วันเสาร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

สนามของสื่อมวลชนกับกติกาสาธารณะ


เมื่อกลางเดือนมีนาคม 2556  ประเด็นที่เป็นที่ติดตามและถกเถียงกันอย่างร้อนแรงที่สุดของสาธารณะเห็นจะไม่พ้นกรณีการระงับการออกอากาศรายการตอบโจทย์ประเทศไทย ตอน สถาบันพระมหาษัตริย์ภายในรัฐธรรมนูญ (ตอนที่ 5) ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส กระแสวิพากษ์วิจารณ์บทบาทของสื่อสาธารณะยิ่งเข้มข้นมากขึ้นเมื่อทางสถานีโทรทัศน์ตัดสินใจออกอากาศรายการตอนที่ 5 นี้ด้วยเหตุผลว่าต้องการเปิด “พื้นที่กลาง” สำหรับความคิดเห็นของทุกฝ่าย กรณีดังกล่าวแสดงถึงการต่อสู้แข่งขันในพื้นที่สาธารณะของกลุ่มความคิดที่แตกต่างในสังคมและสะท้อนถึงความไม่ลงรอยทางความคิดในเรื่องของความเป็นสาธารณะในสังคมไทย

เมื่อสื่อสาธารณะต้องเผชิญกับเสียงเรียกร้องของประชาชนที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว  คำถามที่ว่าความเป็นอิสระของสื่อมวลชนจะยังคงมีอยู่หรือไม่ หรือหากมี สื่อมวลชนจะรักษาความเป็นอิสระ ไม่ว่าจะเป็นอิสระจากแรงกดดันภายนอก (ปัจจัยทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม) และอิสระจากข้อจำกัดในตัวสื่อเอง (ค่านิยม ทัศนคติของนักข่าว การแข่งขันทางด้านข้อมูลข่าวสารและเวลา การเข้าถึงข้อมูล ฯลฯ) ไว้ได้อย่างไร ประเด็นเหล่านี้ท้าทายทั้งนักวิชาชีพและนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนให้ขบคิด

บทความนี้พยายามหาคำตอบและอธิบายสิ่งท้าทายเหล่านี้ โดยใช้กรอบแนวคิดทางสังคมศาสตร์คือ แนวคิดทฤษฎีสนาม (Field Theory) และแนวคิดพื้นที่สาธารณะ (Public Sphere) ประกอบกันเพื่ออธิบายถึงธรรมชาติและกลไกของความสัมพันธ์ทางสังคมในพื้นที่สาธารณะ และข้อเสนอแนวคิดใหม่ในการมองพื้นที่สื่อในฐานะสนามทางสังคมและสื่อมวลชนในฐานะตัวแสดงหนึ่งในสนาม

สื่อมวลชนในมุมมองทฤษฎีสนาม

ว่ากันว่าวิชาชีพสื่อสารมวลชนเป็นหนึ่งในหลาย ๆ องค์ประกอบที่สำคัญและโดดเด่นของสังคมประชาธิปไตย  บทบาทของสื่อมวลชนในด้านความเป็นวัตถุวิสัยที่เป็นอิสระจากกรอบหรือการครอบงำยังเป็นเรื่องที่ไม่อาจพิสูจน์ได้ชัดเจน เนื่องจากบทบาทของการเป็นสื่อกลางถ่ายทอดข้อมูลข่าวสารนั้นผ่านทางบุคคลและองค์กร และยิ่งหากวิเคราะห์ในมุมมองแบบโครงสร้างนิยม (Structuralism) ด้วยแล้ว งานศึกษาถึงความเป็นอิสระของสื่อมวลชนส่วนใหญ่ชี้ว่าแทบจะเป็นเรื่องที่เป็นอุดมคติ

อย่างไรก็ตาม ในวงวิชาการด้านนิเทศศาสตร์และวารสารศาสตร์ ได้เริ่มนำเอาแนวการวิเคราะห์ทางสังคมศาสตร์สายวิพากษ์มาใช้ หนึ่งในนั้นคือทฤษฎีสนามของปิแอร์ บูร์ดิเยอ (Pierre Bourdieu) นักสังคมศาสตร์ในกลุ่มทฤษฎีแนววิพากษ์ของฝรั่งเศสที่ได้แสดงทัศนะต่อวิชาชีพสื่อสารมวลชนไว้อย่างน่าสนใจ เขาเสนอให้นักวิชาชีพวิเคราะห์ตัวเองด้วยการอาศัยการมีส่วนร่วมและมุมมองของหลายฝ่าย เพื่อให้เกิดความก้าวหน้าในความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอุปสรรคต่าง ๆ ที่สื่อมวลชนและนักข่าวต้องเผชิญ อีกทั้งยังช่วยให้นักข่าวเองสามารถต้นทานต่อกลไกบางอย่างที่คอยกำหนดการทำงานทางวิชาชีพของตนด้วย พันธกิจนี้แม้แต่บูร์ดิเยอเองก็ยอมรับว่าเป็นเรื่องยากมาก เนื่องจากอุปสรรคเหล่านี้เป็นตัวกำหนดโครงสร้างของวิชาชีพสื่อเองในความหมายของการผลิตซ้ำโครงสร้างอำนาจเดิม และคอยยับยั้งการเปลี่ยนแปลง (Bourdieu, 1996)

