วันอาทิตย์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2560

จากการสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม สู่การสื่อสารเพื่อสันติภาพ

แนวคิดการสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม (Communication for Social Change) 
และการสื่อสารเพื่อสันติภาพ (Communication for Peace) 

ประสบการณ์จากสถานการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรง นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา รูปแบบและปัจจัยของความขัดแย้งมีความซับซ้อนและหลากหลายตามพัฒนาการของสังคมและการเปลี่ยนแปลงของระบบการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ข้อมูลการเฝ้าติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์ความขัดแย้งทั่วโลก (Conflict   Barometer) ของสถาบันไฮเดลเบิร์กเพื่อการวิจัยความขัดแย้งในระดับสากล (Heidelberg Institute for International Conflict Research) พบว่าจำนวนความขัดแย้งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากจำนวน 74 กรณีใน พ.ศ. 2488 เป็น 249 กรณี ในปี 2548 และในปี 2559 รายงานระบุว่า มีจำนวนประเทศทั่วโลกที่จัดอยู่ในสภาวะความขัดแย้งมากถึง 402 กรณี ในจำนวนนี้ 226 กรณีเป็นความขัดแย้งรุนแรง (Violent conflict) อีก 176 กรณีเป็นความขัดแย้งที่ยังไม่เกิดความรุนแรง (Non-violent conflict) และส่วนใหญ่เป็นความขัดแย้งภายในรัฐ (Heidelberg Institute for International Conflict Research, 2016)  จำนวนดังกล่าวเป็นการยืนยันว่าหลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรง

ในช่วงเวลาเดียวกัน ความสนใจต่อบทบาทของการสื่อสารในห้วงเวลาความขัดแย้งและภาวะวิกฤตก็เริ่มเด่นชัดมากยิ่งขึ้น  องค์กรด้านการพัฒนาระดับสากล เช่น องค์การสหประชาชาติ นักวิชาการ นักวิจัยและนักกิจกรรมทางสังคม ต่างเห็นตรงกันว่า การสื่อสารเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างสภาวะของความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในสังคม ก่อให้เกิดกลไกการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ความคิด ความหมายเพื่อป้องกันความขัดแย้ง ช่วยส่งเสริมสิทธิและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ และเป็นพลังของการเปลี่ยนแปลงสังคม (Hoffmann, 2013, p. 7)

ข้อสรุปดังกล่าวเป็นผลมาจากการอภิปรายถกเถียงในวงวิชาการ นักปฏิบัติงานเพื่อสังคมและองค์กรภาคประชาสังคมถึงบทบาทของสื่อและการสื่อสารในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ยุติความรุนแรงและการฟื้นฟูสังคมให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน คำถามจากแนวคิดนี้ก็คือ สังคมจะใช้การสื่อสารเป็นส่วนหนึ่งของการป้องกันความขัดแย้งไม่ให้ลุกลามบานปลายเป็นความรุนแรงได้อย่างไร การสื่อสารจะมีบทบาทในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเกิดวัฒนธรรมสันติภาพ (Culture of Peace) และคลี่คลายความขัดแย้งได้อย่างไร และภายหลังความขัดแย้งรุนแรง การสื่อสารจะช่วยฟื้นฟูความสัมพันธ์ของคนในสังคมและพัฒนาสังคมให้มีความมั่นคงเพื่อไม่ให้กลับเข้าสู่วงจรของความขัดแย้งนั้นได้อย่างไร นับเป็นโจทย์ที่ท้าทายต่อนักสื่อสารเป็นอย่างยิ่ง

ประเด็นคำถามแรกเกี่ยวกับบทบาทสื่อและการสื่อสารในการหลีกเลี่ยงการเกิดความรุนแรง เป็นผลมาจากบทเรียนของเหตุการณ์ความขัดแย้งรุนแรงในหลายประเทศ หนึ่งในกรณีศึกษานั้นก็คือความขัดแย้งรุนแรงในประเทศรวันดาที่นำไปสู่การทำร้ายและทำลายชีวิตระหว่างประชาชนสองเผ่าคือเผ่าทุตซี่ (Tutsi) และเผ่าฮูตู (Hutu) ในช่วงวันที่ 7 เมษายนถึงกลางเดือนกรกฎาคม 2537 เหตุการณ์ในครั้งนั้น มีการรายงานว่าชาวรวันดาเสียชีวิตระหว่าง 500,000 – 1,000,000 คน มีการแบ่งแยกทางชาติพันธุ์ที่ได้รับการปลุกปั่นโดยสื่อที่สนับสนุนชาติพันธุ์ตนเองและระดมมวลชนให้ลุกฮือขึ้นใช้ความรุนแรงต่อกัน เหตุการณ์ดังกล่าว นักวิเคราะห์ด้านความขัดแย้งและความรุนแรงมองว่า ปัจจัยสำคัญของความรุนแรงในรวันดาได้แก่ 1) การปลุกอุดมการณ์ชาติพันธุ์โดยนักการเมือง นักวิชาการ และสื่อ ตลอดระยะเวลาหลายปีนับตั้งแต่ปี 2533 2) โครงสร้างและกลไกทางสังคมที่แข็งตัวของทั้งสองเผ่า ส่งผลให้การควบคุมมวลชนมีความเข้มงวด 3) การควบคุมสื่อ 4) การเตรียมการเชิงจิตวิทยาให้เกิดความเกลียดชัง และ 5) การเรียกร้องให้ใช้ความรุนแรงผ่านสื่อมวลชน สุดท้ายจึงเกิดเหตุการณ์บานปลายเป็นความรุนแรงจนยากที่จะควบคุมแม้ว่าองค์การสหประชาชาติจะส่งกองกำลังเข้ามาควบคุมสถานการณ์ก็ตาม แต่การแก้แค้นตอบโต้ก็ยังคงดำเนินมาต่อเนื่องอีกกว่าสองทศวรรษ (Lower & Hauschildt, 2014)

อีกบทบาทหนึ่งของการสื่อสารในระหว่างช่วงเวลาของความขัดแย้ง ประสบการณ์จากการศึกษาความขัดแย้งเรื่องดินแดนในประเทศเอธิโอเปียในช่วงต้นทศวรรษ 1990 หนังสือพิมพ์มีบทบาทสำคัญในการกำหนดวาระข่าวสาร และเรียกร้องให้มีการเจรจาพูดคุยสันติภาพ (Peace Dialogue) สื่อมีบทบาทในการเปิดเวทีถกเถียงเรื่องนิยาม อัตลักษณ์ของชาติ แต่อย่างไรก็ตาม การถกเถียงดังกล่าวยังค่อนข้างจำกัด สื่อสามารถวิจารณ์รัฐบาลได้เฉพาะแต่เรื่องนโยบายการบริหารประเทศ แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้เปิดประเด็นเรื่องสาธารณรัฐของกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลาย (Ethnic Federalism) ขณะที่รัฐบาลพยายามเบี่ยงเบนโดยอ้างว่าไม่มีความจำเป็นในเรื่องการเจรจาและกล่าวหาคนที่เข้าร่วมกระบวนการสันติภาพว่าเป็นผู้ไม่หวังดีต่อความสงบเรียบร้อยของประเทศ รวมทั้งจำกัดกลุ่มคนที่เข้าร่วมในกระบวนการพูดคุยสันติภาพโดยเฉพาะกลุ่มนักวิชาการและนักเคลื่อนไหวทางสังคม ในเวลาเดียวกันสื่อของรัฐได้พยายามโฆษณาชวนเชื่อและไม่ยอมรับแนวคิดอื่น เช่น หนังสือพิมพ์ Tabiya ที่สนับสนุนฝ่ายรัฐบาล และสื่อสารต่อต้านแนวคิดระบบการเมืองที่มีส่วนผสมของความหลากหลายทางชาติพันธุ์ จากกรณีดังกล่าวเป็นตัวอย่างของบทบาทของสื่อในห้วงเวลาระหว่างการเกิดสถานการณ์ความขัดแย้ง (Hoffmann, 2013) คำถามที่ตามมาคือ สื่อจะมีส่วนเอื้ออำนวยให้เกิดการพูดคุยสันติภาพได้หรือไม่ สื่อมีบทบาทในการเปิดประเด็นการถกเถียงถึงปัญหาแกนกลางได้อย่างไรบ้าง และสื่อจะช่วยสนับสนุนให้เกิดรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพและมีธรรมาภิบาลในการบริหารประเทศได้หรือไม่

สำหรับงานศึกษาด้านการสื่อสารในสถานการณ์ความขัดแย้งรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย Phansasiri Kularb (2016) ได้ศึกษาบทบาทของสื่อไทยในการรายงานข่าวสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชานแดนภาคใต้และมีข้อเสนอว่า สื่อควรแสดงบทบาทสำคัญ 3 ประการคือ 1) การเป็นผู้นำเสนอความจริง โดยทำงานด้วยหลักการตั้งคำถามและค้นหาสาเหตุและผลต่อเนื่องของความขัดแย้งโดยไม่เลือกเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง 2) การเป็นเวทีของทุกฝ่ายโดยการเปิดโอกาสให้เสียงของทุกฝ่ายได้ปรากฏโดยเฉพาะเสียงของคนกลุ่มน้อย และ 3) การเป็นผู้สนับสนุนกระบวนการคลี่คลายความขัดแย้งเพื่อนำไปสู่การสร้างสันติภาพ พรรษาสิริยังเสนอว่า สองบทบาทแรกจะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งในวิชาชีพด้านวารสารศาสตร์ ส่วนบทบาทที่สามนั้นยังคงมีประเด็นถกเถียงในเรื่องของหลักการวารสารศาสตร์อยู่ไม่ว่าจะเป็นแนวทางการปฏิบัติงานด้านการรายงานข่าว การเลือกข้าง ความเป็นกลางและความเป็นอิสระของสื่อ อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติงานที่มีความแตกต่างหลากหลายในระบบนิเวศข่าวสารของไทยจะช่วยส่งเสริมงานด้านวารสารศาสตร์และเปิดโอกาสในการลดการครอบงำข่าวสาร อันนำไปสู่การเกิดการถกเถียงในสาระสำคัญเกี่ยวกับความขัดแย้งและหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ

จากตัวอย่างความขัดแย้งทั้งสองกรณีข้างต้นและผลการศึกษาบทบาทของสื่อในบริบทสังคมไทย จะเห็นได้ว่าข้อวิพากษ์และความคาดหวังต่อบทบาทของสื่อและการสื่อสารในสถานการณ์ความขัดแย้งนั้นยังจำเป็นต้องมีการถกเถียงและศึกษาทำความเข้าใจ และถือว่ายังเป็นจุดอ่อนในวงวิชาการด้านการสื่อสารกับการคลี่คลายความขัดแย้งและการสร้างสันติภาพ (Conflict Resolution and Peacebuilding) ดังข้อสังเกตของ Kalathil, Langlois and Kaplan (2008 อ้างถึงใน Hoffmann & Julia, 2013, p. 6) ที่เสนอรายงานไปยังองค์การสหประชาชาติระบุว่า “พื้นที่เดียวของการฟื้นฟูภายหลังความขัดแย้งและการพัฒนายังคงไม่ได้ถูกศึกษาอย่างจริงจังก็คือ สื่อและการสื่อสาร” เนื่องจากนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา การศึกษาด้านการสื่อสารมุ่งไปที่ความสำคัญของผลกระทบของสื่อมวลชน (Mass Media Effects) ที่มีส่วนในการระดมคนไปสู่การสนับสนุนสงคราม หรือการสื่อสารในเชิงการประชาสัมพันธ์ (Public Relations) เพื่อส่งข่าวสารไปยังผู้รับสารมากกว่ามุ่งส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสื่อสารและเป็นผู้สื่อสารด้วยตนเอง

แนวคิดคู่ขนานของการสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมกับการสื่อสารเพื่อสันติภาพ

ความสนใจการศึกษาศาสตร์ด้านการสื่อสารเพื่อคลี่คลายความขัดแย้งและสร้างสันติภาพพัฒนามาจากแนวคิดการสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม ในช่วงทศวรรษ 1960 ตัวแบบการสื่อสารเพื่อการพัฒนา (Communication for Development) เป็นแนวทางสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนตามกระบวนทัศน์การพัฒนาที่เรียกว่า “ความเป็นสมัยใหม่” (Modernization) ที่มุ่งเน้นรายได้ประชากร นวัตกรรมสมัยใหม่ที่สอดคล้องกับสังคมอุตสาหกรรม (Industrial Modern Society) การสื่อสารมุ่งเน้นที่การใช้การสื่อสารมวลชนในการสนับสนุนการเผยแพร่แนวคิดและข้อมูลข่าวสารใหม่ ๆ ที่กระตุ้นให้ผู้คนมีพฤติกรรมและวิถีชีวิตสมัยใหม่ ตัวแบบการพัฒนาดังกล่าวก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในวงวิชาการด้านการสื่อสารและการพัฒนาว่าละเลยคุณค่าทางวัฒนธรรมย่อย (Subculture) และก่อให้เกิดการครอบงำทางวัฒนธรรม (Cultural Domination) ของประเทศที่พัฒนาแล้วต่อประเทศกำลังพัฒนา การพัฒนาตามกระบวนทัศน์ดังกล่าวไม่สามารถปลดเปลื้องความยากไร้และสร้างชีวิตที่ดีให้กับประชาชนได้อย่างแท้จริง

ช่วงทศวรรษที่ 1980กระแสแนวคิดการสื่อสารแบบมีส่วนร่วม (Participatory Communication) เริ่มมีบทบาทมากขึ้นภายหลังการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์การพัฒนา โดยมองว่าการใช้การสื่อสารเพื่อแพร่กระจายนวัตกรรม (Diffusion of Innovation) และข้อมูลข่าวสารจากส่วนบนไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้จริงและไม่ได้ช่วยให้ประชาชนมีความเข้มแข็ง ตัวแบบการสื่อสารแบบใหม่จึงถูกเสนอขึ้นเพื่อช่วยให้ประชาชนสามารถใช้การสื่อสารเพื่อการตัดสินใจเชิงนโยบายและแผนการพัฒนาจากรัฐ ที่เรียกว่า การสื่อสารเชิงขับเคลื่อนนโยบาย (Advocacy Communication) และการสื่อสารเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม (Communication for Social Change) เพื่อทำให้ประชาสังคมมีความเข้มแข็ง สามารถปรับตัวกับสังคมและสร้างระบบเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับชุมชนของตัวเอง (United State Institute of Peace, 2014 ; Hoffmann & Julia, 2013, pp. 6-10)

กระแสแนวคิดการสื่อสารดังกล่าวได้ส่งต่อมาสู่ตัวแบบการสื่อสารในช่วงเวลาเดียวกัน เมื่อสังคมเผชิญกับภาวะความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและการเมือง การปะทะทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ในโลกสมัยใหม่ ที่ส่งผลไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงและสงคราม การสื่อสารเพื่อสันติภาพและวารสารศาสตร์สันติภาพ (Peace Journalism) จึงกลายเป็นแนวคิดและสาขาวิชาใหม่ที่มีลักษณะข้ามสาขาวิชา (Transdisciplinary field) เนื่องจากเกี่ยวข้องกับองค์ความรู้หลายด้านทั้งการสื่อสาร การเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสันติศึกษา (Peace Studies) แนวคิดนี้ได้ก้าวผ่านความสนใจด้านผลกระทบของสื่อมวลชนต่อปัจเจกบุคคลและสังคม มาสู่การศึกษาบทบาทของสาขาวิชาด้านวารสารศาสตร์ (Journalism) และความเป็นตัวแทนของความขัดแย้ง ที่ปรากฏในสื่อมวลชน (Media Representation of Conflict) ในช่วงเวลาของความรุนแรง รวมทั้งบทบาทของการสื่อสารในการสร้างสันติภาพ (Lynch, 2008)

แนวคิดเรื่องการเพิ่ม “คนฟัง” มากกว่า “คนพูด” ให้ความสำคัญกับประชาชนในฐานะผู้ส่งสารมากกว่า การมองการสื่อสารเป็นเครื่องมือของการพัฒนาจากบนลงล่าง การสื่อสารโดยมองไปที่เป้าหมายเพื่อสันติภาพ การเพิ่มบทบาทของนักปฏิบัติการสื่อสารในระดับพื้นที่ ภาคประชาสังคมและชุมชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการคลี่คลายความขัดแย้งและเป็นเจ้าของช่องทางการสื่อสาร การสื่อสารเพื่อสันติภาพจึงเน้นกิจกรรมการสื่อสารเป็นสำคัญ

ขอบเขตการศึกษาวิจัยด้านการสื่อสารเพื่อสันติภาพ

Hoffmann and Julia, (2013, p. 25) ได้เสนอขอบเขตการศึกษาวิจัยด้านการสื่อสารเพื่อสันติภาพและการเปลี่ยนแปลงสังคม ได้แก่
  1. ผลกระทบของเผยแพร่ข่าวสารและการตีกรอบเนื้อหาสารไปที่ความสำเร็จของการเจรจาพูดคุยและการสร้างความเห็นสาธารณะ 
  2. ปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนระหว่างกระบวนการสันติภาพ 
  3. การสื่อสารเพื่อหนุนเสริมกระบวนการประชาธิปไตยและสิทธิพลเมือง 
  4. การวิพากษ์มุมมองแบบชาติพันธุ์เป็นศูนย์กลางและกระบวนการสร้างภาพตัวแทนของเนื้อหาข่าวสารเกี่ยวกับความเป็นคนอื่น 
  5. ผลกระทบของภาพตัวแทนในสื่อมวลชนต่ออารมณ์และแนวโน้มพฤติกรรมของผู้รับสาร 
  6. กลยุทธ์ข่าวสารสาธารณะ (Public Information Strategy) และการสื่อสารภาคพลเมือง 
  7. การนำเสนอความขัดแย้งของสื่อกระแสหลักด้วยมุมมองของสันติภาพและการคลี่คลายความขัดแย้ง 
  8. วารสารศาสตร์สันติภาพ (Peace Journalism) ที่ให้ความสำคัญกับสันติภาพในฐานะที่เป็นคุณค่าหลักและเป็นจุดหมายของการสื่อสาร 
  9. การสื่อข่าวที่มุ่งส่งเสริมสิทธิมนุษยชน (Human Rights Journalism) 
  10. เศรษฐศาสตร์การเมืองขององค์กรสื่อมวลชนที่กำหนดการผลิตข่าวสาร 
  11. เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสันติภาพ (ICT for Peace) และ 
  12. บทบาทของชนกลุ่มน้อยและผู้พลัดถิ่น

จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นได้ว่า การสื่อสารเพื่อสันติภาพเป็นสาขาวิชาที่มีขอบเขตกว้างขวางและหลากหลาย พัฒนาการและการพัฒนาแนวคิดในสาขาวิชาดังกล่าวยังจำเป็นต้องอาศัยการศึกษาวิจัยและการปฏิบัติทั้งจากกรณีศึกษา การศึกษาเปรียบเทียบและการวิจัยเชิงลึกเพื่อพัฒนาองค์ความรู้และสรุปบทเรียนเชิงประยุกต์สำหรับการสร้างสันติภาพและการพัฒนาสังคมที่เหมาะสมสำหรับสังคมที่มีความหลากหลายและซับซ้อนเช่นในปัจจุบัน การสื่อสารเพื่อสันติภาพไม่ใช่เป็นเพียงเครื่องมือในการเชื่อมความสัมพันธ์ของคนในสังคมเท่านั้น แต่ยังเป็นทรัพย์สินสาธารณะในตัวของมันเอง (Hoffmann & Julia, 2013) และยังเป็นเครื่องยืนยันถึงเสถียรภาพและความสมดุลของสังคมที่สงบสุขอันเป็นเป้าหมายที่แท้จริงของการเปลี่ยนแปลงสังคมอีกด้วย

