วันอาทิตย์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

แนวคิดพื้นที่สาธารณะ


พื้นที่สาธารณะ (public space) เป็นพื้นที่ในโลกทางสังคมซึ่งปัจเจกบุคคลมาพบปะพูดคุยและอภิปรายกันอย่างเสรีในประเด็นปัญหาทางสังคม การเมืองและเศรษฐกิจ ประเด็นจากการอภิปรายโต้เถียงปัญหา ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ จะถูกตีแผ่แลกเปลี่ยนกันในพื้นที่สาธารณะ ก่อให้เกิดการรับรู้ร่วมกันและนำไปสู่การตัดสินใจเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมและกิจกรรมทางการเมืองของสาธารณชนในอันดับต่อไป พื้นที่สาธารณะจึงเป็นอาณาบริเวณที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสาร การสร้างความรู้สึกเป็นส่วนรวม (sense of public) และผลประโยชน์ของส่วนรวม พื้นที่สาธารณะเป็นได้ทั้งรูปธรรมและนามธรรม กล่าวคือ รูปธรรมของพื้นที่สาธารณะคือพื้นที่ทางกายภาพที่กำหนดขอบเขตไว้แน่นอน  เช่น ร้านกาแฟ ลานประชาชน จัตุรัสกลางเมือง สวนสาธารณะ โรงละคร พิพิธภัณฑ์ เป็นต้น  ส่วนพื้นที่นามธรรม เช่น สื่อมวลชน สื่อสังคมออนไลน์ กลุ่มทางสังคม หรือพื้นที่ทางวัฒนธรรม เป็นต้น

พื้นที่สาธารณะ คำนี้ปรากฏเป็นครั้งแรกในผลงานของอิมมานุเอล คานท์ (Immanuel Kant, 1724-1804) นักปรัชญาสมัยใหม่ชาวเยอรมัน และถูกนำมาศึกษากันอย่างกว้างขวางในทางสังคมศาสตร์เมื่อเจอร์เกน ฮาเบอร์มาส (Jürgen Habermas) นักวิชาการชาวเยอรมันได้เสนอผลงานชื่อ “การแปลงรูปเชิงโครงสร้างของพื้นที่สาธารณะ” (The Structural Transformation of the Public Sphere : an Inquiry into a Category of Bourgeois Society) ในปี ค.ศ. 1962 สำหรับฮาเบอร์มาสนั้น นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1960 เขาเป็นสมาชิกของสำนักแฟรงเฟิร์ตที่สนใจการวิพากษ์วิจารณ์ระบบและโครงสร้างทางสังคม นักวิชาการในกลุ่มนี้สร้างผลงานไว้มากมายในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเฉพาะทฤษฎีแนววิพากษ์ (Critical Theory) แนวคิดในสำนักนี้เห็นว่า ทัศนะพื้นฐานในเรื่องของความมีเหตุมีผล (rationality) ของมนุษยชาติที่พัฒนามาจากความป่าเถื่อนไร้เหตุผลเป็นทัศนะที่ผิดพลาด เพราะความขัดแย้งสับสนของสังคม สงคราม การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ หรือเหตุการณ์ความรุนแรงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 นั้น มนุษยชาติยังไม่ได้เดินไปถึงความมีเหตุมีผลสักเท่าไร โดยเฉพาะระบบทุนนิยมด้วยแล้ว ยิ่งเป็นระบบที่ไร้เหตุผลมากที่สุด แต่ฮาเบอร์มาสกลับมีเห็นว่า การที่ระบบทุนนิยมเป็นระบบที่ไร้เหตุผลนั้นก็เนื่องจากเส้นทางการพัฒนาความมีเหตุมีผลของมนุษยชาตินั้นยังเดินทางไม่ถึงจุดหมายปลายทาง มนุษยชาติจึงจำเป็นต้องก้าวเดินต่อไปด้วยความมีเหตุมีผล และแนวคิดเรื่อง “พื้นที่สาธารณะ” ก็เป็นข้อเสนอรูปธรรมอย่างหนึ่งที่มนุษยชาติจะสามารถดำเนินภารกิจเรื่องความมีเหตุมีผลให้ลุล่วงไปได้ (กาญจนา แก้วเทพ, 2543 : 166, วิภา อุตมฉันท์, 2544 : 158)