ในมุมมองโครงสร้างนิยมเชิงประกอบสร้าง (Structuralism Constructivist) บูร์ดิเยอเสนอแนวคิดการวิเคราะห์และวิพากษ์โครงสร้างสังคมที่ถูกจัดระเบียบไว้อย่างแข็งตัวและมีอำนาจเป็นแนวการศึกษาเชิงสังคมวิทยาที่พยายามเปิดเผยหน้ากากของผู้กำหนดทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็นที่คอยชี้นำการรับรู้ ความคิดและการกระทำของคนในสังคม[1]  แต่อย่างไรก็ตาม เขาก็ไม่เห็นด้วยเช่นกัน หากจะมองปัจเจกบุคคลเป็นเพียงหุ่นเชิดหรือเสียงสะท้อนที่ไม่มีน้ำหนักในโครงสร้างทางสังคมที่ดูเหมือนเป็นกลาง เพราะปัจจเจกบุคคลยังคงมีลักษณะที่เป็นอิสระ (autonomous) ที่จะผลักดันหรือต่อต้านเพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมที่มีอยู่เดิม ตามความคิดของบูร์ดิเยอ  “เรามีทางเลือกใหม่เสมอ และเราจำเป็นต้องต่อสู้กับสิ่งที่เป็นกรอบโลกทัศน์เดิมของเรา” (Watine, 1999)

บูร์ดิเยอไม่ได้ปฏิเสธการศึกษาแบบวัตถุวิสัยและภววิสัย[2] แต่มองว่าทั้งสองแนวนี้ต้องไปด้วยกันเพื่อช่วยทำให้เรามองเห็นสังคมหลากหลายแง่มุม กล่าวคือ หากมองในแบบโครงสร้างนิยม (Structuralism) บูร์ดิเยอหมายถึงโครงสร้างที่เป็นอิสระจากจิตสำนึกและเจตจำนงของตัวแสดง (agent) ในสังคมที่สามารถสั่งการ ห้ามการกระทำหรือสะท้อนความเป็นตัวแทนของโครงสร้างนั้น ส่วนมุมมองแบบประกอบสร้างนิยม (Constructivism) เป็นการมองที่ความหลากหลายทางสังคมทั้งการรับรู้ ความคิดและการกระทำของปัจเจกบุคคลที่ก่อให้เกิด “ฮาบิทุส” (Habitus) [3] ของตัวแสดงทางสังคม และเป็นตัวกำหนดโครงสร้างทางสังคมที่เรียกว่า “สนาม” (Field) หรือลำดับชั้นทางสังคม (Social classes) อีกทีหนึ่ง

ทั้งปัจเจกบุคคลและกลุ่มบุคคลจึงไม่ใช่ทั้งผู้เล่นเกมในสนามและผู้ควบคุมโครงสร้าง แต่เป็นวัตถุที่ถูกวางโดยโครงสร้างและเป็นผู้กำหนดโครงสร้างไปพร้อม ๆ กัน ตัวแสดงในสนามจะสร้างความเป็นจริงอย่างต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ดังนั้น มุมมองโครงสร้างนิยมแบบประกอบสร้างนี้ ไม่ได้มุ่งให้ความสำคัญต่อสภาวะที่เป็นอยู่หรือกำลังทำบางอย่างสิ่งบางอย่าง แต่สนใจความคิดเรื่องความเป็นจริงที่ถูกประกอบสร้าง หรือกำลังอยู่ในกระบวนการสร้างเพื่อรื้อถอน หรือกระบวนสร้างความจริงใหม่ในแบบอื่น (Watine, 1999)

ในวิชาชีพสื่อสารมวลชนก็เช่นเดียวกัน เราควรทำความเข้าใจกลไกการผลิตอุดมการณ์ทางวิชาชีพ ภาพสะท้อนความเป็นสื่อมวลชนในอุดมคติและมายาคติของตัววิชาชีพเอง ผลงานวิพากษ์สังคมของบูร์ดิเยอช่วยเป็นแนวทางให้นักวิชาการด้านสังคมศาสตร์และสื่อสารมวลชนได้ตั้งคำถามถึงบทบาทของสื่อมวลชนในฐานะตัวแสดงหนึ่งที่ดูเหมือนจะมีอิสระน้อยมากในสนามทางสังคมที่อ่อนแอ เนื่องจาก สื่อมวลชนมีขอบเขตการแสดงออกในสนามที่จำกัด (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากข้อมูลข่าวสารนั้นเป็นประเด็นที่อ่อนไหวหรือปมความขัดแย้ง) นักข่าวต้องเผชิญกับเกมและภาวะกดดันอยู่ตลอดเวลา ทั้งแรงกดดันทางเศรษฐกิจ การเมืองและวัฒนธรรม แต่อย่างไรก็ตามสื่อมวลชนเองก็ยังมีบทบาทในการรื้อถอนโครงสร้างอำนาจเดิมได้ด้วยเช่นกัน

