วันอาทิตย์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2560

จากการสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม สู่การสื่อสารเพื่อสันติภาพ

แนวคิดการสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม (Communication for Social Change) 
และการสื่อสารเพื่อสันติภาพ (Communication for Peace) 

ประสบการณ์จากสถานการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรง นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา รูปแบบและปัจจัยของความขัดแย้งมีความซับซ้อนและหลากหลายตามพัฒนาการของสังคมและการเปลี่ยนแปลงของระบบการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ข้อมูลการเฝ้าติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์ความขัดแย้งทั่วโลก (Conflict   Barometer) ของสถาบันไฮเดลเบิร์กเพื่อการวิจัยความขัดแย้งในระดับสากล (Heidelberg Institute for International Conflict Research) พบว่าจำนวนความขัดแย้งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากจำนวน 74 กรณีใน พ.ศ. 2488 เป็น 249 กรณี ในปี 2548 และในปี 2559 รายงานระบุว่า มีจำนวนประเทศทั่วโลกที่จัดอยู่ในสภาวะความขัดแย้งมากถึง 402 กรณี ในจำนวนนี้ 226 กรณีเป็นความขัดแย้งรุนแรง (Violent conflict) อีก 176 กรณีเป็นความขัดแย้งที่ยังไม่เกิดความรุนแรง (Non-violent conflict) และส่วนใหญ่เป็นความขัดแย้งภายในรัฐ (Heidelberg Institute for International Conflict Research, 2016)  จำนวนดังกล่าวเป็นการยืนยันว่าหลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรง

ในช่วงเวลาเดียวกัน ความสนใจต่อบทบาทของการสื่อสารในห้วงเวลาความขัดแย้งและภาวะวิกฤตก็เริ่มเด่นชัดมากยิ่งขึ้น  องค์กรด้านการพัฒนาระดับสากล เช่น องค์การสหประชาชาติ นักวิชาการ นักวิจัยและนักกิจกรรมทางสังคม ต่างเห็นตรงกันว่า การสื่อสารเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างสภาวะของความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในสังคม ก่อให้เกิดกลไกการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ความคิด ความหมายเพื่อป้องกันความขัดแย้ง ช่วยส่งเสริมสิทธิและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ และเป็นพลังของการเปลี่ยนแปลงสังคม (Hoffmann, 2013, p. 7)

ข้อสรุปดังกล่าวเป็นผลมาจากการอภิปรายถกเถียงในวงวิชาการ นักปฏิบัติงานเพื่อสังคมและองค์กรภาคประชาสังคมถึงบทบาทของสื่อและการสื่อสารในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ยุติความรุนแรงและการฟื้นฟูสังคมให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน คำถามจากแนวคิดนี้ก็คือ สังคมจะใช้การสื่อสารเป็นส่วนหนึ่งของการป้องกันความขัดแย้งไม่ให้ลุกลามบานปลายเป็นความรุนแรงได้อย่างไร การสื่อสารจะมีบทบาทในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเกิดวัฒนธรรมสันติภาพ (Culture of Peace) และคลี่คลายความขัดแย้งได้อย่างไร และภายหลังความขัดแย้งรุนแรง การสื่อสารจะช่วยฟื้นฟูความสัมพันธ์ของคนในสังคมและพัฒนาสังคมให้มีความมั่นคงเพื่อไม่ให้กลับเข้าสู่วงจรของความขัดแย้งนั้นได้อย่างไร นับเป็นโจทย์ที่ท้าทายต่อนักสื่อสารเป็นอย่างยิ่ง