ฮาเบอร์มาสได้อธิบายถึงกระบวนการเกิดสำนึกสาธารณะ (สำนึกส่วนรวม) ว่า มาจากการที่ปัจเจกบุคคลใช้ความรู้และแสดงออกทางความคิดอย่างมีเหตุผล อย่างเปิดเผยในที่สาธารณะ ส่งผลให้สาธารณชน (public) เริ่มสามารถเข้าถึงและยึดครองมณฑลสาธารณะที่เคยถูกควบคุมโดยรัฐได้ และต่อมาพื้นที่ดังกล่าวก็ได้แปรเปลี่ยนเป็นพื้นที่ของการถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์การเมือง รวมทั้งการวิพากษ์วิจารณ์ตัวอำนาจรัฐด้วย พื้นที่สาธารณะจึงกลายเป็นอำนาจใหม่ที่ท้าทายอำนาจเดิมของสังคมศักดินาในยุโรป
การแปลงรูปของพื้นที่สาธารณะที่อดีตเคยผูกขาดอยู่แต่เฉพาะคนบางกลุ่มมาสู่มวลชนโดยทั่วไปเกิดขึ้นได้อย่างไร ปรากฏการณ์ดังกล่าวฮาเบอร์มาสได้ศึกษาหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของยุโรปตะวันตกนับตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมาโดยพบว่า ยุโรปในช่วงเวลานั้นเป็นสังคมที่มีแต่สถาบันกษัตริย์และสถาบันศาสนาเท่านั้นที่มีอภิสิทธิ์ในการเข้าถึงและครอบครองพื้นที่ทางการเมือง ชนชั้นกษัตริย์ ขุนนางชั้นสูงและพระเท่านั้นที่มีอำนาจในการตัดสินใจกิจการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสาธารณะ (คนหมู่มาก) เช่น การออกกฎหมาย การถืออำนาจครอบครองที่ดิน การผูกขาดความรู้และอำนาจ การผูกขาดการโฆษณาเผยแพร่ความรู้แก่สาธารณะ เป็นต้น การปรากฏตัวเพื่อให้เป็นที่รู้จักในสังคมไม่ใช่เรื่องที่ใครก็สามารถกระทำได้ แต่บุคคลนั้นจะต้องมีสถานภาพทางสังคมเพียงพอในฐานะที่เป็น “บุคคลสาธารณะ” (1)  และเพื่อที่จะรักษาอภิสิทธิ์ในพื้นที่สาธารณะทางการเมืองของตน รัฐยังกำหนดอำนาจที่จะใช้ความรุนแรงปราบปรามคนกลุ่มอื่นที่รุกล้ำเข้ามาในพื้นที่สาธารณะดังกล่าวได้ด้วย

ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ราวปลายคริสตศตวรรษที่ 17 ถึงต้นคริสตศตวรรษที่ 18 ก็ได้เกิดการขยายตัวทางการค้าทางทะเล การตื่นตัวทางศิลปะวิทยาการต่าง ๆ ก่อให้เกิดกลุ่มพ่อค้า นักคิด ปัญญาชนมากมาย เศรษฐกิจและความรู้ไม่ได้ถูกผูกขาดไว้ที่ชนชั้นสูงหรือพระบาทหลวงอีกต่อไป แต่เกิดเป็นชนชั้นใหม่ในสังคมที่อยู่กึ่งกลางระหว่างชนชั้นศักดินากับสามัญชนชั้นล่างที่เรียกว่า ชนชั้นกลาง (กระฏุมพีหรือ bourgeois-บูร์ชัว) ประกอบกับยุคสมัยดังกล่าวเป็นช่วงของการพัฒนาความเป็นเมืองหรือมหานคร (urbanisation) ทั้งในอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน ฮอลแลนด์ ฯลฯ เริ่มปรากฏพื้นที่สาธารณะใหม่ของคนกลุ่มใหม่ที่มาพบปะสังสรรค์ เสวนากันตามร้านกาแฟ โรงเหล้า ห้องโถงหรือห้องรับแขกของเหล่าชนชั้นกลางอันเป็นพื้นที่ที่ปลอดจากอำนาจราชสำนักและศาสนา กิจกรรมที่กลุ่มบุคคลดังกล่าวกระทำคือ การนัดพบปะกันอย่างสม่ำเสมอเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารด้านการค้า ความรู้และประสบการณ์ใหม่จากการเดินทางไปยังดินแดนไกลโพ้น  ข้อเขียนหรือบทความทางปรัชญา วิทยาศาสตร์สมัยใหม่ วรรณกรรมแพร่กระจายอย่างรวดเร็วด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์ที่พัฒนาขึ้น มีการพูดคุยถกเถียงกันอย่างมีอิสระ เสรีและมีเหตุผลในเรื่องต่าง ๆ เช่น กฎหมาย การเมืองการปกครอง ปรัชญา การวิพากษ์วิจารณ์ถกเถียงกันนี้ดำเนินไปบนหลักของความเสมอภาคเท่าเทียมกัน โดยมีบทบาทของสื่อสิ่งพิมพ์เป็นองค์ประกอบสำคัญ (ฮาเบอร์มาสใช้คำว่า “publicity” – ในความหมายกว้างที่หมายถึงการแพร่กระจายข้อมูลข่าวสารและประเด็นการถกเถียงผ่านสื่อกลาง)  กล่าวคือ เรื่องที่พูดคุยกันจะเป็นประเด็นของผลประโยชน์ร่วมกันที่สมาชิกแต่ละคนได้รับข่าวสารมาจากสื่อสิ่งพิมพ์ หนังสือพิมพ์ ใบประกาศ ฯลฯ ฮาเบอร์มาสชี้ให้เห็นว่านี่คือจุดเริ่มต้นที่อาณาเขตหรือพื้นที่ส่วนตัว (private sphere - ภายในครอบครัวหรือกลุ่มเฉพาะ) ได้เคลื่อนออกมาสู่มณฑลสาธารณะ และบางเรื่องก็ได้หลอมรวมเป็นสิ่งเดียวกันโดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวกับชีวิตการเมือง นอกจากนี้ ความสามารถในการอ่านออกเขียนได้ของประชาชนที่ขยายวงกว้างมากขึ้นนำไปสู่หลักของการคัดเลือก (principle of selection) ไม่ว่าจะเป็นการเลือกข่าวสาร ความรู้ วิทยาการ การคัดสรรผู้มีความรู้ ผู้มีอำนาจ และนำไปสู่การจัดโครงสร้างใหม่ทางสังคมแบบใหม่และการครอบครองทรัพย์สินของคนกลุ่มใหม่ในยุคสมัยนั้น