แนวคิดเกี่ยวกับสนามของสื่อมวลชนที่มีการศึกษากันโดยส่วนใหญ่ มุ่งให้ความสนใจไปที่โครงสร้างลำดับชั้นของนักข่าว เช่น ภูมิหลังทางการศึกษา ฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม ค่านิยม ทัศนคติและประสบการณ์ของนักข่าวเกี่ยวกับการทำงานด้านสื่อสารมวลชน รวมทั้งการวิเคราะห์โครงสร้างการบริหารขององค์กรสื่อสารมวลชน เป็นต้น แต่ทว่าการมองลักษณะนี้ยังไม่อาจอธิบายสาเหตุที่แท้จริงของการแปรรูปของสนามสื่อสารมวลชนในสถานการณ์เฉพาะ เพราะไม่ได้พิจารณาถึงข้อจำกัดทางวิชาชีพ การนิยามความหมายใหม่ในนามของ“ความเป็นมืออาชีพ” หรือการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ที่ว่าด้วยเรื่อง “ข้อมูลข่าวสารในสังคมสมัยใหม่” ตรงกันข้าม มุมมองแบบดั้งเดิมในเรื่องการแบ่งลำดับชั้นของนักข่าวกลับก่อให้เกิดความขัดแย้งไม่ลงรอยระหว่างความเป็นปัจเจกกับโครงสร้างที่นำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า การแปรสภาพของสนามของสื่อมวลชนนั้นไม่เป็นอิสระจากเจตจำนงและทัศนคติของตัวนักข่าวเอง

เมื่อสนามกลายเป็นเกมของอำนาจ

ตามแนวคิดของบูร์ดิเยอ “สนาม” เป็นพื้นที่ทางสังคมที่ได้ถูกวางโครงสร้างไว้แล้ว เป็นสนามของการแสดงพลัง (Forces) ที่มีทั้งผู้ครอบงำและผู้ถูกครอบงำ ทั้งสองฝ่ายต่างมีความสัมพันธ์ต่อกันที่ชัดเจน แน่นอนและไม่เท่าเทียมกัน สนามจึงเป็นพื้นที่ของการต่อสู้ของตัวแสดงต่างๆ เพื่อเปลี่ยนแปลงหรือเพื่อพิทักษ์รักษาอำนาจของตน ภายในสนามตัวแสดงแต่ละตัวจะมาเข้าร่วมแข่งขันกับอำนาจอื่นและคอยกำหนดนิยาม ตำแหน่งแหล่งที่ และสถานภาพของตัวแสดงในสนาม รวมทั้งกลยุทธในการแข่งขันต่าง ๆ ด้วย

สนามในความหมายนี้เป็นระบบของตำแหน่งแหล่งที่ทางสังคมที่คอยกำหนดความหมายของสรรพสิ่ง ฝ่ายที่ครอบงำจะมีแนวโน้มที่จะปกป้องพื้นที่ของตัวเอง ในขณะที่ฝ่ายผู้ถูกครอบงำก็มีแนวโน้มที่จะต่อต้านโดยการสร้างความหลากหลายทางความคิดมากกว่า นี่เป็นกฎกติกาของสนามที่ฝ่ายที่เคยครอบครองพื้นที่จะต่อต้าน กีดกันกลุ่มความสัมพันธ์ใหม่ คนมาใหม่ หรือคนที่มาทีหลังที่มีทุนทางสังคมไม่มากนัก คนที่อยู่ก่อนจะมีกลยุทธ์ในการพิทักษ์รักษาสิ่งเดิมไว้เพื่อเป้าหมายของการสะสมทุนทางสังคมให้มากขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะเดียวกัน คนที่มาใหม่ก็จะมีกลยุทธ์ในการตัดกำลังการสะสมทุนของคนที่อยู่ก่อน “ทุกสนามจึงเป็นเวทีของความตึงเครียด” ระหว่างคนที่สามารถครอบครองทุนทางเศรษฐกิจและทุนทางวัฒนธรรม กับคนใหม่ที่อยากระดมทุนที่ตัวเองไม่เคยมีเหล่านั้น ดังนั้น การต่อสู้ในสนามทางสังคมนี้จึงอยู่ในตรรกะของการพยายามปกป้องและการผูกขาดต้นทุนของตัวเองไว้ (Bourdieu, 2005)