มุมมองและข้อเสนอเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านการสื่อสารเพื่อสันติภาพ

สำหรับทิศทางการวิจัยด้านการสื่อสารเพื่อสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยนั้น คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการแนวทางการออกแบบหลักสูตรนิเทศศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการสื่อสารเพื่อสันติภาพและการเปลี่ยนแปลงสังคม (ภีรกาญจน์ ไค่นุ่นนาและคณะ, 2559)  พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่เป็นประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยอมรับว่า ความรู้ด้านการสื่อสารเพื่อสันติภาพนั้นมีความสำคัญและจำเป็นต่อพื้นที่ นอกจากนี้ มุมมองของนักวิชาการและผู้ปฏิบัติงานด้านการสื่อสารและสันติภาพในรายงานการวิจัยฉบับนี้ ยังแสดงถึงทิศทางการพัฒนาองค์ความรู้ในสาขานี้ ดังเช่น ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์และสันติวิธี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอว่า การสร้างองค์ความรู้ด้านการสื่อสารเพื่อสันติภาพควรยึดโยงกับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีระดับความรุนแรงที่สูง และองค์ความรู้นั้นจะต้องมีหลากหลายมิติ โดยเฉพาะมิติใหม่ ๆ ด้านการสื่อสารที่กำลังดำเนินอยู่ เช่น การเกิดขึ้นของสื่ออินเทอร์เน็ต มีผลทำให้เกิดความรุนแรงมากขึ้นหรือไม่ แล้วเกี่ยวโยงกับการสื่ออินเทอร์เน็ตที่มีการผลิตวาจาที่สร้างความเกลียดชังมากยิ่งขึ้นหรือไม่ ในขณะที่โทรทัศน์ถูกควบคุมมากกว่า หรือการสนใจศึกษาเกี่ยวกับการให้ความหมายของชีวิตในทางสัญลักษณ์ของผู้ที่ก่อเหตุรุนแรง เป็นต้น

ข้อเสนอดังกล่าว สอดคล้องกับศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ที่เสนอว่า การสื่อสารเพื่อสันติภาพต้องการองค์ความรู้เรื่องกระบวนการสันติภาพ การสื่อสารเพื่อสันติภาพต้องสร้างพื้นที่สาธารณะที่มีเหตุมีผล สร้างความเข้าใจของคนในสังคมและส่งเสริมการสร้างเครือข่าย หรือที่เรียกว่า Communicative Rationality  คือ การมีเหตุผลในการสื่อสาร และ Collective Understanding คือ การแลกเปลี่ยน ปรับตัว ยอมรับเหตุผลบางอย่างที่เป็นจุดร่วมกัน การสื่อสารเชิงสร้างสรรค์ เปิดข้อมูล สร้างความเข้าใจร่วมกัน การยอมรับการใช้การสื่อสารเพื่อสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหา การสื่อสารสันติภาพจะช่วยแปรเปลี่ยนความขัดแย้ง (Conflict Transformation) หรือเป็นความขัดแย้งที่ไม่ใช้ความรุนแรงให้เป็นสังคมที่ยึดข้อเท็จจริง ส่งเสริมให้คนทุกกลุ่มเข้าใจกระบวนการสันติภาพ  การสื่อสารเป็นส่วนหนึ่งที่จะหนุนเสริมโครงสร้างพื้นฐานของสันติภาพ  (Peace Infrastructure) และช่วยขยายการสื่อสารของภาคประชาสังคมให้เข้มแข็ง

สถานการณ์ความขัดแย้งรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงดำรงอยู่ ในขณะที่หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการคลี่คลายความขัดแย้งต่างก็กำลังพยายามแสวงหาทางออก การศึกษาวิจัยและการขับเคลื่อนทางวิชาการด้านการสื่อสารสันติภาพและการเปลี่ยนแปลงสังคมยังเป็นแนวทางที่จำเป็นเพื่อหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพและนำพาสังคมไปสู่สันติสุข.


รายการอ้างอิง
  • Hanitzsch, T.M. (2007).  Situating Peace Journalism in Journalism Studies: A Critical Appraisal. in Conflict and Communication Online, Vol. 6, No. 2. Retrieved from http://www.cco.regener-online.de.
  • Heidelberg Institute for International Conflict Research.  (2016).  Conflict Barometer 2016, no. 25. Germany.
  • Hoffmann & Julia.  (2013). Conceptualizing ‘Communication for Peace’. UPEACE Open Knowledge Network, Occasional Working Papers No.1 (January 2013). Costa Raca: University for Peace.
  • Lower, M. T. & Hauschildt, T. M. (2014). The Media as a Tool of War: Propaganda in the Rwandan Genocide in Human Rights and Conflict Resolution, Human Security Centre, Issue 2, No.1. Retrieved from http://www.hscentre.org/sub-saharan-africa/media-tool-war-propaganda-rwandan-genocide/
  • Lynch, J. (2008). Debates in Peace Journalism. Sydney: Sydney University Press.
  • Phansasiri Kularb. (2014). Beyond Conventional Professionalism: Diverse Roles of Thai Journalism in the Southern Conflict.  International Conference Proceedings on Communication, Conflict and Peace Processes: Landscape of Knowledge from Asia and the Deep South of Thailand. Prince of Songkla University, Pattani Campus, Thailand, 32-51. Retrieved from http://www.comm-sci.pn.psu.ac.th/ccpp2014/?q=node/1
  • United State Institute of Peace (USIP). (2014). Communication for Peacebuilding: Practices, Trends and Challenges. Retrieved from https://www.sfcg.org/wp-content/uploads/2014/02/communication-for-peacebuilding-practices-trends-challenges.pdf 
  • ภีรกาญจน์ ไค่นุ่นนา, กุสุมา กูใหญ๋, กฤษดี พ่วงรอด, ฮัมเดีย มูดอ, อมรรัตน์ ชนะการณ์. (2559). การศึกษาแนวทางการออกแบบหลักสูตรระดับปริญญาตรี และปริญญาโท คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. ปัตตานี : มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี.

วันพฤหัสบดีที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2559

สถานภาพการสื่อสารภายใต้บริบทการการพูดคุยสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้




รายงานการสำรวจสถานภาพการสื่อสาร

ภายใต้บริบทการการพูดคุยสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 

กุสุมา กูใหญ่ 

การสำรวจครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้  ศูนย์ศึกษาและพัฒนาการสื่อสารสันติภาพ คณะวิทยาการสื่อสารและศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในโครงการ “การศึกษาสภาพทางสังคมและสถานการณ์ยาเสพติด ภายใต้บริบทการการพูดคุยสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้” โดยการสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.)

การสำรวจมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการเปิดรับข่าวสารและช่องทางการสื่อสารของประชาชนผ่านสื่อมวลชน สื่อชุมชนและสื่อสังคม ความคิดเห็นต่อข้อมูลข่าวสารและบทบาทของสื่อในการหนุนเสริมการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งความเชื่อมั่นต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพ ทั้งนี้ ได้ดำเนินการในช่วงเดือนธันวาคม 2558 – เดือนมกราคม 2559 โดยการสุ่มตัวอย่างประชากรจำนวน 1,205 ตัวอย่าง ที่อาศัยอยู่ใน 200 ชุมชน กระจายในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา

ผู้ตอบแบบสอบถามประกอบด้วยเพศชาย จำนวน 622 คน (ร้อยละ 51.6) และเพศหญิงจำนวน 583 คน (ร้อยละ 48.4) มีอายุเฉลี่ย 38.06 ปี โดยส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามร้อยละ 82 และศาสนาพุทธร้อยละ 18 ส่วนใหญ่สำเร็จการศึกษาสูงสุดภาคสามัญ ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ร้อยละ 30.4 รองลงมาคือระดับประถมศึกษา ร้อยละ 21.9   ส่วนระดับการศึกษาสูงสุดภาคศาสนาอิสลาม ส่วนใหญ่จบการศึกษาระดับกลาง (มูตาวัตซิส) ร้อยละ 23.7 รองลงมาคือระดับชั้นตาดีกา ร้อยละ 22.6 และส่วนใหญ่มีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่า 10,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 56.4

แนวคิดในการศึกษา

การสำรวจครั้งนี้ ได้ใช้แนวคิดด้านการสื่อสารสันติภาพ (Peace Communication) และความรู้เท่าทันสื่อและข่าวสาร (Media and Information Literacy) เป็นกรอบในการศึกษาซึ่งเป็นการศึกษาภูมิทัศน์ด้านการสื่อสารในพื้นที่ความขัดแย้งบทบาทของการสื่อและข่าวสารในกระบวนการสร้างสันติภาพ และการตระหนักรู้ต่อข่าวสารของประชาชน กรอบแนวคิดดังกล่าวมีการศึกษาในหลายประเทศ เช่น ติมอร์-เลสเต ในปี 2554  อัฟกานิสถาน ในปี 2553  ทั้งนี้ คณะผู้วิจัยมีสมมติฐานว่าโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชนจะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเจรจาพูดคุยสันติภาพและการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดทิศทางและเป้าหมายของการบรรลุข้อตกลงร่วมกันทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างสันติวิธี ในขณะเดียวกัน การศึกษาจะทำให้ผู้มีบทบาทสำคัญในกระบวนการพูดคุยสันติภาพได้รับทราบถึงข้อกังวล ความต้องการและข้อเสนอแนะของประชาชนและนำมาใช้ในการกำหนดประเด็นการสร้างสันติภาพต่อไป


ภูมิทัศน์การสื่อสารในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ : ปัจจุบันของสื่อและอนาคตของสันติภาพ

การศึกษาครั้งนี้ มุ่งทำความเข้าใจถึงสภาพการณ์ในปัจจุบันของการเปิดรับข่าวสารผ่านสื่อต่าง ๆ ทั้งสื่อมวลชน สื่อชุมชน สื่อบุคคลและสื่อใหม่ โดยกลุ่มตัวอย่างให้คะแนนความบ่อยในการติดตามข่าวสารผ่านสื่อตั้งแต่ 0 ถึง 5 คะแนน โดยผลการสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างเปิดรับข่าวสารจากสื่อโทรทัศน์มากเป็นอันดับหนึ่ง (ค่าเฉลี่ย 3.97) รองลงมาคือ ข่าวสารจากคนสนิท เพื่อนบ้านหรือคนในชุมชน (ค่าเฉลี่ย 3.03) และข่าวสารจากวิทยุ (ค่าเฉลี่ย 2.99) แนวโน้มที่น่าสนใจก็คือ การเปิดรับข่าวสารจากสื่อทางโทรศัพท์เคลื่อนที่เช่นไลน์ และสื่ออินเทอร์เน็ต เป็นช่องทางที่กลุ่มตัวอย่างใช้รับข่าวสารมากเป็นอันดับสี่ (ค่าเฉลี่ย2.97) และห้าตามลำดับ (ค่าเฉลี่ย 2.82) ทั้งนี้ การเปิดรับข่าวสารผ่านสื่อดังกล่าวเป็นแบบแผนเดียวกันกับช่องทางการเปิดรับข่าวสารในประเด็นเกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้

นอกจากนี้ แหล่งข่าวสารที่กลุ่มตัวอย่างเชื่อถือ 5 อันดับแรก ได้แก่ สื่อโทรทัศน์ สื่อวิทยุ ข่าวสารจากมัสยิด ข่าวสารจากคนสนิทหรือคนในชุมชน และข่าวสารจากอินเทอร์เน็ต ตามลำดับ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ประชาชนเปิดรับข่าวสารจากสื่อที่หลากหลายทั้งสื่อมวลชน สื่อบุคคลและสื่อใหม่ และมีแนวโน้มว่าสื่ออินเทอร์เน็ตและสื่อสังคมเช่นไลน์เริ่มมีบทบาทสำคัญในพื้นที่การสื่อสารนี้

สำหรับประเด็นข่าวสารเกี่ยวกับปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่สนใจติดตามมากที่สุด 3 อันดับแรกนั้นได้แก่ เหตุการณ์รุนแรงรายวัน สถานการณ์ปัญหาการแพร่ระบาดยาเสพติด และแนวทางการแก้ไขปัญหาของรัฐ ส่วนปัญหาด้านเศรษฐกิจ การประกอบอาชีพและด้านการศึกษา เป็นประเด็นที่ประชาชนสนใจในระดับรองลงมา ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงการตระหนักถึงปัญหาที่ประชาชนในพื้นที่กำลังเผชิญอยู่ทั้งประเด็นความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินและประเด็นสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ล้วนเป็นปัจจัยบั่นทอนสันติสุขในพื้นที่และเป็นประเด็นที่สื่อควรให้ความสำคัญ

โอกาสในการเพิ่มศักยภาพสื่อทวิภาษา

สำหรับประเด็นด้านภาษาที่ใช้ในการรับข่าวสารและความต้องการใช้ภาษานั้น ผลการสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ใช้ภาษาไทยและต้องการใช้ภาษาไทยในการรับข่าวสารจากสื่อโทรทัศน์ (ร้อยละ 87.2 ของกลุ่มตัวอย่าง) วิทยุ (ร้อยละ 79.9) และหนังสือพิมพ์ (ร้อยละ 89.1) แต่ทั้งนี้ ในฐานะที่ประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่ใช้ภาษามลายูเป็นภาษาหลักในการสื่อสารในครอบครัว การสำรวจพบว่า จำนวนกลุ่มตัวอย่างที่ต้องการใช้ภาษามลายูในการรับข่าวสารก็มีสัดส่วนที่ไม่น้อย คิดเป็นร้อยละ 18.8 สำหรับสื่อวิทยุ และร้อยละ 12.2 สำหรับสื่อโทรทัศน์ ส่วนความต้องการใช้ภาษามลายูในการรับข่าวสารจากหนังสือพิมพ์นั้นมีเพียงร้อยละ 8.6 เนื่องจากข้อจำกัดด้านภาษาเขียนในภาษามลายูถิ่น

ทัศนคติต่อข่าวสารและบทบาทของสื่อมวลชนและสื่อท้องถิ่นในการหนุนเสริมสันติภาพ 

ในประเด็นทัศนคติต่อข่าวสารในสื่อมวลชน และบทบาทของสื่อมวลชนและสื่อท้องถิ่นในการหนุนเสริมสันติภาพนั้น คณะผู้วิจัยได้ออกแบบคำถามวัดระดับความคิดเห็นโดยใช้กรอบแนวคิดการสื่อสารสันติภาพและการรู้เท่าทันสื่อในประเด็นต่อไปนี้คือ ประโยชน์ของข้อมูลข่าวสาร ความถูกต้อง เที่ยงตรงและความหลากหลายของข่าวสาร คุณค่าของข่าวสารที่หนุนเสริมสันติภาพ ความสมดุล ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด และการให้ความเป็นธรรมในการนำเสนอข่าวสาร เสรีภาพของสื่อและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ความเข้าใจบริบทความขัดแย้งของสื่อมวลชน การตรวจสอบความถูกต้องของข่าวสารและข่าวลือโดยผู้รับสาร รวมทั้งความรู้สึกปลอดภัยในการสื่อสารกับบุคคลอื่น เป็นต้น ซึ่งผลการสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างมีทัศนคติต่อข่าวสารในสื่อมวลชนในภาพรวม (ค่าเฉลี่ย 2.99 จากคะแนนเต็ม 5) ทัศนคติต่อบทบาทของสื่อมวลชนในการรายงานข่าวสถานการณ์ภาคใต้ (ค่าเฉลี่ย 3.27) และทัศนคติต่อบทบาทของสื่อท้องถิ่นและสื่อชุมชนในระดับปานกลาง (ค่าเฉลี่ย 3.11)

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาอันดับคะแนนความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างที่มีต่อข่าวสารในสื่อมวลชนในประเด็นต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาข้างต้น 5 อันดับแรก พบว่า กลุ่มตัวอย่างเห็นว่าข่าวสารในสื่อมวลชนทุกวันนี้มีเนื้อหาหลากหลายมากขึ้น (ค่าเฉลี่ย 3.41) รองลงมาคือเห็นว่าสื่อมวลชนยังคงมุ่งเน้นนำเสนอข่าวสารรัฐบาล (ค่าเฉลี่ย 3.29) สื่อมวลชนทำให้ประชาชนได้รับข่าวสารที่เที่ยงตรงและเป็นประโยชน์ (ค่าเฉลี่ย 3.25)   และสื่อมวลชนนำเสนอข่าวสารที่เน้นความเห็นมากกว่าข้อเท็จจริง (ค่าเฉลี่ย 3.24)

ในส่วนของบทบาทของสื่อมวลชนในการรายงานข่าวสถานการณ์ภาคใต้ ประเด็นที่กลุ่มตัวอย่างเห็นด้วยมาก 5 อันดับแรกก็คือ สื่อมวลชนควรตรวจสอบข้อเท็จจริง และแก้ไขข้อผิดพลาดของข้อมูลเมื่อทราบโดยทันที (ค่าเฉลี่ย 3.72) ควรนำเสนอข่าวสารเกี่ยวกับปัญหาสังคมอื่น ๆ เช่น ปัญหายาเสพติด (ค่าเฉลี่ย 3.70) ควรคอยติดตามสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่และรายงานโดยเร็ว (ค่าเฉลี่ย 3.61) ควรเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่หลากหลายและยอมรับความเห็นต่าง (ค่าเฉลี่ย 3.52) และควรนำเสนอรายละเอียดข้อมูลการพูดคุยสันติภาพ/สันติสุขระหว่างรัฐบาลและฝ่ายผู้เห็นต่าง (ค่าเฉลี่ย 3.40)

สำหรับบทบาทของสื่อท้องถิ่นและสื่อชุมชนนั้น กลุ่มตัวอย่างเห็นว่า สื่อภาคประชาชน เช่น วิทยุชุมชน เว็บไซต์ท้องถิ่น ควรมีบทบาทคอยเฝ้าระวังความปลอดภัยในประชาชนในพื้นที่ (ค่าเฉลี่ย 3.39) ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างยังรู้สึกไม่ปลอดภัยเมื่อต้องพูดคุยเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบกับคนอื่น (ค่าเฉลี่ย 3.35) นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างมีความเห็นว่า วิทยุชุมชนเป็นสื่อที่ทำให้ได้รับความรู้ด้านศาสนามากขึ้น (ค่าเฉลี่ย 3.32) ทำให้คนในชุมชนมีความรู้สึกใกล้ชิดกันมากขึ้น (ค่าเฉลี่ย 3.30) และข้อมูลข่าวสารจากวิทยุชุมชนนั้นเป็นประโยชน์ต่อการประกอบอาชีพและการใช้ชีวิตประจำวัน (ค่าเฉลี่ย 3.27) เป็นที่น่าสังเกตว่า ค่าเฉลี่ยความคิดเห็นต่อบทบาทของวิทยุชุมชนนั้นอยู่ในเกณฑ์ปานกลางซึ่งสาเหตุอาจมาจากการที่สถานีวิทยุชุมชนในพื้นที่ยังไม่สามารถดำเนินการออกอากาศได้เหมือนในอดีต

