นผู้ประสานความร่วมมือ (Collaborator)  ข้อเสนอนี้คือการลดขนาดปัญหาหรือวงกลมในสามเหลี่ยมดราม่าให้สมดุล ไม่เอนเอียงไปยังคู่บทบาทใดบทบาทหนึ่ง เราต้องค้นหาพื้นที่ของการฟังคนอื่น รับฟังจุดยืนบทบาทของคนอื่นบ้างเพื่อก่อให้เกิดบรรยากาศที่ดีในการพูดคุยสันติภาพ ความเข้าใจร่วมกันและลดเงื่อนไขของความขัดแย้ง


     กระบวนการพูดคุยสันติภาพกำลังดำเนินไปและนั่นก็ทำให้เราและสื่อมวลชนต้องปรับเปลี่ยนมุมมองสถานการณ์นี้ใหม่ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าเราจะเคยแสดงบทบาทใดในสามเหลี่ยมดราม่านี้ก็ตาม แต่หากเรา รวมทั้งสื่อมวลชนก้าวพ้นกรอบดราม่าและเปลี่ยนมุมมองเสียใหม่ นำเสนอข่าวสารที่แสดงถึงพลังของสังคม เปลี่ยนจากการมองประชาชนผู้ถูกกระทำไปสู่บทบาทของผู้มีความสามารถในการแก้ปัญหา  เปลี่ยนจากการแสวงหาวีรบุรุษมากอบกู้สถานการณ์ไปสู่การแสวงหาผู้ที่สามารถประสานความร่วมมือกับทุกฝ่ายได้ และเปลี่ยนจากการมองกลุ่มผู้มีความเห็นต่างจากรัฐเป็นศัตรูมาเป็นการเชื้อเชิญและสร้างความมั่นใจให้กลุ่มเหล่านั้นเข้ามาสู่สนามแห่งสันติภาพ เราและสื่อมวลชนก็จะเป็นกลไกที่สำคัญที่ทำให้เกิดสันติสุขในภาคใต้ได้ในเวลาอันใกล้.

               

รายการอ้างอิง

Barthes, Roland. "L'introduction à l'analyse structurale des récits", in Communications, 8, 1966,  
       pp:1-27.
Breton, Philippe. « L’argumentation dans la communication ». Paris : La Découverte, 1996.
Charaudeau, Patrick. « Les médias et l’information : l’impossible transparente du discours ». 2nd ed. Paris : De Boeck, 2011.
Gerbner, George. « Violence et terreur dans les médias ». Paris : Unesco, 1989.
Harper, Gary. « Conflict Drama : Victim, Villain or Hero ?”, 2003. Available : http://www.garyharper.ca/Articles/ConflictDrama-VictimVillainHero.pdf




[1]  มี “ความจริง” อีกประเภทหนึ่งที่ไม่ได้กล่าวถึงในที่นี้คือ ความจริงที่ความหมายถึงสิ่งที่ประจักษ์แจ้งแก่เรา (truth) ซึ่งมีการถกเถียงในทั้งทางญาณวิทยาและทางปรัชญาถึงความจริงที่แท้นั้นมีหรือไม่  ความจริงในความหมายนี้อยู่นอกเหนือจากขอบเขตของพื้นที่สื่อ แต่เป็นขอบเขตของการรับรู้และการตีความของผู้รับสาร อ่านแนวคิดเรื่องความจริงเพิ่มเติมได้ใน “ความรุนแรงกับการจัดการ “ความจริง” : ปัตตานีในรอบกึ่งศตวรรษ” โดยศาสตราจรย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, 2551.
[2] เหตุการณ์ในสื่อมวลชนคือเหตุการณ์ที่เกิดจากการรับรู้และตีความของผู้รับสารเท่านั้น  กล่าวคือ อุบัติการณ์ใดก็ตาม หากเกิดขึ้นโดยไม่มีใครรับรู้หรือไม่มีใครตระหนักว่า มันเกี่ยวพันกับชีวิตเราอย่างไร ก็ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นเหตุการณ์ เช่น ภูเขาไฟระเบิดในขั้วโลกเหนือเป็นอุบัติการณ์ที่เกิดขึ้นจริง แต่มันจะกลายเป็นเหตุการณ์ (event) ก็ต่อเมื่อมันถูกรับรู้และตีความว่าละอองเถ้าถ่านจากการระเบิดของภูเขาไฟนั้นส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ต่อสิ่งแวดล้อมและสภาพอากาศ  
[3] เป็นการสอดประสานของหน่วยของความหมายในทุกระดับของเรื่องเล่า ได้แก่ ระดับของภาษา ระดับความหมายและวาทกรรม และการจัดระดับชั้นของหน่วยของความหมายเหล่านั้น ได้แก่ ระดับของหน้าที่ (function)  และระดับของการกระทำ (action/index) ของความหมาย (Barthes, 1966)