การปกป้องการเปลี่ยนแปลงผ่านการเลือกสรรที่ฮาบิทุสปฏิบัติการอยู่ มันจะคอยจัดการข้อมูลข่าวสารใหม่ ๆ ด้วยการละทิ้งข้อมูลชุดอื่น ๆ ที่ท้าทายหรือตั้งคำถามตัวมัน ผ่านวิธีการลดคุณค่า ลดการแสดงตัวของข้อมูลข่าวสารเหล่านั้น ในส่วนของสื่อมวลชน บูร์ดิเยอมองว่า นักข่าวมีแนวโน้มที่จะเป็นตัวแสดงที่มีข้อจำกัด (constraint agents) มากกว่าเป็นตัวแสดงที่เป็นอิสระ (autonomous actors) เกมของสื่อจึงเป็นตรรกะเฉพาะที่เราไม่สามารถเข้าใจการกระทำของตัวแสดงหรือนักข่าวได้โดยครบถ้วนสมบูรณ์ หากเราไม่อ้างอิงไปถึงสิ่งที่ตัวแสดงต่าง ๆ หรือนักข่าวกระทำในสนามของสื่อในฐานะที่เป็นทั้งนักข่าวฝ่ายครอบงำและฝ่ายที่ถูกครอบงำ

ในขณะที่คนมาใหม่พยายามที่จะกระโดดข้ามแนวรั้วเพื่อเข้าถึงสนาม แต่ในที่สุดแล้ว การต่อสู้ของคนทั้งสองกลุ่มหรือหลายกลุ่มในสนามก็จะต้องแสวงหาทางออก แสวงหาจุดสมดุลร่วมกันเพื่อไม่ให้สนามนั้นล่มสลายไป ทั้งสองฝ่ายจึงต้องเข้าร่วมเล่นในกติกาเดียวกันและแบ่งปันกันในระดับที่เหมาะสมเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้ตัวเองได้อยู่ในสนามเดียวกัน กล่าวอีกแง่หนึ่งก็คือ ทุก ๆ ตัวแสดงทางสังคมที่เกี่ยวข้องหรือเข้ามาเล่นเกมในสนามนี้จะยอมตกลงกันอย่างไม่เปิดเผยที่จะยอมรับข้อจำกัดบางอย่างเพื่อที่ตนจะได้ไม่ต้องถูกขับออกจากสนาม บูร์ดิเยอพยายามสนับสนุนความคิดที่ว่า คนที่เข้าร่วมสนามการแข่งขันนี้ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายครอบงำหรือฝ่ายถูกครอบงำก็ตาม ต่างก็แสดงบทบาทโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจในการ “ผลิตซ้ำ” กติกาของสนามนั้น และในที่สุดก็จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และสามารถทำลายการจัดลำดับชั้นระหว่างตัวแสดงเหล่านั้น ในขณะที่เกมและสนามก็ยังคงไม่ถูกทำลายโดยตัวมันเอง (Benson, 1999)

กติกาสาธารณะกับความเป็นอิสระของสื่อมวลชน

หากจะกล่าวว่าสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสเป็นสนามทางสังคมก็ไม่ผิดนัก ในฐานะที่เป็นสื่อสาธารณะที่พยายามหลุดพ้นจากการครอบงำทั้งจากอำนาจทุนและอำนาจการเมือง (นิธิตา สิริพงศ์ทักษิณและนฤมล ทับจุมพล, 2554) ในขณะเดียวกัน ด้วยเอกสิทธิ์ทางการบริหารด้วยพ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 ที่พยายามปกป้องพื้นที่สาธารณะนี้ให้เป็นอิสระจากอำนาจของกลุ่มทุนและอำนาจของฝ่ายการเมือง ก็ยิ่งผลักดันให้ไทยพีบีเอสต้องอิงอยู่กับทุนทางสังคม (Social Capital)[4] เป็นหลักนั่นก็คือ “ความน่าเชื่อถือในสายตาของสาธารณะ”

หากมองในด้านบวก ทุนทางสังคมนี้มิใช่เป็นผลจากการได้รับเอกสิทธิ์ทางการบริหารดังที่กล่าวไว้เพียงอย่างเดียว แต่ที่ผ่านมาไทยพีบีเอสก็ได้พยายามสะสมทุนทางสังคมในรูปแบบอื่นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการยึดมั่นหลักการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ตอบสนองความต้องการและอัตลักษณ์ของคนในสังคมที่หลากหลาย โดยเฉพาะกลุ่มที่เคยถูกละเลย (กลุ่มชายขอบ) ในพื้นที่สื่อก่อนหน้านี้ การพยายามสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดเนื้อหารายการผ่านสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการ หรือกิจกรรมทางสังคมและการสร้างเครือข่ายภาคพลเมืองหลายกลุ่มในระดับชุมชน เป็นต้น  แต่กระนั้นก็ยังมีข้อสังเกตจากนักวิชาการและสาธารณะอยู่ว่าบทบาทของสื่อสาธารณะนี้ยังอิงกับบางกลุ่มที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้เกิดสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็น สสส. องค์กรพัฒนาเอกชนบางกลุ่ม นักวิชาการบางส่วนอันเป็นโครงสร้างอำนาจภายในสถานีเอง (นิธิตา สิริพงศ์ทักษิณและนฤมล ทับจุมพล, 2554) สนามของไทยพีบีเอสนี้จึงกลายเป็นสนามที่มีตัวแสดงมากมายเข้ามามีบทบาทด้วยกติกาชุดหนึ่งที่ว่าด้วยเรื่องของ “ความเป็นอิสระ มีมาตรฐานทางวิชาชีพ โปร่งใส และเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ”