ในด้านทักษะการรับข้อมูลข่าวสาร กลุ่มตัวอย่างระบุว่าเขามักจะตรวจสอบความถูกต้องของข่าวสารเหตุการณ์ความไม่สงบจากผู้นำชุมชน เช่น โต๊ะอิหม่ามหรือกำนัน ผู้ใหญ่บ้านเสมอ (ค่าเฉลี่ย 3.17) และพึงพอใจที่ได้รับข่าวสารจากสื่อหรือสำนักข่าวออนไลน์ในพื้นที่มากกว่าข่าวสารจากสำนักข่าวส่วนกลาง (ค่าเฉลี่ย 3.14) อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างยังเห็นว่าสื่อท้องถิ่นบางส่วนยังนำเสนอข่าวสารของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง (ค่าเฉลี่ย 3.12) และข่าวสารที่มาจากคนรู้จักมักจะเป็นเรื่องจริง (ค่าเฉลี่ย 3.12) จากข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนมีความคิดเห็นในเชิงวิพากษ์ต่อสื่อท้องถิ่นทั้งประเด็นความสมดุลของข่าวสารและยังให้ความสำคัญกับการสื่อสารผ่านบุคคล

ความเชื่อมั่นต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพ/สันติสุข

ผลการสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างให้คะแนนความสำเร็จในการจัดการปัญหาความไม่สงบฯ ตั้งแต่ปี 2547 – ปัจจุบัน คิดเป็นค่าเฉลี่ย 5.32 จากคะแนนเต็ม 10 ซึ่งถือว่าผ่านกึ่งหนึ่งเพียงเล็กน้อย โดยมีกลุ่มตัวอย่างที่ให้คะแนนผ่าน จำนวนร้อยละ 76 ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างให้คะแนนความพึงพอใจต่อนโยบายและการทำงานของรัฐบาลปัจจุบัน คิดเป็นค่าเฉลี่ย 5.58 โดยมีกลุ่มตัวอย่างจำนวนร้อยละ 80.8 ที่ให้คะแนนเกินครึ่ง

การสำรวจยังพบข้อมูลที่น่าสนใจว่า ความเชื่อมั่นต่อความสำเร็จในกระบวนการพูดคุยสันติภาพ/สันติสุขระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มบุคคลที่มีความเห็นและอุดมการณ์แตกต่างจากรัฐนั้น กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 78.2 ให้คะแนนผ่านเกณฑ์ โดยมีค่าเฉลี่ยคะแนน 5.39 ในขณะที่คะแนนความเชื่อมั่นต่อความต่อเนื่องของกระบวนการพูดคุยสันติภาพ/สันติสุขนั้น กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 78.6 ให้คะแนนความเชื่อมั่นผ่านเกณฑ์โดยมีค่าเฉลี่ยคะแนน 5.51

การรู้เท่าทันสื่อและข่าวสารเป็นปัจจัยสำคัญต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการพูดคุยสันติภาพ/สันติสุข

จากข้อสมมติฐานที่ว่า ยิ่งประชาชนเปิดรับข่าวสารมากย่อมทำให้ประชาชนได้รับข้อมูลข้อเท็จจริงที่หลากหลายมากขึ้น และย่อมเป็นโอกาสที่ประชาชนจะใช้พื้นที่การสื่อสารในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์ข้อมูลข่าวสารที่ได้รับมากขึ้นด้วย ปัจจัยทั้งสองประการนี้จะส่งผลให้เกิดการใช้เหตุใช้ผลในการพิจารณา ตัดสินและกำหนดท่าทีในการสนับสนุนกระบวนการสร้างสันติภาพในที่สุด การศึกษาครั้งนี้จึงได้ทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างระดับความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับบทบาทของสื่อมวลชนและสื่อท้องถิ่นกับระดับคะแนนความเชื่อมั่นต่อการดำเนินการและความต่อเนื่องของกระบวนการพูดคุยสันติภาพ/สันติสุข โดยผลการทดสอบนั้นยืนยันข้อสมมติฐานดังกล่าวอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ กล่าวคือ กลุ่มตัวอย่างที่มีระดับการคิดวิพากษ์บทบาทสื่อมวลชนและสื่อท้องถิ่นมาก จะให้คะแนนความเชื่อมั่นต่อความสำเร็จในกระบวนการพูดคุยสันติภาพ/สันติสุขมาก ในขณะที่กลุ่มที่มีระดับการคิดวิพากษ์บทบาทของสื่อน้อย ก็จะรู้สึกเชื่อมั่นน้อยเช่นเดียวกัน แบบแผนความสัมพันธ์ดังกล่าว เป็นไปในลักษณะเดียวกันกับระดับความพึงพอใจต่อนโยบายและการดำเนินงานของรัฐบาลปัจจุบัน  ความเชื่อมั่นว่ากระบวนการพูดคุยฯจะก่อให้เกิดสันติภาพได้จริงและต่อเนื่อง รวมทั้งความเชื่อมั่นต่อการดำเนินงานของฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายกลุ่มบุคคลที่มีอุดมการณ์แตกต่างจากรัฐ และฝ่ายผู้อำนวยความสะดวก (มาเลเซีย) อาจกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ยิ่งประชาชนสามารถใช้เหตุใช้ผลในการรับรู้ข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์ภาคใต้มากเท่าไร ก็ยิ่งส่งผลให้ความเชื่อมั่นต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพ/สันติสุขมีสูงขึ้นเท่านั้น ดังนั้น สื่อมวลชนและผู้ปฏิบัติงานด้านการสื่อสารในพื้นที่ รวมทั้งรัฐบาล จึงควรให้ความสำคัญต่อคุณภาพของข่าวสารและเปิดพื้นที่การสื่อสารให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น

ข้อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาของประชาชนกับการกำหนดวาระข่าวสารเพื่อสร้างสันติภาพ

ในบรรยากาศของการพูดคุยสันติภาพ/สันติสุขที่กำลังดำเนินอยู่ขณะนี้ เสียงของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยกำหนดทิศทางการพูดคุยและการแสวงหาเป้าหมายร่วมที่พอจะเป็นไปได้ระหว่างคู่เจรจา ผลการสำรวจพบว่า ประเด็นที่ประชาชนเห็นว่าควรดำเนินการหรือมีมาตรการโดยเร่งด่วน 5 อันดับแรกได้แก่ การหลีกเลี่ยงการก่อเหตุความรุนแรงหรือปฏิบัติการที่กระทบต่อผู้บริสุทธิ์ (ค่าเฉลี่ย 4.36 จากคะแนนเต็ม 5) การแก้ไขปัญหายาเสพติด (ค่าเฉลี่ย 4.36) การสร้างเขตพื้นที่ปลอดภัยในชุมชนนำร่อง (ค่าเฉลี่ย 4.11) การปรับปรุงการบังคับใช้กฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและการเยียวยาให้มีความเป็นธรรมและเสมอภาคเท่าเทียม (ค่าเฉลี่ย 3.92) การตั้งกลไกซึ่งประกอบด้วยบุคคลจากหลายฝ่ายในการตรวจสอบข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ความรุนแรงที่สังคมมีความเคลือบแคลงสงสัย (ค่าเฉลี่ย 3.87) และการมีหลักประกันว่ากระบวนการพูดคุยสันติภาพ/สันติสุขจะเป็นวาระแห่งชาติที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง (ค่าเฉลี่ย 3.74)
 
จากข้อเสนอดังกล่าว เมื่อพิจารณาถึงความต้องการข่าวสารของประชาชนที่ได้นำเสนอไปแล้วก่อนหน้านี้ ได้แก่ ความต้องการรับรู้ข่าวสารเกี่ยวกับเหตุการณ์รุนแรงรายวัน การแก้ไขปัญหาสังคมเช่นยาเสพติด แนวทางการแก้ไขปัญหาของรัฐ และข่าวสารเกี่ยวกับการพูดคุยสันติภาพ/สันติสุขนั้น เราจะเห็นได้ว่าความต้องการข่าวสารและข้อเสนอของประชาชนในการสร้างสันติภาพในพื้นที่นี้มีความสอดคล้องกันอย่างชัดเจน ทั้งในเรื่องของการสร้างหลักประกันความปลอดภัยให้แก่ประชาชน การพัฒนาสภาพชีวิตและความเป็นอยู่ กระบวนการยุติธรรม และการมีกลไกตรวจสอบความจริง ดังนั้น วาระข่าวสารที่สื่อมวลชนและสื่อในพื้นที่พึงพิจารณานำเสนอจึงควรเป็นข้อมูล ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับประเด็นเหล่านี้เพื่อเปิดพื้นที่ของการถกเถียง การสร้างความชัดเจนของปมเงื่อนไขความขัดแย้ง และการแสวงหาแนวทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมร่วมกัน
 
การสื่อสารคือกลไกสำคัญในการสร้างสันติภาพ

ผลการสำรวจครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า ช่องทางการสื่อสารในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นมีความหลากหลาย สื่อท้องถิ่น สื่อบุคคลและสื่อใหม่เป็นสื่อที่ประชาชนให้ความสำคัญนอกเหนือจากสื่อมวลชน  เหตุการณ์ความไม่สงบ ปัญหาสังคมและแนวทางการแก้ไขปัญหาเป็นประเด็นข่าวสารที่ประชาชนสนใจติดตาม นอกจากนี้ ประชาชนมีความคาดหวังต่อบทบาทของสื่อมวลชนและสื่อท้องถิ่นในการรายงานสถานการณ์ปัญหาภาคใต้ด้วยข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง หลากหลาย และเป็นธรรม ทั้งนี้ การขยายตัวของการรับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับปัญหาความไม่สงบผ่านสื่อสังคม เช่น เฟสบุ๊คและไลน์ เป็นประเด็นที่น่าจับตามอง เนื่องจากด้วยธรรมชาติของสื่อดังกล่าวเปิดโอกาสให้มีการกระจายข้อมูลข่าวสารทั้งในลักษณะวงกว้างและเป็นกลุ่มเฉพาะ การตรวจสอบข่าวสารและข่าวลือที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งและไม่เป็นผลดีต่อกระบวนการสร้างสันติภาพในสื่อสังคมจึงต้องอาศัยข้อมูลข่าวสารที่หลากหลายและแหล่งข่าวสารที่เชื่อถือได้อื่น ๆ ประกอบ


นอกจากนี้ ผลการศึกษาที่พบเป็นการยืนยันแนวคิดที่ว่า การพูดคุยสันติภาพ (Peace Talk) ไม่ควรจำกัดแค่เพียงระหว่างผู้มีอำนาจที่เป็นคู่ขัดแย้ง แต่ประชาชนจำเป็นต้องมีส่วนร่วมในกระบวนการนี้โดยผ่านช่องทางการสื่อสารรูปแบบต่าง ๆ ดังนั้น การเปิดพื้นที่การสื่อสารจะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อความเชื่อมั่นของประชาชนในการแก้ไขปัญหาด้วยวิถีทางการเมืองและสันติวิธี กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ การสื่อสารที่เป็นธรรมและสมดุลจะช่วยเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้ประชาชนทุกกลุ่ม ทุกฝ่ายสามารถแสดงความคิดเห็น ตัดสินใจและแสดงเจตจำนงทางการเมืองของตนบนพื้นฐานของข้อมูล ข้อเท็จจริง ความรู้และการใช้เหตุผลอันเป็นสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อกระบวนการสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และนั่นจึงเป็นการยืนยันอีกด้วยว่า การพูดคุยเจรจาเพื่อสันติภาพ/สันติสุขนั้นเป็นวิธีการที่มีเหตุมีผลมากกว่าการใช้ความรุนแรงหรือการโฆษณาชวนเชื่อ และส่งผลให้การสร้างสันติภาพในพื้นที่นี้เป็นจริงและยั่งยืน.

หมายเหตุ
1. รายงานฉบับนี้ นำเสนอใน "วันสื่อสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี ครั้งที่ 3 และสมัชชาสันติภาพ 2559" ภายใต้ชื่อ "สันติภาพเดินหน้า : เวทีรายงานสถานการณ์สันติภาพในพื้นที่สาธารณะ" วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2559 ณ ห้องประชุมใหญ่ คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี 
2. รายงานฉบับนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยเรื่อง "การศึกษาสภาพทางสังคมและสถานการณ์ยาเสพติด ภายใต้บริบทการพูดคุยสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้" คณะผู้วิจัยประกอบด้วย ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี, กุสุมา กูใหญ่, สุวรา แก้วนุ้ย, สุธิรัช ชูชื่น, พันธุ์พิพิธ พิพิธพันธุ์ (2559)

วันเสาร์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ภาวะไร้สมดุลของการสื่อสารในกระบวนการสันติภาพ


ในสถานการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรง ข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อไม่ใช่สิ่งที่โปร่งใสอีกต่อไปเนื่องจากมันเกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์ที่แหลมคมและซับซ้อน เมื่อเราเผชิญหน้ากับความรุนแรงและการก่อเหตุร้าย เราควรตระหนักถึงความจริงที่ว่า “การก่อเหตุร้ายไม่ใช่การตีความว่าเป็นการท้าทายต่ออำนาจรัฐและบทพิสูจน์เรื่องประชาธิปไตยเท่านั้นและมันเป็นการตกผลึกของปัญหาทางสังคม การเมืองและวัฒนธรรมที่เรียกร้องให้คนในสังคมหันมาทบทวนและขบคิดร่วมกัน” (Wieviorka, 1995 :96)
เนื่องจากเราไม่สามารถปฏิเสธความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างเหตุการณ์ (event) กับสื่อ การนำเสนอเหตุการณ์ผ่านสื่อจึงต้องอาศัยความเข้าใจ คำอธิบายและความรู้เกี่ยวกับโลกและความเป็นไปของสังคมด้วย สื่อมวลชนจะมีบทบาทสำคัญในการสร้างความคิดเห็นสาธารณะและถักทอสายสัมพันธ์ทางสังคมที่เคยห่างเหินหรือขาดสะบั้นให้กลับมาเผชิญความจริงข้อนี้อีกครั้ง

เมื่อความขัดแย้งรุนแรงทวีคูณ หลายฝ่ายเริ่มเรียกร้องถึงหนทางแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธี กระบวนการสันติภาพจึงเป็นกระบวนการที่เรียกร้องให้ทุกฝ่ายหันหน้ามาทบทวน ทำความเข้าใจถึงสาเหตุ องค์ประกอบและเงื่อนไขของความขัดแย้ง รวมทั้งพยายามจัดการสภาพแวดล้อมใหม่ที่เอื้อต่อการเกิดสันติภาพ ในกระบวนการดังกล่าว การสื่อสารจะเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในลักษณะใด โดยเฉพาะสื่อมวลชนจะมีบทบาทเป็นสื่อเพื่อสันติภาพได้หรือไม่

ข้อสังเกตจากงานศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสื่อมวลชนในสถานการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา สอดคล้องไปในแนวทางเดียวกันว่า สื่อมีอิทธิพลและมีส่วนสำคัญต่อการสร้างสภาพแวดล้อมทางการเมืองซึ่งเป็นปัจจัยกำหนดทิศทางของการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและกระบวนการสันติภาพ สื่อทำหน้าที่เปิดพื้นที่การสื่อสารให้สาธารณะเห็นประเด็นปัญหา สภาวะการดำรงอยู่ของปัญหา ตัวแสดงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อธิบายสาเหตุ สร้างประเด็นถกเถียง เสนอแนวทางออกหรือคาดการณ์แนวโน้มในอนาคต สื่อช่วยทำให้เราเห็นว่า ปัจจุบันเรากำลังเผชิญอยู่กับอะไร ในขณะเดียวกันสื่อช่วยทำให้เราเกิดการตีความสิ่งที่เราเผชิญอยู่จนนำไปสู่การมองเห็นภาพร่วมกันหรือจินตภาพร่วม (Common Imagination) (Spencer, 2008 : 103-122) จินตภาพร่วมซึ่งประกอบจากภาพความทรงจำในอดีต ประสบการณ์ในปัจจุบัน และความคาดหวังถึงอนาคต และในทางการเมืองแล้ว จินตภาพร่วมนี้มีพลังยิ่งกว่ากำลังทางอาวุธเสียอีก เพราะมันสามารถกำหนดเงื่อนไขของการปฏิบัติที่เป็นได้ทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ เราอาจเห็นได้จากผลกระทบของข้อมูลข่าวสารเชิงลบผ่านสื่อที่ก่อให้เกิดความกลัว ความทุกข์ หรือความเกลียดชังที่มีส่วนผลักดันไปสู่การใช้กำลัง การปราบปราม การต่อต้าน หรือการใช้ความรุนแรงในที่สุด ในทางกลับกัน สื่อก็มีบทบาทสำคัญในการสร้างพลังผลักดันในเกิดการเปลี่ยนแปลงด้วยวิธีการสันติ หรือควบคุมการใช้ความรุนแรงจากทุกฝ่ายได้ ดังที่เรายอมรับกันดีถึงพลังของประชาสังคมที่เรียกร้องสันติวิธีและสันติภาพ

จากการศึกษาถึงบทบาทของสื่อในสถานการณ์ความขัดแย้งในหลายสังคม หลายพื้นที่ พบว่า สื่อมีส่วนในการขยายความขัดแย้งให้ลุกลามบานปลายมากขึ้นด้วยธรรมชาติและข้อจำกัดของสื่อเอง และมีงานวิจัยหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่า สื่อมีส่วนในการเปลี่ยนแปลงบริบทใหม่ของความขัดแย้งด้วยข้อมูลข่าวสารและเครือข่ายความสัมพันธ์ใหม่ ๆ ที่สื่อได้สร้างขึ้นด้วยเช่นกัน (Wieviorka, 1995; Spencer, 2008, Charaudeau et al., 2001; Allen and Seaton, 1999)


  • การสื่อสารในฐานะเป็นปฏิบัติการเชิงสัญลักษณ์

ธรรมชาติของการสื่อสาร เป็นปฏิบัติการเชิงสัญลักษณ์ (symbolic action) ที่ตั้งอยู่บนตรรกะของประชาธิปไตย กล่าวคือ เป็นเครื่องมือยืนยันสิทธิและเสรีภาพของความเป็นพลเมือง สิทธิที่จะรับรู้ข่าวสาร และสิทธิที่จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ถกเถียงโดยไม่ใช้ความรุนแรง ดังนั้น เป้าหมายสูงสุดของสื่อก็คือ “การบอกให้รู้” และ “การทำให้เชื่อ”  เพื่อแสวงหาจุดร่วมของความเห็น ข้อตกลงและฉันทามติ ด้วยการสื่อความหมายหรือถ้อยแถลงอันหลากหลายผ่านการนิยามอัตลักษณ์ของเหตุการณ์และตำแหน่งแหล่งที่ของฝ่ายหรือกลุ่มต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง และผ่านปฏิบัติการทางการสื่อสารที่เชื่อมร้อยกลุ่มและความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลายนั้นเข้าด้วยกัน (Charaudeau, 2001 : 10)
ในสถานการณ์ความขัดแย้ง วิธีการ “บอกให้รู้” และ “ทำให้เชื่อ” ของสื่อมวลชนมักกระทำผ่านวิธีการหลักได้แก่