ประเด็นคำถามแรกเกี่ยวกับบทบาทสื่อและการสื่อสารในการหลีกเลี่ยงการเกิดความรุนแรง เป็นผลมาจากบทเรียนของเหตุการณ์ความขัดแย้งรุนแรงในหลายประเทศ หนึ่งในกรณีศึกษานั้นก็คือความขัดแย้งรุนแรงในประเทศรวันดาที่นำไปสู่การทำร้ายและทำลายชีวิตระหว่างประชาชนสองเผ่าคือเผ่าทุตซี่ (Tutsi) และเผ่าฮูตู (Hutu) ในช่วงวันที่ 7 เมษายนถึงกลางเดือนกรกฎาคม 2537 เหตุการณ์ในครั้งนั้น มีการรายงานว่าชาวรวันดาเสียชีวิตระหว่าง 500,000 – 1,000,000 คน มีการแบ่งแยกทางชาติพันธุ์ที่ได้รับการปลุกปั่นโดยสื่อที่สนับสนุนชาติพันธุ์ตนเองและระดมมวลชนให้ลุกฮือขึ้นใช้ความรุนแรงต่อกัน เหตุการณ์ดังกล่าว นักวิเคราะห์ด้านความขัดแย้งและความรุนแรงมองว่า ปัจจัยสำคัญของความรุนแรงในรวันดาได้แก่ 1) การปลุกอุดมการณ์ชาติพันธุ์โดยนักการเมือง นักวิชาการ และสื่อ ตลอดระยะเวลาหลายปีนับตั้งแต่ปี 2533 2) โครงสร้างและกลไกทางสังคมที่แข็งตัวของทั้งสองเผ่า ส่งผลให้การควบคุมมวลชนมีความเข้มงวด 3) การควบคุมสื่อ 4) การเตรียมการเชิงจิตวิทยาให้เกิดความเกลียดชัง และ 5) การเรียกร้องให้ใช้ความรุนแรงผ่านสื่อมวลชน สุดท้ายจึงเกิดเหตุการณ์บานปลายเป็นความรุนแรงจนยากที่จะควบคุมแม้ว่าองค์การสหประชาชาติจะส่งกองกำลังเข้ามาควบคุมสถานการณ์ก็ตาม แต่การแก้แค้นตอบโต้ก็ยังคงดำเนินมาต่อเนื่องอีกกว่าสองทศวรรษ (Lower & Hauschildt, 2014)

อีกบทบาทหนึ่งของการสื่อสารในระหว่างช่วงเวลาของความขัดแย้ง ประสบการณ์จากการศึกษาความขัดแย้งเรื่องดินแดนในประเทศเอธิโอเปียในช่วงต้นทศวรรษ 1990 หนังสือพิมพ์มีบทบาทสำคัญในการกำหนดวาระข่าวสาร และเรียกร้องให้มีการเจรจาพูดคุยสันติภาพ (Peace Dialogue) สื่อมีบทบาทในการเปิดเวทีถกเถียงเรื่องนิยาม อัตลักษณ์ของชาติ แต่อย่างไรก็ตาม การถกเถียงดังกล่าวยังค่อนข้างจำกัด สื่อสามารถวิจารณ์รัฐบาลได้เฉพาะแต่เรื่องนโยบายการบริหารประเทศ แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้เปิดประเด็นเรื่องสาธารณรัฐของกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลาย (Ethnic Federalism) ขณะที่รัฐบาลพยายามเบี่ยงเบนโดยอ้างว่าไม่มีความจำเป็นในเรื่องการเจรจาและกล่าวหาคนที่เข้าร่วมกระบวนการสันติภาพว่าเป็นผู้ไม่หวังดีต่อความสงบเรียบร้อยของประเทศ รวมทั้งจำกัดกลุ่มคนที่เข้าร่วมในกระบวนการพูดคุยสันติภาพโดยเฉพาะกลุ่มนักวิชาการและนักเคลื่อนไหวทางสังคม ในเวลาเดียวกันสื่อของรัฐได้พยายามโฆษณาชวนเชื่อและไม่ยอมรับแนวคิดอื่น เช่น หนังสือพิมพ์ Tabiya ที่สนับสนุนฝ่ายรัฐบาล และสื่อสารต่อต้านแนวคิดระบบการเมืองที่มีส่วนผสมของความหลากหลายทางชาติพันธุ์ จากกรณีดังกล่าวเป็นตัวอย่างของบทบาทของสื่อในห้วงเวลาระหว่างการเกิดสถานการณ์ความขัดแย้ง (Hoffmann, 2013) คำถามที่ตามมาคือ สื่อจะมีส่วนเอื้ออำนวยให้เกิดการพูดคุยสันติภาพได้หรือไม่ สื่อมีบทบาทในการเปิดประเด็นการถกเถียงถึงปัญหาแกนกลางได้อย่างไรบ้าง และสื่อจะช่วยสนับสนุนให้เกิดรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพและมีธรรมาภิบาลในการบริหารประเทศได้หรือไม่