กรณีที่มีการนำเสนอประเด็นอ่อนไหวในรายการตอบโจทย์ประเทศไทยและตามมาด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ทั้งแรงต่อต้านและสนับสนุนของผู้ชม  หากวิเคราะห์ในมุมมองทฤษฎีสนาม การแข่งขันเป็นเรื่องธรรมดาในสนามสื่อสาธารณะ แต่เกมการแข่งขันนี้จะเกิดปัญหาทันที หากผู้เล่นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือผู้ชมข้างสนามเกิดความรู้สึกว่ากติกาในสนามนี้เริ่มไม่เป็นธรรมหรือมีการครอบงำของผู้เล่นบางตัวมากเกินไป

จากการสังเกตคำให้สัมภาษณ์ของผู้ชม นักวิชาการ นักข่าวและผู้บริหารของไทยพีบีเอส (ในฐานะตัวแสดงหลักในสนามของไทยพีบีเอส) ในสื่อมวลชนตลอดช่วงหนึ่งสัปดาห์หลังการระงับรายการพบว่า ความคิดเห็นเหล่านั้นสะท้อนการให้นิยามของกติกาของพื้นที่สาธารณะที่แตกต่างกันไปเช่น “ความเป็นมืออาชีพ” “ความเป็นอิสระ” “พื้นที่กลาง” และ “ความรับผิดชอบต่อสังคม” ดังปรากฏในคำแถลงของทีมงานรายการตอบโจทย์ฯ ในเว็บเพจของรายการเรื่องการยุติการทำรายการ เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2556 ได้ให้เหตุผลว่า “เนื่องจากไม่สามารถตอบโจทย์ได้อีกต่อไปว่าจะยังรักษาความเชื่อมั่นในเสรีภาพของสื่อสารมวลชนซึ่งได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญไว้ได้อย่างไร” และย้ำถึงจุดยืนว่า “เรายินดีเลือกที่จะสละรายการ เพื่อรักษาหลักการ” หลักการในที่นี้ก็คือ การรักษาความเชื่อมั่นในเสรีภาพของสื่อสารมวลชน และแสดงบทบาทในฐานะ “ผู้จุดไฟท่ามกลางความมืดหวาดขาดกลัว”

ในด้านผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส นายสมชัย สุวรรณบรรณ ได้อธิบายเหตุผลที่แต่เดิมอนุญาตให้นำเสนอประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์ว่า เพื่อเปิด “พื้นที่กลาง” สำหรับทุกความเห็นที่แตกต่างในสังคม แต่มีการชี้แจงเหตุผลการระงับการออกอากาศรายการในภายหลังว่า “เพื่อทบทวนให้เกิดความรอบด้าน และพิจารณาความเหมาะสม รวมทั้งผลกระทบที่เกิดขึ้น” (สำนักข่าวอิศรา, 16 มี.ค. 2556)

ในขณะเดียวกัน นักวิชาการและบุคลากรในไทยพีบีเอสต่างก็ออกมาแสดงความคิดเห็นทั้งสนับสนุนและคัดค้านการตัดสินใจของฝ่ายบริหารสถานีโทรทัศน์ฯ ในสื่อสังคมออนไลน์และสื่อมวลชน ในทัศนะของฝ่ายที่สนับสนุน มีการกล่าวถึงหลักการเรื่อง “เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น” ในขณะที่ฝ่ายคัดค้านมองว่า สื่อมวลชนต้องมี “ความรับผิดชอบต่อสังคม” การนำเสนอรายการที่มีเนื้อหาเสี่ยงต่อการเกิดความขัดแย้งรุนแรงในสังคม ผู้จัดรายการควรมี “ความเป็นมืออาชีพ” และควรคำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมาด้วย  (แนวหน้า, 17 มี.ค. 2556)