ร้านกาแฟในคริสศตวรรษที่ 18
(ที่มา  http://www.ariane-genealogie.net/france1/cafe_au_18eme.htm)





บรรยากาศห้องรับแขกของชนชั้นกลางในคริสตศตวรรษที่ 18 
(ที่มา : http://www.voyagesphotosmanu.com/litterature_francaise_18eme_siecle.html)


อาจกล่าวได้ว่าพื้นที่สาธารณะดังกล่าวได้ทำหน้าที่เป็นพื้นที่ต่อสู้ทางการเมืองของชนชั้นกลางด้วย เพราะนอกจากการพูดคุยดังกล่าวจะเป็นช่องทางให้สมาชิกในสังคมได้เข้ามามีส่วนร่วมในชีวิตสาธารณะแล้ว ยังสามารถตรวจสอบรัฐบาลที่กำลังปกครองอยู่ในขณะนั้นได้ด้วย หลังจากนั้นผลที่เกิดขึ้นก็คือ กลุ่มพื้นที่สาธารณะนั้นก็จะนำเอาข้อสรุปหรือข้อเสนอไปต่อรองกับชนชั้นกษัตริย์หรือขุนนาง พื้นที่สาธารณะจึงเท่ากับเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้ชนชั้นกลางได้แสดงตัวในฐานะ “พลเมือง” และได้รวมตัวกันเพื่อเป็นช่องทางเข้าไปร่วมกับชีวิตสาธารณะของสังคม แต่นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 พื้นที่สาธารณะในฐานะที่เป็นพื้นที่ของ “เหตุผล” ตามความหมายของฮาเบอร์มาสกลับเริ่มถดถอยลดบทบาทลง การเผยแพร่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ได้แปรเปลี่ยนไปสู่สนองตอบผลประโยชน์ทางการค้ามากกว่าทางการเมือง ทำให้ข้อมูลข่าวสารแปรรูปจากความรู้   ข่าวสารไปสู่การโฆษณาสินค้า   การโฆษณาชวนเชื่อและการบิดเบือน ฮาเบอร์มาสชี้ให้เห็นว่าพื้นที่สาธารณะของชนชั้นกลางได้กลายเป็นพื้นที่ทางสังคมที่มีลักษณะเฉพาะอันเกิดจากการเติบโตของระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมในยุโรปตะวันตก และเช่นเดียวกัน เขาได้แสดงให้เราเข้าใจถึงความขัดแย้งกันระหว่างอุดมคติของความเท่าเทียมกันบนฐานของแนวคิดเสรีนิยมกับความไม่เท่าเทียมกันทางสังคมที่ถูกกำหนดโดยกลไกหรือความสัมพัน์ของการค้าการตลาด  (Dahlgren, 1994)