  • การแสดงให้เห็นว่าข้อมูลข่าวสารที่สื่อนำเสนอนั้นมีความถูกต้องและเป็นเรื่องจริงแท้ (Authentication) ดังนั้น การนำเสนอข่าวสารผ่านสื่อจึงจำเป็นต้องมีประจักษ์พยานยืนยันความถูกต้องและความแท้ของข่าวสาร ซึ่งอยู่ในรูปแบบของการอ้างแหล่งข่าวที่อยู่ในเหตุการณ์ หรือเกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุการณ์ การอ้างผู้เชี่ยวชาญ อ้างสถิติข้อมูล หรือผลการวิจัย เป็นต้น
  • การแสดงบทบาทเป็นผู้เปิดเผยเงื่อนงำ ความคลุมเครือ การไขข้อข้องใจ ความคลางแคลงสงสัย หรือการเปิดเผยความลับ การก่อเหตุการณ์รุนแรงเป็นเรื่องน่าสงสัย ปัญหาความขัดแย้งเป็นความคลุมเครือ การพูดคุยเจรจาเป็นเรื่องปิดลับ จึงเป็นหน้าที่และเป้าหมายของสื่อในการเผยให้สาธารณะรับรู้ความจริงนั้น  
  • การแสดงบทบาทเป็นผู้เปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหรือสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการพูดคุยเจรจาเพื่อหายุติข้อสงสัยหรือความขัดแย้ง สื่อมวลชนมีบทบาทสำคัญในการเปิดพื้นที่ของความรู้ ความเข้าใจใหม่ ๆ และการยอมรับซึ่งกันและกันผ่านข้อมูลข่าวสารและการถกเถียง บทบาทนี้จะช่วยจัดการความสัมพันธ์ใหม่ของผู้คนในพื้นที่ของความขัดแย้ง


อย่างไรก็ตาม บทบาทเหล่านี้ ด้านหนึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อกระบวนการสันติภาพ หากสื่อยังคงยึดติดกับการมองปัญหาด้วยกรอบของความมั่นคงเนื่องจากวิธีการมองปัญหาเช่นนี้ อาจทำให้สื่อให้ความสำคัญกับแหล่งข่าวที่เป็นผู้มีอำนาจหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงมากเกินไปเพราะเชื่อว่าข่าวสารข้อมูลจากฝ่ายดังกล่าวมีความถูกต้องและเป็นของแท้ และมักตกอยู่ภายใต้อิทธิพลหรือการครอบงำจากข้อมูลของฝ่ายเดียว ดังที่งานวิจัยหลายชิ้นระบุว่า การนำเสนอเหตุการณ์ความไม่สงบ สื่อมวลชนมักอ้างอิงแหล่งข่าวจากเจ้าหน้าที่ของรัฐมากที่สุด (Daraswadi, 2001 ; Attha-Anuchit, 2007 ; Kooyai, 2013)
การมองปัญหาด้วยกรอบความมั่นคง อาจทำให้สื่อมุ่งรายงานข่าวเพื่อเปิดเผยสิ่งที่ซ่อนอยู่ด้วยการมุ่งตอบคำถามว่าใครเป็นผู้ก่อความไม่สงบ ใครอยู่เบื้องหลังการพูดคุยเจรจา มีการเจรจากันในทางลับเมื่อไร กับใคร และเรื่องอะไรบ้าง จนทำให้ละเลยความจริงชุดอื่น ๆ ที่เป็นปัญหาใจกลางของความขัดแย้ง

อีกประการหนึ่ง มุมมองปัญหาเช่นนี้ อาจทำให้สื่อตกอยู่ในกับดักของการรายงานข่าวแบบเรื่องเล่า (Classical narrative scenario) เช่น การมองปัญหาแบบคู่ตรงข้ามระหว่างฝ่ายถูก-ฝ่ายผิด ความดี-ความเลว การต่อต้าน-การลงโทษ เหยื่อ-วีรบุรุษ แต่ไม่มองว่าปัญหาในภาคใต้นั้น การเรียกร้องของทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงหรือประชาชนเป็นเรื่องที่น่ารับฟังและมีโอกาสนำมาเป็นประเด็นถกเถียงเพื่อหาทางออก เช่น สิทธิที่จะเรียกร้องความยุติธรรม เรียกร้องความเป็นพลเมือง และสิทธิที่จะดำรงชีวิตอยู่อย่างปลอดภัยและปกติสุข แต่การรายงานข่าวแบบเรื่องเล่าดังกล่าว กลับส่งผลกระทบให้เกิดการขยายภาพของความขัดแย้ง ความทุกข์ ความเจ็บปวด ความเกลียดชังหรือความรู้สึกแปลกแยก

แต่หากเรามองความขัดแย้งในกรอบของสันติภาพ เราอาจพบว่า การพยายามแสวงหาความจริงจากทุกฝ่าย การแสวงหาสาเหตุของปัญหาเพื่อเปิดเผยความคลุมเครือของความขัดแย้ง หรือการเปิดเวทีถกเถียงสามารถสร้างสภาพแวดล้อมของการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการแสวงหาทางออกร่วมกันได้เช่นเดียวกัน การมองในกรอบของสันติภาพทำให้เราหลุดออกจากกับดักของดราม่าที่ไม่ใช่มุ่งสื่อสารให้ “โดนใจ” แต่ต้องให้ “โดนความคิด” มากกว่า เราก็จะหลุดออกจากการมองเห็นปัญหาและผู้คนที่คิดเห็นต่างเป็นสิ่งแปลกปลอม คนนอก หรือศัตรู หรือมองเห็นตัวเองเป็นเหยื่อ ผู้ปลดปล่อยหรือวีรบุรุษ

เมื่อพิจารณากระบวนการสันติภาพในภาคใต้ ความเป็นไปของเส้นทางการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่ม BRN นับตั้งแต่การลงนามในเอกสาร “ฉันทามติทั่วไปว่าด้วยกระบวนการพูดคุยสันติภาพ” เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ในบทความของรุ่งระวี เฉลิมศรีภิญโญรัช (http://www.deepsouthwatch.org/node/5533) และรายงานการวิจัยเรื่อง วาทกรรมสื่อมวลชนในกระบวนการสันติภาพสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ 2556 โดย สมัชชา นิลปัทม์และรุ่งระวี เฉลิมศรีภิญโญรัช (http://www.deepsouthwatch.org/node/5522) แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างการสื่อสาร ประชาสังคมและกระบวนการสันติภาพได้เป็นอย่างดี  เราเห็นอะไรในกระบวนการสันติภาพ ? 

  • ภาวะไร้สมดุลระหว่างการทำให้การพูดคุยเจรจาเป็นเรื่องปิดลับกับเรื่องเปิดเผย (Secrecy VS Publicity) 

บางคนอาจมองว่า การพูดคุยเจรจาระหว่างคู่ขัดแย้งไม่ควรเปิดเผยสู่สาธารณะ ควรเป็นเรื่องระหว่างคู่เจรจาจะตกลงหรือต่อรองกันเพราะเชื่อว่า ประเด็นการพูดคุยเป็นเรื่องอ่อนไหว อาจส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของสาธารณะหรือสูญเสียอำนาจการต่อรอง บ้างก็มองว่า การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารจากการพูดคุยเจรจาจะทำให้สาธารณะเข้าใจปัญหา สามารถตรวจสอบข้อมูล สร้างแรงกดดัน เป็นพยานหรือฝ่ายที่สาม (Third-party) ในการเจรจาได้ เกรแฮม สเปนเซอร์ (Graham Spencer) ได้ชี้ให้เห็นถึงความไม่ลงรอยระหว่างแนวคิดทั้งสองขั้วนี้เช่นกัน จากการศึกษาการรายงานข่าวกระบวนการสันติภาพระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ในช่วงปี 1993 (Oslo Peace Process) เขาเสนอว่า ในกระบวนการสันติภาพ เราควรเปลี่ยนสภาพแวดล้อมทางการเมืองในการเจรจา จากการติดต่อพูดคุยกันในทางลับระหว่างคู่ขัดแย้งไปสู่การสร้างการมีส่วนร่วมของสาธารณะ เพราะนั่นจะช่วยเสริมสร้างบรรยากาศความไว้วางใจซึ่งกันและกันและรับประกันความยั่งยืนของกระบวนการสันติภาพได้ (Spencer, 2008)

แน่นอนว่า เป็นเรื่องยากที่จะตัดสินว่าเรื่องใดควรเป็นความลับ เรื่องใดเป็นเรื่องของสาธารณะ และเมื่อไรควรเปิดเผย เช่นเดียวกับการพูดคุยในเชิงลับระหว่างตัวแทนฝ่ายรัฐบาลไทยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องก่อนหน้านี้ นับตั้งแต่ปี 2548 นั่นทำให้เราเห็นว่า สันติภาพไม่อาจสร้างขึ้นได้ในระยะสั้น ความลับอาจจำเป็นในช่วงแรก ๆ ของการเริ่มต้นการพูดคุยและการรักษาเสถียรภาพของกระบวนการพูดคุยเจรจาที่เปราะบาง แต่เมื่อการพูดคุยในเชิงลับดำเนินและพัฒนาไปมากพอที่จะรักษาคู่เจรจาให้ร่วมโต๊ะกันได้ การสื่อสารและสื่อมวลชนก็ควรถูกนำมาใช้ในการเปิดประเด็นการถกเถียงที่สืบเนื่องจากการพูดคุยเจรจานั้น 

แต่กระนั้นการทำให้ประเด็นการพูดคุยเจรจาเป็นประเด็นสาธารณะนั้นยังจำเป็นต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวัง ในที่นี้ สื่อมวลชนพึงตระหนักว่าไม่ควรอยู่ในฝ่ายคู่เจราเสียเอง หรือเลือกให้ความสำคัญให้กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากเกินไปจนทำให้คู่เจรจาเกิดความไม่ไว้วางใจระหว่างกัน เนื่องจาก การรายงานข่าวที่แสดงท่าทีเป็นตัวแทนของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียเอง จะทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าตัวเองเสียเปรียบ และหาทางใช้ช่องทางอื่นนอกโต๊ะเจรจา ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เช่นในกรณีการแถลงข้อเรียกร้องของกลุ่ม BRN ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ 2 ครั้ง (ครั้งที่ 1: 26 เม.ย. 56 และครั้งที่ 2: 24 พ.ค. 56) ก่อนการพูดคุยสันติภาพครั้งที่ 3 เมื่อกลุ่ม BRN สื่อสารนอกโต๊ะเจรจา สื่อมวลชนต่างให้ความสนใจและพยายามขยายความเข้าใจเกี่ยวกับข้อเรียกร้องทั้ง 5 ข้อนั้น ผลที่ตามมาก็คือ สื่อหลายสำนักต่างนำเสนอกระแสวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างหนักถึงความเหมาะสมในการเปิดเวทีพูดคุย และมองว่าเป็นความเพลี่ยงพล้ำทางการเมืองในการเจรจา ข่าวสารที่ถูกรายงานโดยสื่อจึงเป็นข่าวสารด้วยมุมมองแบบผู้แพ้-ผู้ชนะ ผู้ได้เปรียบ-ผู้เสียเปรียบซึ่งไม่เป็นผลดีต่อกระบวนการสันติภาพ

ผลที่เกิดตามมาอีกประการหนึ่งคือ หากกระบวนการพูดคุยหยุดชะงัก ฝ่ายที่สื่อมองว่ากำลังจะได้เปรียบหรือเข้มแข็งกว่าก็จะใช้การสื่อสารในการโฆษณาหรือกล่าวโทษอีกฝ่ายหนึ่งว่าเป็นสาเหตุของความล้มเหลวของกระบวนการสันติภาพ ดังจะเห็นได้จากท่าทีของรัฐบาลหลังจากการเผยแพร่ข้อเรียกร้อง 5 ข้อของกลุ่ม BRN และท่าทีตอบโต้กลับด้วยการแขวนป้ายผ้า 38 จุดในพื้นที่เพื่อขยายความข้อเรียกร้องและแสวงหาแรงสนับสนุนจากประชาชนในพื้นที่ต่อข้อเรียกร้องของกลุ่ม BRN รวมทั้งการกล่าวโทษว่าเป็นความผิดของรัฐบาลที่ไม่ฟังเสียงเรียกร้องของกลุ่มบนโต๊ะการพูดคุยเจรจา

ดังนั้น การรักษาสมดุลระหว่างความลับกับการเปิดเผยข่าวสารเกี่ยวกับการพูดคุยเจรจาจึงอยู่ที่การรายงานข่าวที่มุ่งตอบสนองความยั่งยืนของกระบวนการสันติภาพและการประเมินถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมา  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อการพูดคุยเดินหน้าไปสู่รายละเอียดของการยื่นข้อตกลงระหว่างกัน อาจกล่าวได้ว่า การเปิดเผยสู่สาธารณะ อาจเป็นตัวรบกวนความยืดหยุ่นในกระบวนการพูดคุยสันติภาพในขณะที่การปกปิดข้อมูลข่าวสาร อาจทำให้กระบวนการพูดคุยขาดแรงสนับสนุนจากสาธารณะและขาดน้ำหนักในการเจรจา (Spencer, 2008)

  • สื่อเป็นอุปสรรคต่อกระบวนการสันติภาพหรือไม่ ?
ด้วยธรรมชาติของสื่อมวลชนที่เน้นจับใจผู้รับสาร ทำให้สื่อมีแนวโน้มที่จะรายงานข่าวที่เข้าใจง่าย เร้าอารมณ์ ดึงความสนใจ ทั้ง ๆ ที่ปัญหาความขัดแย้งเป็นเรื่องที่ซับซ้อน และกระบวนการสันติภาพมีลักษณะเป็นนามธรรม จับต้องยากและมักไม่เห็นผลในระยะเวลาอันใกล้ ในขณะที่การนำเสนอข่าวสารของสื่อมักมุ่งเน้นที่ความเป็นปัจจุบัน (actuality) มากเกินไป นี่จึงเป็นความขัดแย้งภายในตัวของสื่อเอง การมุ่งเน้นแต่การรายงานข่าวเหตุการณ์ปัจจุบัน ทำให้สื่อละเลยที่มาและบริบทแวดล้อมของเหตุการณ์ ทำให้ผู้รับสารถูกตัดขาดจากความเข้าใจในอดีตและมองไม่เห็นอนาคต แต่ในกระบวนการสันติภาพนั้น มิติของเวลาเป็นสิ่งสำคัญ เพราะกระบวนการสันติภาพต้องการความเข้าใจสาเหตุของปัญหา เงื่อนไขของความขัดแย้ง และความทรงจำร่วมในอดีตของผู้คน ที่ส่งผลต่อความเข้าใจสภาวะที่เผชิญอยู่ในปัจจุบันและทิศทางกระบวนการสันติภาพในอนาคต แต่การเน้นความเป็นปัจจุบันของสื่อ เป็นการทำให้ความเข้าใจปัจจุบันของประชาชนนั้นคลุมเครือเลื่อนลอย และนั่นยิ่งตอกย้ำความคิด ความรู้สึกไม่มั่นคง ไม่ปลอดภัยของประชาชน ไม่แน่ใจว่ากระบวนการสันติภาพจะไปรอดหรือไม่ และกลับเข้าสู่วังวนของความคลางแคลงสงสัย ความกลัวและความหวาดระแวงต่อกันในที่สุด

  • สื่อมีบทบาทหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพได้อย่างไร ?
ความเข้มแข็งของประชาสังคมเป็นหัวใจของกระบวนการสันติภาพ แรงสนับสนุนจากประชาชนจะช่วยเป็นเสมือนตาข่ายนิรภัยไม่ให้กระบวนการสันติภาพล้มเหลวโดยง่าย และถึงแม้ว่าการพูดคุยสันติภาพจะชะงักงัน แต่กระบวนการทำงานเพื่อสันติภาพของทุกภาคส่วนจะยังคงสามารถดำเนินต่อไปได้
การสื่อสารจึงมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงผู้คนมาสู่จุดร่วมเดียวกัน สื่อช่วยเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ไขข้อคับข้องใจระหว่างกัน และแสวงหาข้อเสนอหรือทางเลือกที่เป็นไปได้มากที่สุดในการแก้ไขปัญหา 

สื่อช่วยสร้างหนทางของการหาข้อสรุปร่วมกันจากประชาชนที่สามารถเข้าไปหนุนเสริมและสร้างความกระจ่างชัดให้แก่ประเด็นการพูดคุยเจรจา ดังเช่นข้อเรียกร้อง 5 ข้อของกลุ่ม BRN ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการนิยามความเป็นมลายูปาตานี ประเด็นสิทธิในการปกครองตนเอง สิทธิทางเศรษฐกิจ การเมืองและวัฒนธรรม รวมทั้งกระบวนการยุติธรรม เป็นต้น สื่อมวลชนควรมีบทบาทในการเปิดพื้นที่การสื่อสารเพื่อให้สาธารณะนิยาม ถกเถียงหรือยื่นข้อเสนอไปยังคู่เจรจา  การสื่อสารจะช่วยทำให้เกิดโอกาสของเงื่อนไขหรือข้อเสนอใหม่ ๆ ที่เป็นไปได้และมีพลัง เพราะผ่านการเห็นชอบของทุกฝ่ายในความขัดแย้ง สื่อจะช่วยทำให้เวทีความคิดเห็นนั้นเข้มแข็งและมีอำนาจในการต่อรองหรือกดดันให้คู่เจรจาพยายามหาทางออกด้วยสันติวิธี และเวทีความคิดเห็นนั้นจะช่วยกำหนดเป้าหมายทางการเมืองที่ชัดเจนให้คู่เจรจา เช่นข้อเรียกร้องของประชาชนในเรื่องของหลักมนุษยธรรม ความเป็นประชาธิปไตย การเคารพหลักสิทธิมนุษยชน และความเป็นธรรม 

ประการสุดท้าย สื่อไม่ควรมุ่งให้น้ำหนักไปที่ฝ่ายที่เข้มแข็งกว่า แต่ควรให้ความสำคัญแก่ทุกฝ่ายและแสวงหาว่ามีกลุ่มใด ประเด็นใดที่ยังถูกละเลย ถูกกีดกันออกไปจากนอกพื้นที่กระบวนการสันติภาพ สื่อต้องผลักดัน หนุนเสริมให้กับเสียงของทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมและพัฒนาข้อเรียกร้องหรือข้อเสนอที่ช่วยสร้างความชอบธรรมให้แก่นโยบายที่มุ่งสันติภาพ


อ้างอิง
Allen, Tim and Jean Seaton. 1999. The Media of Conflict: War Reporting and Representations of     
     Ethnic Violence. New York: St Martin’s Press.
Attha-Anuchit, Jareeya. 2007. Development of News about Three Southernmost Provinces Situations. 
     Pattani: Prince of Songkla University.
Charaudeau, Patrick et al. 2001. La télévision et la guerre. Déformation ou construction de la réalité? 
     Le conflit en Bosnie (1990-1994). Bruxelles : INA/De Boeck Université.
Daraswasdi, Nuanvan. 2001. Thailand’s Transformation of Journalistic Ideology. MA Thesis, 
     Chulalongkorn University.
Kooyai, Kusuma. 2013. La présence et la représentation de la violence dans les médias en Thaïlande. 
     Réflexion sur la période 2004-2006. Thèse de doctorat, Université Panthéon-Assas (Paris II).
Spencer, Graham. 2008. The Media and Peace. From Vietnam to the ‘War on Torror’. New York: 
     Palgrave McMillan.
Wieviorka, Michel. 1995. Face au terrorisme. Paris : Liana Levi.
 

วันพฤหัสบดีที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2557

ฝันถึงการเมืองแบบปรึกษาหารือ

ช่วงเวลานี้มีหลายคนพยายามเสนอทางออกของปัญหาการเมือง การลดดีกรีความร้อนแรงของสถานการณ์ความขัดแย้ง หลายฝ่ายพยายามเสนอการใช้วิธีการเจรจา พูดคุย การเปิดพื้นที่สาธารณะ พื้นที่ร่วมให้หลายภาคส่วนหันแสดงออกทางความคิดเห็นที่หลากหลายเพื่อหวังว่าจะหาจุดร่วมกันได้บ้างเพื่อเดินต่อไปอย่างสร้างสรรค์ เป็นธรรม ไม่สูญเสียเลือดเนื้อ

สำหรับผู้ที่ยังคงรักษาสติของตัวเองอยู่ได้ ไม่ถูกชักพาด้วยอารมณ์ไปในทางฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากจนเกินไปเสียก่อน ก็น่าจะลองมาหาที่ยืนของตัวเองเพื่อร่วมกันหาทางออก โดยเริ่มจากการสร้างพื้นที่ร่วมของความเห็นที่แตกต่างและพื้นที่ของการ "รับฟังกัน" ตามแนวคิดประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือดังนี้ ...

แนวคิดประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ (Deliberative Democracy) ที่เสนอโดย Jürgen Habermas นักปรัชญาและนักสังคมวิทยาชาวเยอรมัน มีฐานคิดมาจากตัวแบบประชาธิปไตย 3 ตัวแบบที่สำคัญคือ ตัวแบบเสรีนิยม, ตัวแบบสาธารณรัฐ, และตัวแบบการปรึกษาหารือ

การเมืองแบบปรึกษาหารือ (Deliberative Politics) เป็นไปได้ก็ต่อเมื่อมีการตระหนักถึงความหลากหลายของรูปแบบ (forms) ของการสื่อสารที่ทำให้เกิด"การรับฟังกัน" การเมืองแบบนี้ เน้นถึงเงื่อนไขหรือสภาวะต่าง ๆ ของการสื่อสารที่เชื่อมโยงแนวคิดแบบ Habermasienne

กระบวนการพูดคุยปรึกษาหารือที่ดูเหมือนเป็นเรื่องอุดมคติในทางการเมือง ก็คือ การถักทอสายสัมพันธ์ภายใน ระหว่าง 3 องค์ประกอบหลักคือ
- การเจรจาต่อรอง
- การอภิปรายถกเถียงบนฐานของอัตลักษณ์ร่วมทางสังคม
- การอภิปรายถกเถียงบนฐานของความเป็นธรรม
ซึ่งทั้งสามส่วนนี้ ฮาร์เบอร์มาสเชื่อว่า ผลลัพธ์น่าจะนำไปสู่ความเป็นเหตุเป็นผล

แต่เขาก็รู้ว่า ไม่ใช่ทุกคนที่สามารถเข้าร่วมกับทุก ๆ องค์ประกอบของการพูดคุยปรึกษาหารือนี้ได้โดยตรงในทางประชาธิปไตย ดังนั้น นี่จึงเป็นเหตุผลที่ว่า ทฤษฏี Deliberative Democracy ให้ความสำคัญต่อการยอมรับคู่สนทนาและฟังกันและกันผ่านรูปแบบเชิงสถาบันของการปรึกษาหารือ 2 รูปแบบคือ (1) ระบบรัฐสภาและ (2) เครือข่ายการสื่อสารในพื้นที่สาธารณะ ทั้งสองรูปแบบเป็นพื้นที่สาธารณะที่เป็นมณฑลที่ก่อให้เกิดการใช้เหตุผลไม่มากก็น้อย และเป็นพื้นที่ที่ทำให้เกิดการสร้างเจตจำนงร่วมที่มีเหตุมีผลในนามของสังคมส่วนรวม

ประการสุดท้าย ฮาร์เบอร์มาสย้ำว่า "การรู้ว่าอะไรเป็นสิ่งดี เป็นเรื่องของคุณลักษณะเฉพาะของปัจเจกบุคคล แต่ตรงกันข้าม การรู้ว่าอะไรเป็นธรรมนั้นจำเป็นที่เราจะต้องมีความสัมพันธ์กับคนอื่น จริยธรรมของการปรึกษาหารือก็คือจริยธรรมของการรู้ว่าจะกำหนดหน้าที่ของตัวเองแต่ละคนอย่างไร ไม่ใช่การกำหนดวิธีการใช้ชีวิตที่ดีของตนแต่เพียงอย่างเดียว"



อ้างอิง

Jürgen Habermas. 1987. Théorie de l'agir communicationnel. Tome 2. Pour une critique de la raison fonctionnaliste. Paris: Fayard.

วันเสาร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

สนามของสื่อมวลชนกับกติกาสาธารณะ


เมื่อกลางเดือนมีนาคม 2556  ประเด็นที่เป็นที่ติดตามและถกเถียงกันอย่างร้อนแรงที่สุดของสาธารณะเห็นจะไม่พ้นกรณีการระงับการออกอากาศรายการตอบโจทย์ประเทศไทย ตอน สถาบันพระมหาษัตริย์ภายในรัฐธรรมนูญ (ตอนที่ 5) ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส กระแสวิพากษ์วิจารณ์บทบาทของสื่อสาธารณะยิ่งเข้มข้นมากขึ้นเมื่อทางสถานีโทรทัศน์ตัดสินใจออกอากาศรายการตอนที่ 5 นี้ด้วยเหตุผลว่าต้องการเปิด “พื้นที่กลาง” สำหรับความคิดเห็นของทุกฝ่าย กรณีดังกล่าวแสดงถึงการต่อสู้แข่งขันในพื้นที่สาธารณะของกลุ่มความคิดที่แตกต่างในสังคมและสะท้อนถึงความไม่ลงรอยทางความคิดในเรื่องของความเป็นสาธารณะในสังคมไทย

เมื่อสื่อสาธารณะต้องเผชิญกับเสียงเรียกร้องของประชาชนที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว  คำถามที่ว่าความเป็นอิสระของสื่อมวลชนจะยังคงมีอยู่หรือไม่ หรือหากมี สื่อมวลชนจะรักษาความเป็นอิสระ ไม่ว่าจะเป็นอิสระจากแรงกดดันภายนอก (ปัจจัยทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม) และอิสระจากข้อจำกัดในตัวสื่อเอง (ค่านิยม ทัศนคติของนักข่าว การแข่งขันทางด้านข้อมูลข่าวสารและเวลา การเข้าถึงข้อมูล ฯลฯ) ไว้ได้อย่างไร ประเด็นเหล่านี้ท้าทายทั้งนักวิชาชีพและนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนให้ขบคิด

บทความนี้พยายามหาคำตอบและอธิบายสิ่งท้าทายเหล่านี้ โดยใช้กรอบแนวคิดทางสังคมศาสตร์คือ แนวคิดทฤษฎีสนาม (Field Theory) และแนวคิดพื้นที่สาธารณะ (Public Sphere) ประกอบกันเพื่ออธิบายถึงธรรมชาติและกลไกของความสัมพันธ์ทางสังคมในพื้นที่สาธารณะ และข้อเสนอแนวคิดใหม่ในการมองพื้นที่สื่อในฐานะสนามทางสังคมและสื่อมวลชนในฐานะตัวแสดงหนึ่งในสนาม

สื่อมวลชนในมุมมองทฤษฎีสนาม

ว่ากันว่าวิชาชีพสื่อสารมวลชนเป็นหนึ่งในหลาย ๆ องค์ประกอบที่สำคัญและโดดเด่นของสังคมประชาธิปไตย  บทบาทของสื่อมวลชนในด้านความเป็นวัตถุวิสัยที่เป็นอิสระจากกรอบหรือการครอบงำยังเป็นเรื่องที่ไม่อาจพิสูจน์ได้ชัดเจน เนื่องจากบทบาทของการเป็นสื่อกลางถ่ายทอดข้อมูลข่าวสารนั้นผ่านทางบุคคลและองค์กร และยิ่งหากวิเคราะห์ในมุมมองแบบโครงสร้างนิยม (Structuralism) ด้วยแล้ว งานศึกษาถึงความเป็นอิสระของสื่อมวลชนส่วนใหญ่ชี้ว่าแทบจะเป็นเรื่องที่เป็นอุดมคติ

อย่างไรก็ตาม ในวงวิชาการด้านนิเทศศาสตร์และวารสารศาสตร์ ได้เริ่มนำเอาแนวการวิเคราะห์ทางสังคมศาสตร์สายวิพากษ์มาใช้ หนึ่งในนั้นคือทฤษฎีสนามของปิแอร์ บูร์ดิเยอ (Pierre Bourdieu) นักสังคมศาสตร์ในกลุ่มทฤษฎีแนววิพากษ์ของฝรั่งเศสที่ได้แสดงทัศนะต่อวิชาชีพสื่อสารมวลชนไว้อย่างน่าสนใจ เขาเสนอให้นักวิชาชีพวิเคราะห์ตัวเองด้วยการอาศัยการมีส่วนร่วมและมุมมองของหลายฝ่าย เพื่อให้เกิดความก้าวหน้าในความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอุปสรรคต่าง ๆ ที่สื่อมวลชนและนักข่าวต้องเผชิญ อีกทั้งยังช่วยให้นักข่าวเองสามารถต้นทานต่อกลไกบางอย่างที่คอยกำหนดการทำงานทางวิชาชีพของตนด้วย พันธกิจนี้แม้แต่บูร์ดิเยอเองก็ยอมรับว่าเป็นเรื่องยากมาก เนื่องจากอุปสรรคเหล่านี้เป็นตัวกำหนดโครงสร้างของวิชาชีพสื่อเองในความหมายของการผลิตซ้ำโครงสร้างอำนาจเดิม และคอยยับยั้งการเปลี่ยนแปลง (Bourdieu, 1996)

ในมุมมองโครงสร้างนิยมเชิงประกอบสร้าง (Structuralism Constructivist) บูร์ดิเยอเสนอแนวคิดการวิเคราะห์และวิพากษ์โครงสร้างสังคมที่ถูกจัดระเบียบไว้อย่างแข็งตัวและมีอำนาจเป็นแนวการศึกษาเชิงสังคมวิทยาที่พยายามเปิดเผยหน้ากากของผู้กำหนดทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็นที่คอยชี้นำการรับรู้ ความคิดและการกระทำของคนในสังคม[1]  แต่อย่างไรก็ตาม เขาก็ไม่เห็นด้วยเช่นกัน หากจะมองปัจเจกบุคคลเป็นเพียงหุ่นเชิดหรือเสียงสะท้อนที่ไม่มีน้ำหนักในโครงสร้างทางสังคมที่ดูเหมือนเป็นกลาง เพราะปัจจเจกบุคคลยังคงมีลักษณะที่เป็นอิสระ (autonomous) ที่จะผลักดันหรือต่อต้านเพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมที่มีอยู่เดิม ตามความคิดของบูร์ดิเยอ  “เรามีทางเลือกใหม่เสมอ และเราจำเป็นต้องต่อสู้กับสิ่งที่เป็นกรอบโลกทัศน์เดิมของเรา” (Watine, 1999)

บูร์ดิเยอไม่ได้ปฏิเสธการศึกษาแบบวัตถุวิสัยและภววิสัย[2] แต่มองว่าทั้งสองแนวนี้ต้องไปด้วยกันเพื่อช่วยทำให้เรามองเห็นสังคมหลากหลายแง่มุม กล่าวคือ หากมองในแบบโครงสร้างนิยม (Structuralism) บูร์ดิเยอหมายถึงโครงสร้างที่เป็นอิสระจากจิตสำนึกและเจตจำนงของตัวแสดง (agent) ในสังคมที่สามารถสั่งการ ห้ามการกระทำหรือสะท้อนความเป็นตัวแทนของโครงสร้างนั้น ส่วนมุมมองแบบประกอบสร้างนิยม (Constructivism) เป็นการมองที่ความหลากหลายทางสังคมทั้งการรับรู้ ความคิดและการกระทำของปัจเจกบุคคลที่ก่อให้เกิด “ฮาบิทุส” (Habitus) [3] ของตัวแสดงทางสังคม และเป็นตัวกำหนดโครงสร้างทางสังคมที่เรียกว่า “สนาม” (Field) หรือลำดับชั้นทางสังคม (Social classes) อีกทีหนึ่ง

ทั้งปัจเจกบุคคลและกลุ่มบุคคลจึงไม่ใช่ทั้งผู้เล่นเกมในสนามและผู้ควบคุมโครงสร้าง แต่เป็นวัตถุที่ถูกวางโดยโครงสร้างและเป็นผู้กำหนดโครงสร้างไปพร้อม ๆ กัน ตัวแสดงในสนามจะสร้างความเป็นจริงอย่างต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ดังนั้น มุมมองโครงสร้างนิยมแบบประกอบสร้างนี้ ไม่ได้มุ่งให้ความสำคัญต่อสภาวะที่เป็นอยู่หรือกำลังทำบางอย่างสิ่งบางอย่าง แต่สนใจความคิดเรื่องความเป็นจริงที่ถูกประกอบสร้าง หรือกำลังอยู่ในกระบวนการสร้างเพื่อรื้อถอน หรือกระบวนสร้างความจริงใหม่ในแบบอื่น (Watine, 1999)

ในวิชาชีพสื่อสารมวลชนก็เช่นเดียวกัน เราควรทำความเข้าใจกลไกการผลิตอุดมการณ์ทางวิชาชีพ ภาพสะท้อนความเป็นสื่อมวลชนในอุดมคติและมายาคติของตัววิชาชีพเอง ผลงานวิพากษ์สังคมของบูร์ดิเยอช่วยเป็นแนวทางให้นักวิชาการด้านสังคมศาสตร์และสื่อสารมวลชนได้ตั้งคำถามถึงบทบาทของสื่อมวลชนในฐานะตัวแสดงหนึ่งที่ดูเหมือนจะมีอิสระน้อยมากในสนามทางสังคมที่อ่อนแอ เนื่องจาก สื่อมวลชนมีขอบเขตการแสดงออกในสนามที่จำกัด (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากข้อมูลข่าวสารนั้นเป็นประเด็นที่อ่อนไหวหรือปมความขัดแย้ง) นักข่าวต้องเผชิญกับเกมและภาวะกดดันอยู่ตลอดเวลา ทั้งแรงกดดันทางเศรษฐกิจ การเมืองและวัฒนธรรม แต่อย่างไรก็ตามสื่อมวลชนเองก็ยังมีบทบาทในการรื้อถอนโครงสร้างอำนาจเดิมได้ด้วยเช่นกัน

แนวคิดเกี่ยวกับสนามของสื่อมวลชนที่มีการศึกษากันโดยส่วนใหญ่ มุ่งให้ความสนใจไปที่โครงสร้างลำดับชั้นของนักข่าว เช่น ภูมิหลังทางการศึกษา ฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม ค่านิยม ทัศนคติและประสบการณ์ของนักข่าวเกี่ยวกับการทำงานด้านสื่อสารมวลชน รวมทั้งการวิเคราะห์โครงสร้างการบริหารขององค์กรสื่อสารมวลชน เป็นต้น แต่ทว่าการมองลักษณะนี้ยังไม่อาจอธิบายสาเหตุที่แท้จริงของการแปรรูปของสนามสื่อสารมวลชนในสถานการณ์เฉพาะ เพราะไม่ได้พิจารณาถึงข้อจำกัดทางวิชาชีพ การนิยามความหมายใหม่ในนามของ“ความเป็นมืออาชีพ” หรือการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ที่ว่าด้วยเรื่อง “ข้อมูลข่าวสารในสังคมสมัยใหม่” ตรงกันข้าม มุมมองแบบดั้งเดิมในเรื่องการแบ่งลำดับชั้นของนักข่าวกลับก่อให้เกิดความขัดแย้งไม่ลงรอยระหว่างความเป็นปัจเจกกับโครงสร้างที่นำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า การแปรสภาพของสนามของสื่อมวลชนนั้นไม่เป็นอิสระจากเจตจำนงและทัศนคติของตัวนักข่าวเอง

เมื่อสนามกลายเป็นเกมของอำนาจ

ตามแนวคิดของบูร์ดิเยอ “สนาม” เป็นพื้นที่ทางสังคมที่ได้ถูกวางโครงสร้างไว้แล้ว เป็นสนามของการแสดงพลัง (Forces) ที่มีทั้งผู้ครอบงำและผู้ถูกครอบงำ ทั้งสองฝ่ายต่างมีความสัมพันธ์ต่อกันที่ชัดเจน แน่นอนและไม่เท่าเทียมกัน สนามจึงเป็นพื้นที่ของการต่อสู้ของตัวแสดงต่างๆ เพื่อเปลี่ยนแปลงหรือเพื่อพิทักษ์รักษาอำนาจของตน ภายในสนามตัวแสดงแต่ละตัวจะมาเข้าร่วมแข่งขันกับอำนาจอื่นและคอยกำหนดนิยาม ตำแหน่งแหล่งที่ และสถานภาพของตัวแสดงในสนาม รวมทั้งกลยุทธในการแข่งขันต่าง ๆ ด้วย

สนามในความหมายนี้เป็นระบบของตำแหน่งแหล่งที่ทางสังคมที่คอยกำหนดความหมายของสรรพสิ่ง ฝ่ายที่ครอบงำจะมีแนวโน้มที่จะปกป้องพื้นที่ของตัวเอง ในขณะที่ฝ่ายผู้ถูกครอบงำก็มีแนวโน้มที่จะต่อต้านโดยการสร้างความหลากหลายทางความคิดมากกว่า นี่เป็นกฎกติกาของสนามที่ฝ่ายที่เคยครอบครองพื้นที่จะต่อต้าน กีดกันกลุ่มความสัมพันธ์ใหม่ คนมาใหม่ หรือคนที่มาทีหลังที่มีทุนทางสังคมไม่มากนัก คนที่อยู่ก่อนจะมีกลยุทธ์ในการพิทักษ์รักษาสิ่งเดิมไว้เพื่อเป้าหมายของการสะสมทุนทางสังคมให้มากขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะเดียวกัน คนที่มาใหม่ก็จะมีกลยุทธ์ในการตัดกำลังการสะสมทุนของคนที่อยู่ก่อน “ทุกสนามจึงเป็นเวทีของความตึงเครียด” ระหว่างคนที่สามารถครอบครองทุนทางเศรษฐกิจและทุนทางวัฒนธรรม กับคนใหม่ที่อยากระดมทุนที่ตัวเองไม่เคยมีเหล่านั้น ดังนั้น การต่อสู้ในสนามทางสังคมนี้จึงอยู่ในตรรกะของการพยายามปกป้องและการผูกขาดต้นทุนของตัวเองไว้ (Bourdieu, 2005)

การปกป้องการเปลี่ยนแปลงผ่านการเลือกสรรที่ฮาบิทุสปฏิบัติการอยู่ มันจะคอยจัดการข้อมูลข่าวสารใหม่ ๆ ด้วยการละทิ้งข้อมูลชุดอื่น ๆ ที่ท้าทายหรือตั้งคำถามตัวมัน ผ่านวิธีการลดคุณค่า ลดการแสดงตัวของข้อมูลข่าวสารเหล่านั้น ในส่วนของสื่อมวลชน บูร์ดิเยอมองว่า นักข่าวมีแนวโน้มที่จะเป็นตัวแสดงที่มีข้อจำกัด (constraint agents) มากกว่าเป็นตัวแสดงที่เป็นอิสระ (autonomous actors) เกมของสื่อจึงเป็นตรรกะเฉพาะที่เราไม่สามารถเข้าใจการกระทำของตัวแสดงหรือนักข่าวได้โดยครบถ้วนสมบูรณ์ หากเราไม่อ้างอิงไปถึงสิ่งที่ตัวแสดงต่าง ๆ หรือนักข่าวกระทำในสนามของสื่อในฐานะที่เป็นทั้งนักข่าวฝ่ายครอบงำและฝ่ายที่ถูกครอบงำ