การให้นิยามและคุณค่าของสื่อสาธารณะที่แตกต่างกันเหล่านี้ตั้งอยู่บนฐานของกรอบความคิดความเชื่อและการปฏิบัติที่เป็นฮาบิทุสของตัวแสดงในสนามสื่อมวลชน (ทั้งผู้ผลิตรายการ ผู้บริหาร บรรณาธิการ บุคลากรในองค์กร และผู้ชม) และดูเหมือนว่าต่างฝ่ายต่างก็ช่วงชิงอำนาจในการอธิบายบทบาทของสื่อสาธารณะที่ควรจะเป็น กล่าวอีกแง่หนึ่งคือ การให้เห็นผลดังกล่าวสะท้อนถึงความพยายามยืนยันและผลิตซ้ำโครงสร้างอำนาจเดิมที่กรอบความคิดและฮาบิทุสของตัวแสดงต่าง ๆ ผูกพันอยู่นั่นเอง  

แต่ไม่ว่าการต่อสู้แข่งขันจะร้อนแรงเพียงใดก็ตาม สนามของสื่อสาธารณะนี้จะยังคงอยู่ ตราบใดที่ตัวแสดงในสนาม  (ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่อยู่คนหรือฝ่ายที่มาใหม่ ฝ่ายที่ครอบงำหรือถูกครอบงำ) ยังคงรักษากติกาของเกมในสนามนี้

เพื่อทำความเข้าใจกติกาสาธารณะนี้ เราอาจต้องกลับไปทบทวนความเป็นสาธารณะในสังคมไทย ที่ผ่านมา เราพบปัญหามากมายตั้งแต่ปัญหาเล็ก ๆ เช่น ปัญหาการรุกล้ำพื้นที่สาธารณะของปัจเจกบุคคลหรือกลุ่ม การโหมโฆษณาด้วยสารพัดสื่อที่ถาโถมใส่เราจนแทบจะไม่มีทางเลือก ไปจนถึงปัญหาใหญ่ ๆ เช่น การจัดสรรคลื่นความถี่และการกำกับดูแลกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม ปัญหาปิดกั้นกีดกันการแสดงออกทางความคิดเห็น รวมไปถึงการหมิ่นประมาทหรือการประณามผู้อื่นในที่สาธารณะเป็นต้น

ปัญหาเหล่านี้สะท้อนโลกทัศน์เกี่ยวกับความเป็นสาธารณะแบบไทยไทยภายใต้กรอบการอ้างสิทธิและความชอบธรรมที่คลุมเครือและแตกต่างกันของคนในสังคม บ่อยครั้งที่เราพบว่าพื้นที่สาธารณะกลายเป็นพื้นที่ของการใช้ประโยชน์สำหรับคนที่สามารถเข้าถึงได้ และทุกคนที่เข้าถึงพื้นที่ได้ต่างก็อ้างสิทธิในการใช้พื้นที่นั้นโดยอาจไม่สนใจว่าประโยชน์ที่ตนได้รับจากการใช้พื้นที่นั้นจะกระจายไปถึงคนอื่นด้วยหรือไม่ หรือบางครั้งเราอาจละเลยความจริงที่ว่า ยังมีผู้คนอีกมากในสังคมที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงพื้นที่สาธารณะนั้น นั่นจึงเกิดผลกระทบที่ตามมาก็คือ ปัญหาความเป็นธรรมในการใช้พื้นที่สาธารณะ
  
พื้นที่สาธารณะในอุดมคติที่ทุกคนต่างกล่าวอ้างกันนั้นคือพื้นที่ที่ใช้และให้ประโยชน์สำหรับทุกคนในสังคม[5]  แต่ดูเหมือนคนในสังคมจะหลงลืมไปว่า คำว่า “สำหรับทุกคน” นั้นก็คือทุกคนต้องมีอิสระในการเข้าถึงและใช้พื้นที่นี้ได้อย่างเท่าเทียม (Habermas, 1991) ที่สำคัญอย่างยิ่งคือ ทุกคนในฐานะสมาชิกของสังคมต้องช่วยกันรักษากติกาความเท่าเทียมในการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะนั้นด้วย เพราะนั่นหมายถึง การมีหลักประกันว่า อย่างน้อยก็ยังมีพื้นที่ที่เปิดกว้างสำหรับเราในฐานะปัจเจกบุคคล

แต่หากทุกคนต่างมุ่งแสวงประโยชน์หรือพยายามครอบครองหรือผูกขาดพื้นที่สาธารณะไว้กับตัวเองหรือกลุ่มของตน ในที่สุดความชอบธรรมของพื้นที่นี้ก็จะเริ่มหมดลงไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งแม้แต่ตัวเองหรือกลุ่มของตนก็ไม่อาจใช้ประโยชน์จากพื้นที่สาธารณะนั้นได้อีกต่อไป และอาจกล่าวได้ว่าเป็น “โศกนาฏกรรมของพื้นที่สาธารณะ”