สำหรับงานศึกษาด้านการสื่อสารในสถานการณ์ความขัดแย้งรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย Phansasiri Kularb (2016) ได้ศึกษาบทบาทของสื่อไทยในการรายงานข่าวสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชานแดนภาคใต้และมีข้อเสนอว่า สื่อควรแสดงบทบาทสำคัญ 3 ประการคือ 1) การเป็นผู้นำเสนอความจริง โดยทำงานด้วยหลักการตั้งคำถามและค้นหาสาเหตุและผลต่อเนื่องของความขัดแย้งโดยไม่เลือกเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง 2) การเป็นเวทีของทุกฝ่ายโดยการเปิดโอกาสให้เสียงของทุกฝ่ายได้ปรากฏโดยเฉพาะเสียงของคนกลุ่มน้อย และ 3) การเป็นผู้สนับสนุนกระบวนการคลี่คลายความขัดแย้งเพื่อนำไปสู่การสร้างสันติภาพ พรรษาสิริยังเสนอว่า สองบทบาทแรกจะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งในวิชาชีพด้านวารสารศาสตร์ ส่วนบทบาทที่สามนั้นยังคงมีประเด็นถกเถียงในเรื่องของหลักการวารสารศาสตร์อยู่ไม่ว่าจะเป็นแนวทางการปฏิบัติงานด้านการรายงานข่าว การเลือกข้าง ความเป็นกลางและความเป็นอิสระของสื่อ อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติงานที่มีความแตกต่างหลากหลายในระบบนิเวศข่าวสารของไทยจะช่วยส่งเสริมงานด้านวารสารศาสตร์และเปิดโอกาสในการลดการครอบงำข่าวสาร อันนำไปสู่การเกิดการถกเถียงในสาระสำคัญเกี่ยวกับความขัดแย้งและหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ

จากตัวอย่างความขัดแย้งทั้งสองกรณีข้างต้นและผลการศึกษาบทบาทของสื่อในบริบทสังคมไทย จะเห็นได้ว่าข้อวิพากษ์และความคาดหวังต่อบทบาทของสื่อและการสื่อสารในสถานการณ์ความขัดแย้งนั้นยังจำเป็นต้องมีการถกเถียงและศึกษาทำความเข้าใจ และถือว่ายังเป็นจุดอ่อนในวงวิชาการด้านการสื่อสารกับการคลี่คลายความขัดแย้งและการสร้างสันติภาพ (Conflict Resolution and Peacebuilding) ดังข้อสังเกตของ Kalathil, Langlois and Kaplan (2008 อ้างถึงใน Hoffmann & Julia, 2013, p. 6) ที่เสนอรายงานไปยังองค์การสหประชาชาติระบุว่า “พื้นที่เดียวของการฟื้นฟูภายหลังความขัดแย้งและการพัฒนายังคงไม่ได้ถูกศึกษาอย่างจริงจังก็คือ สื่อและการสื่อสาร” เนื่องจากนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา การศึกษาด้านการสื่อสารมุ่งไปที่ความสำคัญของผลกระทบของสื่อมวลชน (Mass Media Effects) ที่มีส่วนในการระดมคนไปสู่การสนับสนุนสงคราม หรือการสื่อสารในเชิงการประชาสัมพันธ์ (Public Relations) เพื่อส่งข่าวสารไปยังผู้รับสารมากกว่ามุ่งส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสื่อสารและเป็นผู้สื่อสารด้วยตนเอง

แนวคิดคู่ขนานของการสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมกับการสื่อสารเพื่อสันติภาพ

ความสนใจการศึกษาศาสตร์ด้านการสื่อสารเพื่อคลี่คลายความขัดแย้งและสร้างสันติภาพพัฒนามาจากแนวคิดการสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม ในช่วงทศวรรษ 1960 ตัวแบบการสื่อสารเพื่อการพัฒนา (Communication for Development) เป็นแนวทางสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนตามกระบวนทัศน์การพัฒนาที่เรียกว่า “ความเป็นสมัยใหม่” (Modernization) ที่มุ่งเน้นรายได้ประชากร นวัตกรรมสมัยใหม่ที่สอดคล้องกับสังคมอุตสาหกรรม (Industrial Modern Society) การสื่อสารมุ่งเน้นที่การใช้การสื่อสารมวลชนในการสนับสนุนการเผยแพร่แนวคิดและข้อมูลข่าวสารใหม่ ๆ ที่กระตุ้นให้ผู้คนมีพฤติกรรมและวิถีชีวิตสมัยใหม่ ตัวแบบการพัฒนาดังกล่าวก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในวงวิชาการด้านการสื่อสารและการพัฒนาว่าละเลยคุณค่าทางวัฒนธรรมย่อย (Subculture) และก่อให้เกิดการครอบงำทางวัฒนธรรม (Cultural Domination) ของประเทศที่พัฒนาแล้วต่อประเทศกำลังพัฒนา การพัฒนาตามกระบวนทัศน์ดังกล่าวไม่สามารถปลดเปลื้องความยากไร้และสร้างชีวิตที่ดีให้กับประชาชนได้อย่างแท้จริง