ในขณะที่คนมาใหม่พยายามที่จะกระโดดข้ามแนวรั้วเพื่อเข้าถึงสนาม แต่ในที่สุดแล้ว การต่อสู้ของคนทั้งสองกลุ่มหรือหลายกลุ่มในสนามก็จะต้องแสวงหาทางออก แสวงหาจุดสมดุลร่วมกันเพื่อไม่ให้สนามนั้นล่มสลายไป ทั้งสองฝ่ายจึงต้องเข้าร่วมเล่นในกติกาเดียวกันและแบ่งปันกันในระดับที่เหมาะสมเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้ตัวเองได้อยู่ในสนามเดียวกัน กล่าวอีกแง่หนึ่งก็คือ ทุก ๆ ตัวแสดงทางสังคมที่เกี่ยวข้องหรือเข้ามาเล่นเกมในสนามนี้จะยอมตกลงกันอย่างไม่เปิดเผยที่จะยอมรับข้อจำกัดบางอย่างเพื่อที่ตนจะได้ไม่ต้องถูกขับออกจากสนาม บูร์ดิเยอพยายามสนับสนุนความคิดที่ว่า คนที่เข้าร่วมสนามการแข่งขันนี้ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายครอบงำหรือฝ่ายถูกครอบงำก็ตาม ต่างก็แสดงบทบาทโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจในการ “ผลิตซ้ำ” กติกาของสนามนั้น และในที่สุดก็จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และสามารถทำลายการจัดลำดับชั้นระหว่างตัวแสดงเหล่านั้น ในขณะที่เกมและสนามก็ยังคงไม่ถูกทำลายโดยตัวมันเอง (Benson, 1999)

กติกาสาธารณะกับความเป็นอิสระของสื่อมวลชน

หากจะกล่าวว่าสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสเป็นสนามทางสังคมก็ไม่ผิดนัก ในฐานะที่เป็นสื่อสาธารณะที่พยายามหลุดพ้นจากการครอบงำทั้งจากอำนาจทุนและอำนาจการเมือง (นิธิตา สิริพงศ์ทักษิณและนฤมล ทับจุมพล, 2554) ในขณะเดียวกัน ด้วยเอกสิทธิ์ทางการบริหารด้วยพ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 ที่พยายามปกป้องพื้นที่สาธารณะนี้ให้เป็นอิสระจากอำนาจของกลุ่มทุนและอำนาจของฝ่ายการเมือง ก็ยิ่งผลักดันให้ไทยพีบีเอสต้องอิงอยู่กับทุนทางสังคม (Social Capital)[4] เป็นหลักนั่นก็คือ “ความน่าเชื่อถือในสายตาของสาธารณะ”

หากมองในด้านบวก ทุนทางสังคมนี้มิใช่เป็นผลจากการได้รับเอกสิทธิ์ทางการบริหารดังที่กล่าวไว้เพียงอย่างเดียว แต่ที่ผ่านมาไทยพีบีเอสก็ได้พยายามสะสมทุนทางสังคมในรูปแบบอื่นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการยึดมั่นหลักการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ตอบสนองความต้องการและอัตลักษณ์ของคนในสังคมที่หลากหลาย โดยเฉพาะกลุ่มที่เคยถูกละเลย (กลุ่มชายขอบ) ในพื้นที่สื่อก่อนหน้านี้ การพยายามสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดเนื้อหารายการผ่านสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการ หรือกิจกรรมทางสังคมและการสร้างเครือข่ายภาคพลเมืองหลายกลุ่มในระดับชุมชน เป็นต้น  แต่กระนั้นก็ยังมีข้อสังเกตจากนักวิชาการและสาธารณะอยู่ว่าบทบาทของสื่อสาธารณะนี้ยังอิงกับบางกลุ่มที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้เกิดสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็น สสส. องค์กรพัฒนาเอกชนบางกลุ่ม นักวิชาการบางส่วนอันเป็นโครงสร้างอำนาจภายในสถานีเอง (นิธิตา สิริพงศ์ทักษิณและนฤมล ทับจุมพล, 2554) สนามของไทยพีบีเอสนี้จึงกลายเป็นสนามที่มีตัวแสดงมากมายเข้ามามีบทบาทด้วยกติกาชุดหนึ่งที่ว่าด้วยเรื่องของ “ความเป็นอิสระ มีมาตรฐานทางวิชาชีพ โปร่งใส และเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ”

กรณีที่มีการนำเสนอประเด็นอ่อนไหวในรายการตอบโจทย์ประเทศไทยและตามมาด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ทั้งแรงต่อต้านและสนับสนุนของผู้ชม  หากวิเคราะห์ในมุมมองทฤษฎีสนาม การแข่งขันเป็นเรื่องธรรมดาในสนามสื่อสาธารณะ แต่เกมการแข่งขันนี้จะเกิดปัญหาทันที หากผู้เล่นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือผู้ชมข้างสนามเกิดความรู้สึกว่ากติกาในสนามนี้เริ่มไม่เป็นธรรมหรือมีการครอบงำของผู้เล่นบางตัวมากเกินไป

จากการสังเกตคำให้สัมภาษณ์ของผู้ชม นักวิชาการ นักข่าวและผู้บริหารของไทยพีบีเอส (ในฐานะตัวแสดงหลักในสนามของไทยพีบีเอส) ในสื่อมวลชนตลอดช่วงหนึ่งสัปดาห์หลังการระงับรายการพบว่า ความคิดเห็นเหล่านั้นสะท้อนการให้นิยามของกติกาของพื้นที่สาธารณะที่แตกต่างกันไปเช่น “ความเป็นมืออาชีพ” “ความเป็นอิสระ” “พื้นที่กลาง” และ “ความรับผิดชอบต่อสังคม” ดังปรากฏในคำแถลงของทีมงานรายการตอบโจทย์ฯ ในเว็บเพจของรายการเรื่องการยุติการทำรายการ เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2556 ได้ให้เหตุผลว่า “เนื่องจากไม่สามารถตอบโจทย์ได้อีกต่อไปว่าจะยังรักษาความเชื่อมั่นในเสรีภาพของสื่อสารมวลชนซึ่งได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญไว้ได้อย่างไร” และย้ำถึงจุดยืนว่า “เรายินดีเลือกที่จะสละรายการ เพื่อรักษาหลักการ” หลักการในที่นี้ก็คือ การรักษาความเชื่อมั่นในเสรีภาพของสื่อสารมวลชน และแสดงบทบาทในฐานะ “ผู้จุดไฟท่ามกลางความมืดหวาดขาดกลัว”

ในด้านผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส นายสมชัย สุวรรณบรรณ ได้อธิบายเหตุผลที่แต่เดิมอนุญาตให้นำเสนอประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์ว่า เพื่อเปิด “พื้นที่กลาง” สำหรับทุกความเห็นที่แตกต่างในสังคม แต่มีการชี้แจงเหตุผลการระงับการออกอากาศรายการในภายหลังว่า “เพื่อทบทวนให้เกิดความรอบด้าน และพิจารณาความเหมาะสม รวมทั้งผลกระทบที่เกิดขึ้น” (สำนักข่าวอิศรา, 16 มี.ค. 2556)

ในขณะเดียวกัน นักวิชาการและบุคลากรในไทยพีบีเอสต่างก็ออกมาแสดงความคิดเห็นทั้งสนับสนุนและคัดค้านการตัดสินใจของฝ่ายบริหารสถานีโทรทัศน์ฯ ในสื่อสังคมออนไลน์และสื่อมวลชน ในทัศนะของฝ่ายที่สนับสนุน มีการกล่าวถึงหลักการเรื่อง “เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น” ในขณะที่ฝ่ายคัดค้านมองว่า สื่อมวลชนต้องมี “ความรับผิดชอบต่อสังคม” การนำเสนอรายการที่มีเนื้อหาเสี่ยงต่อการเกิดความขัดแย้งรุนแรงในสังคม ผู้จัดรายการควรมี “ความเป็นมืออาชีพ” และควรคำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมาด้วย  (แนวหน้า, 17 มี.ค. 2556)

การให้นิยามและคุณค่าของสื่อสาธารณะที่แตกต่างกันเหล่านี้ตั้งอยู่บนฐานของกรอบความคิดความเชื่อและการปฏิบัติที่เป็นฮาบิทุสของตัวแสดงในสนามสื่อมวลชน (ทั้งผู้ผลิตรายการ ผู้บริหาร บรรณาธิการ บุคลากรในองค์กร และผู้ชม) และดูเหมือนว่าต่างฝ่ายต่างก็ช่วงชิงอำนาจในการอธิบายบทบาทของสื่อสาธารณะที่ควรจะเป็น กล่าวอีกแง่หนึ่งคือ การให้เห็นผลดังกล่าวสะท้อนถึงความพยายามยืนยันและผลิตซ้ำโครงสร้างอำนาจเดิมที่กรอบความคิดและฮาบิทุสของตัวแสดงต่าง ๆ ผูกพันอยู่นั่นเอง  

แต่ไม่ว่าการต่อสู้แข่งขันจะร้อนแรงเพียงใดก็ตาม สนามของสื่อสาธารณะนี้จะยังคงอยู่ ตราบใดที่ตัวแสดงในสนาม  (ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่อยู่คนหรือฝ่ายที่มาใหม่ ฝ่ายที่ครอบงำหรือถูกครอบงำ) ยังคงรักษากติกาของเกมในสนามนี้

เพื่อทำความเข้าใจกติกาสาธารณะนี้ เราอาจต้องกลับไปทบทวนความเป็นสาธารณะในสังคมไทย ที่ผ่านมา เราพบปัญหามากมายตั้งแต่ปัญหาเล็ก ๆ เช่น ปัญหาการรุกล้ำพื้นที่สาธารณะของปัจเจกบุคคลหรือกลุ่ม การโหมโฆษณาด้วยสารพัดสื่อที่ถาโถมใส่เราจนแทบจะไม่มีทางเลือก ไปจนถึงปัญหาใหญ่ ๆ เช่น การจัดสรรคลื่นความถี่และการกำกับดูแลกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม ปัญหาปิดกั้นกีดกันการแสดงออกทางความคิดเห็น รวมไปถึงการหมิ่นประมาทหรือการประณามผู้อื่นในที่สาธารณะเป็นต้น

ปัญหาเหล่านี้สะท้อนโลกทัศน์เกี่ยวกับความเป็นสาธารณะแบบไทยไทยภายใต้กรอบการอ้างสิทธิและความชอบธรรมที่คลุมเครือและแตกต่างกันของคนในสังคม บ่อยครั้งที่เราพบว่าพื้นที่สาธารณะกลายเป็นพื้นที่ของการใช้ประโยชน์สำหรับคนที่สามารถเข้าถึงได้ และทุกคนที่เข้าถึงพื้นที่ได้ต่างก็อ้างสิทธิในการใช้พื้นที่นั้นโดยอาจไม่สนใจว่าประโยชน์ที่ตนได้รับจากการใช้พื้นที่นั้นจะกระจายไปถึงคนอื่นด้วยหรือไม่ หรือบางครั้งเราอาจละเลยความจริงที่ว่า ยังมีผู้คนอีกมากในสังคมที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงพื้นที่สาธารณะนั้น นั่นจึงเกิดผลกระทบที่ตามมาก็คือ ปัญหาความเป็นธรรมในการใช้พื้นที่สาธารณะ
  
พื้นที่สาธารณะในอุดมคติที่ทุกคนต่างกล่าวอ้างกันนั้นคือพื้นที่ที่ใช้และให้ประโยชน์สำหรับทุกคนในสังคม[5]  แต่ดูเหมือนคนในสังคมจะหลงลืมไปว่า คำว่า “สำหรับทุกคน” นั้นก็คือทุกคนต้องมีอิสระในการเข้าถึงและใช้พื้นที่นี้ได้อย่างเท่าเทียม (Habermas, 1991) ที่สำคัญอย่างยิ่งคือ ทุกคนในฐานะสมาชิกของสังคมต้องช่วยกันรักษากติกาความเท่าเทียมในการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะนั้นด้วย เพราะนั่นหมายถึง การมีหลักประกันว่า อย่างน้อยก็ยังมีพื้นที่ที่เปิดกว้างสำหรับเราในฐานะปัจเจกบุคคล

แต่หากทุกคนต่างมุ่งแสวงประโยชน์หรือพยายามครอบครองหรือผูกขาดพื้นที่สาธารณะไว้กับตัวเองหรือกลุ่มของตน ในที่สุดความชอบธรรมของพื้นที่นี้ก็จะเริ่มหมดลงไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งแม้แต่ตัวเองหรือกลุ่มของตนก็ไม่อาจใช้ประโยชน์จากพื้นที่สาธารณะนั้นได้อีกต่อไป และอาจกล่าวได้ว่าเป็น “โศกนาฏกรรมของพื้นที่สาธารณะ”

ลองพิจารณากรณีการล่มสลายของทรัพยากรธรรมชาติในปัจจุบันที่เกิดจากการใช้ประโยชน์โดยไม่มีขีดจำกัด และบ่อยครั้งที่พบว่า สาเหตุของการล่มสลายนั้นเกิดจากการผูกขาดหรือการให้สัมปทานกับกลุ่มคนบางกลุ่มในการเข้าถึงและได้ประโยชน์จากทรัพยากรนั้น เมื่อทุกคนที่เข้าถึงแหล่งทรัพยากรธรรมชาตินั้นต่างก็อ้างสิทธิในการใช้ประโยชน์และกอบโกยทรัพยากรเพราะถือว่าเป็นทรัพย์สินสาธารณะ เมื่อทรัพยากรนั้นหมดไป ผู้ที่ได้รับผลกระทบอันเลวร้ายนั้นก็คือทุกคน

สภาพปัญหาเช่นนี้อาจเกิดขึ้นกับสื่อสาธารณะได้เช่นกัน หากมองว่า “ความน่าเชื่อถือ” เปรียบเสมือนทรัพย์สินของสื่อสาธารณะในสังคมประชาธิปไตย เมื่อใดที่มีการผูกขาดหรือกีดกันการใช้พื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นหรือนำเสนอข้อมูลข่าวสารโดยคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง นั่นก็หมายความว่าพวกเขาได้ใช้ทรัพย์สินความน่าเชื่อถือนั้นจนร่อยหรอและอาจหมดไปในที่สุด และเมื่อถึงเวลานั้น ความน่าเชื่อถือของพื้นที่สาธารณะก็จะไม่มีแม้แต่ในกลุ่มคนที่ผูกขาดข้อมูลข่าวสารด้วยกันเอง (มุมมองนี้อาจใช้ในการวิเคราะห์สภาพการณ์ของสื่อหนังสือพิมพ์ไทยได้ด้วยเช่นกัน)
 
ดังนั้น ไม่ว่าตัวแสดงในสนามทางสังคมจะเป็นฝ่ายที่มีทุนมากกว่าหรือน้อยกว่าก็ตาม ไม่ว่าในสนามนั้นจำต้องตกอยู่ในเกมการแย่งชิงพื้นที่ในสนามหรือเกมของอำนาจหรือไม่ สิ่งที่เหมือนกันในทัศนะทฤษฎีสนามทางสังคมและพื้นที่สาธารณะก็คือ การเคารพในกติกาของสนาม เคารพในกติกาของสาธารณะที่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นธรรม (Fairness) นั่นเอง

เช่นเดียวกันกับกรณีสื่อสาธารณะหรือพื้นที่ทางสังคมอื่น ๆ ในสังคมไทย การเปิดพื้นที่ให้ตัวแสดงจากทุกฝ่าย ทุกประเด็นและทุกความคิดเห็นที่แตกต่างสามารถเข้าถึงและใช้พื้นที่สื่ออย่างเป็นธรรม ไม่มีการผูกขาดฝ่ายไหนหรือความเห็นใดได้ครอบครองพื้นที่หรือสนามนั่นก็คือการรักษากติกาของสาธารณะ เพราะเราคงไม่อยากเห็นโศกนาฏกรรมของพื้นที่สาธารณะเกิดขึ้น


รายการอ้างอิง

Bourdieu, Pierre. “The Political Field, the Social Science Field, and the Journalistic Field.” In Bourdieu and the Journalistic Field, edited by Rodney Benson and Erik Neveu. Cambridge: Polity Press, 2005.
Bourdieu, Pierre. Distinction: A Social Critique of the Judgment of Taste. Haward University Press, 1984.
Benson, Rodney. Field Theory in Comparative Context: A New Paradigm for Media Studies.” In Theory and Society, Vol. 28, No. 3. (June, 1999), pp. 463-498.
Chauviré, Christine et Fontaine Olivier. Le vocabulaire de Bourdieu. Paris : Ellipses, 2003.
Habermas, Jürgen. The Structural Transformation of the Public Sphere : An Inquiry into a Category of Bourgeois Society. MA: MIT Press, 1991.
Watine, Thierry. “Bourdieu et les medias : des lois du champ et de l’habitus comme présomptions du conservatisme des journalistes”. In Les Cahiers du Journalisme, n°6, Octobre 1999, p. 126-151.
นิธิตา สิริพงศ์ทักษิณและนฤมล ทับจุมพล. “การเมืองในนโยบายสื่อสาธารณะขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย”, วารสารสงขลานครินทร์ ฉบับสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, ปีที่ 17, ฉบับที่ 5, ก.ย.-ต.ค. 2554, หน้า 59-81.
ปิแยร์ บูร์ดิเยอ. เศรษฐกิจของทรัพย์สินเชิงสัญลักษณ์. ชนิดา เสงี่ยมไพศาลสุข, แปล. กรุงเทพฯ : โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2550.