ลองพิจารณากรณีการล่มสลายของทรัพยากรธรรมชาติในปัจจุบันที่เกิดจากการใช้ประโยชน์โดยไม่มีขีดจำกัด และบ่อยครั้งที่พบว่า สาเหตุของการล่มสลายนั้นเกิดจากการผูกขาดหรือการให้สัมปทานกับกลุ่มคนบางกลุ่มในการเข้าถึงและได้ประโยชน์จากทรัพยากรนั้น เมื่อทุกคนที่เข้าถึงแหล่งทรัพยากรธรรมชาตินั้นต่างก็อ้างสิทธิในการใช้ประโยชน์และกอบโกยทรัพยากรเพราะถือว่าเป็นทรัพย์สินสาธารณะ เมื่อทรัพยากรนั้นหมดไป ผู้ที่ได้รับผลกระทบอันเลวร้ายนั้นก็คือทุกคน

สภาพปัญหาเช่นนี้อาจเกิดขึ้นกับสื่อสาธารณะได้เช่นกัน หากมองว่า “ความน่าเชื่อถือ” เปรียบเสมือนทรัพย์สินของสื่อสาธารณะในสังคมประชาธิปไตย เมื่อใดที่มีการผูกขาดหรือกีดกันการใช้พื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นหรือนำเสนอข้อมูลข่าวสารโดยคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง นั่นก็หมายความว่าพวกเขาได้ใช้ทรัพย์สินความน่าเชื่อถือนั้นจนร่อยหรอและอาจหมดไปในที่สุด และเมื่อถึงเวลานั้น ความน่าเชื่อถือของพื้นที่สาธารณะก็จะไม่มีแม้แต่ในกลุ่มคนที่ผูกขาดข้อมูลข่าวสารด้วยกันเอง (มุมมองนี้อาจใช้ในการวิเคราะห์สภาพการณ์ของสื่อหนังสือพิมพ์ไทยได้ด้วยเช่นกัน)
 
ดังนั้น ไม่ว่าตัวแสดงในสนามทางสังคมจะเป็นฝ่ายที่มีทุนมากกว่าหรือน้อยกว่าก็ตาม ไม่ว่าในสนามนั้นจำต้องตกอยู่ในเกมการแย่งชิงพื้นที่ในสนามหรือเกมของอำนาจหรือไม่ สิ่งที่เหมือนกันในทัศนะทฤษฎีสนามทางสังคมและพื้นที่สาธารณะก็คือ การเคารพในกติกาของสนาม เคารพในกติกาของสาธารณะที่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นธรรม (Fairness) นั่นเอง

เช่นเดียวกันกับกรณีสื่อสาธารณะหรือพื้นที่ทางสังคมอื่น ๆ ในสังคมไทย การเปิดพื้นที่ให้ตัวแสดงจากทุกฝ่าย ทุกประเด็นและทุกความคิดเห็นที่แตกต่างสามารถเข้าถึงและใช้พื้นที่สื่ออย่างเป็นธรรม ไม่มีการผูกขาดฝ่ายไหนหรือความเห็นใดได้ครอบครองพื้นที่หรือสนามนั่นก็คือการรักษากติกาของสาธารณะ เพราะเราคงไม่อยากเห็นโศกนาฏกรรมของพื้นที่สาธารณะเกิดขึ้น


รายการอ้างอิง

Bourdieu, Pierre. “The Political Field, the Social Science Field, and the Journalistic Field.” In Bourdieu and the Journalistic Field, edited by Rodney Benson and Erik Neveu. Cambridge: Polity Press, 2005.
Bourdieu, Pierre. Distinction: A Social Critique of the Judgment of Taste. Haward University Press, 1984.
Benson, Rodney. Field Theory in Comparative Context: A New Paradigm for Media Studies.” In Theory and Society, Vol. 28, No. 3. (June, 1999), pp. 463-498.
Chauviré, Christine et Fontaine Olivier. Le vocabulaire de Bourdieu. Paris : Ellipses, 2003.
Habermas, Jürgen. The Structural Transformation of the Public Sphere : An Inquiry into a Category of Bourgeois Society. MA: MIT Press, 1991.
Watine, Thierry. “Bourdieu et les medias : des lois du champ et de l’habitus comme présomptions du conservatisme des journalistes”. In Les Cahiers du Journalisme, n°6, Octobre 1999, p. 126-151.
นิธิตา สิริพงศ์ทักษิณและนฤมล ทับจุมพล. “การเมืองในนโยบายสื่อสาธารณะขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย”, วารสารสงขลานครินทร์ ฉบับสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, ปีที่ 17, ฉบับที่ 5, ก.ย.-ต.ค. 2554, หน้า 59-81.
ปิแยร์ บูร์ดิเยอ. เศรษฐกิจของทรัพย์สินเชิงสัญลักษณ์. ชนิดา เสงี่ยมไพศาลสุข, แปล. กรุงเทพฯ : โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2550.