ช่วงทศวรรษที่ 1980กระแสแนวคิดการสื่อสารแบบมีส่วนร่วม (Participatory Communication) เริ่มมีบทบาทมากขึ้นภายหลังการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์การพัฒนา โดยมองว่าการใช้การสื่อสารเพื่อแพร่กระจายนวัตกรรม (Diffusion of Innovation) และข้อมูลข่าวสารจากส่วนบนไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้จริงและไม่ได้ช่วยให้ประชาชนมีความเข้มแข็ง ตัวแบบการสื่อสารแบบใหม่จึงถูกเสนอขึ้นเพื่อช่วยให้ประชาชนสามารถใช้การสื่อสารเพื่อการตัดสินใจเชิงนโยบายและแผนการพัฒนาจากรัฐ ที่เรียกว่า การสื่อสารเชิงขับเคลื่อนนโยบาย (Advocacy Communication) และการสื่อสารเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม (Communication for Social Change) เพื่อทำให้ประชาสังคมมีความเข้มแข็ง สามารถปรับตัวกับสังคมและสร้างระบบเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับชุมชนของตัวเอง (United State Institute of Peace, 2014 ; Hoffmann & Julia, 2013, pp. 6-10)

กระแสแนวคิดการสื่อสารดังกล่าวได้ส่งต่อมาสู่ตัวแบบการสื่อสารในช่วงเวลาเดียวกัน เมื่อสังคมเผชิญกับภาวะความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและการเมือง การปะทะทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ในโลกสมัยใหม่ ที่ส่งผลไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงและสงคราม การสื่อสารเพื่อสันติภาพและวารสารศาสตร์สันติภาพ (Peace Journalism) จึงกลายเป็นแนวคิดและสาขาวิชาใหม่ที่มีลักษณะข้ามสาขาวิชา (Transdisciplinary field) เนื่องจากเกี่ยวข้องกับองค์ความรู้หลายด้านทั้งการสื่อสาร การเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสันติศึกษา (Peace Studies) แนวคิดนี้ได้ก้าวผ่านความสนใจด้านผลกระทบของสื่อมวลชนต่อปัจเจกบุคคลและสังคม มาสู่การศึกษาบทบาทของสาขาวิชาด้านวารสารศาสตร์ (Journalism) และความเป็นตัวแทนของความขัดแย้ง ที่ปรากฏในสื่อมวลชน (Media Representation of Conflict) ในช่วงเวลาของความรุนแรง รวมทั้งบทบาทของการสื่อสารในการสร้างสันติภาพ (Lynch, 2008)

แนวคิดเรื่องการเพิ่ม “คนฟัง” มากกว่า “คนพูด” ให้ความสำคัญกับประชาชนในฐานะผู้ส่งสารมากกว่า การมองการสื่อสารเป็นเครื่องมือของการพัฒนาจากบนลงล่าง การสื่อสารโดยมองไปที่เป้าหมายเพื่อสันติภาพ การเพิ่มบทบาทของนักปฏิบัติการสื่อสารในระดับพื้นที่ ภาคประชาสังคมและชุมชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการคลี่คลายความขัดแย้งและเป็นเจ้าของช่องทางการสื่อสาร การสื่อสารเพื่อสันติภาพจึงเน้นกิจกรรมการสื่อสารเป็นสำคัญ