[1] บูร์ดิเยอใช้คำว่า « doxa » ซึ่งหมายถึงความคิดร่วมของสังคมที่ทำให้เรารับรู้ความเป็นจริงทางสังคมในแบบใดแบบหนึ่ง (Chauviré et Fontaine, 2003)

[2] การมองแบบวัตถุวิสัย (objectiviste approche)ในที่นี้คือการพิจารณาไปที่โครงสร้างทางเศรษฐกิจ โครงสร้างการตลาด โครงสร้างการเมืองที่มีผลต่อการกระทำของคน (ตัวแสดง) ในสังคม ส่วนการมองแบบภววิสัย (subjectivist approach) คือการตั้งคำถามถึงความเป็นอิสระ (autonomy) และความรับผิดชอบ (responsibility) ของผู้กระทำ

[3] คำนี้หมายถึงรูปแบบของโครงสร้างที่ถูกกำหนดและเป็นตัวกำหนดสังคมในเวลาเดียวกัน  ฮาบิทุส (หรือที่ชนิดา เสงี่ยมไพศาลสุขใช้คำว่า นิจภาพ) เป็นผลิตผลของกระบวนการหล่อหลอมทางสังคมตั้งแต่ช่วงแรก ๆ ของชีวิต ด้วยการปลูกฝังเรื่องต่าง ๆ เช่น เงื่อนไขทางสังคม กฎระเบียบ ความเชื่อ ค่านิยม ความรู้ ความคิด ความเชื่อ ฯลฯ ให้ซึมซับไปในร่างกายและจิตใจของบุคคล โครงสร้างดังกล่าวจะคอยกำหนดขอบเขตของการกระทำและสร้างชุดการรับรู้และประเมินคุณค่าที่สอดคล้องกับโครงสร้างนั้น แล้วแสดงออกในรูปของการปฏิบัติในชีวิตประจำวันที่สม่ำเสมอ (การผลิตซ้ำ - reproduction) (ชนิดา เสงี่ยมไพศาลสุข,  2550 :74  85-95)  ฮาบิทุสจึงเป็นเหมือนเครื่องจักรชนิดหนึ่งที่ผลิตซ้ำเงื่อนไขทางสังคมด้วยวิธีการที่มองไม่เห็น แนบเนียนและดูเป็นกลางมากที่สุด เป็นวิธีการที่เราไม่อาจรู้เงื่อนไขของการผลิตเหล่านั้นได้อย่างง่ายๆ และเป็นระบบ เช่น กลไกสถาบันครอบครัว, โรงเรียน, สื่อมวลชนและสถาบันทางสังคมอื่น ๆ โครงสร้างฮาบิทุสนี้มีแนวโน้มที่จะให้ประโยชน์หรือเอื้อต่อการรักษาเกมกติกาในสนามมากกว่าจะเปลี่ยนแปลงเกม มีแนวโน้มที่จะยืนยันโครงสร้างเดิมและปกป้องตัวมันเอง

[4] ในทฤษฎีสนามได้วิเคราะห์โครงสร้างทางสังคมที่ตั้งอยู่บนฐานของทุน ในหลายลักษณะได้แก่  ทุนทางเศรษฐกิจ (Economic Capital) ที่ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดของมาร์กซ์ (การครอบครองปัจจัยการผลิต ทรัพย์สิน), ทุนทางวัฒนธรรม (Cultural Capital) (ภูมิปัญญาความรู้ รสนิยม), ทุนทางสังคม (Social Capital) ที่เป็นระบบความสัมพันธ์ของคนในสังคม (การยอมรับนับถือ ความน่าเชื่อถือ อำนาจ บารมี) และทุนเชิงสัญลักษณ์ (Symbolic Capital) ที่เป็นความสัมพันธ์ของพลังที่ผูกโยงกับความหมาย (ระบบคุณค่า ระบบจิตสำนึก) บูร์ดิเยอชี้ว่า ในโครงสร้างทางสังคมนั้น ทุนทางวัฒนธรรมกระจายตัวในแต่ละชนชั้นทางสังคมอย่างไม่เท่ากัน ชนชั้นที่ครอบครองทุนทางเศรษฐกิจมากกว่ามักมีโอกาสที่จะสะสมทุนทางวัฒนธรรม ทุนทางสังคมได้มากกว่า (Chauviré et Fontaine, 2003)

[5] Jürgen Habermas ได้อธิบายถึงที่มาของคำว่าพื้นที่สาธารณะโดยอ้างอิงถึงแนวคิดพื้นที่ของเมือง (Polis) ในยุคกรีกโบราณ พื้นที่ของเมืองคือพื้นที่ร่วม (Common Space) สำหรับพลเมืองที่มีเสรีทุกคน เป็นพื้นที่ที่แยกออกจากมณฑลส่วนตัวของปัจเจก (Oïkosในความหมายกรีก พื้นที่สาธารณะคือโลกของเสรีภาพและเป็นนิรันดร์ (Habermas, 1991)

วันอาทิตย์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

แนวคิดพื้นที่สาธารณะ


พื้นที่สาธารณะ (public space) เป็นพื้นที่ในโลกทางสังคมซึ่งปัจเจกบุคคลมาพบปะพูดคุยและอภิปรายกันอย่างเสรีในประเด็นปัญหาทางสังคม การเมืองและเศรษฐกิจ ประเด็นจากการอภิปรายโต้เถียงปัญหา ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ จะถูกตีแผ่แลกเปลี่ยนกันในพื้นที่สาธารณะ ก่อให้เกิดการรับรู้ร่วมกันและนำไปสู่การตัดสินใจเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมและกิจกรรมทางการเมืองของสาธารณชนในอันดับต่อไป พื้นที่สาธารณะจึงเป็นอาณาบริเวณที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสาร การสร้างความรู้สึกเป็นส่วนรวม (sense of public) และผลประโยชน์ของส่วนรวม พื้นที่สาธารณะเป็นได้ทั้งรูปธรรมและนามธรรม กล่าวคือ รูปธรรมของพื้นที่สาธารณะคือพื้นที่ทางกายภาพที่กำหนดขอบเขตไว้แน่นอน  เช่น ร้านกาแฟ ลานประชาชน จัตุรัสกลางเมือง สวนสาธารณะ โรงละคร พิพิธภัณฑ์ เป็นต้น  ส่วนพื้นที่นามธรรม เช่น สื่อมวลชน สื่อสังคมออนไลน์ กลุ่มทางสังคม หรือพื้นที่ทางวัฒนธรรม เป็นต้น

พื้นที่สาธารณะ คำนี้ปรากฏเป็นครั้งแรกในผลงานของอิมมานุเอล คานท์ (Immanuel Kant, 1724-1804) นักปรัชญาสมัยใหม่ชาวเยอรมัน และถูกนำมาศึกษากันอย่างกว้างขวางในทางสังคมศาสตร์เมื่อเจอร์เกน ฮาเบอร์มาส (Jürgen Habermas) นักวิชาการชาวเยอรมันได้เสนอผลงานชื่อ “การแปลงรูปเชิงโครงสร้างของพื้นที่สาธารณะ” (The Structural Transformation of the Public Sphere : an Inquiry into a Category of Bourgeois Society) ในปี ค.ศ. 1962 สำหรับฮาเบอร์มาสนั้น นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1960 เขาเป็นสมาชิกของสำนักแฟรงเฟิร์ตที่สนใจการวิพากษ์วิจารณ์ระบบและโครงสร้างทางสังคม นักวิชาการในกลุ่มนี้สร้างผลงานไว้มากมายในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเฉพาะทฤษฎีแนววิพากษ์ (Critical Theory) แนวคิดในสำนักนี้เห็นว่า ทัศนะพื้นฐานในเรื่องของความมีเหตุมีผล (rationality) ของมนุษยชาติที่พัฒนามาจากความป่าเถื่อนไร้เหตุผลเป็นทัศนะที่ผิดพลาด เพราะความขัดแย้งสับสนของสังคม สงคราม การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ หรือเหตุการณ์ความรุนแรงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 นั้น มนุษยชาติยังไม่ได้เดินไปถึงความมีเหตุมีผลสักเท่าไร โดยเฉพาะระบบทุนนิยมด้วยแล้ว ยิ่งเป็นระบบที่ไร้เหตุผลมากที่สุด แต่ฮาเบอร์มาสกลับมีเห็นว่า การที่ระบบทุนนิยมเป็นระบบที่ไร้เหตุผลนั้นก็เนื่องจากเส้นทางการพัฒนาความมีเหตุมีผลของมนุษยชาตินั้นยังเดินทางไม่ถึงจุดหมายปลายทาง มนุษยชาติจึงจำเป็นต้องก้าวเดินต่อไปด้วยความมีเหตุมีผล และแนวคิดเรื่อง “พื้นที่สาธารณะ” ก็เป็นข้อเสนอรูปธรรมอย่างหนึ่งที่มนุษยชาติจะสามารถดำเนินภารกิจเรื่องความมีเหตุมีผลให้ลุล่วงไปได้ (กาญจนา แก้วเทพ, 2543 : 166, วิภา อุตมฉันท์, 2544 : 158)

ฮาเบอร์มาสได้อธิบายถึงกระบวนการเกิดสำนึกสาธารณะ (สำนึกส่วนรวม) ว่า มาจากการที่ปัจเจกบุคคลใช้ความรู้และแสดงออกทางความคิดอย่างมีเหตุผล อย่างเปิดเผยในที่สาธารณะ ส่งผลให้สาธารณชน (public) เริ่มสามารถเข้าถึงและยึดครองมณฑลสาธารณะที่เคยถูกควบคุมโดยรัฐได้ และต่อมาพื้นที่ดังกล่าวก็ได้แปรเปลี่ยนเป็นพื้นที่ของการถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์การเมือง รวมทั้งการวิพากษ์วิจารณ์ตัวอำนาจรัฐด้วย พื้นที่สาธารณะจึงกลายเป็นอำนาจใหม่ที่ท้าทายอำนาจเดิมของสังคมศักดินาในยุโรป
การแปลงรูปของพื้นที่สาธารณะที่อดีตเคยผูกขาดอยู่แต่เฉพาะคนบางกลุ่มมาสู่มวลชนโดยทั่วไปเกิดขึ้นได้อย่างไร ปรากฏการณ์ดังกล่าวฮาเบอร์มาสได้ศึกษาหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของยุโรปตะวันตกนับตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมาโดยพบว่า ยุโรปในช่วงเวลานั้นเป็นสังคมที่มีแต่สถาบันกษัตริย์และสถาบันศาสนาเท่านั้นที่มีอภิสิทธิ์ในการเข้าถึงและครอบครองพื้นที่ทางการเมือง ชนชั้นกษัตริย์ ขุนนางชั้นสูงและพระเท่านั้นที่มีอำนาจในการตัดสินใจกิจการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสาธารณะ (คนหมู่มาก) เช่น การออกกฎหมาย การถืออำนาจครอบครองที่ดิน การผูกขาดความรู้และอำนาจ การผูกขาดการโฆษณาเผยแพร่ความรู้แก่สาธารณะ เป็นต้น การปรากฏตัวเพื่อให้เป็นที่รู้จักในสังคมไม่ใช่เรื่องที่ใครก็สามารถกระทำได้ แต่บุคคลนั้นจะต้องมีสถานภาพทางสังคมเพียงพอในฐานะที่เป็น “บุคคลสาธารณะ” (1)  และเพื่อที่จะรักษาอภิสิทธิ์ในพื้นที่สาธารณะทางการเมืองของตน รัฐยังกำหนดอำนาจที่จะใช้ความรุนแรงปราบปรามคนกลุ่มอื่นที่รุกล้ำเข้ามาในพื้นที่สาธารณะดังกล่าวได้ด้วย

ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ราวปลายคริสตศตวรรษที่ 17 ถึงต้นคริสตศตวรรษที่ 18 ก็ได้เกิดการขยายตัวทางการค้าทางทะเล การตื่นตัวทางศิลปะวิทยาการต่าง ๆ ก่อให้เกิดกลุ่มพ่อค้า นักคิด ปัญญาชนมากมาย เศรษฐกิจและความรู้ไม่ได้ถูกผูกขาดไว้ที่ชนชั้นสูงหรือพระบาทหลวงอีกต่อไป แต่เกิดเป็นชนชั้นใหม่ในสังคมที่อยู่กึ่งกลางระหว่างชนชั้นศักดินากับสามัญชนชั้นล่างที่เรียกว่า ชนชั้นกลาง (กระฏุมพีหรือ bourgeois-บูร์ชัว) ประกอบกับยุคสมัยดังกล่าวเป็นช่วงของการพัฒนาความเป็นเมืองหรือมหานคร (urbanisation) ทั้งในอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน ฮอลแลนด์ ฯลฯ เริ่มปรากฏพื้นที่สาธารณะใหม่ของคนกลุ่มใหม่ที่มาพบปะสังสรรค์ เสวนากันตามร้านกาแฟ โรงเหล้า ห้องโถงหรือห้องรับแขกของเหล่าชนชั้นกลางอันเป็นพื้นที่ที่ปลอดจากอำนาจราชสำนักและศาสนา กิจกรรมที่กลุ่มบุคคลดังกล่าวกระทำคือ การนัดพบปะกันอย่างสม่ำเสมอเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารด้านการค้า ความรู้และประสบการณ์ใหม่จากการเดินทางไปยังดินแดนไกลโพ้น  ข้อเขียนหรือบทความทางปรัชญา วิทยาศาสตร์สมัยใหม่ วรรณกรรมแพร่กระจายอย่างรวดเร็วด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์ที่พัฒนาขึ้น มีการพูดคุยถกเถียงกันอย่างมีอิสระ เสรีและมีเหตุผลในเรื่องต่าง ๆ เช่น กฎหมาย การเมืองการปกครอง ปรัชญา การวิพากษ์วิจารณ์ถกเถียงกันนี้ดำเนินไปบนหลักของความเสมอภาคเท่าเทียมกัน โดยมีบทบาทของสื่อสิ่งพิมพ์เป็นองค์ประกอบสำคัญ (ฮาเบอร์มาสใช้คำว่า “publicity” – ในความหมายกว้างที่หมายถึงการแพร่กระจายข้อมูลข่าวสารและประเด็นการถกเถียงผ่านสื่อกลาง)  กล่าวคือ เรื่องที่พูดคุยกันจะเป็นประเด็นของผลประโยชน์ร่วมกันที่สมาชิกแต่ละคนได้รับข่าวสารมาจากสื่อสิ่งพิมพ์ หนังสือพิมพ์ ใบประกาศ ฯลฯ ฮาเบอร์มาสชี้ให้เห็นว่านี่คือจุดเริ่มต้นที่อาณาเขตหรือพื้นที่ส่วนตัว (private sphere - ภายในครอบครัวหรือกลุ่มเฉพาะ) ได้เคลื่อนออกมาสู่มณฑลสาธารณะ และบางเรื่องก็ได้หลอมรวมเป็นสิ่งเดียวกันโดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวกับชีวิตการเมือง นอกจากนี้ ความสามารถในการอ่านออกเขียนได้ของประชาชนที่ขยายวงกว้างมากขึ้นนำไปสู่หลักของการคัดเลือก (principle of selection) ไม่ว่าจะเป็นการเลือกข่าวสาร ความรู้ วิทยาการ การคัดสรรผู้มีความรู้ ผู้มีอำนาจ และนำไปสู่การจัดโครงสร้างใหม่ทางสังคมแบบใหม่และการครอบครองทรัพย์สินของคนกลุ่มใหม่ในยุคสมัยนั้น



ร้านกาแฟในคริสศตวรรษที่ 18
(ที่มา  http://www.ariane-genealogie.net/france1/cafe_au_18eme.htm)





บรรยากาศห้องรับแขกของชนชั้นกลางในคริสตศตวรรษที่ 18 
(ที่มา : http://www.voyagesphotosmanu.com/litterature_francaise_18eme_siecle.html)


อาจกล่าวได้ว่าพื้นที่สาธารณะดังกล่าวได้ทำหน้าที่เป็นพื้นที่ต่อสู้ทางการเมืองของชนชั้นกลางด้วย เพราะนอกจากการพูดคุยดังกล่าวจะเป็นช่องทางให้สมาชิกในสังคมได้เข้ามามีส่วนร่วมในชีวิตสาธารณะแล้ว ยังสามารถตรวจสอบรัฐบาลที่กำลังปกครองอยู่ในขณะนั้นได้ด้วย หลังจากนั้นผลที่เกิดขึ้นก็คือ กลุ่มพื้นที่สาธารณะนั้นก็จะนำเอาข้อสรุปหรือข้อเสนอไปต่อรองกับชนชั้นกษัตริย์หรือขุนนาง พื้นที่สาธารณะจึงเท่ากับเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้ชนชั้นกลางได้แสดงตัวในฐานะ “พลเมือง” และได้รวมตัวกันเพื่อเป็นช่องทางเข้าไปร่วมกับชีวิตสาธารณะของสังคม แต่นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 พื้นที่สาธารณะในฐานะที่เป็นพื้นที่ของ “เหตุผล” ตามความหมายของฮาเบอร์มาสกลับเริ่มถดถอยลดบทบาทลง การเผยแพร่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ได้แปรเปลี่ยนไปสู่สนองตอบผลประโยชน์ทางการค้ามากกว่าทางการเมือง ทำให้ข้อมูลข่าวสารแปรรูปจากความรู้   ข่าวสารไปสู่การโฆษณาสินค้า   การโฆษณาชวนเชื่อและการบิดเบือน ฮาเบอร์มาสชี้ให้เห็นว่าพื้นที่สาธารณะของชนชั้นกลางได้กลายเป็นพื้นที่ทางสังคมที่มีลักษณะเฉพาะอันเกิดจากการเติบโตของระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมในยุโรปตะวันตก และเช่นเดียวกัน เขาได้แสดงให้เราเข้าใจถึงความขัดแย้งกันระหว่างอุดมคติของความเท่าเทียมกันบนฐานของแนวคิดเสรีนิยมกับความไม่เท่าเทียมกันทางสังคมที่ถูกกำหนดโดยกลไกหรือความสัมพัน์ของการค้าการตลาด  (Dahlgren, 1994)


ประเด็นถกเถียงถึงความเป็นอุดมคติของพื้นที่สาธารณะ


การศึกษาเรื่องพื้นที่สาธารณะยังคงมีข้อถกเถียงเชิงวิพากษ์ในหลายประเด็นจนทุกวันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นที่เกี่ยวกับการแสดงบทบาทเชิงสัญลักษณ์และความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างคนกลุ่มต่าง ๆ ที่แสดงตัวในพื้นที่สาธารณะ บ้างก็วิจารณ์งานของฮาเบอร์มาสว่า เขาได้ทำให้พื้นที่สาธารณะของชนชั้นกลางในช่วงต้นกลายเป็นอุดมคติ โดยการนำเสนอพื้นที่ดังกล่าวในฐานะที่เป็นรูปแบบหนึ่งของการสนทนาและถกเถียงกันอย่างมีเหตุผล ซึ่งในความเป็นจริงอาจมีกลุ่มคนบางกลุ่มได้ถูกกีดกัดหรือเบียดขับออกไปจากพื้นที่นี้แล้ว และด้วยเหตุนี้การมีส่วนร่วมในพื้นที่ดังกล่าวจึงถูกจำกัด การเมืองไม่ว่าจะยุคสมัยใดย่อมหนีไม่พ้นเรื่องของผลประโยชน์และอำนาจ หรือแม้แต่การสนทนาและการถกเถียง เราจึงยังคงเห็นภาพของพื้นที่สาธารณะของชนชั้นกลางที่ถูกยึดครองหรือครอบงำโดยคนผิวขาว คนส่วนใหญ่ ผู้ชาย ชนชั้นนำ หรือนายทุน ในขณะที่พื้นที่สาธารณะของชนชั้นล่าง ชนชั้นแรงงาน แม่บ้าน หรือชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ แทบจะไม่ปรากฏให้เห็นในงานของเขา บ้างก็วิจารณ์ว่าการวิเคราะห์ของฮาเบอร์มาสยังมีความคลุมเครือเพราะยังขาดการนำเสนอประเด็นปัญหาอื่น ๆ ที่สำคัญและดูเหมือนจะเป็นการขยายภาพเกินจริง กล่าวคือ ด้านหนึ่งวาทกรรมของชนชั้นกลางไม่เคยแสดงออกถึงระดับของการใช้เหตุผลอย่างที่ฮาเบอร์มาสกล่าวถึง ส่วนอีกด้านหนึ่งในขณะที่ระบบทุนนิยมกำลังก้าวเดินไปข้างหน้าสถานการณ์ดังกล่าวกลับไม่ได้ถูกขัดขวางอย่างที่ฮาเบอร์มาสชี้ การเกิดพื้นที่สาธารณะจึงเป็นปัญหาเรื่องของการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์มากกว่า (Dahlgren, 1994) ส่วนฮาเบอร์มาสก็ยอมรับว่า เขาได้นำเสนอภาพที่ไม่เป็นจริงได้ทั้งหมดเกี่ยวกับองค์ประกอบที่เป็นอิสระและมีเสรีภาพของพื้นที่สาธารณะของชนชั้นกลาง และควรที่จะทำให้มันชัดเจนขึ้นด้วยว่า เขากำลังสถาปนาแบบฉบับที่เป็นเพียงอุดมคติอันหนึ่ง (Habermas, 1993 :III)
แม้ว่ายังมีข้อถกเถียงและวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับพื้นที่สาธารณะ แต่งานของฮาเบอร์มาสก็ถือว่าเป็นการจุดประเด็นให้เกิดการขบคิดและศึกษาถึงกระบวนการเกิดและปรับเปลี่ยนพื้นที่ดังกล่าวในแต่ละยุคสมัย ตราบใดที่เรายังคงยึดถือคุณค่าของสังคมประชาธิปไตยแบบเสรี