[1] บูร์ดิเยอใช้คำว่า « doxa » ซึ่งหมายถึงความคิดร่วมของสังคมที่ทำให้เรารับรู้ความเป็นจริงทางสังคมในแบบใดแบบหนึ่ง (Chauviré et Fontaine, 2003)

[2] การมองแบบวัตถุวิสัย (objectiviste approche)ในที่นี้คือการพิจารณาไปที่โครงสร้างทางเศรษฐกิจ โครงสร้างการตลาด โครงสร้างการเมืองที่มีผลต่อการกระทำของคน (ตัวแสดง) ในสังคม ส่วนการมองแบบภววิสัย (subjectivist approach) คือการตั้งคำถามถึงความเป็นอิสระ (autonomy) และความรับผิดชอบ (responsibility) ของผู้กระทำ

[3] คำนี้หมายถึงรูปแบบของโครงสร้างที่ถูกกำหนดและเป็นตัวกำหนดสังคมในเวลาเดียวกัน  ฮาบิทุส (หรือที่ชนิดา เสงี่ยมไพศาลสุขใช้คำว่า นิจภาพ) เป็นผลิตผลของกระบวนการหล่อหลอมทางสังคมตั้งแต่ช่วงแรก ๆ ของชีวิต ด้วยการปลูกฝังเรื่องต่าง ๆ เช่น เงื่อนไขทางสังคม กฎระเบียบ ความเชื่อ ค่านิยม ความรู้ ความคิด ความเชื่อ ฯลฯ ให้ซึมซับไปในร่างกายและจิตใจของบุคคล โครงสร้างดังกล่าวจะคอยกำหนดขอบเขตของการกระทำและสร้างชุดการรับรู้และประเมินคุณค่าที่สอดคล้องกับโครงสร้างนั้น แล้วแสดงออกในรูปของการปฏิบัติในชีวิตประจำวันที่สม่ำเสมอ (การผลิตซ้ำ - reproduction) (ชนิดา เสงี่ยมไพศาลสุข,  2550 :74  85-95)  ฮาบิทุสจึงเป็นเหมือนเครื่องจักรชนิดหนึ่งที่ผลิตซ้ำเงื่อนไขทางสังคมด้วยวิธีการที่มองไม่เห็น แนบเนียนและดูเป็นกลางมากที่สุด เป็นวิธีการที่เราไม่อาจรู้เงื่อนไขของการผลิตเหล่านั้นได้อย่างง่ายๆ และเป็นระบบ เช่น กลไกสถาบันครอบครัว, โรงเรียน, สื่อมวลชนและสถาบันทางสังคมอื่น ๆ โครงสร้างฮาบิทุสนี้มีแนวโน้มที่จะให้ประโยชน์หรือเอื้อต่อการรักษาเกมกติกาในสนามมากกว่าจะเปลี่ยนแปลงเกม มีแนวโน้มที่จะยืนยันโครงสร้างเดิมและปกป้องตัวมันเอง

[4] ในทฤษฎีสนามได้วิเคราะห์โครงสร้างทางสังคมที่ตั้งอยู่บนฐานของทุน ในหลายลักษณะได้แก่  ทุนทางเศรษฐกิจ (Economic Capital) ที่ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดของมาร์กซ์ (การครอบครองปัจจัยการผลิต ทรัพย์สิน), ทุนทางวัฒนธรรม (Cultural Capital) (ภูมิปัญญาความรู้ รสนิยม), ทุนทางสังคม (Social Capital) ที่เป็นระบบความสัมพันธ์ของคนในสังคม (การยอมรับนับถือ ความน่าเชื่อถือ อำนาจ บารมี) และทุนเชิงสัญลักษณ์ (Symbolic Capital) ที่เป็นความสัมพันธ์ของพลังที่ผูกโยงกับความหมาย (ระบบคุณค่า ระบบจิตสำนึก) บูร์ดิเยอชี้ว่า ในโครงสร้างทางสังคมนั้น ทุนทางวัฒนธรรมกระจายตัวในแต่ละชนชั้นทางสังคมอย่างไม่เท่ากัน ชนชั้นที่ครอบครองทุนทางเศรษฐกิจมากกว่ามักมีโอกาสที่จะสะสมทุนทางวัฒนธรรม ทุนทางสังคมได้มากกว่า (Chauviré et Fontaine, 2003)

[5] Jürgen Habermas ได้อธิบายถึงที่มาของคำว่าพื้นที่สาธารณะโดยอ้างอิงถึงแนวคิดพื้นที่ของเมือง (Polis) ในยุคกรีกโบราณ พื้นที่ของเมืองคือพื้นที่ร่วม (Common Space) สำหรับพลเมืองที่มีเสรีทุกคน เป็นพื้นที่ที่แยกออกจากมณฑลส่วนตัวของปัจเจก (Oïkosในความหมายกรีก พื้นที่สาธารณะคือโลกของเสรีภาพและเป็นนิรันดร์ (Habermas, 1991)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น