ประเด็นถกเถียงถึงความเป็นอุดมคติของพื้นที่สาธารณะ


การศึกษาเรื่องพื้นที่สาธารณะยังคงมีข้อถกเถียงเชิงวิพากษ์ในหลายประเด็นจนทุกวันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นที่เกี่ยวกับการแสดงบทบาทเชิงสัญลักษณ์และความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างคนกลุ่มต่าง ๆ ที่แสดงตัวในพื้นที่สาธารณะ บ้างก็วิจารณ์งานของฮาเบอร์มาสว่า เขาได้ทำให้พื้นที่สาธารณะของชนชั้นกลางในช่วงต้นกลายเป็นอุดมคติ โดยการนำเสนอพื้นที่ดังกล่าวในฐานะที่เป็นรูปแบบหนึ่งของการสนทนาและถกเถียงกันอย่างมีเหตุผล ซึ่งในความเป็นจริงอาจมีกลุ่มคนบางกลุ่มได้ถูกกีดกัดหรือเบียดขับออกไปจากพื้นที่นี้แล้ว และด้วยเหตุนี้การมีส่วนร่วมในพื้นที่ดังกล่าวจึงถูกจำกัด การเมืองไม่ว่าจะยุคสมัยใดย่อมหนีไม่พ้นเรื่องของผลประโยชน์และอำนาจ หรือแม้แต่การสนทนาและการถกเถียง เราจึงยังคงเห็นภาพของพื้นที่สาธารณะของชนชั้นกลางที่ถูกยึดครองหรือครอบงำโดยคนผิวขาว คนส่วนใหญ่ ผู้ชาย ชนชั้นนำ หรือนายทุน ในขณะที่พื้นที่สาธารณะของชนชั้นล่าง ชนชั้นแรงงาน แม่บ้าน หรือชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ แทบจะไม่ปรากฏให้เห็นในงานของเขา บ้างก็วิจารณ์ว่าการวิเคราะห์ของฮาเบอร์มาสยังมีความคลุมเครือเพราะยังขาดการนำเสนอประเด็นปัญหาอื่น ๆ ที่สำคัญและดูเหมือนจะเป็นการขยายภาพเกินจริง กล่าวคือ ด้านหนึ่งวาทกรรมของชนชั้นกลางไม่เคยแสดงออกถึงระดับของการใช้เหตุผลอย่างที่ฮาเบอร์มาสกล่าวถึง ส่วนอีกด้านหนึ่งในขณะที่ระบบทุนนิยมกำลังก้าวเดินไปข้างหน้าสถานการณ์ดังกล่าวกลับไม่ได้ถูกขัดขวางอย่างที่ฮาเบอร์มาสชี้ การเกิดพื้นที่สาธารณะจึงเป็นปัญหาเรื่องของการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์มากกว่า (Dahlgren, 1994) ส่วนฮาเบอร์มาสก็ยอมรับว่า เขาได้นำเสนอภาพที่ไม่เป็นจริงได้ทั้งหมดเกี่ยวกับองค์ประกอบที่เป็นอิสระและมีเสรีภาพของพื้นที่สาธารณะของชนชั้นกลาง และควรที่จะทำให้มันชัดเจนขึ้นด้วยว่า เขากำลังสถาปนาแบบฉบับที่เป็นเพียงอุดมคติอันหนึ่ง (Habermas, 1993 :III)
แม้ว่ายังมีข้อถกเถียงและวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับพื้นที่สาธารณะ แต่งานของฮาเบอร์มาสก็ถือว่าเป็นการจุดประเด็นให้เกิดการขบคิดและศึกษาถึงกระบวนการเกิดและปรับเปลี่ยนพื้นที่ดังกล่าวในแต่ละยุคสมัย ตราบใดที่เรายังคงยึดถือคุณค่าของสังคมประชาธิปไตยแบบเสรี

การเกิดความเห็นสาธารณะ (public opinion) (2) 


แนวคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะของฮาเบอร์มาสดังที่ได้กล่าวมาสะท้อนให้เห็นถึงความสนใจของเขาในเรื่องของการสื่อสารที่เรียกว่า ความมีเหตุมีผลเชิงการสื่อสาร (communicative rationality) ที่จะทำให้ความเป็นตัวตน (selfhood) ทั้งระดับปัจเจกและระดับสังคมเกิดขึ้นได้ เพราะคนที่จะต้องการเสรีภาพนั้น ต้องเป็นคนที่มีความตระหนักในตัวตนของตัวเองเสียก่อน อีกประการหนึ่ง หากมีการสื่อสารกันระหว่างคนในชุมชนจะทำให้แต่ละฝ่ายสามารถเข้าถึงความเป็นอัตวิสัยซึ่งกันและกัน (intersubjectivity) เข้าใจกันและกัน และสามารถเห็นพ้องต้องกัน (consensus) ได้ในท้ายที่สุด นั่นหมายความว่า การสื่อสารเป็นเงื่อนไขสำคัญสำหรับการปลดปล่อยสังคมให้มีเสรีภาพ (กาญจนา แก้วเทพ, 2543 : 157-179) และจะสามารถทำให้เกิดบรรทัดฐานที่จะวิจารณ์ความบิดเบือนต่าง  ๆ ได้