ขอบเขตการศึกษาวิจัยด้านการสื่อสารเพื่อสันติภาพ

Hoffmann and Julia, (2013, p. 25) ได้เสนอขอบเขตการศึกษาวิจัยด้านการสื่อสารเพื่อสันติภาพและการเปลี่ยนแปลงสังคม ได้แก่
  1. ผลกระทบของเผยแพร่ข่าวสารและการตีกรอบเนื้อหาสารไปที่ความสำเร็จของการเจรจาพูดคุยและการสร้างความเห็นสาธารณะ 
  2. ปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนระหว่างกระบวนการสันติภาพ 
  3. การสื่อสารเพื่อหนุนเสริมกระบวนการประชาธิปไตยและสิทธิพลเมือง 
  4. การวิพากษ์มุมมองแบบชาติพันธุ์เป็นศูนย์กลางและกระบวนการสร้างภาพตัวแทนของเนื้อหาข่าวสารเกี่ยวกับความเป็นคนอื่น 
  5. ผลกระทบของภาพตัวแทนในสื่อมวลชนต่ออารมณ์และแนวโน้มพฤติกรรมของผู้รับสาร 
  6. กลยุทธ์ข่าวสารสาธารณะ (Public Information Strategy) และการสื่อสารภาคพลเมือง 
  7. การนำเสนอความขัดแย้งของสื่อกระแสหลักด้วยมุมมองของสันติภาพและการคลี่คลายความขัดแย้ง 
  8. วารสารศาสตร์สันติภาพ (Peace Journalism) ที่ให้ความสำคัญกับสันติภาพในฐานะที่เป็นคุณค่าหลักและเป็นจุดหมายของการสื่อสาร 
  9. การสื่อข่าวที่มุ่งส่งเสริมสิทธิมนุษยชน (Human Rights Journalism) 
  10. เศรษฐศาสตร์การเมืองขององค์กรสื่อมวลชนที่กำหนดการผลิตข่าวสาร 
  11. เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสันติภาพ (ICT for Peace) และ 
  12. บทบาทของชนกลุ่มน้อยและผู้พลัดถิ่น

จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นได้ว่า การสื่อสารเพื่อสันติภาพเป็นสาขาวิชาที่มีขอบเขตกว้างขวางและหลากหลาย พัฒนาการและการพัฒนาแนวคิดในสาขาวิชาดังกล่าวยังจำเป็นต้องอาศัยการศึกษาวิจัยและการปฏิบัติทั้งจากกรณีศึกษา การศึกษาเปรียบเทียบและการวิจัยเชิงลึกเพื่อพัฒนาองค์ความรู้และสรุปบทเรียนเชิงประยุกต์สำหรับการสร้างสันติภาพและการพัฒนาสังคมที่เหมาะสมสำหรับสังคมที่มีความหลากหลายและซับซ้อนเช่นในปัจจุบัน การสื่อสารเพื่อสันติภาพไม่ใช่เป็นเพียงเครื่องมือในการเชื่อมความสัมพันธ์ของคนในสังคมเท่านั้น แต่ยังเป็นทรัพย์สินสาธารณะในตัวของมันเอง (Hoffmann & Julia, 2013) และยังเป็นเครื่องยืนยันถึงเสถียรภาพและความสมดุลของสังคมที่สงบสุขอันเป็นเป้าหมายที่แท้จริงของการเปลี่ยนแปลงสังคมอีกด้วย

มุมมองและข้อเสนอเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านการสื่อสารเพื่อสันติภาพ

สำหรับทิศทางการวิจัยด้านการสื่อสารเพื่อสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยนั้น คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการแนวทางการออกแบบหลักสูตรนิเทศศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการสื่อสารเพื่อสันติภาพและการเปลี่ยนแปลงสังคม (ภีรกาญจน์ ไค่นุ่นนาและคณะ, 2559)  พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่เป็นประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยอมรับว่า ความรู้ด้านการสื่อสารเพื่อสันติภาพนั้นมีความสำคัญและจำเป็นต่อพื้นที่ นอกจากนี้ มุมมองของนักวิชาการและผู้ปฏิบัติงานด้านการสื่อสารและสันติภาพในรายงานการวิจัยฉบับนี้ ยังแสดงถึงทิศทางการพัฒนาองค์ความรู้ในสาขานี้ ดังเช่น ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์และสันติวิธี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอว่า การสร้างองค์ความรู้ด้านการสื่อสารเพื่อสันติภาพควรยึดโยงกับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีระดับความรุนแรงที่สูง และองค์ความรู้นั้นจะต้องมีหลากหลายมิติ โดยเฉพาะมิติใหม่ ๆ ด้านการสื่อสารที่กำลังดำเนินอยู่ เช่น การเกิดขึ้นของสื่ออินเทอร์เน็ต มีผลทำให้เกิดความรุนแรงมากขึ้นหรือไม่ แล้วเกี่ยวโยงกับการสื่ออินเทอร์เน็ตที่มีการผลิตวาจาที่สร้างความเกลียดชังมากยิ่งขึ้นหรือไม่ ในขณะที่โทรทัศน์ถูกควบคุมมากกว่า หรือการสนใจศึกษาเกี่ยวกับการให้ความหมายของชีวิตในทางสัญลักษณ์ของผู้ที่ก่อเหตุรุนแรง เป็นต้น

