วันอาทิตย์ที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2556

Gov. 2.0/ E-democracy : สังคมประชาธิปไตยในยุคไซเบอร์


30 กรกฎาคม 2554

E-government, Open Government, Open Data, E-democracy, Gov. 2.0 ช่วงนี้มีคำศัพท์ใหม่ ๆ ผุดขึ้นมามากมายราวกับดอกเห็ด ในหลายประเทศ มีการเตรียมการ ถกเถียง วิพากษ์วิจารณ์ถึงหลักคิดและความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติที่จะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารทางราชการและนโยบายสาธารณะมากขึ้น นอกจากเพื่อให้รัฐบาลทันและพร้อมต่อโลกเทคโนโลยีสมัยใหม่ (ยิ่งกว่า) และกระแสความต้องการมีส่วนร่วมของประชาชนที่มากขึ้นแล้ว ปรากฏการณ์ "แฉ" ระดับโลกผ่าน Wikileaks หรือ Hackers ต่าง ๆ ยิ่งเป็นตัวกระตุ้นให้รัฐบาลของหลายประเทศต้องปรับตัว

หลักคิดของ E-democracy ก็คือ สังคมประชาธิปไตยที่มีความโปร่งใสโดยใช้เทคโนโลยีเป็นตัวช่วย (หากให้ความสำคัญไปที่ตัวเทคโนโลยี บางคนอาจใช้คำว่า Gov.2.0) ความโปร่งใสในการบริหารงานของรัฐบาล เสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนและการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของสาธารณะในการตัดสินใจเชิงนโยบาย ในประเด็นสำคัญ ๆ ที่รัฐบาลไม่ใช่เพียงผู้มีอำนาจในคิด ตัดสินใจเพียงฝ่ายเดียว  

อีกสองคำที่เป็นส่วนขยายของ E-democracy ซึ่งสะท้อนแนวคิดและความเป็นไปได้ที่จะไปให้ถึงเป้าหมายปลายทางของแนวคิดนั้น ๆ ก็คือ "Open Government" กับ "Open Data" ความแตกต่างของสองคำนี้อยู่ตรงที่ว่าจะมองจากฝ่ายไหน หากเป็น e-democracy จากมุมของรัฐบาล คือการเปิดเผยข้อมูลบางส่วน (เท่าที่จำเป็น) ให้ประชาชนเข้าถึงทางเว็บไซต์ของหน่วยงานราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง (= Open Gov.) แต่หากเป็นในมุมของประชาชนแล้ว นั่นคือการเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลที่เป็นเรื่องของสาธารณะในระบบอินเทอร์เน็ตได้ง่ายและสะดวกขึ้น (= Open Data) ความแตกต่างจึงน่าจะอยู่ที่ระดับชั้นข้อมูลที่สามารถเข้าถึง แหล่งและวิธีการเผยแพร่ข้อมูล อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องระดับของการเข้าถึงที่เหมาะสม ยังคงเป็นเรื่องถกเถียงในแต่ละประเทศ แม้แต่ในสหรัฐอเมริกาที่ขณะนี้จะมีเว็บไซต์ในชื่อ www.data.gov หรือในอังกฤษที่ชื่อ www.data.gov.uk ก็ตาม 

ข้อมูลจากการศึกษาระดับของการเปิดเผยและการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารราชการในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกปี 2511 (OCDE) แสดงให้เห็นว่า ใช่ว่า e-democracy จะสามารถทำได้เฉพาะแต่ในประเทศที่เรียกว่ามีประชาธิปไตยเข้มแข็ง ประเทศประชาธิปไตยใหม่อย่างรัสเซีย เอสทัวเนีย หรือเม็กซิโก ระดับของการเปิดข้อมูลข่าวสารราชการก็โดดเด่นแซงหน้าหลายประเทศ แม้แต่อเมริกา อังกฤษและฝรั่งเศส (จากการจัดอันดับขององค์กรอิสระเพื่อการวิจัยการบริหารราชการและนโยบายสาธารณะของฝรั่งเศส La Fondation pour la Recherche sur les Administrations et les Politiques Publiques) 