เมื่อพิจารณาตัวแบบระบบการสื่อสารทางการเมือง องค์ประกอบสำคัญในระบบก็คือ ความเห็นสาธารณะ (public opinion)  เนื่องจากเป็นภาพรวมของค่านิยมและความเชื่อมั่นร่วมกันของประชาชนต่อระบบการเมือง ทำให้รัฐบาลสามารถรับรู้เจตจำนงของประชาชน และเข้าใจข้อเรียกร้องและความต้องการของประชาชน แล้วนำไปกำหนดนโยบายและดำเนินการให้สอดคล้องกับเจตจำนงและความต้องการของประชาชนนั้น ในขณะเดียวกัน ความเห็นสาธารณะยังเป็นเครื่องมือในการควบคุม ต่อรอง กดดัน หรือตรวจสอบรัฐบาลของประชาชนได้ด้วย ความเห็นสาธารณะจึงเป็นกระบวนการย้อนกลับสารเพื่อปรับสมดุลในระบบการสื่อสารและระบบการเมืองและเป็นส่วนหนึ่งของระบบการตัดสินใจนโยบาย แต่ทั้งนี้ เรามักจะสับสนบ่อย ๆ ถึงความหมายของความเห็นสาธารณะกับเสียงส่วนใหญ่ (majority) เช่นเดียวกับที่เรามักจะสับสนระหว่างคำว่า “สาธารณะ” กับ “ฝูงชน” โดยลืมไปว่าความเห็นสาธารณะนั้นดำเนินไปด้วยพลังทางการเมืองและพลังของความคิดเห็นที่มักจะเป็นข้อถกเถียง ลื่นไหล และประกอบด้วยความแตกต่างหลากหลาย เช่น การเคลื่อนไหวของกลุ่มแนวอนุรักษ์นิยมกับกลุ่มปฏิรูปที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เฉพาะความเห็นใดความเห็นหนึ่ง ของกลุ่มใดกลุ่มเหนึ่งเพียงกลุ่มเดียว แต่เป็นพลังทางความคิดที่ขับเคลื่อนในช่วงเวลาหนึ่งและจะมีส่วนในการกำหนดการตัดสินใจทางการเมืองของผู้มีอำนาจหรือของประชาชนได้ ความเห็นสาธารณะจึงมีความซับซ้อนมากกว่าจะถูกมองเพียงความเห็นของคนส่วนใหญ่แล้วละเลยความเห็นของเสียงส่วนน้อย เนื่องจากเป็นเรื่องยากที่เราจะสามารถกำหนดขอบเขตตายตัวระหว่างความเป็นปัจเจก (ส่วนตัว) กับจุดร่วม (สาธารณะ) ของความคิดเห็นหรือการใคร่ครวญตัดสิน (judgment) ดังนั้นบ่อยครั้งที่เราจึงมักเห็นคนที่มีความเห็นคล้อยตามความเห็นของคนส่วนใหญ่ หรือพบการกล่าวอ้างคิดเห็นของตน (ส่วนตัว) ว่าเป็นความเห็นหรือมติของสาธารณะ  

ความเห็นสาธารณะเกิดขึ้นมาพร้อม ๆ กับการก่อตัวของพื้นที่สาธารณะ ในงานของฮาเบอร์มาส เขาได้วิเคราะห์การเกิดความเห็นสาธารณะในพื้นที่สาธารณะของชนชั้นกลางโดยอ้างว่า พื้นที่สาธารณะทำให้เรา (1) เข้าถึงความเป็นสากล  ก่อให้เกิด (2) การถกเถียงอย่างมีเหตุมีผล และ (3) ลดความเหลื่อมล้ำ แต่อย่างไรก็ตาม จากการวิพากษ์วิจารณ์ถึงอุดมคติของพื้นที่สาธารณะของนักวิชาการต่าง ๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ฮาเบอร์มาสก็เหมือนจะเชื่อว่า ลักษณะทั้งสามดังกล่าวไม่มีอยู่จริงอีกต่อไปแม้แต่ในประเทศประชาธิปไตยเสรีตะวันตก เพราะปัจจุบัน ความคิดเห็นสาธารณะกำลังถูกครอบงำด้วยชนชั้นนำอย่างเข้มข้น  (Habermas, 1993 :XIX-XX) ข้อถกเถียงเกี่ยวกับความเห็นสาธารณะและพื้นที่สาธารณะเห็นได้จากข้อเสนอของปิแอร์ บูร์ดิเยอ (Pierre Bourdieu) นักสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศสที่ชี้ว่า ตัวความคิดเห็นของสาธารณะนั้นเป็นสิ่งที่ถูกสร้างเสมือน “งานฝีมือที่บริสุทธิ์และไม่ซับซ้อน” โดยทำหน้าที่อำพรางความเห็นที่เป็นผลผลิตของระบบพลังอำนาจและความตึงเครียด และการนำเสนอความเห็นในเชิงปริมาณด้วยสัดส่วนร้อยละ ก็ดูเหมือนจะเป็นวิธีการที่เหมาะสมและแนบเนียนที่สุดในการสะท้อนความคิดเห็นเหล่านั้น นอกจากนี้ บูร์ดิเยอ ยังได้เพิ่มเติมอีกว่า ผลกระทบเบื้องต้นของการสำรวจความคิดเห็นก็คือการสถาปนาความคิด (idea) ที่มีอยู่แล้วให้เป็นความเห็นสาธารณะที่เป็นเอกฉันท์ ดังนั้น มันได้สร้างความชอบธรรมให้กับการเมืองและตอกย้ำถึงความสัมพันธ์ของพลังอำนาจทางการเมืองที่มีอยู่ในสังคม (Bourdieu, 1972)