ข้อเสนอดังกล่าว สอดคล้องกับศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ที่เสนอว่า การสื่อสารเพื่อสันติภาพต้องการองค์ความรู้เรื่องกระบวนการสันติภาพ การสื่อสารเพื่อสันติภาพต้องสร้างพื้นที่สาธารณะที่มีเหตุมีผล สร้างความเข้าใจของคนในสังคมและส่งเสริมการสร้างเครือข่าย หรือที่เรียกว่า Communicative Rationality  คือ การมีเหตุผลในการสื่อสาร และ Collective Understanding คือ การแลกเปลี่ยน ปรับตัว ยอมรับเหตุผลบางอย่างที่เป็นจุดร่วมกัน การสื่อสารเชิงสร้างสรรค์ เปิดข้อมูล สร้างความเข้าใจร่วมกัน การยอมรับการใช้การสื่อสารเพื่อสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหา การสื่อสารสันติภาพจะช่วยแปรเปลี่ยนความขัดแย้ง (Conflict Transformation) หรือเป็นความขัดแย้งที่ไม่ใช้ความรุนแรงให้เป็นสังคมที่ยึดข้อเท็จจริง ส่งเสริมให้คนทุกกลุ่มเข้าใจกระบวนการสันติภาพ  การสื่อสารเป็นส่วนหนึ่งที่จะหนุนเสริมโครงสร้างพื้นฐานของสันติภาพ  (Peace Infrastructure) และช่วยขยายการสื่อสารของภาคประชาสังคมให้เข้มแข็ง

สถานการณ์ความขัดแย้งรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงดำรงอยู่ ในขณะที่หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการคลี่คลายความขัดแย้งต่างก็กำลังพยายามแสวงหาทางออก การศึกษาวิจัยและการขับเคลื่อนทางวิชาการด้านการสื่อสารสันติภาพและการเปลี่ยนแปลงสังคมยังเป็นแนวทางที่จำเป็นเพื่อหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพและนำพาสังคมไปสู่สันติสุข.


รายการอ้างอิง
  • Hanitzsch, T.M. (2007).  Situating Peace Journalism in Journalism Studies: A Critical Appraisal. in Conflict and Communication Online, Vol. 6, No. 2. Retrieved from http://www.cco.regener-online.de.
  • Heidelberg Institute for International Conflict Research.  (2016).  Conflict Barometer 2016, no. 25. Germany.
  • Hoffmann & Julia.  (2013). Conceptualizing ‘Communication for Peace’. UPEACE Open Knowledge Network, Occasional Working Papers No.1 (January 2013). Costa Raca: University for Peace.
  • Lower, M. T. & Hauschildt, T. M. (2014). The Media as a Tool of War: Propaganda in the Rwandan Genocide in Human Rights and Conflict Resolution, Human Security Centre, Issue 2, No.1. Retrieved from http://www.hscentre.org/sub-saharan-africa/media-tool-war-propaganda-rwandan-genocide/
  • Lynch, J. (2008). Debates in Peace Journalism. Sydney: Sydney University Press.
  • Phansasiri Kularb. (2014). Beyond Conventional Professionalism: Diverse Roles of Thai Journalism in the Southern Conflict.  International Conference Proceedings on Communication, Conflict and Peace Processes: Landscape of Knowledge from Asia and the Deep South of Thailand. Prince of Songkla University, Pattani Campus, Thailand, 32-51. Retrieved from http://www.comm-sci.pn.psu.ac.th/ccpp2014/?q=node/1
  • United State Institute of Peace (USIP). (2014). Communication for Peacebuilding: Practices, Trends and Challenges. Retrieved from https://www.sfcg.org/wp-content/uploads/2014/02/communication-for-peacebuilding-practices-trends-challenges.pdf 
  • ภีรกาญจน์ ไค่นุ่นนา, กุสุมา กูใหญ๋, กฤษดี พ่วงรอด, ฮัมเดีย มูดอ, อมรรัตน์ ชนะการณ์. (2559). การศึกษาแนวทางการออกแบบหลักสูตรระดับปริญญาตรี และปริญญาโท คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. ปัตตานี : มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น