การสำรวจครั้งนี้ ใช้เกณฑ์การประเมิน ได้แก่ 
-       เอกสารที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณ
-       รายงานประจำปีของกระทรวงต่างๆ รวมถึงบัญชีรายจ่าย
-       รายงานการควบคุมระบบบัญชี
-       รายงานเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะทั้งหมด
-       สัญญาการค้าบางอย่างที่สามารเปิดเผยได้
-       บัญชีข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐรวมทั้งเงินเดือน ค่าจ้าง
-       รายละเอียดเกี่ยวกับระบบการบันทึกข้อมูล เนื้อหาและการใช้ระบบ
-       ข้อมูลเกี่ยวกับระบบภายในหน่วยงาน คู่มือ ระเบียบ ข้อบังคับ กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ของราชการ
-       รายละเอียดเกี่ยวกับโครงสร้างการบริหารงานและการปฏิบัติงานของหน่วยงานของรัฐ
-       รายงานประจำปีเกี่ยวกับกฎหมายเรื่องเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร
-       ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการที่เกี่ยวกับเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร 

หากพิจารณาเนื้อหาประเด็นการวัดเหล่านี้ ก็ไม่ได้หมายความว่า รัฐบาลจะต้องเปิดเผยทั้งหมดจึงถือเป็นสิ่งดี เพียงแต่แต่ละสังคมจะต้องหาจุดที่เหมาะสมว่าอะไรคือสิ่งที่ประชาชนควรรู้และจำเป็นต้องรู้ คนที่จะตอบคำถามนี้ไม่ใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ต้องเห็นพ้องกันทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายประชาชน 

ส่วนประเทศไทย ไม่พบการจัดอันดับในรายงานนี้ แต่พบว่ามีประเทศในแถบเอเชียที่ถูกจัดอันดับอยู่ใน 31 อันดับ คือ ประเทศเกาหลีใต้ อันดับ 5 และญี่ปุ่น อันดับ 19 (สันนิษฐานว่าถ้าไม่ตกสำรวจก็อาจจะไม่สามารถจัดอันดับได้กระมัง)

อ้างอิงจาก

หลายเรื่อง หลายประเด็นทางนโยบาย หลายมูลเหตุของปัญหา หลายข้อฉงนสนเท่ห์ของสาธารณะ เรากลับไม่ได้รับคำตอบหรือไม่รู้ว่าจะไปหาคำตอบได้จากที่ไหน แม้ว่าขณะนี้ เราจะมี พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ หรือมีเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ (สขร.) ก็ตาม (http://www.oic.go.th) แต่ก็ยังประสบปัญหาเรื่องการได้รับความร่วมมือหรืออำนวยความสะดวก ระเบียบขั้นตอน และข้อมูลจำกัด (ที่มีไม่ต้องการ แต่ที่ต้องการกลับไม่มี)  

เราทำได้แต่เพียงรอฟังว่าสื่อมวลชนจะรายงานว่าอย่างไร ซึ่งก็ไม่พ้นคำพูดจากผู้บริหารประเทศ นักการเมือง ข้าราชการ ที่บางครั้งดูเหมือนแก้ตัวหรือซื้อเวลา หรือไม่ก็ต้องรอฟังการ "แฉ" กันในสภา ซึ่งหลายคนยังตั้งข้อสงสัยว่าจะเชื่อใคร เชื่อได้หรือไม่ การไปถึงขั้น Open data ออกจะยากสักหน่อย

ผู้กุมข้อมูลหรือความลับ คือผู้มีอำนาจ คำกล่าวนี้เป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไป แต่หากเรายังคงอยู่ในสังคมแห่งความลับ อำพราง คลุมเครือ มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเหมือนให้อำนาจกับคนหรือกลุ่มที่กุมความลับหรือฉวยโอกาสจากความคลุมเครือมากเท่านั้น

สังเกตว่าข่าวสารการเมืองไทยช่วงนี้ เราจะมีเรื่องสงสัยใคร่รู้หลายเรื่องอยู่เหมือนกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น