สื่อมวลชนกับการสร้างพื้นที่สาธารณะในสังคมประชาธิปไตย


สื่อมวลชนโดยเฉพาะหนังสือพิมพ์มีอิทธิพลและมีบทบาทอย่างมากในพื้นที่สาธารณะด้วยความสามารถในการกระจายข้อมูลข่าวสารและความคิดเห็นออกไปในวงกว้างผ่านเทคโนโลยีที่นับวันจะยิ่งทวีความก้าวหน้า รวดเร็วและซับซ้อนมากขึ้น  Bernard Miège (1996, 1997) ได้วิเคราะห์บทบาทของการสื่อสารในการสร้างพื้นที่สาธารณะตลอดช่วงระยะเวลานับตั้งแต่การเกิดขึ้นของแนวคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะในยุโรปโดยแบ่งออกเป็น 4 ช่วงเวลาของการสื่อสารที่ทำให้พื้นที่สาธารณะขยายและแตกตัวออกไปอย่างกว้างขวาง ได้แก่ 1) การเกิดหนังสือพิมพ์การเมืองหรือหนังสือพิมพ์ความคิดเห็นในช่วงกลางศตวรรษที่ 18 2) การเกิดหนังสือพิมพ์ธุรกิจนับตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 19 3) การเกิดสื่อวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 20 และ 4) การเกิดการโฆษณาประชาสัมพันธ์ โดยเฉพาะการรณรงค์ทางการเมืองตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 1970 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม จากการพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสารในปัจจุบัน เราอาจมองช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่ 5 ของการสื่อสารได้ เมื่อธรรมชาติของหนังสือพิมพ์เปลี่ยนแปลงไป สื่อประเภทนี้ก็หมดบทบาทลง เมื่อสื่อสมัยใหม่ เช่น คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตได้ถือกำเนิดขึ้นมานับตั้งแต่ทศวรรษที่ 80 เป็นต้นมา  จวบจนถึงยุคของสื่อสังคมออนไลน์ จึงมีคำถามว่า สื่อใหม่เหล่านี้จะมีบทบาทในการสร้างพื้นที่สาธารณะอย่างไร มีนักวิชาการบางท่าน เช่น Scannell & Cardiff (1989) ให้ความสนใจที่จะศึกษาบทบาทของสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่มีต่อการสร้างพื้นที่สาธารณะแบบใหม่ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับสื่อประเภทคอมพิวเตอร์ที่มีธรรมชาติที่เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับการโต้เถียงอภิปราย แม้ว่าจะเป็นการสื่อสารผ่านตัวสื่อกลาง (mediated communication) มิใช่การสื่อสารแบบเผชิญหน้า (face-to-face communication) 


การพิมพ์ในช่วงปลายคริสตศวรรษที่ 18
(ที่มา : http://bibliophilie.blogspot.com/2007_06_01_archive.html)


ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่สาธารณะกับการสร้างสังคมประชาธิปไตยยุคใหม่นั้น สังคมประชาธิปไตยต้องการพลเมืองที่มีความรอบรู้ สามารถตัดสินปัญหาทางการเมืองด้วยตัวเอง แต่ในสังคมขนาดใหญ่และมีความสลับซับซ้อนเช่นทุกวันนี้ การที่พลเมืองทุกคนจะมีส่วนร่วมและตัดสินใจในกิจการทุกเรื่องด้วยตัวเองเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ กระบวนการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนจึงจำเป็นต้องกระทำผ่านตัวแทนหรือ “ผู้แทน” ที่พลเมืองเลือกขึ้นมาให้ทำหน้าที่ทางการเมืองแทนพวกเขา จึงกล่าวได้ว่า การเลือกผู้แทนแบบประชาธิปไตยในยุคใหม่ เป็นวิธีการที่ทำให้การมีส่วนร่วมทางการเมืองของพลเมืองอ่อนแอลง ดังนั้น เพื่อให้ระบอบตัวแทนดังกล่าวก่อผลเสียต่อกระบวนการประชาธิปไตยน้อยที่สุด สื่อมวลชนจึงมีหน้าที่ต้องเปิดพื้นที่สาธารณะ ใช้พื้นที่สาธารณะเป็นช่องทางให้พลเมืองได้รับข้อมูลความรู้เกี่ยวกับเหตุการณ์ความเป็นไปทางการเมืองทุกอย่างเป็นอย่างดี จากนั้นพลเมืองจึงจะสามารถนำข้อมูลเหล่านั้นไปอภิปรายโต้แย้ง ชั่งน้ำหนัก ตัดสินใจ และลงมือกระทำการทางการเมืองต่อไปตามวิจารณญาณที่เห็นเหมาะสม (วิภา อุตมฉันท์,2544 : 159 -160)

แม้ว่าสื่อมวลชนไม่ใช่เครื่องมืออย่างเดียวของพื้นที่สาธารณะ แต่ก็เป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุดในสังคมปัจจุบัน เพราะสื่อเป็นตัวกลางที่จะกระตุ้นให้สาธารณชนเข้าร่วมกระบวนการทางการเมือง นอกจากนี้ สื่อที่เปิดพื้นที่กว้างขวางให้กับสาธารณะ ยังเป็นปัจจัยชี้ขาดความมั่นคงยั่งยืนของประชาธิปไตยที่สื่อสร้างให้กับสังคมด้วย ตรงกันข้าม ถ้าขาดแคลนพื้นที่สาธารณะหรือสื่อทำหน้าที่ย่อหย่อนไร้ประสิทธิภาพ ประชาชนก็จะเกิดความไร้เดียงสาหรือเย็นชาทางการเมือง (Depoliticized) รู้สึกเหมือนถูกโดดเดี่ยวขาดพลัง ต่างคนต่างหาทางออกเฉพาะหน้าให้กับตัวเอง เมื่อนั้นก็จะเปิดทางให้มีผู้อุปโลกน์ตัวเองขึ้นมาเป็นผู้นำมวลชนและแย่งยึดอำนาจการตัดสินใจของสังคมไป ดังที่ฮาเบอร์มาสและแมคเชสนีย์ได้ยืนยันว่า พื้นที่สาธารณะจะค้ำจุนประชาธิปไตยให้เจริญเติบโตได้ สื่อต้องสามารถแสดงทัศนะทางการเมืองออกมาได้โดยไม่มีข้อจำกัด รัฐมีหน้าที่ต้องทุ่มเททรัพยากรทุกอย่างเท่าที่จำเป็นให้กับสื่อที่ทำงานให้กับพื้นที่สาธารณะ เพื่อถ่วงดุลไม่ให้เศรษฐกิจและการเมืองที่ทรงอิทธิพล เข้ายึดพื้นที่ของสื่อที่เป็นตัวแทนของประชานฝ่ายที่เสียเปรียบและด้อยอำนาจในสังคม (วิภา อุตมฉันท์, 2544 : 164)

อิทธิพลของสื่อใหม่กับการสร้างพลังประชาธิปไตย 

(โปรดดูในบทความเรื่อง "พลังของสื่อใหม่กับการสร้างเครือข่ายสังคมประชาธิปไตย" 10/4/56)