การเกิดความเห็นสาธารณะ (public opinion) (2) 


แนวคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะของฮาเบอร์มาสดังที่ได้กล่าวมาสะท้อนให้เห็นถึงความสนใจของเขาในเรื่องของการสื่อสารที่เรียกว่า ความมีเหตุมีผลเชิงการสื่อสาร (communicative rationality) ที่จะทำให้ความเป็นตัวตน (selfhood) ทั้งระดับปัจเจกและระดับสังคมเกิดขึ้นได้ เพราะคนที่จะต้องการเสรีภาพนั้น ต้องเป็นคนที่มีความตระหนักในตัวตนของตัวเองเสียก่อน อีกประการหนึ่ง หากมีการสื่อสารกันระหว่างคนในชุมชนจะทำให้แต่ละฝ่ายสามารถเข้าถึงความเป็นอัตวิสัยซึ่งกันและกัน (intersubjectivity) เข้าใจกันและกัน และสามารถเห็นพ้องต้องกัน (consensus) ได้ในท้ายที่สุด นั่นหมายความว่า การสื่อสารเป็นเงื่อนไขสำคัญสำหรับการปลดปล่อยสังคมให้มีเสรีภาพ (กาญจนา แก้วเทพ, 2543 : 157-179) และจะสามารถทำให้เกิดบรรทัดฐานที่จะวิจารณ์ความบิดเบือนต่าง  ๆ ได้

เมื่อพิจารณาตัวแบบระบบการสื่อสารทางการเมือง องค์ประกอบสำคัญในระบบก็คือ ความเห็นสาธารณะ (public opinion)  เนื่องจากเป็นภาพรวมของค่านิยมและความเชื่อมั่นร่วมกันของประชาชนต่อระบบการเมือง ทำให้รัฐบาลสามารถรับรู้เจตจำนงของประชาชน และเข้าใจข้อเรียกร้องและความต้องการของประชาชน แล้วนำไปกำหนดนโยบายและดำเนินการให้สอดคล้องกับเจตจำนงและความต้องการของประชาชนนั้น ในขณะเดียวกัน ความเห็นสาธารณะยังเป็นเครื่องมือในการควบคุม ต่อรอง กดดัน หรือตรวจสอบรัฐบาลของประชาชนได้ด้วย ความเห็นสาธารณะจึงเป็นกระบวนการย้อนกลับสารเพื่อปรับสมดุลในระบบการสื่อสารและระบบการเมืองและเป็นส่วนหนึ่งของระบบการตัดสินใจนโยบาย แต่ทั้งนี้ เรามักจะสับสนบ่อย ๆ ถึงความหมายของความเห็นสาธารณะกับเสียงส่วนใหญ่ (majority) เช่นเดียวกับที่เรามักจะสับสนระหว่างคำว่า “สาธารณะ” กับ “ฝูงชน” โดยลืมไปว่าความเห็นสาธารณะนั้นดำเนินไปด้วยพลังทางการเมืองและพลังของความคิดเห็นที่มักจะเป็นข้อถกเถียง ลื่นไหล และประกอบด้วยความแตกต่างหลากหลาย เช่น การเคลื่อนไหวของกลุ่มแนวอนุรักษ์นิยมกับกลุ่มปฏิรูปที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เฉพาะความเห็นใดความเห็นหนึ่ง ของกลุ่มใดกลุ่มเหนึ่งเพียงกลุ่มเดียว แต่เป็นพลังทางความคิดที่ขับเคลื่อนในช่วงเวลาหนึ่งและจะมีส่วนในการกำหนดการตัดสินใจทางการเมืองของผู้มีอำนาจหรือของประชาชนได้ ความเห็นสาธารณะจึงมีความซับซ้อนมากกว่าจะถูกมองเพียงความเห็นของคนส่วนใหญ่แล้วละเลยความเห็นของเสียงส่วนน้อย เนื่องจากเป็นเรื่องยากที่เราจะสามารถกำหนดขอบเขตตายตัวระหว่างความเป็นปัจเจก (ส่วนตัว) กับจุดร่วม (สาธารณะ) ของความคิดเห็นหรือการใคร่ครวญตัดสิน (judgment) ดังนั้นบ่อยครั้งที่เราจึงมักเห็นคนที่มีความเห็นคล้อยตามความเห็นของคนส่วนใหญ่ หรือพบการกล่าวอ้างคิดเห็นของตน (ส่วนตัว) ว่าเป็นความเห็นหรือมติของสาธารณะ  

ความเห็นสาธารณะเกิดขึ้นมาพร้อม ๆ กับการก่อตัวของพื้นที่สาธารณะ ในงานของฮาเบอร์มาส เขาได้วิเคราะห์การเกิดความเห็นสาธารณะในพื้นที่สาธารณะของชนชั้นกลางโดยอ้างว่า พื้นที่สาธารณะทำให้เรา (1) เข้าถึงความเป็นสากล  ก่อให้เกิด (2) การถกเถียงอย่างมีเหตุมีผล และ (3) ลดความเหลื่อมล้ำ แต่อย่างไรก็ตาม จากการวิพากษ์วิจารณ์ถึงอุดมคติของพื้นที่สาธารณะของนักวิชาการต่าง ๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ฮาเบอร์มาสก็เหมือนจะเชื่อว่า ลักษณะทั้งสามดังกล่าวไม่มีอยู่จริงอีกต่อไปแม้แต่ในประเทศประชาธิปไตยเสรีตะวันตก เพราะปัจจุบัน ความคิดเห็นสาธารณะกำลังถูกครอบงำด้วยชนชั้นนำอย่างเข้มข้น  (Habermas, 1993 :XIX-XX) ข้อถกเถียงเกี่ยวกับความเห็นสาธารณะและพื้นที่สาธารณะเห็นได้จากข้อเสนอของปิแอร์ บูร์ดิเยอ (Pierre Bourdieu) นักสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศสที่ชี้ว่า ตัวความคิดเห็นของสาธารณะนั้นเป็นสิ่งที่ถูกสร้างเสมือน “งานฝีมือที่บริสุทธิ์และไม่ซับซ้อน” โดยทำหน้าที่อำพรางความเห็นที่เป็นผลผลิตของระบบพลังอำนาจและความตึงเครียด และการนำเสนอความเห็นในเชิงปริมาณด้วยสัดส่วนร้อยละ ก็ดูเหมือนจะเป็นวิธีการที่เหมาะสมและแนบเนียนที่สุดในการสะท้อนความคิดเห็นเหล่านั้น นอกจากนี้ บูร์ดิเยอ ยังได้เพิ่มเติมอีกว่า ผลกระทบเบื้องต้นของการสำรวจความคิดเห็นก็คือการสถาปนาความคิด (idea) ที่มีอยู่แล้วให้เป็นความเห็นสาธารณะที่เป็นเอกฉันท์ ดังนั้น มันได้สร้างความชอบธรรมให้กับการเมืองและตอกย้ำถึงความสัมพันธ์ของพลังอำนาจทางการเมืองที่มีอยู่ในสังคม (Bourdieu, 1972)

สื่อมวลชนกับการสร้างพื้นที่สาธารณะในสังคมประชาธิปไตย


สื่อมวลชนโดยเฉพาะหนังสือพิมพ์มีอิทธิพลและมีบทบาทอย่างมากในพื้นที่สาธารณะด้วยความสามารถในการกระจายข้อมูลข่าวสารและความคิดเห็นออกไปในวงกว้างผ่านเทคโนโลยีที่นับวันจะยิ่งทวีความก้าวหน้า รวดเร็วและซับซ้อนมากขึ้น  Bernard Miège (1996, 1997) ได้วิเคราะห์บทบาทของการสื่อสารในการสร้างพื้นที่สาธารณะตลอดช่วงระยะเวลานับตั้งแต่การเกิดขึ้นของแนวคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะในยุโรปโดยแบ่งออกเป็น 4 ช่วงเวลาของการสื่อสารที่ทำให้พื้นที่สาธารณะขยายและแตกตัวออกไปอย่างกว้างขวาง ได้แก่ 1) การเกิดหนังสือพิมพ์การเมืองหรือหนังสือพิมพ์ความคิดเห็นในช่วงกลางศตวรรษที่ 18 2) การเกิดหนังสือพิมพ์ธุรกิจนับตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 19 3) การเกิดสื่อวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 20 และ 4) การเกิดการโฆษณาประชาสัมพันธ์ โดยเฉพาะการรณรงค์ทางการเมืองตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 1970 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม จากการพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสารในปัจจุบัน เราอาจมองช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่ 5 ของการสื่อสารได้ เมื่อธรรมชาติของหนังสือพิมพ์เปลี่ยนแปลงไป สื่อประเภทนี้ก็หมดบทบาทลง เมื่อสื่อสมัยใหม่ เช่น คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตได้ถือกำเนิดขึ้นมานับตั้งแต่ทศวรรษที่ 80 เป็นต้นมา  จวบจนถึงยุคของสื่อสังคมออนไลน์ จึงมีคำถามว่า สื่อใหม่เหล่านี้จะมีบทบาทในการสร้างพื้นที่สาธารณะอย่างไร มีนักวิชาการบางท่าน เช่น Scannell & Cardiff (1989) ให้ความสนใจที่จะศึกษาบทบาทของสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่มีต่อการสร้างพื้นที่สาธารณะแบบใหม่ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับสื่อประเภทคอมพิวเตอร์ที่มีธรรมชาติที่เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับการโต้เถียงอภิปราย แม้ว่าจะเป็นการสื่อสารผ่านตัวสื่อกลาง (mediated communication) มิใช่การสื่อสารแบบเผชิญหน้า (face-to-face communication) 


การพิมพ์ในช่วงปลายคริสตศวรรษที่ 18
(ที่มา : http://bibliophilie.blogspot.com/2007_06_01_archive.html)


ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่สาธารณะกับการสร้างสังคมประชาธิปไตยยุคใหม่นั้น สังคมประชาธิปไตยต้องการพลเมืองที่มีความรอบรู้ สามารถตัดสินปัญหาทางการเมืองด้วยตัวเอง แต่ในสังคมขนาดใหญ่และมีความสลับซับซ้อนเช่นทุกวันนี้ การที่พลเมืองทุกคนจะมีส่วนร่วมและตัดสินใจในกิจการทุกเรื่องด้วยตัวเองเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ กระบวนการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนจึงจำเป็นต้องกระทำผ่านตัวแทนหรือ “ผู้แทน” ที่พลเมืองเลือกขึ้นมาให้ทำหน้าที่ทางการเมืองแทนพวกเขา จึงกล่าวได้ว่า การเลือกผู้แทนแบบประชาธิปไตยในยุคใหม่ เป็นวิธีการที่ทำให้การมีส่วนร่วมทางการเมืองของพลเมืองอ่อนแอลง ดังนั้น เพื่อให้ระบอบตัวแทนดังกล่าวก่อผลเสียต่อกระบวนการประชาธิปไตยน้อยที่สุด สื่อมวลชนจึงมีหน้าที่ต้องเปิดพื้นที่สาธารณะ ใช้พื้นที่สาธารณะเป็นช่องทางให้พลเมืองได้รับข้อมูลความรู้เกี่ยวกับเหตุการณ์ความเป็นไปทางการเมืองทุกอย่างเป็นอย่างดี จากนั้นพลเมืองจึงจะสามารถนำข้อมูลเหล่านั้นไปอภิปรายโต้แย้ง ชั่งน้ำหนัก ตัดสินใจ และลงมือกระทำการทางการเมืองต่อไปตามวิจารณญาณที่เห็นเหมาะสม (วิภา อุตมฉันท์,2544 : 159 -160)

แม้ว่าสื่อมวลชนไม่ใช่เครื่องมืออย่างเดียวของพื้นที่สาธารณะ แต่ก็เป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุดในสังคมปัจจุบัน เพราะสื่อเป็นตัวกลางที่จะกระตุ้นให้สาธารณชนเข้าร่วมกระบวนการทางการเมือง นอกจากนี้ สื่อที่เปิดพื้นที่กว้างขวางให้กับสาธารณะ ยังเป็นปัจจัยชี้ขาดความมั่นคงยั่งยืนของประชาธิปไตยที่สื่อสร้างให้กับสังคมด้วย ตรงกันข้าม ถ้าขาดแคลนพื้นที่สาธารณะหรือสื่อทำหน้าที่ย่อหย่อนไร้ประสิทธิภาพ ประชาชนก็จะเกิดความไร้เดียงสาหรือเย็นชาทางการเมือง (Depoliticized) รู้สึกเหมือนถูกโดดเดี่ยวขาดพลัง ต่างคนต่างหาทางออกเฉพาะหน้าให้กับตัวเอง เมื่อนั้นก็จะเปิดทางให้มีผู้อุปโลกน์ตัวเองขึ้นมาเป็นผู้นำมวลชนและแย่งยึดอำนาจการตัดสินใจของสังคมไป ดังที่ฮาเบอร์มาสและแมคเชสนีย์ได้ยืนยันว่า พื้นที่สาธารณะจะค้ำจุนประชาธิปไตยให้เจริญเติบโตได้ สื่อต้องสามารถแสดงทัศนะทางการเมืองออกมาได้โดยไม่มีข้อจำกัด รัฐมีหน้าที่ต้องทุ่มเททรัพยากรทุกอย่างเท่าที่จำเป็นให้กับสื่อที่ทำงานให้กับพื้นที่สาธารณะ เพื่อถ่วงดุลไม่ให้เศรษฐกิจและการเมืองที่ทรงอิทธิพล เข้ายึดพื้นที่ของสื่อที่เป็นตัวแทนของประชานฝ่ายที่เสียเปรียบและด้อยอำนาจในสังคม (วิภา อุตมฉันท์, 2544 : 164)

อิทธิพลของสื่อใหม่กับการสร้างพลังประชาธิปไตย 

(โปรดดูในบทความเรื่อง "พลังของสื่อใหม่กับการสร้างเครือข่ายสังคมประชาธิปไตย" 10/4/56)


เชิงอรรถ

(1)  คำว่า บุคคลสาธารณะ ในที่นี้มีความหมายแตกต่างจากความหมายที่ใช้กันในปัจจุบัน กล่าวคือ ในช่วงคริสศตวรรษที่ 16-17 ชนชั้นสูงหรือชนชั้นปกครองเท่านั้นจึงจะสามารถอ้างความชอบธรรมในการครอบครองความเป็นสาธารณะ เช่น ที่ดิน ทรัพย์สิน ไพร่พล ความรู้ อำนาจทางการเมืองการบริหาร อำนาจทางการทหาร เป็นต้น หากบุคคลใดสามารถแสดงสัญลักษณ์ที่บ่งชี้ถึงความเป็นชนชั้นปกครองได้ บุคคลนั้นก็จะสามารถเข้าถึงพื้นที่สาธารณะและมีความเป็นบุคคลสาธารณะได้ (Habermas, 1993 :42-53) ตัวอย่างเช่น ในราชสำนักฝรั่งเศสสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 พระราชวังแวร์ซายส์ถือเป็นพื้นที่สาธารณะของชนชั้นสูงในสมัยนั้น การพูดคุยประเด็นทางการเมือง การแลกเปลี่ยนความรู้วิทยาการ รวมทั้งข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ จำกัดอยู่ในอาณาเขตราชสำนัก ในงานเลี้ยงสังสรรค์หรืองานชุมนุมในพระราชวังหรือปราสาทของชนชั้นสูงเท่านั้น การจะได้มีโอกาสเข้าร่วมงานเลี้ยงหรือพบปะกับชนชั้นสูงนั้นจำเป็นที่บุคคลจะต้องแสดงคุณสมบัติที่สอดคล้องกับความเป็นสาธารณะเสียก่อน เช่น การแต่งกาย กิริยามารยาทสังคม การใช้ภาษา ชาติตระกูล ทรัพย์สิน หรือภูมิความรู้ ราชสำนักจึงเป็นศูนย์กลางอำนาจทางการเมือง การทหารและความรู้ศิลปะวิทยาการที่กระจุกอยู่แต่เฉพาะบุคคลชั้นสูงหรือผู้มีความรู้ ในขณะที่เมื่อเกิดชนชั้นกลางในช่วงคริสศตวรรษที่ 17-18 พื้นที่สาธารณะได้เคลื่อนออกจากเขตพระราชวังมาสู่ภายนอกเช่น บ้านของขุนนางและชนชั้นกลางในเมือง ร้านกาแฟ สโมสร ที่ทำการสมาคม ซึ่งเปิดกว้างให้คนธรรมดาสามัญสามารถเข้าร่วมได้มากขึ้น ความหมายของบุคคลสาธารณะจึงเปลี่ยนแปลงไปด้วยโดยเคลื่อนจากชนชั้นสูงในราชสำนักมาสู่ชนชั้นกลางที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจ และพื้นที่ที่เคลื่อนจากความเป็นส่วนตัว (ในครอบครัว, วงศาคณาญาติ, ชุมชน) มาสู่ความเป็นสาธารณะ (สังคมภายนอก)    

(2)   ความเห็นสาธารณะ เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นในช่วงคริสศตวรรษที่ 18 คำนี้ปรากฏเป็นครั้งแรกในภาษาฝรั่งเศส l’opinion publique ในปี 1588 ในงานของ Montaigne แนวคิดนี้เกิดจากกระบวนการพัฒนาพลังทางการเมืองและสังคม ประกอบกับการเติบโตของเมืองในแถบยุโรปตะวันตก นักคิด นักปรัชญา นักวิชาการรัฐศาสตร์หลายคนในหลายยุคสมัยได้พัฒนาแนวคิดนี้อันเป็นฐานสำคัญหนึ่งของการพัฒนาการเมืองแบบประชาธิปไตย เช่น Adam Smith, Jeremy Bentham, Jürgen Habermas, Herbert Blumer 

เอกสารอ้างอิง

- กาญจนา แก้วเทพ, กิตติ กันภัย และปาริชาต สถาปิตานนท์ สโรบล. 2543. มองสื่อใหม่ มองสังคมใหม่. กรุงเทพฯ : เอดิสัน เพรส โพรดักส์.
- กาญจนา แก้วเทพ. 2545. สื่อสารมวลชน ทฤษฎีและแนวทางการศึกษา. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ศาลาแดง.
- วิภา อุตมฉันท์. 2544. ปฏิรูปสื่อเพื่อสังคม หลักคิดและบทเรียนจากนานาประเทศ. กรุงเทพฯ : คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
- Bourdieu, Pierre. 1972. « L’opinion publique n’existe pas », Les Temps modernes, 29 (318), janv. 73 : 1292-1309. (http://homme-moderne.org/societe/socio/bourdieu/questions/opinionpub.html).
- Dahlgren, Peter. 1994. L’espace public et les médias. Une nouvelle ère ?. Hermès 13-14.
- Dahlgren, Peter and Relieu, Marc. 2000. « L’espace public et l’internet. Structure, espace et communication. », in Réseaux, vol. 18 no.100, pp. 157-186. (http://www.persee.fr/web/revues/home/prescript/article/reso_0751-7971_2000_num_18_100_2217)
- Habermas, Jürgen. 1993. L’espace public : Archéologie de la publicité comme dimension constitutive de la société bourgeoise. [The Structural Transformation of the Public Sphere.] Paris : Payot.
- Kellner, Douglas. Habermas, the Public Sphere, and Democracy: a Critical Intervention. (http://www.gseis.ucla.edu/faculty/kellner/)
- Miège, Bernard. 1996 (t.1), 1997 (t.2). La société conquise par la communication, tomes 1 et 2. Grenoble : Presses universitaires de Grenoble.