เชิงอรรถ

(1)  คำว่า บุคคลสาธารณะ ในที่นี้มีความหมายแตกต่างจากความหมายที่ใช้กันในปัจจุบัน กล่าวคือ ในช่วงคริสศตวรรษที่ 16-17 ชนชั้นสูงหรือชนชั้นปกครองเท่านั้นจึงจะสามารถอ้างความชอบธรรมในการครอบครองความเป็นสาธารณะ เช่น ที่ดิน ทรัพย์สิน ไพร่พล ความรู้ อำนาจทางการเมืองการบริหาร อำนาจทางการทหาร เป็นต้น หากบุคคลใดสามารถแสดงสัญลักษณ์ที่บ่งชี้ถึงความเป็นชนชั้นปกครองได้ บุคคลนั้นก็จะสามารถเข้าถึงพื้นที่สาธารณะและมีความเป็นบุคคลสาธารณะได้ (Habermas, 1993 :42-53) ตัวอย่างเช่น ในราชสำนักฝรั่งเศสสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 พระราชวังแวร์ซายส์ถือเป็นพื้นที่สาธารณะของชนชั้นสูงในสมัยนั้น การพูดคุยประเด็นทางการเมือง การแลกเปลี่ยนความรู้วิทยาการ รวมทั้งข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ จำกัดอยู่ในอาณาเขตราชสำนัก ในงานเลี้ยงสังสรรค์หรืองานชุมนุมในพระราชวังหรือปราสาทของชนชั้นสูงเท่านั้น การจะได้มีโอกาสเข้าร่วมงานเลี้ยงหรือพบปะกับชนชั้นสูงนั้นจำเป็นที่บุคคลจะต้องแสดงคุณสมบัติที่สอดคล้องกับความเป็นสาธารณะเสียก่อน เช่น การแต่งกาย กิริยามารยาทสังคม การใช้ภาษา ชาติตระกูล ทรัพย์สิน หรือภูมิความรู้ ราชสำนักจึงเป็นศูนย์กลางอำนาจทางการเมือง การทหารและความรู้ศิลปะวิทยาการที่กระจุกอยู่แต่เฉพาะบุคคลชั้นสูงหรือผู้มีความรู้ ในขณะที่เมื่อเกิดชนชั้นกลางในช่วงคริสศตวรรษที่ 17-18 พื้นที่สาธารณะได้เคลื่อนออกจากเขตพระราชวังมาสู่ภายนอกเช่น บ้านของขุนนางและชนชั้นกลางในเมือง ร้านกาแฟ สโมสร ที่ทำการสมาคม ซึ่งเปิดกว้างให้คนธรรมดาสามัญสามารถเข้าร่วมได้มากขึ้น ความหมายของบุคคลสาธารณะจึงเปลี่ยนแปลงไปด้วยโดยเคลื่อนจากชนชั้นสูงในราชสำนักมาสู่ชนชั้นกลางที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจ และพื้นที่ที่เคลื่อนจากความเป็นส่วนตัว (ในครอบครัว, วงศาคณาญาติ, ชุมชน) มาสู่ความเป็นสาธารณะ (สังคมภายนอก)    

(2)   ความเห็นสาธารณะ เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นในช่วงคริสศตวรรษที่ 18 คำนี้ปรากฏเป็นครั้งแรกในภาษาฝรั่งเศส l’opinion publique ในปี 1588 ในงานของ Montaigne แนวคิดนี้เกิดจากกระบวนการพัฒนาพลังทางการเมืองและสังคม ประกอบกับการเติบโตของเมืองในแถบยุโรปตะวันตก นักคิด นักปรัชญา นักวิชาการรัฐศาสตร์หลายคนในหลายยุคสมัยได้พัฒนาแนวคิดนี้อันเป็นฐานสำคัญหนึ่งของการพัฒนาการเมืองแบบประชาธิปไตย เช่น Adam Smith, Jeremy Bentham, Jürgen Habermas, Herbert Blumer 

เอกสารอ้างอิง

- กาญจนา แก้วเทพ, กิตติ กันภัย และปาริชาต สถาปิตานนท์ สโรบล. 2543. มองสื่อใหม่ มองสังคมใหม่. กรุงเทพฯ : เอดิสัน เพรส โพรดักส์.
- กาญจนา แก้วเทพ. 2545. สื่อสารมวลชน ทฤษฎีและแนวทางการศึกษา. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ศาลาแดง.
- วิภา อุตมฉันท์. 2544. ปฏิรูปสื่อเพื่อสังคม หลักคิดและบทเรียนจากนานาประเทศ. กรุงเทพฯ : คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
- Bourdieu, Pierre. 1972. « L’opinion publique n’existe pas », Les Temps modernes, 29 (318), janv. 73 : 1292-1309. (http://homme-moderne.org/societe/socio/bourdieu/questions/opinionpub.html).
- Dahlgren, Peter. 1994. L’espace public et les médias. Une nouvelle ère ?. Hermès 13-14.
- Dahlgren, Peter and Relieu, Marc. 2000. « L’espace public et l’internet. Structure, espace et communication. », in Réseaux, vol. 18 no.100, pp. 157-186. (http://www.persee.fr/web/revues/home/prescript/article/reso_0751-7971_2000_num_18_100_2217)
- Habermas, Jürgen. 1993. L’espace public : Archéologie de la publicité comme dimension constitutive de la société bourgeoise. [The Structural Transformation of the Public Sphere.] Paris : Payot.
- Kellner, Douglas. Habermas, the Public Sphere, and Democracy: a Critical Intervention. (http://www.gseis.ucla.edu/faculty/kellner/)
- Miège, Bernard. 1996 (t.1), 1997 (t.2). La société conquise par la communication, tomes 1 et 2. Grenoble : Presses universitaires de Grenoble.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น